xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม คกก.สรรหา ส.ว.ค้าน “พิศิษฐ์” นั่ง กก.หวั่นข้อครหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ
ที่ประชุม ส.ว.สรรหา ได้ข้อสรุป “พิศิษฐ์” ไม่นั่ง กก.สรรหา แทน ปธ.คตง.ขณะเดียวกันอ้างไม่อยู่ในอำนาจ กก.สรรหา ต้องมาวินิจฉัย ส.ว.ปัจจุบันต้องลาออกก่อนเข้ารับการสรรหาหรือไม่ พร้อมเตรียมลดจำนวน ส.ว.สรรหาเหลือแค่ 73 รับ พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ

วันนี้ (21 ก.พ.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการสรรหา ส.ว.กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสรรหา 7 คนครั้งแรก ว่า ก่อนการประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้มีการหารือในประะเด็นกรณี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะรักษาการแทนผู้ว่าการ สตง.จะสามารถใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน ในการเข้าทำหน้าที่กรรมการสรรหาได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมและตัวนายพิศิษฐ์ ก็เห็นว่า หากเข้าทำหน้าที่อาจเกิดข้อโต้แย้งในเรื่องของการใช้อำนาจตามมาในภายหลัง จึงเห็นรวมกันว่า นายพิศิษฐ์ จะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งจะเป็นผลให้การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้มีกรรมการสรรหา ส.ว.เพียง 6 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการทีเหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้องกว่ากึ่งหนึ่งให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ประกอบด้วย กรรมการที่เหลืออยู่ จากนั้นกรรมการสรรหา ทั้ง 6 คน ได้มีการประชุมและมีมติเห็นชอบให้ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว.

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.ที่มีการหารือมาว่าจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ว.ปัจจุบันก่อนหรือไม่ โดยเห็นว่า เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา และไม่ได้มีการหารือ ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นอำนาจในการพิจารณาขององค์กรใด อย่างไรก็ตาม การสรรหาที่ผ่านมา หากมีการร้องเรียนจะเป็นใน 2 ลักษณะ คือ ร้องเรียนว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ ซึ่งก็มีระยะเวลาตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดไว้ และมีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติที่เป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.ซึ่ง กกต.ก็จะดำเนินการตรวจสอบและเสนอเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาตามมาตรา 91 หรือ ส.ว.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อกัน เพื่อยื่นให้กับประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการหลังการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในขณะที่จะเริ่มการสรรหานั้นและคณะกรรมการสรรหาเห็นว่าประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจ ในส่วนของ กกต.ที่เป็นฝ่ายธุรการดำเนินการรับการลงทะเบียนพร้อมเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น ส.ว.หากมีองค์กรใดเสนอชื่อ ส.ว.ปัจจุบันที่ยังไม่ลาออก เข้ามาก็จะรับไว้และตรวจสอบคุณสมบัติตามขั้นตอน แต่ทั้งนี้ ไม่อาจตอบได้ว่าการไม่ลาออกก่อนการเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว.จะเป็นเหตุให้คณะกรรมการสรรหาแก้ปัญหาด้วยการไม่เลือกให้ผู้นั้นเป็น ส.ว.หรือไม่

นายสุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ.... ผ่านความเห็นชอบของสภาแล้ว และยอมรับว่า อาจส่งผลกำหนดจำนวน ส.ว.สรรหา แต่เห็นว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่มีผลใช้บังคับจึงให้ดำเนินการตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันไปก่อน หาก พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ มีผลบังคับใช้เมื่อใดก็ต้องมีการปรับสัดส่วนของ ส.ว.สรรหาที่จากเดิมต้องสรรหา 74 คน เหลือสรรหาเพียง 73 คน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ว.ทั้งสิ้น 150 คน และให้แต่ละจังหวัดมี ส.ว.1 คน ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.บึงกาฬ มีผลใช้บังคับก็ต้องมี ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 73 คน อย่างไรก็ตาม การสรรหา ส.ว.ในกรณี พ.ร.บ.บึงกาฬ มีผลใช้บังคับจะลดสัดส่วนการสรรหา ส.ว.จากภาคใด ก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมกรสรรหา เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ว่าจะต้องเลือกจากภาคนั้นเท่านั้นเท่านี้ แต่จะใช้จำนวนขององค์กรที่เข้าเสนอชื่อในแต่ละภาค หากภาคใดเสนอชื่อเข้ามามากก็จะเลือกภาคนั้นมาก

“ตามกรอบระยะเวลาในวันที่ 16 มี.ค.ซึ่งจะเป็นการประชุมคณะกรรมการสรรหานัดถัดไป กกต.ก็จะต้องส่งมอบรายชื่อองค์กรที่เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาและประวัติให้กับคณะกรรมการสรรหาที่จะมีเวลาดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยจะต้องส่งรายชื่อผู้ที่จะได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 19 เม.ย.ซึ่งเราคิดว่าในช่วงเวลาที่ กกต.เสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหา พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ จะมีผลบังคับใช้แล้วตรงนั้นก็ดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาในเรื่องสัดส่วนของการสรรหา”

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาเพื่อช่วยกลั่นกรองของคณะกรรมการสรรหาในแต่ละภาค โดยภาควิชาการ มีเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานภาครัฐ เลขาธิการ ป.ป.ช.ภาคเอกชน มีเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ภาควิชาชีพ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และภาคอื่นๆ เลขาธิการ กกต.เป็นประธาน
กำลังโหลดความคิดเห็น