“ปชป.” รวมหัวขวางข้อเสนอปรับโครงสร้างการเมืองของ อ.สมบัติ แนะต้องแก้ไขที่ระบบ เน้นให้การศึกษาปชช.เพิ่มภูมิคุ้มกันคอร์รัปชัน “ปธ.วิปรัฐ” ชี้ข้อเสนอขัดแย้งกัน
วันนี้ (17 ก.พ.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้เสนอแนวทางปรับโครงสร้างทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ ลิสต์)มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล,รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา แต่สามารถตรวจสอบผ่านการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หรือกระทู้ถามสด ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากตนมองว่า การปรับโครงสร้าง หรือแก้ปัญหาทางการเมืองของไทยนั้น ควรเน้นเรื่องการให้การศึกษากับประชาชนในประเทศ หรือการสร้างกลไกเพื่อแก้ไขการทุจริต คอร์รัปชัน มากกว่า อย่างไรก็ตาม หากจะมีการแก้ไขตามข้อเสนอ ก็จะเกิดคำถามอีกว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าว และต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองด้วยหรือไม่
ส่วนที่เสนอให้หัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์สูงสุด จัดตั้งรัฐบาลนั้น ตนมองว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย กล่าวคือ ข้อดี จะคงเสถียรภาพของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ส่วนข้อเสีย คือ ประชาชนไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และอาจทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอได้
“สภาพสังคมของประเทศไทยปัจจุบัน ที่ประชาชนยังอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ยังรับเงินนักเลือกตั้งที่มาซื้อเสียง ผมมองว่า ไม่มีความพร้อมที่จะใช้ระบบการเมืองตามที่นักวิชาการเสนอ แต่หากจะเริ่มต้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแต่คาดว่าจะใช้เวลานาน ผมมองด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยควรจะยึดพื้นฐาน คือ เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน” นายชินวรณ์ กล่าว
ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวตนต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ส่วนกรณีที่ระบุว่าให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดเป็นนายกฯ นั้น ก็ต้องถามกลับว่าต้องการเสริมสร้างอะไร ป้องกันการซื่อเสียงหรือไม่ ตนต้องการคำอธิบาย อย่างไรก็ตามจากการที่ได้ติดตามดูเหมือนว่าข้อเสนอยังขัดแย้งกันอยู่ อาทิ เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัด แต่กลับให้พรรคที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สูงสุดจัดตั้งรัฐบาล
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนที่เปิดให้มีการตรวจสอบผ่านการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมตินั้น ถ้าหากรัฐบาลไม่มีความแตกแยก หรือคะแนนแตกต่างกัน ตนมองว่า การอภิปราย ก็เป็นการอภิปรายทั่วไป ซึ่งไม่เป็นผลดี หากคนที่ถูกอภิปรายเป็นคนที่ไม่ดี