xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ ปชช.มีส่วนตัดสินใจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสม.ร่อน จม.เปิดผนึกเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุรัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รอบด้านทั้งบวกและลบ ชี้ปชช.ต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 มิ.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยจดหมายเปิดผนึกต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดสัมมนาเรื่อง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใครมีสิทธิ...ตัดสินใจ?” เมื่อวันที่ 28 เม.ย.54 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 170 คน

จากการร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา มีข้อสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็นหลักต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รวมทั้งสื่อมวลชน ดังนี้

1) รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รอบด้าน เหมาะสมและถูกต้องทั้งด้านบวกและด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นด้านทางสังคม ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคง ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับภาคประชาชนให้มาก โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลให้ทั่วถึงทุกกลุ่มคน

2) ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีควรมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ อย่างไร โดยต้องให้มีการจัดทำประชามติครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ได้ความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริงตามกระบวนการที่ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งประชาชนทั้งประเทศต้องได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงข้อคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ และ 3) ขั้นตอนในการดำเนินการทำประชามติจะต้องเป็นไปอย่างชัดเจน โปร่งใส และต้องดำเนินการเสริมสร้างความรู้ถึงวิธีการลงประชามติแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสมเพื่อเป็นการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น