วงเสวนา “มุมมองสื่อ : ทางออกข้อพิพาทไทย-กัมพูชา” ชี้ปัญหาบานปลายรัฐควรทำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อระดมความคิดและวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคุยระดับทวิภาคี หรือระดับสากล ระบุข้อมูลเชิงลึก ทหารเขมรอยากรบ แต่สิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาคือการเมืองภายในที่ทั้งไทยและกัมพูชากำลังมีปัญหา จนเกินเลยที่ผู้นำจะแก้
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวฯ มีการเสวนา “มองมุมสื่อ : ทางออกข้อพิพาทไทย-กัมพูชา” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ สื่อมวลชน นักคิดนักเขียน “ถกแขมร์ แลเขมร” และ “คนสองแผ่นดิน” และนายวีระ ธีรภัทรานนท์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติประเทศกัมพูชา เจ้าของผลงาน “คุยเฟื่องเรื่องเขมร”
น.ส.รุ่งมณีกล่าวว่า ประเด็นความขัดแย้งในเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น เดิมทุกคนคิดว่าเรื่องนี้จบไปแล้วตั้งแต่ขึ้นศาลโลก ส่วนที่ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งเพราะมีประเด็นในการขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งระยะหลังประเด็นไม่ใช่เรื่องการพัฒนาตัวประสาท แต่เกี่ยวข้องกับการจัดการทุนวัฒนธรรมหรือเรื่องท่องเที่ยว และที่ปลุกได้ในประเทศไทยคือเรื่องของการเสียดินแดน จริงๆ แล้วเรื่องนี้รัฐบาลควรกำหนดให้เป็นวาระของประเทศ เพราะขณะนี้ชาวสระแก้วเดือนร้อนจากเหตุปะทะเป็นอย่างมาก กลายเป็นขณะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีคนเขมรเต็มไปหมด แต่ของไทยมีแต่คนอพยพ แล้วใช้ป่ายึดที่แทน ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าไทยไม่มีแผนที่ชัดเจน
โดยเมื่อปัญหาบานปลายไปแบบนี้แล้วควรเป็นทำเป็นวาระแห่งชาติ ระดมความคิดเห็นและทำออกมาเป็นยุทธศาสตร์ ใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์จัดระเบียบ จัดแนวคิด ไม่ว่าจะมีการยกระดับไปเป็นการเจรจาแบบทวิภาคี หรือยกระดับเป็นเรื่องระดับสากล แต่เราต้องทำยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าทำอย่างไร ใช้ใคร อย่ามีแผนสะเปะสะปะ ต้องใช้คนให้ถูกกับงาน อย่ามีอคติต่อกัน เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ฉลาดที่จะเอาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ จึงควรทำให้เป็นระบบ เริ่มให้เร็วที่สุด แต่ต้องตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาไม่ใช่แก้วันเดียวเสร็จแต่ต้องใช้ความอดทน ทุกวันนี้สมเด็จฯ ฮุนเซน กลายเป็นนักการเมืองไทยไปแล้วเพราะโดนด่าทุกวัน ดังนั้นเราต้องเตือนตัวเองและระวังความรู้สึก อย่าให้กลายเป็นการเกลียดกันระหว่างประชาชนกับประชาชน
ด้าน นายเสริมสุขกล่าวว่า พื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างไทย-กัมพูชา ยังเป็นปัญหากันอยู่ ขนาดนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานการประชุมกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาบันทึกการประชุมเจบีซีไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ ทางทหารยังต้องให้ประสาน พล.อ.เตีย บัญ รมว.กลาโหม เพื่อขอเข้าไป ส่วนเกิดอะไรขึ้นที่ให้ทหารเขมรเข้าไปได้ในตัวปราสาทพระวิหาร และเกิดชุมชนมีโรงเรียน ก็ไม่ทราบ แต่เรื่องทุกอย่างทำขึ้นในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ดีมาก ส่วนที่ทหารไทยปล่อยให้เขมรสร้างถนนขึ้นมาได้ ตนเชื่อว่ารัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ อยู่ที่รัฐบาลจะสั่งหรือไม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะศักยภาพทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาสู้กันไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาสิ่งที่ไทยทำคือปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะช่วงปี 2551-2552 ที่กัมพูชาเข้าไปพัฒนา ซึ่งปล่อยตลอด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.ซึ่งถือเป็นผู้นำกองทัพที่หน่อมแน้มมาก แต่ถ้าถามว่าใครผิดตนก็ว่ารัฐบาลผิดเพราะรัฐบาลเพิกเฉย
นายเสริมสุขกล่าวต่อว่า ดูจากเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่นายโคอิจิโระ มัตซูระ ผู้แทนพิเศษองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่เข้าพบนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แล้วโฆษกกระทรวงต่างประเทศออกมาแถลงชัดเจนว่า รัฐบาลยึดสันปันน้ำ ทางออกที่ทำได้ คือ ตนอยากให้รัฐบาลยืนยันให้ชัดเจนว่า ที่ฝรั่งเศสไปสำรวจและทำแผนที่มาในสมัยนั้นเราไปเซ็นร่วมกับเขาหรือไม่
ขณะที่ นายวีระกล่าวว่า แต่ถ้าถามตน ตนว่าปัญหามาจากใช้แผนที่คนละแผนที่ โดยฝ่ายไทยใช้แผนที่ 1 ต่อ 50,000 ส่วนกัมพูชาใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งแผนที่ที่กัมพูชาใช้เขายอมรับกันทั่วโลก แต่ที่ไทยถือนั้นไทยคิดเอาเอง แล้วรัฐบาลไทยก็ไม่มีไอเดียชัดเจนกับเรื่องนี้คนที่คุมเรื่องนี้ก็ไม่รู้เรื่อง แต่ของกัมพูชาเขาชัดเจนว่าต้องทำอะไร ต้องเดินหน้าอย่างไร ส่วนทางออกสำหรับข้อพิพาทครั้งนี้ที่จะเกิดขึ้น คือ ทางออกที่หนึ่งสงคราม แต่จะเล็กหรือใหญ่ก็เท่านั้น ทางออกที่สองคือเจรจาทุกระดับ แต่อย่างแรกที่ต้องดูคือคนเจรจาแต่ขณะนี้ 2 นายกฯเสียสติไปแล้ว ดังนั้นหากให้นายกฯ 2 คนนี้ทำไม่ได้ผลแน่ และทางออกที่สามคือไปศาลโลก คือเอาให้ชัด ว่าพื้นที่อะไรเท่าไหร่ เดิมศาลโลกตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่ไม่ได้บอกว่าพื้นที่กัมพูชาเท่าไหร่ ดังนั้นต้องเอาให้ชัดว่าจะยังยึดแผนที่ 1 : 200,000 หรือไม่ ซึ่หากจะเอาทางนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะไปศาลโลกแล้วจะเอาอย่างไร จะไปทวงปราสาทคืนไหม แล้วคดีหมดอายุความแล้วหรือยัง มีข้อมูลใหม่หรือไม่
นายวีระกล่าวต่อว่า แต่หากให้ตนมองตามความเป็นจริง เท่าที่ตนได้ติดต่อคนที่กัมพูชาซึ่งมีข้อมูลเชิงลึก พบว่าทหารเขมรอยากรบ ที่อยากรบเพราะเขาอยากมีบทบาทเพราะถ้าไม่ได้รบเขาก็ไม่มีเงิน ไม่มีได้เป็นศูนย์กลาง รบก็คือรบไม่ได้มีจุดหมายอะไร แต่ที่แย่คือทั้งสองประเทศใช้เรื่องการเมืองในประเทศมาเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวในประเทศ สิ่งที่ตนห่วงคือไม่ใช่เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่คนรู้เขาไม่ทำ และเรื่องนี้เกินเลยกว่าที่ผู้นำประเทศจะแก้ปัญหา คนรู้เรื่องเขาก็ไม่เปลืองตัว