xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”รับเป็นไปได้ยุบสภา เม.ย. คนปชป.เต้นปัดข่าววิ่งล็อบบี้แก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายหลังที่ ประชุมรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ที่กำหนดให้มีส.ส.ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คนนั้น
วานนี้(26 ม.ค.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศยุบสภาในช่วงเมษายน หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ตามกำหนดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ การดำเนินการหลังจากนั้นรัฐบาลก็สามารถเดินหน้านำไปสู่การเลือกตั้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอการพิจารณากฎหมายลูกที่จะประกอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปรึกษาหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย
สำหรับปัจจัยเรื่องการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ หากยังอยู่บนพื้นฐานของการชุมนุมโดยสงบและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็ถือว่าไม่มีปัญหาที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวว่า สิ่งที่สบายใจสำหรับตนคือว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนและสาธารณชนไว้แต่ต้นว่า จะจัดให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 นี้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการ คือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรื่องความสงบเรียบร้อย ถ้าไม่มีเหตุวุ่นวายพอให้มั่นใจได้ว่าประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งต่างๆจะไม่ได้รับผลกระทบ จากการก่อเหตุก็ทำให้ครบปัจจัยทั้งสามประการที่นายกฯกำหนดไว้ จะได้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้
“สำหรับข่าวแลกโควต้ากับสูตร 375 +125 ที่ทำให้ประชาชนสับสน จะไปคิดถึงเรื่องการแบ่งโควตารัฐมนตรีอะไรกัน ตอนนี้ยังไม่ยุบสภาเลย ใครจะจับมือใครเป็นรัฐบาลก็ยังไม่รู้ แล้วตนจะเอาหน้าที่ไหนไปสัญญากับคนนู้นคนนี้ว่าจะแจกโควตาลมๆแล้งๆเป็นไปไม่ได้ครับ” นายสุเทพ กล่าว
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีแกนนำพรรคเดินเกมล็อบบี้โหวตแก้รธน.ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ช่วงแรกพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีความเห็นต่างกันบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่พอนึกขึ้นได้ว่าอยู่ร่วมรัฐบาลก็ปรับความเห็นได้
นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่าเป็นการตีรวนของพรรคฝ่ายค้านเพื่อสร้างความวุ่นวายต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ86 ขึ้นมาท้วงติง ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมพิจารณาไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ในวาระ 3 นั้น ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ต้องถามว่ามีมารยาททางการเมืองหรือไม่
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวมั่นใจว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในวาระ 3 มาตรา 93-98 ที่กำหนดให้มีส.ส.เขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน จะผ่านไปด้วยดี โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 313 เสียง
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่คาดไว้ ซึ่งมี ส.ว.ส่วนหนึ่ง ยังคงหนุนสูตร 400+100 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 เสียง ขณะที่ตอนแรกใครๆ ก็คิดว่าสูตร 400+100 มาแน่ แต่เมื่อผลประโยชน์ลงตัว ผลก็เป็นเช่นที่ออกม ทั้งนี้คิดว่าเรื่องการได้มาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อตัด 5 เปอร์เซ็นต์ออกไป ทุกพรรคการเมืองมีโอกาสจะได้มาอยู่แล้ว โดยจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่แต่ละพรรค โดยพรรคการเมืองที่เก่าแก่จะได้มาถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คือประมาณ 50-60 เสียง ดังนั้นเชื่อว่าไม่มีปัญหา คงไม่พลิกล็อก
นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่มี ส.ว.ออกมาระบุว่า มีความผิดปกติในการลงมติ วาระที่ 2 ว่า ถ้าความผิดปกติหมายถึงพรรคร่วมรัฐบาล เรียนว่า พรรคร่วมได้มีการหารือกันเป็นระยะๆ และก่อนหน้าการประชุมวิปรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ตนได้แจ้งไปยังแต่ละพรรค ให้ไปประชุมหารือ การลงมติของพรรคตัวเอง โดยทางพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งในที่ประชุมวิปว่า พรรคมีจุดยืนสนับสนุนร่างตามร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหากพรรคร่วมมีมติเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่รับร่างดังกล่าวโดยแต่ละพรรคได้แจ้งผลการหารือของแต่ละพรรคว่า พร้อมจะสนับสนุนร่างของรัฐบาล
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ บอกได้หรือไม่ ว่าไม่ได้เป็นการเล่นละครกับพรรคร่วมรัฐบาล นายวิทยา กล่าวว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ บางคนก็คิดอย่างนั้น แต่เมื่อมติพรรคเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ กติกาของพรรคนั้น เราก็เคารพ อาจจะไม่เห็นด้วยกับมติพรรค เขาก็สวน แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีคนที่ไม่ได้เห็นด้วยมาโดยตลอด ในสภามีคนประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแปรญัตติ แต่เมื่อถึงเวลา ก็เคารพมติพรรค
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนายังคงยืนยันในสูตร 400+100 แต่เมื่อผู้ใหญ่ในพรรคได้มีการพูดคุยกันว่าขณะนี้สถานการณ์ของบ้านเมืองมีหลายสี เราก็ไม่อยากไปเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงไปมากกว่านี้ สว่นกระแสข่าวว่าการโหวตให้ผ่านในครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่จะให้พรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ไปร่วมงานกันในอนาคต นายภราดร กล่าวว่า อย่าไปคิดอย่างนั้น ใครจะรู้ว่าในอนาคตจะได้เป็นรัฐบาล ถ้าคิดอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นการดูถูกประชาชนมากเกินไป
นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวยอมรับว่า ตนได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการรับร่างพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 93 ในวาระ 2 ที่ให้ที่มาส.ส.เป็น 375+125 เนื่องจากทำใจไม่ได้ เพราะจากการลงพื้นที่ในจังหวัด ประชาชนบอกกับตนว่าอยากได้ส.ส.ในระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์เหมือนเดิม อีกทั้งตนได้แปรญัตติให้ที่มาส.ส.เป็น 400+80 ที่เป็นเขตใหญ่เช่นเดิม รวมทั้งหากเปลี่ยนเป็นเขตเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็นเขตเล็กเบอร์เดียวที่ 375 คนแล้ว ประชาชนก็บอกว่าจะเป็นการทำให้ทะเลาะกัน เพราะต้องจัดเขตเลือกตั้งกันใหม่และยังทำให้พื้นที่ส.ส.ใน จ.นครสวรรค์ หายไป 1 ที่นั่งด้วย
ผมยังยืนยันจุดยืนเดิมที่ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ส.ส.ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดิมในวาระ 3 เพราะหากเปลี่ยนมติตัวเองประชาชนในพื้นที่ด่าผมแน่ ส่วนกรณีที่ตนได้ขอให้นับองค์ประชุมนั้นเพราะเห็นว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญแต่ห้องประชุมกลับมีส.ส.บางตาจึงขอให้นับองค์ประชุม รวมทั้งผู้ใหญ่ในพรรคก็ขอให้ส.ส.ของพรรคสนับสนุนในสูตร 375+125 แต่ตนต้องรักษาจุดยืนของตัวเองจึงต้องลงมติไม่เห็นด้วย ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่จะว่าตนหรือไม่ แต่ยืนยันในวาระ 3 ตนจะไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเช่นเดิม
นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นไปตามคาดหมาย และตนก็รู้สึกพอใจกับผลที่ออกมา แม้ตนจะทราบมาว่า เกิดการล็อบบี้ พรรคร่วมรัฐบาลให้ลงมติโหวตสนับสนุนสูตร ส.ส. 375 + 125 แต่เมื่อมีการลงมติกลับพบว่ามีเสียงปริ่มน้ำ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เห็นชัดเจนถึงกระบวนการเกี้ยเซี้ย พวกมากลากไป ไม่ฟังเสียงประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงมีมติไม่เอาด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ได้เคยตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งงบประมาณกลางของรัฐบาล รวมทั้งการเร่งรีบอนุมัติงบประมาณปี 2555 ว่ามีความเกี่ยวพันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้หรือไม่
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนและ ส.ส. อีก 40 คนได้ยื่นเรื่องถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มมาตราเข้าไปอย่างถูกต้อง ตามระเบียบข้อบังคับ ถ้าไม่มีการแก้ไข ตนและพรรคเพื่อไทยก็จะประชุมเพื่อตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมสังฆกรรมในวาระ 3 หรือไม่ น
ทั้งนี้น่าสังเกตว่าการโหวตวาระ 2 ในแต่ละมาตราคะแนนเสียงไม่ถึง 310 ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดแล้วว่าวาระ 3 จะแก้เกมอย่างไร ดังนั้นก็ถึงเวลาของส.ส.ที่จะปั่นราคากันได้เลย ส่วนตัวเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านสภา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยจะถูกซื้อแน่นอน บางทีอาจทุ่มซื้อตัวถึง 50 ล้านบาท
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีจะให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยไม่รอการแก้ไขกฎหมายลูก ว่า ในส่วนของกกต.ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว ทั้งในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่รัฐธรรมนูญให้มีการแบ่งเขตในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศข้อกำหนดต่างๆ ดังนั้นการที่นายกฯบอกว่าจะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในเดือนเม.ย.นั้น คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่ในระหว่าง 2 เดือนนี้หากมีการผลักดันแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งกกต.ได้เตรียมไว้ทั้งหมด 25 มาตรา
สำหรับกรณีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 9 เดือนและรอลงอาญาได้ร่วมโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะทำให้การโหวตดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายประเด็น ทั้งกรณีคำตัดสินของศาลกัมพูชาอยู่ในความหมายของคำว่า ศาล ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่ไม่มีการยื่นอุทธรณ์จะถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดหรือไม่ และความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 106 (11) หรือไม่ รวมทั้งหากพ้นจากการเป็นส.ส.จะพ้นเมื่อใด ซึ่งถ้าผลคำวินิจฉัยออกมาว่าพ้นจากการเป็นส.ส. ก็ไม่มีผลให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่จะมีผลเฉพาะเสียงโหวตของนายพนิชเท่านั้น โดยขณะที่โหวตเรื่องยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ นายพนิชก็คงถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่สามารถโหวตได้ ทั้งนี้กรณีของนายพนิชหากยังไม่มีความชัดเจนก่อนการยุบสภาเกิดขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่และนายพนิชลงสมัครส.ส.ก็จะเป็นปัญหาให้กกต.วินิจฉัยว่า นายพนิช มีสิทธิลงสมัครหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (5) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีจนถึงวันเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนการเตรียมการสรรหาส.ว. 74 คนที่จะครบวาระลงในวันที่ 18 ก.พ.นี้ว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนส.ว.สรรหาปัจจุบันที่ต้องการจะเข้ารับการสรรหาต้องลาออกจากการเป็นส.ว.ก่อนหรือไม่นั้น กกต.เห็นว่าเป็นอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาที่ทราบว่าจะมีการประชุมในเร็วๆนี้ แต่ทั้งนี้ก่อนเริ่มการประชุมเรื่องการสรรหา ทางกรรมสรรหาคงมีการพิจารณาในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่ระบุให้มีประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาเพราะในขณะนี้มีเพียงนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ทำหน้าที่รักษาการประธานคตง.อยู่ จึงต้องพิจารณาว่าผุ้ทำหน้าที่รักษาการจะทำหน้าที่กรรมการสรรหาได้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่สามารถทำได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการสรรหาใช้เสียงข้างมาก ทั้งนี้ทราบจากประธานกกต.ว่าคงจะมีผู้เข้ารับการสรรหาจำนวนมากเนื่องจากส.ว.เลือกตั้งปี 42 ที่รัฐธรรมนูญห้ามเข้ารับการสรรหาในวาระเริ่มแรก สามารถเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น