“ผศ.ดร.พิชาย” ชี้นัยค้านโหวตโนสุดลิ่ม เหตุกลัวไม่มีที่ยืนทางการเมือง กลัว “นช.แม้ว” กลับมาแก้แค้น กลัวหมดช่องทางหากิน ระบุโหวตโนเกินครึ่งสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร ยันโหวตโนเป็น ปชต.100% และถูก กม. ซัดนักวิชากลวง อ้างโหวตโน “วิตถาร” แล้วการยอมรับเลือกตั้งทั้งที่รู้ไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ยอมให้นักโกงกินจูงจมูก ยอมรับการทุจริต ฉ้อฉล ไม่วิตถารกว่าหรือ
วันที่ 11 พ.ค. 2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้รับเชิญให้มาขึ้นเวที วิเคราะห์ถึงกระแสโหวตโนว่า ใครบ้างที่กลัวโหวตโน และทำไมถึงกลัวนักหนา กลุ่มแรกที่กลัวมากที่สุดกับกระแสโหวตโน คือ นักการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ เห็นได้จากการแสดงพฤติกรรมเหมือนไส้เดือนโดนขี้เถ้า ออกมาขอร้องอย่าโหวตโนมันจะเสียของบ้าง ใช้เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ปล่อยข่าวลือทำลายแกนนำพันธมิตรฯบ้าง หรือไม่ก็หยิบวาทกรรมการเมืองเก่าๆ ประเภท “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือ “เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด” การงัดวาทกรรมเหล่านี้มาใช้ ชี้ให้เห็นกรอบการวิเคราะห์คนเหล่านี้ยังเป็นกรอบแบบเก่า อย่างไรก็ดีแม้กรอบแนวคิดนี้เคยใช้ได้ผลกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่คราวนี้ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะพันธมิตรฯ ไม่กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากมามันทำชั่วเราก็ไล่มันไปอีก ดังนั้นใครที่ยังกลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องก้าวให้พ้นไม่ต้องกลัวมันเคยไล่มันมาแล้ว
ส่วนที่บอกให้เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด เราได้ข้อพิสูจน์มาแล้ว เลวเหมือนกันหมด อยากบอกพรรคประชาธิปัตย์ ว่า เดี๋ยวนี้พี่น้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองการเมืองใหม่แล้ว การงัดกรอบเก่าๆมาใช้จึงไม่ได้ผลอีกต่อไป ใครที่ติดตามพันธมิตรฯ อย่างจริงจังจะเห็นจุดที่มีมาแต่ต้น ต้องการสร้างการเมืองที่เป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงปกป้องแผ่นดินและสถาบันพระมหากษัตริย์
“พรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองผิดมาตลอด ตั้งแต่เสื้อแดงชุมนุมวิเคราะห์ผิดจนเกิดอาการคาดไม่ถึง ครั้งนี้ก็เช่นกันหากยังติดอยู่กับกรอบเก่าๆ ที่คิดว่าพี่น้องพันธมิตรฯ กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ หรือพรรคประชาธิปัตย์ยังดีอยู่ แล้วจะเกิดอาการคาดไม่ถึงอีกครั้งหนึ่งในวันเลือกตั้ง”
ผศ.ดร.พิชายกล่าวว่า โหวตโนไม่ได้นำไปสู่การรัฐประหาร ยิ่งโหวตโนมากเท่าไร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติจากน้ำมือประชาชนมากขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร ส่วนที่บอกโหวตโนไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ไม่จริง โหวตโนเป็นประชาธิปไตย 100% และกฎหมายให้ความรับรองด้วย
“นัยคนค้านโหวตโน เป็นเพราะกลัวพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง กลัวเสียผลประโยชน์หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ทำให้คนที่ห้อยโหนหากินอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์หมดช่องทางหากิน กลัว พ.ต.ท.ทักษิณจะมาแก้แค้น นั่นก็เป็นการกลัวของพวกเขา คนพวกนี้กลัวเงา ตกอยู่ในกับดักของเงาที่คิดเอาเอง”
ผศ.ดร.พิชายกล่าวอีกว่า นักการเมืองกลัวโหวตโนมาก เพราะหากประชาชนลงคะแนนโหวตโนอย่างท่าวท้น จะทำให้นักการเมืองจะไม่มีที่ยืนบนเวทีทางการเมือง กลัวลูกหลานจะไม่ได้สืบทอดทายาทการเมืองต่อ กลัวไม่มีโอกาสเข้ามาโกงกินอีก
ทั้งนี้หากถามว่า โหวตโน พรรคเพื่อไทยกลัวหรือไม่ บอกได้เลยกลัวเหมือนกัน แม้จะไม่แสดงท่าทีออกมาชัดเจนก็ตามที เดิมทีพรรคเพื่อไทยคิดโหนกระแสโหวตโน โดยคิดว่าจะไม่กระทบกับพรรคเพื่อไทยมากนัก นั้นเป็นความคิดที่ผิด เพราะหากโหวตโนมีมากเกินครึ่ง ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล แต่จะไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง ทำให้ปัจจุบันเสื้อแดงบางกลุ่มมองประเด็นนี้ออก เลยออกมารณรงค์แข่งกับเราด้วยการรณรงค์โหวต YESสวนกับพันธมิตรฯ
ผศ.ดร.พิชายกล่าวว่า นักวิชาการบางส่วนที่คัดค้านเรา มองว่าโหวตโนเป็นการกระทำที่ “วิตถาร” ประเด็นนี้ตนอยากตั้งคำถามกลับ ว่า การยอมรับเลือกตั้งภายใต้ระบบที่ทุจริต ฉ้อฉล ไม่วิตถารกว่าหรือ การยอมจำนนให้นักการเมืองจูงจมูกทั้งที่รู้ว่าโกง ยอมรับนักการเมืองที่ทำให้เสียดินแดนอย่างนี้ไม่วิตถารหรือ หรือบางคนเคยออกมาวิจารว่านักการเมืองเป็นเหมือนโสเภณี แต่พอถึงช่วงเลือกตั้งไปขอพรรคประชาธิปัตย์อยู่ จนถูกตะเพิดกลับมา อย่างนี้ไม่วิตถารกว่าหรือ นอกจากนี้บางคนทั้งที่รู้ว่าระบบการเมืองปัจจุบันไม่สามารถได้แก้ปัญหาบ้านเมืองแถมยังสร้างความขัดแย้งอีก ก็ยังสนับสนุนอยู่ได้อย่างนี้วิตถารหรือไม่ ยอมรับคอร์รัปชั่น ยอมรับเอ็มโอยู ฉะนั้นมันวิตถารหมด ดังนั้นพี่น้องต้องทำลายความวิตถาร เอาความปกติกลับคืนมา ด้วยการโหวตโนลูกเดียว
“นักวิชาการบางพวกที่ชอบอ้างภาคประชาชน แล้ววิจารพันธมิตรฯ ว่าไม่ใช่ภาคประชาชน คนพวกนี้เขาขีดเส้นภาคประชาชน ใครที่สนับสนุนความคิดของเขาเท่านั้นคือภาคประชาชน การผูกขาดความคิดอย่างนี้ ยิ่งวิตถารกว่า”
ผศ.ดร.พิชายกล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่คัดค้านการโหวตโนมี 1.เป็นคนที่ยังขังความคิดตัวเองในระบบที่ล้มเหลว กล่าวคือ ไม่รู้ตัวเองว่าอยู่กับความล้มเหลวเคยชินอยู่กับระบบนี้ ได้แก่ พวกนักวิชาการบางกลุ่ม ชนชั้นกลางบางส่วน 2.เป็นพวกที่ยอมจำนนกับนักการเมือง เพราะได้รับผลประโยชน์ 3.พวกที่อยู่ในความหวาดกลัว โดยเฉพาะกลัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา 4.กลุ่มที่กลัวไม่มีเวทีทางการเมืองเล่น