xs
xsm
sm
md
lg

บังยีขายเสียง ไม่ใช่ครั้งแรกของ “ วรวีร์ มะกูดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บังยี” หรือ วรวีร์ มะกูดี ซึ่งรักษาการนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ และเป็น กรรมการบริหารของพรรคพื่อไทย ถูก ลอร์ด เดวิด ทรีสแมน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ กล่าวหาว่า เป็น 1 ใน 4 กรรมการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ที่ต่อรองขอผลประโยชน์จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ แลกกับการลงคะแนนเสียงให้อังกฤษ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี2018 เมื่อเดือนธันวาคมปีทีแล้ว

ผลประโยชน์ที่นายวรวีร์ขอแลกกับเสียงโหวตคือ ขอลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอลนัดกระชับมิตร ไทยกับอังกฤษ แต่ลอร์ดทีสแมนปฏิเสธ และการแข่งขันฟุตบอนัดดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเจรจาขายสิทธิ ขายเสียง เรียกสินบนครั้งนี้แต่อย่างใด

กรรมการฟีฟ่าอีก 3 คน ที่ถูกลอร์ด ทรีสแมน แฉคือ แจ็ก วอร์เนอร์ รองประธานฟีฟ่าชาวตรินิแดดแอนด์โตเบโก ที่ขอเงินประมาณ 2.5 ล้านปอนด์ เพื่อนำไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ในบ้านเกิด และอีก 500,000 ปอนด์ สำหรับการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศเฮติ

นิโคลัส เลออซ กรรมการ ฟีฟ่าชาวปารากวัย ไม่ขอเงิน แต่อยากได้บรรดาศักด์เป็นอัศวินจากอังกฤษ ขณะที่ ริคาร์โด เตเซรา บอร์ดฟีฟ่าชาวบราซิล ไม่ได้เปิดเผยความต้องการ แต่บอกกับลอร์ด ทรีสแมนว่า ถ้าอยากให้เขาโหวตให้อังกฤษ ก็ให้เสนอมาว่าจะให้อะไร

ลอร์ดทรีสแมน ปฏิเสธขอเรียกร้องของกรรมการฟีฟ่าทั้งสี่คน และอังกฤษ ก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากฟีฟ่าเพียง 2 เสียงจาก 24 เสียง ในการโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 พ่ายแพ้แก่รัสเซียอย่างยับเยิน

การเปิดเผยข้อมูลการเรียกสินบนของกรรมการฟีฟ่าทั้งสี่คนนี้ เป็นการให้การต่อคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬาของ สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์ทั่วๆ ไป หรือเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฎที่มา ไม่รู้ว่าใครพูด จึงมีความน่าเชื่อถือมาก

คงมีแต่นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาที่ไม่เชื่อ และหาว่า เป็นการกล่าวหาลอยๆ นายชุมพลอาจจะคิดว่า สภาฯ อังกฤษ เหมือนสภาฯ ไทย


ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่าเคยลงโทษ อามอส อดามู จากไนจีเรีย และ เรย์นัลด์ เตมารี จากตาฮิติ สองบอร์ดฟีฟ่า ที่ถูกหนังสือพิมพ์ ซันเดยส์ ไทมส์ เปิดโปงว่า เรียกร้องเงินจากประเทศผู้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022

อดามูนั้น โดนจับได้คาหนังคาเขา เพราะถูกนักข่าวปลอมตัวไปล่อซื้อเสียง

วันเดียวกับที่ลอร์ด ทรีสแมนไปให้การกับสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ ก็เปิดเผยอีกว่า มีกรรมการฟีฟ่าอีก 2 คน ที่เรียกเงินจากกาตาร์ เพื่อโหวตให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ต่อจากรัสเซีย คือ อีสซ่า ฮายาตู จากคาเมรูน ซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอาฟริกาด้วย และจาเควส อนัวมา จากไอเวอรี่โคสต์ ซึ่งได้รับเงินคนละ 919,000 ปอนด์ เพื่อลงคะแนนสียงให้กาตาร์

เป็นอันว่า คณะกรรมการบริหารฟีฟ่าซึ่งมีทั้งหมด 24 คน 1 ใน 3 คือ 8 คน ถูกกล่าวหาว่า คอร์รัปชั่น เรียกรับสินบนในการลงคะแนนเลือกรัสเซีย และ กาตาร์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2018 และ 2022 ทั้ง 8 คนมาจากเอเชีย อาฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

เริ่อง การเรียกรับสินบนของกรรมการฟีฟ่า เพื่อแลกกับการลงคะแอนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายวรวีร์ พัวพันกับเรื่องอื้อฉาวแบบนี้

ในหนังสือชื่อ Foul ! The Secret world of Fifa : Bribes Vote Rigging And Ticket Scandals ซึ่งเขียนโดย นายแอนดรูว์ เจนนิงส์ นักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นนักข่าวคนเดียวในโลกนี้ ที่ได้รับ “ใบแดง” จากนายเซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่า ห้ามเข้าฟังการแถลงข่าว และกิจกรรมทุกอย่างของฟีฟ่า เพราะนายเจนนิ่งส์ คือผู้ขุดคุ้ย เปิดโปงการทุจริตฉ้อฉลของนายแบลตเตอร์และพวกในฟีฟ่า ในหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึง เบื้องหลัง การเลือกเยอรมนีเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006 แข่งกับอาฟริกาใต้ไว้ตอนหนึ่งว่า

นายลีโอ เคิร์ช เจ้าพ่อสื่อเยอรมันในขณะนั้น ซึ่งถือลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอลโลกปี 2006 ในเยอรมันอยู่ ให้การสนับสนุนสมาคมฟุตบอลเยอรมันอย่างเต็มที่ ในการช่วงชิงการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เพราะจะทำให้เขาทำเงินจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดได้มากขึ้น บริษัทในอาณาจักรสื่อ The Kirsh Group แห่งหนึ่งของเขา ยื่นข้อเสนอกับกรรมการฟีฟ่าจากไทยในขณะนั้นคือนายวรวีร์ จากมอลต้า จากตูนีเซีย และจากตรินิแดด ซึ่งเป็นหนึงในสี่ที่ถูกกล่าวหาจากลอร์ดทรีสแมนในครั้งนี้ด้วย คือนายวอร์เนอร์ว่า จะให้ทีมบาเยิร์นมิวนิกไปเตะนัดกระชับมิตร กับทีมชาติของสี่ประเทศนี้ และเคิร์ช กรุ๊ป จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดการแข่งขันให้กับสมาคมฟุตบอลของสี่ประเทศนี้รายละ 300,000 เหรียญ สหรัฐฯ ( ประมาณ 12 ล้านบาท คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 40 บาท ในปี 2000 หรือ พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006 )

การจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับสมาคมฟุตบอล แทนที่จะจ่ายโดยตรงกับกรรมการฟีฟ่าทั้ง 4 คน ก็เพื่อเลี่ยงข้อครหาว่า เป็นการให้สินบนกับกรรมการฟีฟ่า แต่เงิน 12 ล้านบาทนี้สมาคมฟุตบอลจะได้รับจริงหรือไม่ หรือไปเข้าบัญชีนายวรวีร์ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกไว้

เยอรมนีได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2006 แทนที่จะเป็นอาฟริกาใต้ ตามที่นายแบลตเตอร์เคยให้สัญญาไว้ตอนหาเสียงชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่า เมื่อปี 1998 ด้วยคะแนนเสียง 12 ต่อ 11 ซึ่ง 4 เสียงใน 12 เสียงนั้นมาจากกรรมการฟีฟ่า 4 คนที่ได้รับเงินไปคนละ 3 แสนเหรียญ

ไม่รู้ว่า เป็นเรื่องบังเอิญ หรือว่า นายวรวีร์ จดจำเทคนิกการจ่ายสินบนของเยอรมนี เมื่อ 10 ปีที่แล้วมาใช้กับลอร์ดทรีสแมนในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น