xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แฉสันดานการเมือง “กิน-กาม-เกียรติ” แก้ กม.หาช่องโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.แฉ “กิน-กาม-เกียรติ” 3 เหตุคอร์รัปชัน ชี้ฝ่ายบริหารมักใช้อำนาจแก้ไข กม.เพื่อประโยชน์พวกพ้อง แทรกแซงองค์กรอิสระ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ แนะรอ กม.ใหม่คลอด แก้เกมโกง “วิชา” ตอกหน้า มท.ไม่รีบคืนตำแหน่งปลัดให้ “วงศ์ศักดิ์” เรื่องถึง ป.ป.ช.แน่

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดสัมมนา “มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย” และการอภิปรายเรื่อง “นักการเมืองกับการทุจริตเชิงนโยบาย” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 213 คน เช่นนักการเมือง นักธุรกิจเอกชน ผู้บริหารหรือผู้แทนองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของ ป.ป.ช.จะเสนอมาตรการป้องกันและควบคุมกลุ่มทุนธุรกิจและข้าราชการ มิให้ร่วมมือกับนักการเมืองในการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ได้แก่ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และ 239 เพิ่มอำนาจให้ กกต.และศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งร่วมกับผู้สมัคร เพื่อให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายประสาทกล่าวต่อว่า 2.การให้กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 10 (8) ของกฎหมาย กกต.ตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินบริจาคแก่พรรคการเมือง โดยผู้บริจาคต้องแจ้งว่า เงินบริจาคมีที่มาอย่างไร 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ห้ามนักการเมืองที่ถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งกลับมาสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งใหม่ 4.การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ส่วนมาตรการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จะเสนอให้ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

นายประสาทกล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางการเมือง เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายราชการประจำ ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรตรวจสอบทางการเมือง เช่น การที่ข้าราชการทางการเมืองอื่น เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขานุการนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขานุการนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการประจำ เป็นต้น กรณีนี้จะเสนอการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดความผิดให้ข้าราชการการเมืองที่ฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ส่วนข้าราชการประจำที่อยู่ภายใต้การชี้นำของนักการเมือง คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (กพค.) พิจารณาเสนอแนะต่อก.พ.ดำเนินการจัดให้มีกฎ ก.พ.เพื่อควบคุมข้าราชการผู้มีอิทธิพล ไม่ให้ครอบงำการปฏิบัติหน้าที่

นายประสาทกล่าวอีกว่า สำหรับองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากยังไม่มีการประสานความร่วมมืออย่างจริงจังในการเสนอแนะ กำกับ ดูแล ส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมของนักการเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. สภาพัฒนาการเมือง รวมทั้งรัฐสภา กกต.และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องร่วมกันวางแผนเชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ

นายประสาทกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้การทุจริตมีความแยบยลขึ้น ทำเหมือนจะไม่ผิดแต่จริงๆแล้วผิด เพราะผู้บริหารเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เดิม ป.ป.ช.จะดูการกระทำความผิดว่าผิดหรือไม่จาก 3 ปัจจัย คือถูกกฎหมายหรือไม่ มีอำนาจหรือไม่ และทำตามขั้นตอนหรือไม่ แต่ปัจจุบันจะต้องดูด้วยว่ามีการบิดผันกฎหมายหรือไม่ด้วย ขณะนี้ ป.ป.ช.เตรียมที่จะออกประกาศเพิ่มเติม ตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ห้ามมีผลประโยชน์ ส่วนตัวขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวม จากเดิมที่มีเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ให้รวมถึงตำแหน่งนายกและรองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย ซึ่งจะทำให้มีตำแหน่งที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างน้อย 23,000 ตำแหน่ง

จากนั้นในการอภิปรายเรื่อง “นักการเมืองกับการทุจริตเชิงนโยบาย” โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า การทุจริตในเชิงนโยบาย คือ การกำหนดนโยบายมาเพื่อการทุจริต ในอดีตมีรัฐมนตรีคนหนึ่งของงบสร้างถนนไปในที่ของตัวเองที่เรียกว่าถนนควายเดิน แต่ปัจจุบันการทุจริตเชิงนโยบายมีความซับซ้อนมากขึ้น ตนให้องค์ประกอบไว้ 3 ประการ คือ 1.ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐผ่านทางนโยบายหรือออกกฎหมาย 2.มิได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน และ 3.ทำลายระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างร้ายแรง อันตรายของการทุจริตเชิงนโยบาย จึงน่ากลัวการทำถนนควายเดินหรือปัญหาตำรวจเรียกรับเงิน เพราะสร้างความเสียหายแก่สังคมด้วย

“สมัยทำงานอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีการตรวจสอบคดีหนึ่งที่ผู้บริหารออกนโยบายแล้วมีบริษัทได้รับประโยชน์ ต้องตรวจสอบไปถึงจิ๊กซอว์ตัวแรกถึงเจตนาในการออกนโยบายดังกล่าวว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ส่วนตน รวมถึงดูความสัมพันธ์ของผู้บริหารรายนั้นว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ได้รับประโยชน์อย่างไรด้วย” นายกล้านรงค์กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า 3 สิ่งที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร ได้แก่ กิน กาม เกียรติ กินคือ การสวาปามทุกอย่าง กามคือ การบำเรอน้ำกามของผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเกียรติ คือ การดำรงตำแหน่งระดับสูงเพื่อเกียรติยศของตัวเอง โดยใช้ระบบอุปถัมภ์ช่วยเหลือพวกพ้อง ขณะนี้กำลังรอกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ประกาศใช้ ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 103/1 แก้ไขเพิ่มเติม ระบุให้การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นการทุจริตประเภทหนึ่ง พร้อมกำหนดโทษไว้ในมาตรา 123/1 จำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น อนาคตของประเทศไทยจะไปไม่รอด หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สละประโยชน์ส่วนตัว มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงลักษณะการทุจริตเชิงนโยบายว่า สามารถแยกได้ 3 นโยบาย คือ 1.การกระทำใดๆ ที่ใช้อำนาจรัฐบาล ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี 2.การใช้อำนาจฝ่ายบริหารแสวงหาผลประโยชน์ และ 3.การใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับญาติและพวกพ้องได้ประโยชน์จากการกระทำ โดยการใช้อำนาจของรัฐบาลทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 สถานะ คือ นายกฯ และรัฐมนตรีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และนายกฯกับคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าฝ่ายการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน

รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิดกล่าวต่อว่า ส่วนทำไมถึงมีการทุจริตเชิงนโยบายนั้น เพราะเกิดจากการอาศัยฐานมติ ครม.เป็นฐานดำเนินการ โดยจะต้องอาศัยอีกหลายๆ ฐานในการที่จะบรรลุเป้าหมาย เป็นการทุจริตที่เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาลและระยะยาว เป็นการทำให้ทิศทางนโยบายเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม เป็นสิ่งที่มีมติกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้เมื่อเกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้น ต่างประเทศจะไม่กล้าแตะ เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ และเป็นการเชื่อมโยงมิติทางการเมือง แทรกแซงการตรวจสอบทางการเมืองสู่การทำลายสถาบันต่างๆ ในประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิดกล่าวอีกว่า สำหรับความแตกต่างของการทุจริตทั่วไปกับการทุจริตเชิงนโยบายนั้น การทุจริตโดยทั่วไปจะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ ส่วนการทุจริตเชิงนโยบายเป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามอำนาจหน้าที่

นายวิชายังกล่าวถึงกรณีที่นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ยังไม่คืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้กับนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ ตามมติของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แต่กลับไปตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อกฎหมายแทนว่า เรื่องนี้เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีคนร้องมายัง ป.ป.ช.แน่ และหากยังไม่ทำอีก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะคืบคลานเข้ามาทันที เรื่องนี้ถ้ายังช้าอยู่ หนีไม่พ้น ป.ป.ช.แน่




กำลังโหลดความคิดเห็น