xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กกต.เสนอ 3 แนวทางนายกฯ เลือกตั้งใหม่ รับ มิ.ย.-ก.ค.เหมาะสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ถก กกต.ดูวันเลือกตั้ง ก่อนบึ่งรถกลับเมินให้สื่อซัก ประธาน กกต.เผย เสนอ 3 แนวทางให้ รับเลือกตั้ง มิ.ย.-ก.ค.เหมาะสม แต่ไม่รู้จะเอาวันไหน โยนตำรวจรับมือเหตุรุนแรงหาเสียง ปัดถกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วย

วันนี้ (11 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อม นางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ และ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาเดินทางเข้าหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้บริหารระดับสูง กกต.ที่ห้องรับรองวีไอพี ชั้น 9 สำนักงาน กกต.ถึงวันเลือกตั้งที่เหมาะสมหากมีการยุบสภา โดยมี กกต.เข้าหารือเพียง 4 คน ขาดเพียง นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ที่ติดภารกิจร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการดำเนินการในการจัดการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 7-9 มี.ค.ที่กรุงกาโบโรน สาธารณรัฐบอตสวานา และกำลังอยู่ในระหว่างเดินทางกลับไทย ทั้งนี้ หลังการหารือและรับประทานอาหารร่วมกันราว 1 ชั่วโมงเศษ นายกฯได้เดินทางออกจากสำนักงาน กกต.ทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

ด้าน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ปราะธาน กกต.กล่าวว่า จากการหารือนายกฯ มีความเข้าใจในการทำงานของ กกต.โดย กกต.ได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่มีข่าวยุบสภาแล้ว มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เหลือเพียงการดำเนินการช่วงสุดท้ายเท่านั้น เชื่อว่า ทุกอย่างจะพร้อมกับการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม ในการหารือมีเรื่องแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ กกต.แจ้งนายกทราบว่า จะต้องแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 7 มาตรา และ ว่าด้วย กกต.อีก 1 มาตรา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.31 มาตรา ที่ กกต.พร้อมาจะเสนอไปยังสภาในสัปดาห์หน้า

“กกต.ได้เสนอปฏิทินห้วงเวลาเลือกตั้งไว้ 3 แบบให้นายกฯพิจารณา แต่ กกต.ยังไม่ได้ระบุว่าควรเป็นรูปแบบใด โดยแบบที่ 1 คือ ยุบสภาทันที แต่เห็นว่าหากเลือกตั้งใน เม.ย.คงไม่ทัน แบบที่ 2 ยุบสภาภายหลังการแก้กฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ ซึ่งเดือน พ.ค.น่าจะประกาศยุบสภาได้ โดยจะมีการเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.-ก.ค.ส่วนแบบที่ 3 คือ ยุบใกล้หมดวาระ ซึ่งผมก็เห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ เดือน มิ.ย.หรือเดือน ก.ค.แต่ไม่น่าลากยาวไปถึงช่วงครบวาระในเดือน ธ.ค.โดยนายกฯ ก็รับฟัง แต่จะกำหนดวันใดเป็นเรื่องการตัดสินใจของนายกฯ ผมไม่ทราบใจท่านว่าจะยุบสภาวันใด” นายอภิชาต กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯ ห่วงเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มาก เพียงแต่ให้ตำรวจเข้ามาดูแล และทหารเข้ามาบางส่วน อย่างไรก็ตามการหารือไม่ได้ระบุถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการเลือกตั้งที่ส่อเค้าจะมีความรุนแรง แต่เราก็มีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จากโรงพักละ 3 นายมาช่วยดูแลควบคุมเหตุ ส่วนงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่เสนอไปจำนวน 3,800 ล้านบาทนั้น เป็นกรณีการปกติคือครบวาระของสภาฯ คือ ปี 2555 ส่วนกรณีที่เกิดการยุบสภาฯ ก่อนครบวาระทางรัฐบาลก็ต้องจัดงบพิเศษประมาณ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือนายกฯได้แจ้ง กกต.ว่า มีความตั้งใจที่จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือน มิ.ย.จึงต้องการทราบถึงความพร้อมของ กกต.ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด ซึ่ง กกต.ก็ได้ชี้แจงว่าอยากให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ให้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ไม่อยากจะมาออกเป็นประกาศฯ และจะเสนอร่าง พ.ร.ป.แก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับไปที่สภาได้ภายในปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งนายกฯก็ได้แสดงความเห็นด้วยว่าอยากให้กฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับผ่านการพิจารณาของสภาก่อนจึงรับปากจะไปดูในเรื่องของวันเวลาในการ พิจารณาของสภาว่าจะเร่งรัดได้แค่ไหน โดยในทางปฏิบัติอาจจะให้สภามีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.กกต.ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะมีไม่กี่มาตรา และเป็นเพียงการแก้ไขถ้อยคำ ซึ่งในมาตรา 7 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขไม่ได้เปิดช่องให้ออกเป็นประกาศได้กรณีเกิด การยุบสภา จากนั้นจึงให้สภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่หากไม่แล้วเสร็จและมีการยุบสภาเกิดขึ้น กกต.ก็ยังสามารถออกประกาศได้ โดย นางสดศรี ก็ได้ขอว่าหากจะให้ออกเป็นประกาศอยากให้มีการระบุให้นำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะถือว่าเป็นการป้องกันการถูกร้องว่าประกาศไม่ชอบและถูกร้องว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายในเวลาต่อมาได้

ส่วนในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งนั้น กกต.ได้แจ้งนายกฯให้ทราบว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นการภายในในหลายเรื่องไว้แล้ว และได้มีการเสนอปฏิทินเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงาน โดยในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 เขต ที่นายกฯให้ความสนใจ ขณะนี้มีจังหวัดที่จะต้องแบ่งเขตใหม่ 23 จังหวัด โดย กกต.จังหวัดได้มีการดำเนินการและได้รูปแบบที่เตรียมจะเสนอให้กกต.กลางพิจารณา 3 รูปแบบ เพื่อคัดเลือกเหลือเพียง 1 รูปแบบที่เหมาะสม ขณะนี้ก็เหลือเพียงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยในเรื่องของการแบ่งเขตกกต.สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 22 เม.ย.และหลังจากนั้น ถือว่ากกต.พร้อมทุกอย่างในการจัดกาารเลือกตั้งแล้ว โดยนายกฯ ก็ได้แจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจในการยุบสภาว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน เม.ย.และถ้าจัดการเลือกตั้งก็ไม่อยากให้ กกต.ใช้เวลา 60 วันเต็มจนถึงวันเลือกตั้ง อยากให้ใช้เวลาน้อยกว่านั้น ซึ่ง กกต.ก็ได้แจ้งว่าจะใช้เวลาในการจัดการเลือกตั้งในกรอบ 45-60 วัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้หารือถึงกรณีที่ปัจจุบันได้มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว กกต.มีมาตรการอะไรที่ช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อย และมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องทำเป็นเรื่องร้องเรียนมาถึง กกต.เพื่อให้ กกต.ดูแลได้ ซึ่ง กกต.ก็แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องเข้าไปดูแล ถ้าเกิดมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.เข้าไปดูให้เกิดความเรียบร้อยให้ และต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิยุติธรรม อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้กกต.ช่วยประคับประคองสภาพบ้านเมือง ในขณะนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และมีประชาธิปไตยโดยเร็ว ไม่อยากให้เกิดเงื่นไขใดๆ ขึ้นในบ้านเมือง




กำลังโหลดความคิดเห็น