“ประพันธ์” ยันแบ่งเขตเลือกตั้งตามกฎหมายเรื่องพื้นที่ ประชากร และการคมนาคม ชี้ทำดีกว่าปี 50 ลั่นไม่ได้ดูพรรคไหนได้เปรียบ ลั่นพร้อมจัดการเลือกตั้งทันทีที่ยุบสภา คาดสัปดาห์หน้าตั้ง กกต.ประจำเขตได้ วอนข้าราชการวางตัวเป็นกลาง เร่งยกร่างห้ามนำสถาบันหาเสียง ชงที่ประชุมสัปดาห์นี้
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.375 เขตที่ยังมีหลายฝ่ายมองอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครลงรับเลือกตั้งว่า ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ดูตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ทั้งเรื่องเขตพื้นที่ติดต่อกัน จำนวนประชากรและการคมนาคมที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตามหลักการแบ่งเขตถ้าไม่แบ่งตำบลออกจากอำเภอได้ก็จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สะดวก แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความจำเป็นในการแบ่งตำบลบางตำบลออกจากอำเภอ เพราะกกต.กลางดูข้อกฎหมายเป็นหลักตามที่ กกต.จังหวัดเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเข้ามา โดยผ่านการประชาพิจารณ์ของผู้สมัครและประชาชนในพื้นที่แล้ว
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กกต.ไม่ทราบรายละเอียดว่าพื้นที่ใดเป็นฐานเสียงใคร เพราะ กกต.ดูตามข้อกฎหมายเป็นหลักและใช้ดุลพินิจเสียงข้างมาก โดยผลการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ออกมาก็ถือว่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งดีกว่าตอนแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2550 ที่ครั้งนั้นยังมีคนออกมาประท้วง ทั้งนี้ยืนยันว่า กกต.แบ่งเขตไม่ได้ดูที่พรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบ
นายประพันธ์กล่าวถึงเหตุที่อาจเกิดความรุนแรงในช่วงจัดการเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุม กกต.จังหวัด และคณะกรรมการเตรียมการเลือกตั้งที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยได้เน้นย้ำเรื่องนี้ขอให้ช่วยกันจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่มีมวลชนมากดดัน หากไม่เรียบร้อยเราก็ต้องหามาตรการแก้ไขกันต่อไป ซึ่งกกต.ก็ได้เตรียมความพร้อมไว้เป็นส่วนมากแล้ว หากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่ 6 พ.ค. กกต.ก็พร้อม และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญทั้ง 3 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถแต่งตั้ง กกต.ประจำเขต และผอ.ประจำเขตเลือกตั้งเพื่อมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยตรงได้
“ขณะนี้ กกต.ก็มีความพร้อมอยู่แล้ว ในแง่ของรัฐบาล กกต.อยากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ข้าราชการทุกฝ่ายทั้งพลเรือนทหารและตำรวจวางตัวเป็นกลาง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญ หากข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลางจะทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาและประชาชนไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากมากขึ้น” นายประพันธ์กล่าว
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า สำหรับพรรคการเมืองที่จะนำสถาบันมาเป็นนโยบายหาเสียงนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการยกร่างของ กกต.กำลังยกร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในกรณีจะมีการนำสถาบันมาหาเสียง โดยคาดว่าจะสามารถเสนอต่อประชุม กกต.ได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่มีหลายพรรคคัดค้านอยู่นั้น ทาง กกต.ก็จะหารือในที่ประชุม กกต.และรับฟังข้อเสนอแนะของทุกพรรคการเมือง เพราะขณะนี้กกต.ก็ได้รับฟังเสียงที่สื่อได้เสนอซึ่งยังมีเสียงทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยจะทำอย่างไรให้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อีกทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ยังไม่ส่งหนังสือมาหารือกับ กกต.ในเรื่องดังกล่าวนี้
“ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงนั้นจะใช้แค่ในช่วงหาเสียงที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเท่านั้น และต้องดูระเบียบก่อนว่าจะออกมาอย่างไร แต่เดิมได้มีการยกร่างระเบียบเรื่องสถาบันไว้ในข้อห้าม ซึ่งใครห้ามฝ่าฝืน แต่ภายหลังมีการปรับปรุงในเรื่องสถาบันไว้ในข้อควรปฏิบัติแทน เพื่อที่จะขอความร่วมมือไปยังพรรคการเมือง โดยกำหนดในข้อควรปฏิบัตินั้นจะเหมือนเป็นการขอความร่วมมือแต่ไม่ถึงขนาดจะมีโทษ และที่ผ่านมาข้อควรปฏิบัติ เมื่อ กกต.ออกไปผู้สมัครก็มักปฏิบัติตาม” นายประพันธ์กล่าว