นิด้าโพล เปิดผลสำรวจพบ เพื่อไทย เฉือน ประชาธิปัตย์ จับตาพลังเงียบ 52% ตัวแปรสำคัญถือหางใครมีสิทธิชนะเลือกตั้ง ส่วนพรรคหน้าใหม่ “รักษ์สันติ” มาแรง ตามมาด้วย “การเมืองใหม่”
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเลือกตั้งสมัยหน้า และความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง” ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,203 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจ สรุปว่า ประชาชน 23.36% เลือกพรรคเพื่อไทย 20.20% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 2.99% พรรคภูมิใจไทย อื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ 0.58% ขณะที่ยังไม่ตัดสินใจ 52.87%
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจดังกล่าวพบว่าประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26.36% เลือกพรรคเพื่อไทย รองลง 20.20% พรรคประชาธิปัตย์ โดยในภาคใต้ประชาชนยังคงนิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ 52.87% ที่ยังไม่ตัดสินใจ และยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
สำหรับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ประชาชน 35.41% จะเลือกพรรคเพื่อไทย 24.69% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 3.33% พรรคภูมิใจไทย พรรคอื่นๆ เช่น พรรครักษ์สันติ พรรคมาตุภูมิ 0.33% ที่เหลือ 36.24% ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 43.1% เชื่อว่า จะเป็นรัฐบาลแบบพรรคผสม ขณะที่ 42.39% เชื่อว่า จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว 14.46% ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
ผลสำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองหน้าใหม่ พบว่า พรรครักษ์สันติ 14.38% พรรคการเมืองใหม่ 10.72% พรรคมาตุภูมิ 8.73% ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ 66.17% อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่อีก 66.17% ไม่ทราบรายชื่อพรรคการเมืองหน้าใหม่ หรือไม่แน่ใจว่าจะได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานที่ประชุมสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ว่า บ่งบอกถึงการตัดสินใจที่ชัดเจนของประชาชน และชี้ให้เห็นว่า ประชาชนอยู่ในฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 52.87 กลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญสามารถชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ และในตัวเลขนี้อาจจะมีกลุ่มที่เป็น Vote No กับอีกกลุ่มที่เป็นพันธมิตรฯ ซึ่งเคยเป็นแนวร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่ภายหลังตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ โดยในตัวเลข 52.87% นี้ มีโอกาสเทคะแนนเสียงไปให้พรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเทไปให้พรรคประชาธิปัตย์ หรืออาจกระจายคะแนนไปยังพรรครักษ์สันติได้เช่นกัน
ส่วนรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายทวีศักดิ์ ให้ทัศนะต่อไปว่า ในการเลือกตั้งคงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะได้รับความนิยมสูงจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคเดียว แต่เชื่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า น่าจะเป็นรัฐบาลผสม ส่วนจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับพรรคทางเลือก ที่จะเลือกจับขั้วกับใคร
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองหน้าใหม่ยังไม่ใช่พรรคทางเลือก เพราะประชาชนยังไม่รู้จัก และพรรคหน้าใหม่เองก็ยังไม่มีการลงพื้นที่ หรือนำเสนอนโยบายอย่างชัดเจน ทำให้พรรคที่มีพื้นที่และฐานเสียงดีอยู่แล้วมีโอกาสมากกว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่จะสามารถทำให้ประชาชน 66.17% ซึ่งเป็นพลังเงียบรู้จักได้มากน้อยแค่ไหน และนโยบายรวมทั้งทีมงานมีความสามารถพอที่จะสร้างกระแสให้ประชาชนเลือกได้มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถสร้างกระแสได้ 66.17% อาจจะเป็น Vote No หรืออาจจะเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองเดิมก็เป็นได้ กลุ่มพลังเงียบจึงเป็นปัจจัยสำคัญของคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้