xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต” ย้ำเตรียมตัวมาดี แจงศาลโลก ชี้หากมีคำสั่งต้องกระทำทั้งสองฝ่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมกฎหมายฝ่่ายไทยที่ไปเจรจา (แฟ้มภาพ)
รัฐมนตรีต่างประเทศเผยชี้แจงศาลโลกตามข้อเท็จจริง ย้ำทำการบ้านมาอย่างดี โต้แย้งศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องเขตแดน เหตุอยู่นอกเหนือเขตอำนาจ ทั้งหากสั่งคุ้มครองชั่วคราว พร้อมสั่งให้ถอนกำลังทหาร ก็ต้องมีคำสั่งต่อทั้งสองประเทศ


นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัทพ์จากกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อผู้สื่อข่าวทางสถานีวิทยุ เอฟเอ็ม 92.5 ถึงกรณีที่กัมพูชา ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ออกมาตรการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ว่าในการนั่งพิจารณาต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ฝ่ายกัมพูชาชี้แจงต่อศาลเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยขยายความจากหนังสือที่ฝ่ายกัมพูชามีถึงศาลโลกเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ขอให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว ซึ่งระบุให้ไทยต้องถอนทหารจากพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ 1:200,000 และในวันที่ 31 พ.ค.ฝ่ายกัมพูชาก็ได้ย้ำในประเด็นเดียวกันนี้โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง

นายกษิตกล่าวว่า สำหรับการชี้แจงของฝ่ายไทยนั้น ตัวแทนและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยตอบข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.คำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือตัวปราสาทฯ ซึ่งศาลตัดสินให้เป็นของกัมพูชา โดยฝ่ายไทยไม่ได้โต้แย้งในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้พิพากษาในเรื่องของเขตแดน 2.ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกอย่างครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งระบุให้ไทยถอนกองกำลังออกจากบริเวณปราสาทฯ และคืนโบราณวัตถุให้แก่กัมพูชา และ 3.ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยอมรับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว และกัมพูชามิได้มีการทักท้วงใดๆ เป็นเวลามากกว่า 40 ปี จนเมื่อไม่นานมานี้ กัมพูชาได้เปลี่ยนท่าทีเนื่องจากต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศอธิบายเพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยเห็นว่าศาลโลกไม่มีเขตอำนาจที่จะออกมาตรการชั่วคราวตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ เนื่องจากหากศาลมีคำตัดสินให้มีการถอนทหาร โดยนำแผนที่ระวางดงรักมาเป็นเอกสารประกอบการพิพากษาแล้ว ก็เท่าว่าเป็นการตัดสินในเรื่องเขตแดนซึ่งอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของศาลในคดีนี้ อีกทั้งแผนที่ 1 : 200,000 เป็นเพียงเอกสารประกอบหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินคดีเกี่ยวกับปราสาทฯ เท่านั้น

ส่วนกรณีเกี่ยวกับเส้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 นายกษิตกล่าวว่า ในการชี้แจงต่อศาลโลก ฝ่ายไทยได้แสดงภาพรั้วที่ล้อมรอบปราสาทฯ และป้ายที่ระบุว่า อาณาเขตของปราสาทพระวิหารอยู่ภายในบริเวณรั้วและป้ายดังกล่าว ทั้งนี้ ตำแหน่งของรั้วดังกล่าวอาจมีการขยับไปบ้างจากสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต และเวลาที่ผ่านมานานกว่า 50 ปี

ส่วนจะมีประเทศใดให้การสนับสนุนกัมพูชาหรือไม่นั้น นายกษิตกล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคของโลกาภิวัตน์ ทุกประเทศควรอยู่กันอย่างสันติและมีผลประโยชน์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้น คงไม่มีประเทศใดให้การสนับสนุนประเทศอื่นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในส่วนของคณะผู้พิพากษาในศาลโลก มีทั้งหมด 15 คน มาจากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีผู้พิพากษาเฉพาะกิจอีก 2 ท่าน จึงต้องเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของผู้พิพากษาเหล่านี้ ซึ่งฝ่ายไทยได้เตรียมการในเรื่องนี้มาอย่างดีกว่า 2 ปี และได้พบหารือร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศกว่า 10 ครั้ง โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงนำที่ปรึกษาฯ เดินทางไปบริเวณพิพาท เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขตแดนทั้งทางบกและทะเลอีกด้วย สำหรับผลของการพิพากษาของศาลโลก คงต้องพิจารณาก่อนว่าศาลมีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งหากศาลพิจารณาให้มีมาตรการชั่วคราว และมีการถอนทหารก็ต้องเป็นการบังคับใช้มาตรการกับทั้งสองฝ่าย โดยในการให้ข้อมูลต่อศาลโลกในครั้งนี้ ฝ่ายไทยก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับแผนที่ หลักสันปันน้ำ สนธิสัญญา และอนุสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ตลอดจนบันทึกความเข้าใจฯ ปี 2543
กำลังโหลดความคิดเห็น