ประชุมร่วมรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญวาระ 2 เริ่ม ม.190 “ส.ว.รสนา” ชี้จะทำต้องเอาให้ชัด ซัดรัฐชอบทำสภาเป็นแค่ตรายาง หวั่นเปิดการค้าเสรี ทำสึนามิเศรษฐกิจถล่มไทย ก่อนลงมติ 343 เสียง ต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง “ชัย” ชี้ถ้าลงมติสูตร ส.ส.เสร็จพรุ่งนี้ ก็คงพิจารณาวาระ 3 ได้ 10 ม.ค.
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 เริ่มจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยการด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่จะต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยกรรมาธิการได้เพิ่มเติมในวรรคสองว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา โดยรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ในวรรคที่ห้าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยระบุให้มีการทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนด ประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อมีปัญหาตามวรรคที่สองให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด
อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกขอแปรญัตติไว้จำนวน 36 คน ทั้งนี้ตั้งแต่เปิดการประชุม สมาชิกรัฐสภาก็ได้เริ่มการอภิปรายตามลำดับที่มีการยื่นขอสงวนแปรญัติติ โดยการอภิปรายในมาตรา 190 ปรากฏว่าส่วนใหญ่จะเป็น ส.ว.และส.ส.ฝ่ายค้าน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ขออภิปรายเนื่องจากเห็นด้วยตามร่างของกรรมาธิการ
ส่วนประเด็นที่มีการอภิปรายคัดค้านการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพราะอาจจะก่อให้เกิดผล แทนที่จะให้ฝ่ายบริหารทำงานสะดวก กลับยิ่งยุ่งยากมากขึ้น เรื่องสนธิสัญญาควรเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเท่านั้น แต่หากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็สามารถเสนอศาลได้ แต่ตนก็ไม่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาทิ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ควรตัดวรรคท้ายสุดของมาตรา 190 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเภทของหนังสือสัญญาออกไป เพราะทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า และหากเปลี่ยนให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบแทนก็จะทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 190 ควรแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลมักจะเสนอเรื่องอย่างเร่งด่วนทำให้รัฐสภาเป็นเหมือนตรายางที่เซ็นเช็คเปล่าไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้น หากมีการแก้ไขมาตรานี้ควรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเนื้อหาสาระของหนังสือสัญญาและการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาด้วย
น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเปรียบอย่างมากจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศ โดยพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 40% และธุรกิจขนาดกลางและเล็ก 60% เสียเปรียบเพราะขาดความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการค้าเสรี หากปล่อยไว้เช่นนี้โดยไม่มีการแก้ไขการทำเขตการค้าเสรีอาเซียนในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งหาประโยชน์ที่ให้ต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิต เพื่อลดภาระภาษีและบริษัทแม่ของต่างประเทศที่มาผลิตในไทยก็ส่งกำไรกลับประเทศได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไป สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจที่ถล่มประเทศไทย และทับถมให้คนในประเทศเสียหายทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ไขในส่วนนี้อย่างเร่งด่วนนอกเหนือไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียว” น.ส.รสนากล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 343 เสียง ต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ทั้งนี้ นายชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หากสามารถลงมติในวาระ 2 ในมาตรา 93-98 ได้ในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค.) ก็จะสามารถนัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระ 3 ได้ในวันที่ 10 ม.ค.