xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ยันเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบแก้อธิปไตย ซัด ปชป.เอาแต่ได้ สลดสภาฯ ปชช.พึ่งไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ
“ปานเทพ” รับ 50 วันพันธมิตรฯ ชุมนุม รัฐไร้การตอบสนอง แต่ชูคนรู้ปัญหามากขึ้น ชี้หากรัฐสลายม็อบมาอีกเพียบแน่ จี้รัฐรับผิดชอบผล กก.มรดกโลก ยันเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ ซัด ปชป.เอาแต่ได้ “จำลอง” เย้ยรัฐเข้าตาจนต้องสลายม็อบ ชี้สภาเมินยกปัญหาชายแดนอภิปราย เป็นที่พึ่งไม่ได้ของประชาชน



วันนี้ (15 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ถือว่าครบ 50 วันของการชุมนุมที่เริ่มจากกลุ่มพันธมิตรฯ ในนามการชุมนุมที่ชื่อว่า “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ต่อเนื่องมาถึงคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักร ผ่านมา 50 วันแล้ว ข้อเรียกร้องต่างก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง แต่จากการประเมินผลการชุมนุมที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนรับรู้ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชามากขึ้น และรับรู้ว่ากัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยอยู่ในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงถือว่าการชุมนุมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนในแง่ของการรับรู้ของประชาชนที่ให้หันกลับมามองปัญหาชายแดนไทยกับกัมพูชา

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ข้อมูลบางประการที่รัฐบาลไทยไม่กล้าที่จะไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ ได้ถูกแก้ไขโต้แย้งโดยภาคประชาชนจาก ทั้งการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หรือการยื่นหนังสือต่อสถานทูตอินโดนีเซีย ทำให้ภาคประชาชนมีพื้นที่ในการโต้แย้งกับทางกัมพูชาที่ดูเหมือนมีแนวทางในการประชาสัมพันธ์ในเวทีนานาชาติเหนือกว่ารัฐบาลไทย อีกทั้งยังทำให้สหประชาชาติ หรือคณะกรรมการมรดกโลก ได้ตระหนักว่า การปล่อยให้มีการนำปราสาทพระวิหารเข้ากระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไปจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะประชาชนไทยมีความรู้สึกไม่สบายใจและเดือดร้อนจากการถูกยึดครองดินแดนไป

“สิ่งที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวได้สะท้อนไปถึงองค์กรระหว่างประเทศว่าจะดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชา แบบลุแก่อำนาจไม่ได้ อย่างน้อยยังมีภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งที่คอยคัดค้านและโต้แย้งอยู่” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบ (ศอ.รส.) ได้ออกประกาศให้ยุติการชุมนุมภายในวันนี้ (15 มี.ค.) ด้วยว่า วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่ ศอ.รส.ได้กำหนดไว้ แต่จากปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งมีประชาชนมาร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการให้มีการสลายการชุมนุม หากรัฐบาลลุแก่อำนาจใช้กำลังในการสลายการชุมนุมจะทำให้มีประชาชนอีกจำนวนมากมาสมทบการชุมนุม เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ เมื่อรัฐบาลใช้กำลังสลายเมื่อใด ผู้ชุมนุมก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนจะไม่ยอมให้รัฐบาลกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมที่มีจิตใจปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

ในส่วนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางในระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค.นี้ และมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภาในช่วงเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ นายปานเทพกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นแต่พิธีการอย่างหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเรามีบทเรียนแล้วว่านี่เป็นเพียงเวทีสำหรับนักการเมืองที่ไม่เกรงกลัวหรือละอายต่อบาป ที่ใช้วาทกรรมตอบโต้กันไปมา จึงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ ดังนั้นการอภิปรายก็ไม่มีผลต่อการปกป้องอธิปไตยของชาติของรัฐบาลอยู่ดี ในส่วนของกำหนดการยุบสภาของรัฐบาลนั้น ตนเห็นว่ามีความต้องการให้ประชาชนลงคะแนนหย่อนบัตรก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้ผลก่อนว่า ผลการประชุมเวทีมรดกโลกออกมาเช่นใด ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน และไม่รับผิดชอบต่อผลที่รัฐบาลไปตัดสินใจลงนามในร่างประนีประนอมกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 29 ก.ค.53 ว่าไม่ปฏิเสธมติคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลัง

“รัฐบาลควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ และพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนมีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลในผลงานที่รัฐบาลก่อเอาไว้ เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจ” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังกล่าวถึงกรณีนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ในฐานะโฆษกรัฐบาล ออกมาระบุพาดพิงถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่าคาดหวังความรุนแรง รวมทั้งชื่นชมการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่พร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา การยุบสภาก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะทั้งฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็มีชนักติดหลังในกรณีชายแดนไทย-กัมพูชาด้วยกันทั้งสิ้น พรรคเพื่อไทยในสมัยที่เป็นพรรคพลังประชาชนก็ให้การสนับสนุนกัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้ลงนามในเอ็มโอยู 2543 ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอธิปไตยของชาติ เพราะต้องให้ผู้ที่มีความกล้าหาญเข้ามาลงมือทำเท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดทางตำรวจได้เจรจากับเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติให้ย้ายพื้นที่การชุมนุมจากถนนพิษณุโลก ไปยังใต้สะพานพระราม 8 หรือข้างกระทรวงการคลัง จะมีผลอย่างไรต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า กรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เพียงแต่ตนเห็นว่าเมื่อปี 53 พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ก็เป็นผู้เสนอให้กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงมาใช้พื้นที่ถนนพิษณุโลกในช่วงที่มีการจัดงานกาชาด จุดที่ทางเครือข่ายฯอยู่ในตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าการจัดงานกาชาดไม่ได้กระทบหรือเกี่ยวพันต่อพื้นที่ถนนพิษณุโลกแต่อย่างใด ดังนั้น การพยายามย้ายพื้นที่การชุมนุมเพื่อจัดงานนั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่ ไม่มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติแต่อย่างใด เพียงต้องการบั่นทอนพลังในการชุมนุมเท่านั้น

“เวลาที่ประชาชนจะประท้วงต่อรัฐบาล ก็ต้องมาชุมนุมใกล้รัฐบาล เพื่อให้ผลกระทบต่อรัฐบาลโดยตรง ไม่มีใครที่จะไปชุมนุมในพื้นที่อื่น เช่น ที่แยกราชประสงค์ ก็ไม่ได้มีเหตุผล เพราะเราต้องการแสดงสัญลักษณ์อารยะขัดขืนต่อรัฐบาล จึงต้องมาอยู่ใกล้ๆ รัฐบาลจะปัดความรับผิดชอบให้ผลกระทบไปถึงคนอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวเองนั้นคงไม่ถูกต้อง” นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพกล่าวอีกว่า พื้นที่การชุมนุมที่เราอยู่ตอนนี้ทั้งที่ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก นั้นเป็นพื้นที่เดียวกับที่เราใช้เมื่อครั้งต่อต้านรัฐบาลระบอบทักษิณ ในวันที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ ตนยังเห็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่วันนี้ไปเป็นรัฐมนตรีหลายคนมาเยี่ยมเยือนถึงหลังเวทีเป็นประจำ อีกทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ มาเข้าร่วมการชุมนุมอีกด้วย ในตอนนั้นไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องปัญหาการจราจรเลย แต่วันนี้กลับมาอ้างเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เอาแต่ได้ แสดงท่าทีเอื้อการชุมนุมเพราะคิดว่าได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่ได้ต้องการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามที่อ้าง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจะมารื้อห้องสุขาของผู้ชุมนุม เมื่อปี 53 การชุมนุมของคนเสื้อแดงก็มีการสร้างห้องสุขาตลอดแนวรั้วกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่เห็นมีการรื้อถอนแต่อย่างใด

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการชุมนุมครั้งนี้หากมีบางกลุ่มย้ายออกไปก็ไม่มีปัญหาต่อพวกเรา เพราะเรายังจำเป็นต้องใช้พื้นที่เต็มพื้นที่ เพียงแต่หากมีกลุ่มใดออกไปก็จะลดความแออัดลงเท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าทางตำรวจก็จะไปอ้างว่ามีผู้ชุมนุมบางกลุ่มให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ชุมนุมกองทัพธรรมนั้น ยืนยันว่าไม่เคลื่อนไปที่ไหนแน่นอน หากตำรวจจะมาเจรจาขอให้เราชุมนุมที่อื่น เราก็จะขออยู่ที่นี่ต่อไป เพราะหากยกตัวอย่างให้เราไปชุมนุมที่ทุ่งกุลาร้องไห้ รัฐบาลก็สบาย และจะส่งเสบียงให้เราไปอยู่เป็นเดือนเป็นปีด้วยซ้ำ

“ผมยังมีความเชื่ออยู่ว่ารัฐบาลยังมีแนวคิดในการสลายการชุมนุมของพวกเราอยู่ เพราะรัฐบาลเข้าตาจนขึ้นทุกขณะ ที่เรามาเปิดโปงในสิ่งที่รัฐบาลทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางก็ไม่ได้นำเรื่องปัญหาไทย-กัมพูชามาเป็นประเด็นหลัก กลับไปพูดถึงเรื่องอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นที่พึ่งของประชาชน” พล.ต.จำลองกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น