“สดศรี” ประเมินหลังเลือกตั้งกลับสู่วงจรอุบาทว์ใช้เหตุร้องยุบพรรคสกัดกั้นการเติบโตพรรคการเมือง พร้อมเสนอแก้กฎหมายให้ถือเสียงประชาชนเป็นใหญ่ได้บริหารประเทศ ขณะเดียวกันจวกการเมืองสกปรก แม้แต่ครอบครัวก็ไม่เว้น ระบุ นายกฯจะถูกปาไข่ห้ามยาก แต่ กกต.ของบ 500 ล้านสำหรับสืบสวนรับศึกเลือกตั้ง
ที่สถาบันพระปกเกล้า วันนี้ (21 มี.ค.) มีการสัมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เลือกตั้งอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย” โดย นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้บรรยายตอนหนึ่งว่า กกต.มีบทบาทภารกิจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยประกอบไปด้วย 1.อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ทหาร กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือนักการเมือง 2.ต้องปกครองโดยหลักนิติธรรมเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่เผด็จการ
3.เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกันยอมรับความเห็นที่แตกต่าง 4.เคารพต่อการตัดสินใจของเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย 5.ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน 6.ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ 4 ปีของรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้เป็นของประชาชนแท้จริง นักการเมืองพรรคการเมืองยังคิดแต่ประโยชน์ตนเองพวกพ้อง 7.ยึดหลักความถูกต้อง ความชอบธรรมเป็นสำคัญ โดยศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายแต่ปัจจุบันศาลกลับถูกมองว่าการเมืองเข้ามายุ่งมากเกินไป
“ศาลฯถูกตั้งคำถามว่า หลักและเหตุที่ออกมานั้นถูกต้องเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ที่ผ่านมาพูดกันบ่อยว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่นั่นหมายถึงต้องเป็นองค์กรที่มั่นคงไม่แตะต้องการเมือง แต่ขณะนี้ที่ทำกันคือดึงศาลเข้าสู่การเมืองที่เป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ถูกการเมืองเล่น เหมือนตัว กกต.เองที่ถูกผลกระทบจากการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ครอบครัวก็ถูกดึงเข้าไปกระทบด้วย อนาคตจึงควรดึงศาลยุติธรรมออกจากการเมือง เช่น คดียุบพรรคก็ไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รวมทั้งควรแยกศาลออกมาจากการเมือง โดยตั้งศาลฯขึ้นมาพิจารณาคดีการเมืองโดยเฉพาะแล้วเลือกนักการเมืองและประชาชนมาทำหน้าที่ตัดสินกันเอง”
8.ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน แต่ที่นัการเมืองที่เข้ามาส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม 90% มองผลประโยชน์ตนเองพวกพ้องเป็นหลัก ตั้งพรรคจุดประสงค์หลักก็เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐเท่านั้น ขณะที่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนตัวเห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้สั้น กระชับ ตัดทอนรายละเอียด ยิบย่อยออกไป เพราะบางกรณีทำให้การทำงานของพรรคสะดุด หรือเป็นเหตุให้ถูกยุบ ส่งผลให้ถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองซึ่งวงจรนี้จะกลับมาอีกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของพรรคการเมือง และจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกของประชาชน จึงควรสะสางปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคใหม่ ให้ถือเสียงข้างมากประชาชนเป็นหลัก พรรคไหนได้เสียงข้างมากก็ให้บริหารประเทศ
นางสดศรี กล่าวว่า หากมีการยุบสภาแล้วกกต.ต้องออกประกาศ กกต.เกี่ยวกับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.แทนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.เชื่อว่า จะมีการฟ้องร้อง กกต.ว่าประกาศ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และอาจทำให้ กกต.ทั้งหมดมีโอกาสติดคุกถึง 70% จึงขอให้ผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับก่อนยุบสภาจะเป็นพระคุณอย่างมาก กกต.ก็จะปลอดภัยมีเกราะป้องกันการถูกฟ้อง เพราะแน่นอนว่าการร้องเรียนของผู้ที่มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งต้องมีหากได้จำนวน ส.ส.ไม่เข้าเป้า ซึ่ง กกต.ไม่อยากให้เกิดขึ้น
“ขณะนี้มีการพูดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มี กกต.และจะบังคับให้ กกต.ลาออก แต่คิดว่าคงไม่สามารถหยุดยั้งกกต.ได้ เพราะถ้า กกต.ออกก็ต้องมีการตั้งกกต.ชุดใหม่เข้ามาจัดเลือกตั้งได้อยู่ดี อีกทั้งม็อบสีหนึ่งยังบอกให้ กกต.ลาออกไปเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ และถึงกกต.ชุดนี้ลาออกก็จะมีชุดใหม่เข้ามา เพราะใครก็อยากเป็น กกต.เนื่องจากคิดว่ามีอำนาจเพื่อจะรับใช้อำนาจการเมือง”
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า แม้นายกฯจะกำหนดช่วงเวลาของการยุบสภาไว้ต้นเดือน พ.ค.แต่ในเรื่องวันเลือกตั้งควรให้พรรคการเมืองมีส่วนกำหนดวันด้วย เพียงแต่ กกต.ได้ตั้งตุ๊กตาไว้ว่าเป็นวันที่ 26 มิ.ย.แต่ไม่รู้ว่า กกต.จะเตรียมความพร้อมได้เรียบร้อยหรือไม่ หากยังไม่เรียบร้อย ก็ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งจะต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา และต้องเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งก่อนหน้านั้น กกต.จะเชิญประชุมพรรคการเมืองทั้งหมดราวต้น เม.ย.เพื่อหารือถึงวันเลือกตั้งและการกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง
นางสดศรี ยังกล่าวถึงกรณีมีผู้ไม่หวังดีเตรียมปาไข่ใส่นายกฯว่า กกต.ได้เตรียมงบประมาณ 500 ล้านบาท ให้ด้านกิจการสืบสวนและวินิจฉัยนำไปอบรมพนักงานสืบสวนสอบสวน และร่วมกับตำรวจ ทหาร ในการดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ ขนาดนายกฯยังหาคนป้องกันท่านได้ยาก ถ้าพรรคการเมืองไม่มีฐานเสียงในภาคใดหากไปหาเสียงภาคนั้นแล้วก็อาจมีปัญหาในเรื่องมวลชนได้ ซึ่ง กกต.จะต้องระดมพลช่วยเหลือเพื่อขจัดเหตุร้ายที่เกิดขึ้น
“การขัดขวางการเลือกตั้งก็มีโทษตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่มีโทษจำและปรับ และแม้ขณะนี้ยังไม่มีเลือกตั้งแต่ในบางจังหวัดมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งยังเอาไม่อยู่ แล้วถ้ามีเลือกตั้งไม่มี พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้จะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ กกต.จะพยายามให้เกิดเหตุน้อยที่สุด ดังนั้น ช่วงมีการหาเสียงอย่าใช้ระบบม็อบไปทำร้ายกัน หรือให้ผู้สมัครทำพิธีสาบานในการเลือกตั้งสมานฉันท์ว่าจะไม่ก่อเหตุจะร่วมมือ กกต.ไม่ให้เลือกตั้งมีปัญหา”