xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ชี้ไทยถอนตัวมรดกโลก เป็นชัยชนะของ ปชช.ทั้งประเทศ ประกาศจุดยืน 8 ข้อ ยุติชุมนุม 1 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธมิตรฯ มอบความสำเร็จให้คนไทยทั้งชาติ พร้อมประกาศจุดยืน 8 ข้อ “ปานเทพ” ชี้ผลงาน “สุวิทย์” ดักคอ “มาร์ค” ฉวยโอกาสใช้หาเสียง จี้รัฐ-ทหารเดินหน้าไล่เขมรพ้นแดนไทย ทบทวนยกเลิกเอ็มโอยู 43 หากปล่อยไว้การถอนตัวมรดกโลกจะสูญเปล่า ยันยุติการชุมนุมวันที่ 1 ก.ค.แน่นอน ด้าน “ลุงจำลอง” ระบุสำเร็จเพราะ ปชช.เสียสละชุมนุมกดดันไม่ใช่ฝีมือ รบ. เชื่อหากไม่ถอนตัวชายแดนเครียดกว่านี้แน่


วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวประจำวันถึงกรณีที่ประเทศไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก โดยประกาศเป็นจุดยืนของพันธมิตรฯ และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรจำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1.การที่คณะผู้แทนไทยได้ดำเนินการถอนตัวตามคำเรียกร้องของภาคประชาชนนั้น ภาคประชาชนขอขอบคุณนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลก ที่ได้ตัดสินใจถอนตัว แม้จะมีแรงกดดันขอให้เสนอเลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารจากทั้งรัฐบาลไทยและข้าราชการเป็นจำนวนมาก

2.ภาคประชาชนถือว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจถอนตัวจากภาคีมรดกโลกเป็นการทำตามข้อเรียกร้อง 1 ใน 3 ข้อของภาคประชาชน ถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นความสำเร็จ 1 ใน 3 ข้อของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน

นายปานเทพกล่าวอีกว่า 3.การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนการถอนตัวของนายสุวิทย์ โดยระบุว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติให้เลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกเขาพระวิหาร แต่ไทยต้องดูถ้อยคำเรื่องการส่งทีมบูรณะปฏิสังขรณ์ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ แต่ต้องเคารพมติของที่ประชุมนั้น แสดงว่าจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ต้องการเพียงแค่การเลื่อน โดยยอมแลกแม้กระทั่งการซ่อมบูรณะปราสาทพระวิหาร หวังเพียงให้พ้นวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 3 ก.ค. ดังนั้น การตัดสินใจครั้งนี้จึงไม่ถือเป็นผลงานของนายอภิสิทธิ์ แต่เป็นผลงานของนายสุวิทย์โดยตรง 4.การถอนตัวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ภาคประชาชนพูดมาตลอดเป็นความจริงทุกประการ และยังสะท้อนด้วยว่าเอ็มโอยู 2543 ที่นายอภิสิทธิ์พยายามยึดถือว่าจะเป็นอำนาจและกลไกในการปกป้องไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกเดินหน้าเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า 5.การที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการใช้เอ็มโอยู 2543 ในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก แสดงว่าไม่มีชาติไหนๆเห็นด้วยกับการใช้เอ็มโอยู 2543 ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ มีแต่จะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ยืนยันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ด้วยเหตุนี้นานาชาติจึงเข้าข้างฝ่ายกัมพูชา ดังนั้นหากไทยยังยึดมั่นในเอ้มโอยู 2543 ก็จะเป็นอันตรายต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะในเวทีศาลโลก การประชุมอาเซียน หรือการประชุมในสหประชาชาติก็ตาม รัฐบาลจึงต้องทบทวนเอ็มโอยู 2543 อย่างเร่งด่วน 6.แม้ว่ารัฐบาลไทยจะถอนตัวออกมาแล้วแต่ในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงวันที่ 29 มิ.ย.ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องปราสาทพระวิหารหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร เมื่อไทยถอนตัวแล้วต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องไม่ให้ฝ่ายกัมพูชาหรือยูเนสโกเข้ามากระทำการใดในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร

“ไทยต้องถือว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทย หากได้เพียงการถอนตัวออกจากมรดกโลกแล้วปล่อยให้ยูเนสโกเข้าไป ขณะที่ทหารและชุมชนกัมพูชาอยู่ที่เดิม ปล่อยให้พัฒนาจนเป็นพื้นที่บริหารจัดการมรดกโลก ก็ถือว่าไทยล้มเหลวในทางปฏิบัติอยู่ดี การถอนตัวจากมรดกโลกก็จะสูญเปล่า ดังนั้นรัฐบาลและทหารไทยต้องดำเนินการผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และไม่ปล่อยให้มีการเดินหน้าบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารและโดยรอบอย่างเด็ดขาด” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวต่อว่า 7.นับจากนี้ประเทศไทยจะต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนอย่างแข็งขันในการยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะในเวทีศาลโลก ที่ประเทศไทศไม่เคยยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ดังนั้น ในเวทีศาลโลกไทยก็ไม่สมควรจะไปรับอำนาจศาลโลกอีก อีกไม่นานศาลโลกจะพิจารณาว่าจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้แก่กัมพูชาหรือไม่ หากเกิดคุ้มครองเท่ากับเราจะเสียเปรียบทันที ในทางกลับกันหากศาลโลกไม่ออกมามาตรการคุ้มครอง แต่ไทยไปดีใจก็เท่ากับยอมรับอำนาจศาล และจะต้องถูกนำคำวินิจฉัยเมื่อปี 2505 มาตีความเพิ่มเติม ดังนั้นไทยต้องไม่รับอำนาจศาลโลก ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลต่อเนื่องไปในอนาคต

“และประการที่ 8 เราขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ยืนหยัดต่อสู้กับพวกเราในครั้งนี้ เราถือว่าความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้ช่วยกัน ขอขอบคุณพี่นอ้งประชาชนมา ณ โอกาสนี้” นายปานเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอนตัวจากภาคีมรดกโลกครั้งนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ นายปานเทพกล่าวว่า หากเป็นวัญญาระหว่างประเทศที่มีบทเปลี่ยนอาณาเขตต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายไทยดำเนินการทำผิดพลาดมาตั้งแต่แถลงการณ์ร่วม หรือจอยต์ คอมมูนิเก ระหว่างไทยกัมกัมพูชา ในสมัยที่นายนพดล ปัทมะ เป็น รมว.ต่างประเทศ แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ยังลุแก่อำนาจ เดินหน้าการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตชัดเจน ดังนั้นการถอนตัวออกในครั้งนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้โดยทันที ดดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงขุดยืนเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ จึงไม่มีทางเป็นความผิดได้เลย

เมื่อถามต่อว่าประเมินสถานการณ์ตามแนวชายแดนจะมีความตึงเครียดขึ้นหรือไม่ภายหลังจากถอนตัวจากภาคีมรดกโลก นายปานเทพกล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนคาดหวัง คือ หลังจากที่ถอนตัวจากมรดกโลกแล้ว ไทยต้องดำเนินการปกป้องอธิปไตยของชาติทันที หากยังคงดำรงสถานกาณ์ปล่อยให้กัมพูชาอยู่ในพื้นที่ต่อไป ก็จะเปิดโอกาสให้กัมพูชาพัฒนาพื้นที่ไปได้เรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นมรดกโลกของกัมพูชาในทางปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและทหารโดยตรงในการผลักดัน จึงถือว่าภารกิจยังไม่จบ จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องรณรงค์โหวตโน เพราะต้องการรัฐบาลที่จะมาแก้ปัญหานี้

ต่อข้อถามว่า จากการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลทำให้สถานการณ์ของนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกัมพูชาแย่ลงหรือไม่ โฆษกพันธมิตรฯกล่าวว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ารับบาลล้มเหลวในเรื่องของอาณาเขต ภาคประชาชนหวังว่ามีคะแนนโหวตโนมากพอ หรือ 26 เขตจนเปิดประชุมสภาไม่ได้ ก็จะทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง วันนั้นเรื่องนี้ก็จะเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งที่นักการเมืองต้องมาวิงวอนโดยเสนอข้อตกลงเกี่ยวกับนายวีระ และ น.ส.ราตรี เราก็หวังว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ในกการกดดันให้กัมพูชาปล่อยทั้งสองคนออกมาให้เร็วที่สุด

ส่วนกรณีที่มีแนวโน้มว่าเรื่องปัญหาไทย-กัมพูชาที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง จะถูกพรรคการเมืองนำไปเป็นประเด็นหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนั้น นายปานเทพกล่าวว่า พรรคการเมืองที่พยายามจะหาเสียงจากเรื่องนี้ ก็ล้วนแล้วปฏิเสธภาคประชาชนมาโดยตลอด บางครั้งถึงขั้นพยายามลดความน่าเชื่อถือของภาคประชาชนด้วย โดยตนเห็นว่าพรรคเพื่อไทยคงจะใช้เรื่องนี้หาเสียงลำบาก เพราะเป็นคนสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเอง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็พลาดที่นายอภสิทธิ์มาให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการถอนตัวว่ามติของคณะกรรมการมรดกโลกให้เลือนการพิจารณา โดยแลกด้วยการให้ส่งทีมบูรณะปฏิสังขรณ์เข้ามาในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เหมือนกับโยนปัญหาไปให้การตัดสินใจของนายสุวิทย์ เพราะต้องการกลบเกลื่อนเรื่องที่ว่าเอ็มโอยู 2543 ไม่สามารถใช้ได้เท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ไปหาเสียงได้

นายปานเทพยังเปิดเผยด้วยว่า ในความเป็นจริงนายสุวิทย์ได้ยื่นหนังสือขอถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกต่อผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกตั้งแต่ช่วง 19.00 น. แต่นายอภิสิทธิ์ได้พยายามล๊อบบี้ให้เปลี่ยนใจ โดยต้องการให้เลื่อนการพิจารณา หลังจากนั้นก็มีกรรมการจากหลายชาติมาพูดคุยกับนายสุวิทย์ ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ หรือฝรั่งเศสที่ไม่เคยมาคุยกับไทยเลย แต่ในที่สุดเมื่อขวางไม่ได้นายสุวิทย์ก็ตัดสินใจยืนหยัดที่จะลาออก ทั้งที่มีความพยายามล๊อบบี้จากกรรมการชาติอื่นและรัฐบาลไทยเอง โดยมีนายเทพมนตรี ลิมปพยอม กรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ที่ได้พยายามโน้มน้าวให้นายสุวิทย์ถอนตัว และให้คำปรึกษาแก่คณะเจรจาของไทยด้วย รวมทั้งได้มีการเปิดเผยหลักฐานสำคัญๆ หลายประการจนฝ่ายไทยต้องทำหนังสือโต้แย้งไปยังคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม การทำงานของนายเทพมนตรีต้องถือว่าตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากมาก แต่เป็นความโชคดีที่นายสุวิทย์ฟังเสียงภาคประชาชนจึงทำให้เราอยู่ในสถานการณ์ตอนนี้

ทั้งนี้ นายปานเทพยังเปิดเผยด้วยว่า ทางคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และกองทัพธรรมมูลนิธิ ได้ประชุมหารือกัน โดยมีมติว่าหลังจากที่รอดูสถานการณ์การประชุมมรดกโลกจนสิ้นสุดในวันที่ 29 มิ.ย.แล้ว จะมีการชุมนุมต่อไปถึงคืนวันที่ 1 ก.ค.ก็จะประกาศยุติการชุมนุมทั้งด้านสะพานมัฆวานฯ และสะพานชมัยมรุเชฐ โดยจะใช้เวลาในการเก็บอุปกรณ์ 4-5 วัน และใช้เวลาที่เหลือติดตามสถานการณ์อธิปไตยของชาติ รวมทั้งรณรงค์โหวตโนในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง โดยสัญญาณถ่ายทอดสดของเอเอสทีวีจะเข้าสู่ห้องส่งเริ่มในวันที่ 2 ก.ค.เป็นต้นไป

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเสริมว่า ขอทบทวนว่าภาคประชาชนออกมาชุมนุมโดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำ 3 เรื่อง คือ 1.ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 2.ถอนตัวจากมรดกโลก และ 3.ผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องหากพิจารณาแล้วเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ การถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จไปแล้ว เพราะหากมีการประชุมต่อๆ ไป คณะกรรมการมรดกโลกก็จะอนุมัติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนและผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลมหาศาล แต่เมื่อมีการถอนตัวออกทำให้เรารอดพ้นไปได้อีกครั้ง ส่วนอีก 2 ข้อเรียกร้องยังถือว่าพอมีเวลาในการดำเนินการอยู่

“โดยที่รอดพ้นมาได้ เพราะประชาชน ไม่ใช่เพราะรัฐบาล หากประชาชนไม่ร่วมสนับสนุนและไม่มากดดันชุมนุมปักหลักพักค้างอยู่ที่นี่เกือบครึ่งปี รัฐบาลก็คงไม่ปฏิบัติตาม” พล.ต.จำลอง กล่าว

ในส่วนสถานการณ์ตามแนวชายแดนที่อาจเกิดขึ้นนั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า หากเกิดขึ้นเหตุก็ไม่ได้มาจากการถอนตัวจากมรดกโลก เพราะหากไทยไม่ถอนตัวแล้วนำไปสู่การเสียดินแดน ทหารไทยก็คงไม่ยอม โดยเฉพาะผู้บังคับหน่วยกำลังที่ทนไม่ได้ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนที่สูญเสียดินแดนของตัวเองก็ยอมไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งงมีความตีงเครียดและมีการรบกันอย่างแน่นอน เหตุการณ์จะเลวร้ายกว่าการถอนตัวจากมรดกโลกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น