xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน. “สูตรสมบัติ” การันตี ปชป.ครองประเทศยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมกลุ่มเดิมอีกครั้ง หลังจากได้วางแผนปูทางเพื่อให้ตัวเองได้กลับมาเป็นรัฐบาลไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 ให้มี ส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคหรือ ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน ซึ่งผ่านการพิจารณาวาระ 3 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่แล้ว เมื่อประมาณการจากฐานคะแนนในระบบสัดส่วนจากการเลือกตั้งปี 2550 ที่ผ่านมา จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ไม่น้อยกว่า 20 คน เมื่อรวมเสียงกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ก็การันตีได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมกลุ่มเดิมอีกครั้ง

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราก 93-98 มีขึ้นพร้อมๆ กับการแก้ไขมาตรา 190 ที่ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่ต้องผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชนและผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดของนายสมบัติเสนอไป 6 ข้อ แต่รัฐบาลรับไปทำเพียง 2 ข้อ

อย่างไรก็ตาม งานของคณะกรรมการชุดนายสมบัติยังมีอีกภารกิจหนึ่งคือ การศึกษาแนวทางในการปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสมบัติ พร้อมกรรมการ คือ นายเจษฎ์ โทณะวณิก และนายบรรเจิด สิงคะเนติ ได้ร่วมกันแถลงผลการศึกษา ก่อนเตรียมเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ต่อไป

ซึ่งสรุป สาระสำคัญในการปรับโครงสร้างทางการเมืองประกอบด้วย 1.ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบปาร์ตี้ลิสต์มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากพรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นอันดับ 1 มีจำนวน ส.ส.จะไม่มากพอ ก็สามารถนำพรรคการเมืองอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้

2.รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่สามารถตรวจสอบรัฐบาลด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ ตั้งกระทู้ถามสดในสภาได้

นอกจากนี้ ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่มีผลกระทบกับการบริหารงานของรัฐบาลที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ด้วย ส่วนการสิ้นสภาพของรัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อนายกฯ ถูกถอดถอน หรือลาออกเท่านั้น ระบบนี้จะช่วยให้รัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ ช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเข้มแข็ง

เหตุที่คณะกรรมการมีข้อเสนอเช่นนี้ นายสมบัติอธิบายว่า เพราะต้องการให้ประชาชนเลือก ส.ส.โดยพิจารณาที่พรรคการเมือง ซึ่งพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากระบบปาร์ตี้ลิสต์จะได้ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงเสียงในสภา ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ส. หากใครเป็น ส.ส. เขตต้องลาออก เพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้รัฐมนตรีได้ทำงานบริหารอย่างเต็มที่

ส่วนการห้ามฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น เนื่องจากการอภิปรายของ ส.ส.ไทยไม่มีประสิทธิภาพ และการที่ฝ่ายค้านมีเสียงข้างน้อย จึงโหวตแพ้เสมอ แนวทางใหม่ที่เสนอคือไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการตรวจสอบอย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ หากรัฐบาลกระทำผิดทางก็สามารถยื่นถอดถอน หรือหากเป็นการทำผิดคดีอาญา ก็มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาไต่สวนและฟ้องร้องศาลได้

หลังจาการแถลงผลศึกษาดังกล่าวออกมา มีคนของพรรคประชาธิปัตย์บางคนออกมาคัดค้าน เช่น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยอ้างว่า การปรับโครงสร้าง หรือแก้ปัญหาทางการเมืองของไทยนั้น ควรเน้นเรื่องการให้การศึกษากับประชาชน หรือการสร้างกลไกเพื่อแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่า ส่วนที่เสนอให้หัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีข้อดีในการคงเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนข้อเสีย คือ ประชาชนไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และอาจทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอได้

ส่วนนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดเป็นนายกฯ นั้น ก็ต้องถามกลับว่าต้องการเสริมสร้างอะไร ป้องกันการซื้อเสียงหรือไม่ และดูเหมือนว่าข้อเสนอยังขัดแย้งกันอยู่ อาทิ เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค แต่กลับให้พรรคที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการคุยกันในพรรค 5 ประเด็นที่เสนอยังไม่มีความชัดเจน เช่น 1.ให้หัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนเสียง ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องใช้เสียงข้างมากของสภา น่าจะปฏิบัติยาก ส.ส.และประชาชนไม่ให้การยอมรับ เพราะเสถียรภาพของนายกฯ จะอ่อนไหวมากหากเสียงในสภาไม่พอเป็นเสียงข้างมาก 2.ฝ่ายบริหารห้ามยุบสภา มีปัญหาว่า ถ้าไม่มีการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายสภา ถ้ามีความขัดแย้งของสองฝ่าย จะไม่มีทางออก 3.การห้ามสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือว่าเป็นระบบประธานาธิบดี ขัดหลักระบบรัฐสภาสากล เสี่ยงต่อการรัฐประหารหากเจอทางตัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสมบัติก็สอดคล้องกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งออกมาพูดถึงเรื่องเดียวกันก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถาม เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ก็ไม่ปฏิเสธหรือตอบรับโดยตรง เพียงแต่ตอบเลี่ยงๆ ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญสามารถที่จะแก้ไขได้ อย่าไปคิดว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เป็นหลักของประเทศแต่ว่าแก้ไขได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำไปด้วยความรับรู้รับทราบเห็นดีเห็นงามไปด้วยกัน

ส่วนข้อเสนอที่จะไม่ให้รัฐบาลยุบสภา นายสุเทพบอกว่า ระบบอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ การเมืองนิ่ง ทำให้คนสามารถทำมาหากินค้าขาย ดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้อย่างสบายใจดีทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าการแบ่งแยกถ่วงดุลอำนาจกันต้องมีประสิทธิภาพด้วย ความคิดของนักวิชาการเหล่านี้น่าสนใจมาก เพียงแต่ต้องขอไปรอดูรายละเอียดก่อน

อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสมบัติเป็นความจริงขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ในการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะเป็นยาวต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

ทั้งนี้ เมื่อดูจากคะแนนการเลือกตั้งในปี 2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนจากระบบสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของผู้ไปลงคะแนน น้อยกว่าพรรคพลังประชาชนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้โอกาสจากการเป็นรัฐบาลทุ่มงบประมาณทำโครงการในลักษณะประชานิยม จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะให้ได้คะแนนเสียงระบบปาร์ตี้ลิสต์มากพอที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยที่มาจากพรรคพลังประชาชนเดิมและคะแนนเสียงถูกแบ่งเมื่อกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบแยกตัวออกมา

ดังนั้น แม้คนในพรรคประชาธิปัตย์บางคนจะออกมาปฏิเสธ แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสมบัติ ให้ประโยชน์ทางการเมืองแก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น