xs
xsm
sm
md
lg

สว.สรรหาออกทำกมธ.ป่วน บางคณะเหลือ 3 คน-“พิศิษฐ์”ไม่นั่งสรรหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(21 ก.พ.) การประชุมวุฒิสภา มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี รองเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิ) ได้ขอหารือ เรื่องการงดเว้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาข้อ 77 วรรคท้าย และข้อ 100 ว่าด้วยการทำงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญประจำวุฒิสภา ว่า เนื่องจากส.ว.สรรหา ลาออกไป 67 คน ทำให้งานกมธ.เดินไม่ได้ เนื่องจากติดล็อกข้อบังคับการประชุมข้อ 77 วรรคสองที่กำหนดว่า กมธ.คณะหนึ่งให้มีไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คน และข้อ 77 วรรคท้ายที่กำหนดว่า ส.ว.คนหนึ่งเป็นกมธ.ได้ไม่เกินคนละ 2 คณะ และข้อ 100 ให้ประธานกมธ.เป็นผู้แต่งตั้งกมธ. เพราะตอนนี้บางคณะเหลือกมธ.เพียง 3 -5 คน ประธานกมธ.ก็ไม่อยู่แล้ว วิปวุฒิจึงมีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีข้อเสนอว่า ควรงดเว้นข้อบังคับดังกล่าวจนกว่าจะมีส.ว.สรรหาชุดใหม่มาทำงาน
นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็ควรให้ประชุมกมธ.ได้ ซึ่งกมธ.เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ก็ได้เพื่อเก็บข้อมูลรอส.ว.สรรหาชุดใหม่ ฉะนั้นทางออกก็คือยกเว้นข้อบังคับบางข้อ และการประชุมก็ประชุมเฉพาะเรื่องจำเป็น ส่วนขณะที่น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า อาจจะยกงดเว้นให้กมธ.เท่าที่มีอยู่ทำงานต่อไปได้ จะได้ไม่ต้องโยกย้ายกมธ.กันวุ่นวาย ก็พอจะไปได้ จึงขอเสนอให้งดเว้นข้อ 77 วรรคสองก็เพียงพอ เพราะถ้างดเว้นข้อ 100 ด้วย จะทำให้ใครย้ายเข้าคณะใดก็ได้อย่างเสรี ซึ่งไม่สมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปรายนาน 1 ชั่วโมง นายสุรชัย เสนอญัตติของดเว้นข้อบังคับการประชุมข้อ 77 วรรคสอง และวรรคท้าย อย่างไรก็ดี นายประสพสุข หารือว่า ให้ถอนเรื่องออกไปให้ทำให้ชัดเจนก่อนน่าจะดีกว่า แต่นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี แย้งว่า ไม่สับสน เพราะเสนองดแค่ข้อ 77 วรรคสองและวรรคท้าย ทำให้นายประสพสุข สั่งลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 70 ต่อ 1 งดออกเสียง 2

**จวกชิงลาออกเหมือนทิ้งงานระหว่างทาง
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า กังวลการทำงานของส.ว.เนื่องจากส.ว.ระบบสรรหาลาออกทำให้เหลือเพียง 7 คน อาจจะกระเทือนการพิจารณากฎหมายในชั้นวุฒิสภา
ทั้งนี้เห็นว่าส.ว.ที่ลาออกไป โดยเจตนาที่จะเข้าระบบสรรหาในรอบ 2 ก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากการลาออกก่อนครบระยะเวลา หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อกังวลที่ส.ว.กังวลคือมาตรา 115 (9) เป็นเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งส.ว.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นจากที่กำหนด จะเห็นว่าส.ว.ลาออกก่อนครบวาระก็ยังติดขัดเรื่องคุณสมบัติเพราะลาออกมาไม่ถึง 5 ปี ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิ์การดำรงตำแหน่งเพียงครั้งหนึ่งของส.ว.สรรหา โดยยกเว้นข้อห้ามการดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกัน แต่ในมาตรการดังกล่าวไม่ได้ยกเว้นคุณสมบัติไว้ มาตรา 297 เขียนไว้ให้ว่าส.ว.สรรหามีวาระ 3 ปี และให้มีโอกาสกลับเข้ามาเป็นวาระที่ 2 ได้ แต่มาตราดังกล่าวไม่ได้ยกเว้นคุณสมบัติของการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“ฉะนั้นความเห็นวิปเห็นว่าบุคคลที่จะเข้าสู่การสรรหาโดยการทิ้งงานระหว่างทาง ก็น่าจะกระเทือนระบบการทำงาน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการลาออกก่อน ”นายวิทยากล่าว.

**รักษาการผู้ว่าสตง.ไม่นั่งสรรหาสว.
ที่กกต.นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกกต.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการสรรหาส.ว. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสรรหา 7 คนครั้งแรก ว่า ก่อนการประชุมคณะกรรมการสรรหาส.ว.ได้มีการหารือในประะเด็นกรณีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะรักษาการแทนผู้ว่า สตง. จะสามารถใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินในในการเข้าทำหน้าที่กรรมการสรรหาได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมและตัวนายพิศิษฐ์ก็เห็นว่า นายพิศิษฐ์จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งจะเป็นผลให้การสรรหาส.ว.ครั้งนี้มีกรรมการสรรหาส.ว.เพียง 6 คนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการทีเหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้องกว่ากึ่งหนึ่งให้คณะกรรมการสรรหส.ว.ประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ จากนั้นกรรมการสรรหาฯทั้ง 6 คนได้มีการประชุมและมีมติเห็นชอบให้นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธานกรรมการสรรหาส.ว. ส่วนประเด็น คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ที่มีการหารือว่าจะต้องลาออกจากการเป็นส.ว.ปัจจุบันก่อนหรือไม่ โดยเห็นว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา และไม่ได้มีการหารือว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นอำนาจในการพิจารณาขององค์กรใด
ทั้งนี้ไม่อาจตอบได้ว่าการไม่ลาออกก่อนการเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการสรรหาแก้ปัญหาด้วยการไม่เลือกให้ผู้นั้นเป็นส.ว.หรือไม่
ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬพ.ศ....ที่ยอมรับว่าอาจส่งผลกำหนดจำนวนส.ว.สรรหา แต่เห็นว่าขณะนี้พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่มีผลใช้บังคับจึงให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันไปก่อน หากพ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ มีผลบังคับใช้เมื่อใดก็ต้องมีการปรับสัดส่วนของส.ว.สรรหาที่จากเดิมต้องสรรหา74 คนเหลือสรรหาเพียง 73 คน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีส.ว.ทั้งสิ้น 150 คน และให้แต่ละจังหวัดมีส.ว. 1 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น