xs
xsm
sm
md
lg

สับแผนปฏิรูปฯ"สมบัติ" โวยรับใบสั่งปชป.-ทำการเมืองอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ แถลงสรุปความเห็นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเมือง โดยจะไม่ให้มีการยุบสภา และให้พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล ห้ามส.ส.มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า นักวิชาการพูดมา เราก็ต้องฟัง ฝ่ายเราในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ ก็ต้องดูตามไปด้วย ให้ทำใจเอาไว้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญสามารถที่จะแก้ไขได้ อย่าไปคิดว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จนแตะต้องไม่ได้ ทั้งนี้ขั้นตอนกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำไปด้วยความรับรู้ รับทราบ เห็นดีเห็นงามไปด้วยกัน
เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่จะไม่ให้รัฐบาลในอนาคตยุบสภา จะทำได้หรือไม่ อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ก็ต้องไปดูในรายละเอียด ตนคิดอย่างเดียวว่าระบบอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ การเมืองนิ่ง ทำให้คนสามารถทำมาหากิน ค้าขาย ดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้อย่างสบายใจ ดีทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่า การแบ่งแยกถ่วงดุลอำนาจกัน ต้องมีประสิทธิภาพด้วย ความคิดของนักวิชาการเหล่านี้น่าสนใจมาก เพียงแต่ต้องขอไปรอดูรายละเอียดก่อน ก็อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ ติดเรือทั้งโกลน ศึกษาข้อเสนอของเขาก่อน ว่าเขาคิดอย่างไร แล้วเราค่อยคิดตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวคิดนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ได้รับไฟเขียวมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานนโยบายและยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ใช่ พรรคยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กันเลย นายกอร์ปศักดิ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ เป็นนักยุทธศาสตร์ ก็มีความคิดความผันของเขาไปเรื่อย กึ่งๆวิชาการไป ส่วนพวกตนเป็นนักปฏิบัติการ ต้องลุยตามไป

* ข้อเสนอ"สมบัติ"ทำสภาอ่อนแอ
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่เสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า 5 ข้อที่เสนอมานั้น ยังไม่เห็นภาพรวมที่ชัดเจน คือ 1. คะแนนสัดส่วนอันดับหนึ่งไม่ต้องโหวตในสภา เป็นเรื่องใหม่ และยากต่อการปฏิบัติ ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพนายกฯ อ่อนไหว
2 .ไม่มีสิทธิยุสภานั้น หากเกิดความขัดแย้งของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ไม่มีการถ่วงดุลกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางออกการแก้ปัญหาคืออะไร รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ 3. การแยกอำนาจชัดเจนของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะขัดต่อหลักปฏิบัติสากล เหมือนเป็นการเลือกประธานาธิบดีมากกว่า และไม่สอดรับกับระบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และทำให้ชาติถึงทางตัน และมีวงจรอุบาทว์เข้ามาแทรกแซง
4.ห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ส.ส.กับฝ่ายบริหาร
5. ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ซึ่งประวัติศาสตร์มีความล้มเหลวที่ให้ส.ส.เป็นอิสระ แม้ปัจจุบันกฎระเบียบพรรคก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ และอาจกลายเป็นการเมืองลักษณะโกลาหล ตลาดนัดส.ส. ทำให้รัฐสภาอ่อนแอไปด้วย

**ทำตามยากเพราะยังมีระบบอุปถัมภ์
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ฐานแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากตนมองว่าการปรับโครงสร้าง หรือแก้ปัญหาทางการเมืองของไทยนั้น ควรเน้นเรื่องการให้การศึกษากับประชาชนในประเทศ หรือการสร้างกลไกเพื่อแก้ไขการทุจริต คอร์รัปชั่น มากกว่า
อย่างไรก็ตามหากจะมีการแก้ไขตามข้อเสนอ ก็จะเกิดคำถามอีกว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าว และต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองด้วยหรือไม่
ส่วนที่เสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดจัดตั้งรัฐบาลนั้น ตนมองว่า มีทั้งข้อดี และข้อเสีย กล่าวคือข้อดี จะคงเสถียรภาพของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ส่วนข้อเสีย คือประชาชนไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และอาจทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอได้
" สภาพสังคมของประเทศไทยปัจจุบัน ที่ประชาชนยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ยังรับเงินนักเลือกตั้งที่มาซื้อเสียง ผมมองว่าไม่มีความพร้อม ที่จะใช้ระบบการเมืองตามที่นักวิชาการเสนอ แต่หากจะเริ่มต้นก็ถือว่า เป็นเรื่องดีแต่คาดว่าจะใช้เวลานาน ผมมองด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยควรจะยึดพื้นฐานคือเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน" นายชินวรณ์ กล่าว
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว ตนต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ที่จะให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดเป็นนายกฯ นั้น ก็ต้องถามกลับว่าต้องการเสริมสร้างอะไร ป้องกันการซื้อเสียงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อเสนอยังขัดแย้งกันอยู่ อาทิ เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัด แต่กลับให้พรรคที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดจัดตั้งรัฐบาล

**"ไอ้ตู่"จวกเอื้อประโยชน์ปชป.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นความบังเอิญหรือ จงใจ กับแนวคิดที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เคยกล่าวเอาไว้ก่อหน้านี้หรือไม่ ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ เคยแพ้การเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนให้กับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กลัวว่า จะสู้พรรคเพื่อไทยแบบระบบเขตไม่ได้
ส่วนกรณีที่มีการเสนอไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นถือว่า เป็นความคิดที่เลวทราม เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งหากไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จะทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่น อีกทั้งตนเห็นว่าประชาชนคงรับไม่ได้ และเป็นเรื่องที่เหลวไหลที่สุด

**"ชัย"ส่งร่างแก้ไขรธน.ให้ศาลตีความแล้ว
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าได้ส่งเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไปให้ศาลรธน.ตีความแล้ว ส่วนศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องขึ้นกับดุลพินิจของศาล
ทั้งนี้ หากศาลไม่รับเรื่องไว้พิจารณา นายกรัฐมนตรี ก็สามารถนำร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แต่ถ้าศาลรับไว้พิจารณา นายกรัฐมนตรี ก็จำเป็นต้องรอให้กระบวนการในศาลเสร็จสิ้นก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

**คาดสัปดาห์หน้าพิจารณาได้
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรธน.ได้รับเรื่องจากประธานรัฐสภาแล้วเมื่อเย็นวันที่ 16 ก.พ. และขณะนี้ได้ให้ฝ่ายธุรการ ประมวลเรื่องเพื่อนำเสนอเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรธน. เพื่อพิจารณาแล้ว คาดว่าในวันที่ 21 ก.พ.คงจะมีความคืบหน้าว่าจะสามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการได้ภายในสัปดาห์เดียวกันหรือไม่ แต่คิดว่ามีความเป็นไปได้
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาโดยเร็วหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะตุลาการจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะพิจารณาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น