xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการขานรับถอนตัวมรดกโลก ชี้ “ยูเนสโก” เล่นการเมืองละเมิดกฎตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวิทย์ คุณกิตติ
“สุวิทย์” แจง ยูเนสโกหมกเม็ด เสนอแผนซ่อมแซมปราสาทพระวิหารเปิดช่องส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไป สุ่มเสี่ยงละเมิดอธิปไตยไทย นักวิชาการเห็นด้วยถอนตัวจากมรดกโลก เพราะยูเนสโกเอาแต่เล่นการเมือง ไม่เคารพกฎหมายไทย ละเมิดกฎเกณฑ์ของตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายสุวิทย์ คุณกิตติ ให้สัมภาษณ์  

นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าทีมเจรจามรดกโลก กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ถึงการถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก ระบุว่าเรื่องการเสนอแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกคราวก่อนที่บราซิล ทางกัมพูชาได้เสนอแผนต่อศูนย์มรดกโลก แต่ไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมครั้งนี้ที่ปารีสจึงควรมีการเสนอแผนให้คณะกรรมการมรดกโลก แต่ปรากฏว่าไม่มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการในการประชุมคราวนี้ โดยนายสุวิทย์กล่าวว่าถ้าไม่พิจารณาในคราวนี้ก็จะต้องบอกว่าเอกสารจะถูกพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป แต่เขียนอย่างนี้ไม่ชัดเจน ไม่ได้เขียนในร่างข้อมติ เขาบอกว่าไม่พิจารณา และเอกสารยังไม่ได้แจกให้กรรมการท่านอื่นๆ เลย

เอกสารในข้อมติเขียนว่า แผนบริหารจัดการยังไม่พิจารณา แต่จะพิจารณาเรื่องการเรื่องอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งนักกฎหมายบอกว่า อันนี้คืออนุญาตให้กัมพูชา หรือยูเนสโก ส่งเจ้าหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในคู่มือการดำเนินการ ซึ่งมีความหมายกว้างจนน่ากลัวมาก เราบอกเขาว่าการจะส่งคนขึ้นไปในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ของไทยบริเวณรอบๆ ปราสาท จะต้องไม่ละเมิดอธิปไตยของไทย ต้องขอความเห็นชอบจากเราก่อน ซึ่งเรารับเรื่องนี้ไม่ได้

ส่วนเรื่องการประกาศถอนตัว เราได้ดูความเป็นไปได้ในทุกๆ ทาง ในการประชุมคราวนี้ไม่ได้เจรจาสองฝ่ายกับทางกัมพูชา แต่ทางศูนย์มรดกโลกได้เจรจากับแต่ละฝ่าย และเอาความเห็นสรุปขึ้นมาเป็นร่างอีกร่างหนึ่ง (ซึ่งมีการเสนอให้บูรณะซ่อมแซมปราสาท) การที่เราประกาศถอนตัว เพราะไม่ยอมรับผลการประชุมที่จะออกมา เราไม่ร่วมพิจารณาร่างมติดังกล่าว เราไม่เห็นด้วย ซึ่งได้เราส่งหนังสือประท้วงมาตลอดว่าเราไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารตั้งแต่การประชุมที่สเปน และที่บราซิล มาถึงตอนนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะต้องทำเอกสารแจ้งไปตามเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการ วันนี้หนังสือที่ไทยยื่นถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลกได้ส่งให้คณะกรรมการรับทราบทุกคนแล้ว

นายเดโช สวนานนท์ นายกศิลปากรสมาคม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการถอนตัวครั้งนี้ เนื่องจากเราได้ต่อสู้ในหลักการมานานแล้วแต่ทางยูเนสโกไม่ฟัง และละเมิดกฎเกณฑ์สำคัญของยูเนสโก ที่ว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่คาบเกี่ยวระหว่างประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบยินยอมจากอีกประเทศหนึ่งก่อนถึงจะขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งมีทางออกอย่างเดียวคือต้องขึ้นทะเบียนร่วมกัน ซึ่งนอกจากถอนจากคณะกรรมการฯแล้ว เราควรจะถอนตัวจากยูเนสโกด้วย ตอนนี้เรายังเป็นกรรมการยูเนสโกอยู่ เพราะเรายอมเสียดินแดนไม่ได้ แต่เราให้ความร่วมมือได้ ขึ้นทะเบียนร่วมกันก็ได้

นางวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก เพราะศูนย์มรดกโลกไม่เคารพกฎหมายไทย ใตอนนั้นที่นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเซ็นยอมให้กัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เราได้ร้องศาลให้ตีความว่านายนพดลทำผิดกฎหมายตามมาตรา 190 เพราะไม่ได้เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เราได้แจ้งให้ศูนย์มรดกโลกทราบ และได้ขอให้การกระทำนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งทางยูเนสโกควรจะให้ความเคารพกฎหมายของทุกประเทศ แต่เขาก็ยังเดินหน้าต่อไป ถ้ากรณีนี้เกิดกับอังกฤษกับอเมริกา ศูนย์มรดกโลกจะยอมรับกฎหมายเขาหรือไม่ ดังนั้นจะเห็นว่าการชี้แจงต่อมรดกโลกมันไร้ผลมาหลายครั้ง เราหวังว่ายูเนสโกจะเข้าใจ และแก้ปัญหา แต่ทำไมยูเนสโกไม่พยายามช่วยให้สองประเทศอยู่กันอย่างสันติ ประเทศเรามีเขตแดนติดกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันทำไมไม่ขึ้นทะเบียนร่วมกัน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมาธิการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการถอนตัวครั้งนี้เช่นกัน ที่ผ่านมากรรมาธิการต่างประเทศ อยากให้ชี้แจงข้อมูลต่อยูเนสโกให้ถึงที่สุด ถ้าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้สมบูรณ์ได้จะทำให้เกิดปัญหาระหว่างสองประเทศ เรื่องการถอนตัวทำไม่ยาก เมื่อเราเห็นว่าเขาไม่ให้ความเป็นธรรม เมื่อถึงวันนี้กรรมการมรดกโลกไม่ให้ความสำคัญกับข้อพิพาทพรมแดน ไม่ให้น้ำหนักที่เราชี้ การถอนตัวก็สมควรแล้ว วันนี้เขาไม่ฟังเรา เราก็ถอนตัวออกมา ในอนาคตถ้าจะถอนตัวจากยูเนสโกก็ทำได้ แต่วันนี้เกิดขึ้นในตอนรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถยกระดับปัญหาขึ้นไป ตอนนี้ก็แก้ปัญหาระหว่างไทยกับคณะกรรมการมรดกโลก แต่ไทยกับยูเนสโกก็ยังมีความร่วมมือเรื่องอื่นๆอีก เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องวิทยาศาสตร์

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอีก และสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เราก็ไม่กลับเข้าไปอีก วันนี้รัฐบาลยังทำหน้าที่ เรื่องการถอนตัวให้มีผลทางกฎหมาย ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ควรรับลูกแล้วเดินหน้าต่อไป

สำหรับข้อเสียที่ออกจากมรดกโลก นายเดโชกล่าวว่า เราทำคุณค่าโบราณสถานของเรามาก่อนมีมรดกโลกเสียอีก เราได้ความช่วยเหลือจากยูเนสโกก็ได้บ้าง เช่น ประโยชน์ทางการประชาสัมพันธ์ มีเครื่องหมายของมรดกโลก แต่การทำประชาสัมพันธ์ เราก็ทำเป็น ข้อดีของการเป็นมรดกโลกคือเป็นการแสดงความเป็นอารยะ ให้ทั่วโลกมาชื่นชม เป็นการแสดงออกทางภาพลักษณ์ว่าเราเป็นสมบัติของโลก เราทำตามเขาทุกขั้นตอน

นางวิมลพรรณกล่าวถึงการจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกันว่า ทำไมยูเนสโกจึงไม่ให้จดทะเบียนร่วมกัน ถ้าทางยูเนสโกคิดว่าเป็นของกัมพูชา ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว แล้วมาขอความเห็นชอบจากเราทำไม ที่ผ่านมามีหลายแห่งที่ให้ทำร่วมกัน ถ้าร่วมกันได้ จะนำไปสู่การยุติปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ถ้ายูเนสโกไม่เล่นการเมืองก็อธิบายด้วยเหตุผลได้ แต่ยูเนสโกเล่นการเมือง เราไม่คิดว่าองค์กรแบบนี้จะเล่นการเมือง

ที่ผ่านมา หลายรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้จริงจัง เราประมาทเกินไป ไม่คิดว่าฝรั่งเศสมาช่วยกัมพูชา และเอาชาติอื่นที่พูดภาษาฝรั่งเศสมาช่วยด้วย ใครจะไปนึกว่ายูเนสโกละเมิดกติกาของตนเองทุกเรื่อง ให้จดทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่หมกเม็ดเรื่องแผนบริหารจัดการบริเวณโดยรอบ การเป็นมรดกโลกจะต้องสง่างาม ต้องครบถ้วน ตัวปราสาทพระวิหารอย่างเดียวมันไม่ครบถ้วน การเดินหน้าขอขึ้นทะเบียนร่วม เขายืนยันที่เขาทำ เราก็ต้องยืนหยัดในหลักการ ยึดความถูกต้องเป็นธรรม อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับกัมพูชา เมื่อไม่มีความเป็นธรรม เราก็ไม่ร่วมมือด้วย ซึ่งเป็นปัญหาขององค์กรซึ่งเป็นเจ้าของมรดกโลก

ดร.รัชดากล่าวว่า การถอนตัวไม่ได้เสียหายอะไร หากเราเสนอสถานที่เป็นมรดกโลกก็มีตราแสตมป์มรดกโลก แต่โจทย์คือ เราต้องปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีให้ได้ การจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีทำไม่ยาก เขาอยากได้อะไรก็ยกให้เขาไป แต่เราต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น