“ประพันธ์” ยันพร้อมรับสมัคร ส.ว.สรรหาพรุ่งนี้ โยนกรรมการสรรหาใช้ดุลพินิจตัดสินให้ ส.ว.เก่าเป็นต่อหรือไม่ คาดสรรหา กกต.62 จังหวัดที่จะหมดวาระได้ทันหากยุบสภาเดือน มิ.ย. คาดนายกฯ คงนัดคุยเลือกตั้งใหม่หลังแก้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยังไม่จัดเลือกตั้งแทน “ชินณิชา” ชี้ต้องรอศาลฎีกาพิพากษาก่อน
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรับสมัคร ส.ว.สรรหา ซึ่งจะเปิดรับสมัครเป็นวันแรกในพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) ถึงวันที่ 11 มี.ค.ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่บริเวณชั้น 2 ของสำนักงาน กกต.ว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งเรื่องสถานที่และการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อให้การรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.สรรหานั้นจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์ภาคใดภาคหนึ่งใน 5 ภาค ได้แก่ ภาควิชาการ รัฐ เอกชน วิชาชีพ และภาคอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. ซึ่งองค์กรเหล่านั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือได้รับการรับรองโดยกฎหมาย และจัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 3 ปี รวมทั้งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ละองค์กรสามารถเสนอชื่อผู้สมัครได้เพียงองค์กรละ 1 คนเท่านั้น ซึ่งก็อยากให้ทั้งองค์กรที่จะเสนอชื่อและผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาศึกษาระเบียบขั้นตอนและกระบวนการการรับสมัครให้ชัดเจน เพราะการสรรหาครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.จะมีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 6 ปี
เมื่อถามว่า ส.ว.บางส่วนที่ลาออกจากการเป็น ส.ว.นั้นจะสามารถเข้าชื่อเพื่อรับการสรรหาใหม่ได้หรือไม่ นายประพันธ์กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการสรรหาว่าจะใช้ดุลพินิจอย่างไร ทั้งนี้เมื่อดำเนินการสรรหาเสร็จแล้ว หากมีผู้ที่เห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ หรือผู้ที่ได้รับการสรรหาขาดคุณสมบัติ ก็สามารถร้องคัดค้านมายัง กกต.ได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลการสรรหา หากกกต.มีความเห็นตามที่ผู้คัดค้านร้องเข้ามานั้นก็จะยื่นให้ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป
นอกจากนี้ นายประพันธ์ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 8 ก.ค.นี้จะมีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 62 จังหวัดจะครบวาระลง และถ้าหากเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ การแต่งตั้ง กกต.ประจำจังหวัดก็ถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้น บุคคลใดที่ประสงค์จะเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.ประจำจังหวัดก็สามารถยื่นสมัครได้ที่สำนักงาน กกต.จังหวัดทั้ง 62 แห่งที่ตำแหน่งว่างลงตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. - 6 มี.ค. ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดย กกต.มั่นใจว่าผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต.จังหวัดใหม่นั้นจะเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมืองตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแต่งตั้ง กกต.จังหวัดกำหนด เพราะในระดับจังหวัดนั้นขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มาจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัด อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด ผู้แทนสื่อมวลชน และหอการค้าจังหวัด มาทำหน้าที่สรรหา โดยจะต้องเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น กกต.จังหวัดมาให้ กกต.กลางพิจารณาจำนวน 3 เท่าของจำนวน กกต.ที่จังหวัดนั้นพึงมี และเมื่อ กกต.กลางได้รับรายชื่อทั้งหมดแล้วก็ต้องมีการตรวจสอบประวัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต่อหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนเพื่อรับข้อมูลมาพิจารณาเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสุจริตและเป็นกลางมาปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การสรรหา กกต.จังหวัดไม่น่าจะกระทบกับการที่รัฐบาลประกาศ จะยุบสภาในเดือน เม.ย.นี้ เพราะเชื่อว่าจะสามารถสรรหาได้ทันตามกำหนดเวลา
นายประพันธ์ยังกล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้รับการประสานจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คิดว่านายกฯ คงจะเร่งนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิมเติมขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัย รวมทั้งคงเร่งนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับ ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้น นายกฯก็คงจะมีการประสานมาขอหารือกับ กกต.ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง และกกต.ก็จะได้พิจารณาในเรื่องการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันหรือไม่ แต่หากทำไม่ได้ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ให้อำนาจ กกต.ในการที่จะ ออกประกาศวิธีการและข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการจัดการเลือกตั้งได้อยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ทั้งนี้ นายประพันธ์ยังยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง แม้ว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.ตามที่นายประกาศ เพราะขณะนี้ก็ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ เป็นการภายในแล้ว อย่างในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ทัน โดยขณะนี้สิ่งที่ กกต.รอใน 3 เรื่องก็คือ ประกาศให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ประกาศจำนวนราษฎรของปี 2553 ของสำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่กกต.จะต้องนำจำนวนราษฎรมาคำนวนในเรื่องของจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดที่พึงมี และนำมาใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการสรรหา ส.วและการเลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย มีความผิดฐานปกปิดบัญชีทรัพย์สินหนี้สินนั้น นายประพันธ์กล่าวว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.ยังไม่ถือว่ามีผลให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ น.ส.ชินณิชาต้องสิ้นสุดลงแล้ว กกต.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ต้องรอดูคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนว่าจะออกมาอย่างไร