xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง “ส.ว.สรรหา” ชิงลาออกกลัวไม่ได้กลับ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เริ่มนับถอยหลังกันแล้ว สำหรับสมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา ที่มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 74 คน เพราะทั้งหมดจะพ้นจากตำแหน่ง หมดสมาชิกสภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมี ส.ว.สรรหาบางส่วนที่ต้องการจะเป็น ส.ว.อีกหนึ่งสมัย อาจลาออกไปตั้งหลักเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการสรรหา ส.ว.ชุดใหม่ โดยไม่อยู่รอให้หมดวาระ!?

เมื่อพิจารณาแล้วก็คาดว่าน่าจะเป็นช่วงสิ้นเดือนมกราคมนี้หรือไม่ก็ภายใน 15 กุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตามก็อาจจะมี ส.ว.สรรหาอีกหลายคนที่พอแล้ว ไม่คิดจะลงสมัครต่อก็จะอยู่ให้ครบวาระและพ้นสมาชิกภาพไปเลย

หรือบางคนที่ไม่ลงสมัครต่อเพราะรู้ดีว่าสมัครไปก็ไม่ได้รับเลือก เหตุเพราะบางคนไม่มีผลงานปรากฏให้เห็นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขืนสมัครแล้วไม่ได้รับเลือกจะยิ่งเสียหนักขึ้นไปอีก ก็เลย อาจตัดใจลา

แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูกันไปยาวๆ เพราะ ส.ว.แต่ละคนก็มีหลักคิดในเรื่องนี้แตกต่างกันไป

ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า หากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งร่างแก้ไขเข้าบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภาไม่ทัน 17 กุมภาพันธ์ จะทำให้เสียงการลงมติ

“เห็นชอบ”หรือ “ไม่เห็นชอบ” มีความผันผวนหรือไม่ ?

ยิ่งตอนนี้เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีความไม่นิ่งในเรื่องความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและกรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ในเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตามมาตรา 93-98

เพราะฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะเจ้าภาพการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการจากประชาธิปัตย์ ต้องการให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบตามร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบในวาระแรกคือสูตร ส.ส.เลือกตั้งระบบเขต 375 คนและระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน หรือสูตร 375+125

แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่ตอนนี้ได้แนวร่วมสำคัญด้วย คือ พรรคเพื่อไทย หนุนสูตร ส.ส.เขต 400+ปาร์ตี้ลิสต์ 100

ข้อสงสัยนี้ มีคำตอบก็คือ หากที่ประชุมรัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่ ส.ว.สรรหา ทยอยลาออกกันไปก่อน 17 กุมภาพันธ์ แม้จะมีผลบ้างแต่ก็ไม่มาก หรือต่อให้มีการรีบเสนอวาระการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่มีการเปิดประชุมสภาฯในช่วง 21 มกราคมโดยที่ตอนนั้น ส.ว.สรรหายังไม่มีใครลาออกเลยแม้แต่คนเดียว

เสียงของ ส.ว.สรรหา แม้จะมีผลบ้างต่อทิศทางการลงคะแนนเสียง “เห็นชอบ”หรือ “ไม่เห็นชอบ” ของที่ประชุมรัฐสภา แต่ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีผลมากนัก โดยเฉพาะกับการลุ้นของฝ่ายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก ส.ว.สรรหา ส่วนใหญ่ที่มีทั้งกลุ่ม 40 ส.ว.และไม่ใช่กลุ่ม 40 ส.ว.พบว่าเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบหรือพูดง่ายๆคือ

“คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ”ของรัฐบาลมาตั้งแต่วาระแรกอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องที่มาของ ส.ส.ตามมาตรา 93-98

ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร, จารึก อนุพงษ์, เจตน์ ศิรธรานนท์, ชลิต แก้วจินดา, ถาวร ลีนุตพงศ์, ธนู กุลชล, ธีระจิตต์ สถิโรตมวงศ์, บุญชัย โชควัฒนา, คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, ประสาร มฤคพิทักษ์, ไพบูลย์ นิติตะวัน, นางยุวดี นิ่มสมบุญ, ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต, ไพโรจน์ ถัดทะพงษ์

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ, วรินทร์ เทียมจรัส, สมชาย แสวงการ, สุพจน์ โพธิ์ทองคำ, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ, อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์, นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน, นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์, วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์, วิทวัส บุญญสถิต, สมัคร เชาวภานันท์

ดังนั้น อภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์จึงไม่ได้หวังจะหวังลุ้นให้ ส.ว.สรรหาอยู่ช่วยหนุนให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของ ส.ส.ให้ออกมาตามสูตร 375+125

เพราะรู้ดีว่ายากที่ ส.ว.กลุ่มนี้ซึ่งได้ลงมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ทั้งมาตรา 190 และเรื่องที่มาของ ส.ส.ไปแล้ว หากจะเปลี่ยนมาลงมติเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 จะถูกมองว่ากลับไปกลับมา ไม่มีจุดยืน

ยกเว้นแต่จะมี ส.ว.สรรหาบางคนเท่านั้นที่ตอนลงมติวาระแรกได้ลงมติหนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ซึ่งกลุ่มนี้แม้จะไม่มากแต่ก็ทำให้เสียงที่จะหนุนรัฐบาลหายไป หากว่าได้ลาออกไปก่อนที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าติดตามมากกว่า ก็เป็นเรื่องกระบวนการสรรหา ส.ว.ระบบสรรหา ชุดใหม่ คาดได้ว่ามีกรอบเวลาที่การสรรหาจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจาก 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ได้รีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก หากจะรอส.ว.สรรหาชุดใหม่ก็ย่อมทำได้ เพราะกว่าสภาฯจะปิดสมัยประชุมก็ปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งดูแล้วกระบวนการสรรหาส.ว.ชุดใหม่ก็น่าจะเสร็จสมบรูณ์ทัน

ทว่า ท่าทีของกรรมาธิการและวิปรัฐบาลแล้ว เชื่อได้ว่าคงไม่รอแน่นอนและจะรีบพิจารณาให้เสร็จเพื่อส่งต่อที่ประชุมรัฐสภาให้ทันก่อน 17 ก.พ.นี้แน่นอน

ในประเด็นกระบวนการสรรหา ส.ว.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะนอกจากบทบาทอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่ไม่น้อย แล้วยังพบว่า ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่ใช่แค่ 3 ปีเหมือน ส.ว.สรรหาชุดนี้ที่มีบทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้ แต่ชุดต่อไปจะอยู่ในตำแหน่งถึง 6 ปี

คิดดูเล่นๆ ถ้า ส.ว.สรรหาในชุดปัจจุบันคนไหนได้รับเลือกกลับมาอีกครั้งก็จะเป็น ส.ว.ถึง 9 ปีเต็มเลยทีเดียว

จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามกระบวนการสรรหาและคัดเลือก ส.ว.ชุดใหม่กันให้ดีๆ เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของ

“7 อรหันต์”

ตามมาตรา 113 ของ รธน.ปี 50 ที่ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองซึ่งได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดอีกหนึ่งคนเป็นกรรมการสรรหา ทำการคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน กกต.ส่งมาให้ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ ดูจากบทบัญญัติแล้ว ครั้งนี้เป็นไปได้ที่กรรมการสรรหาจะไม่ครบ 7 อรหันต์

เพราะดูแล้ว พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าฯ สตง.คงไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการสรรหาได้ เพราะครั้งที่ คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา เป็นกรรมการสรรหา ส.ว.ชุดที่แล้ว คุณหญิงจารุวรรณได้นั่งเป็น “ผู้ว่าฯ สตง.” ควบ “รักษาการประธาน คตง.” ด้วยอีกหนึ่งตำแหน่งตามคำสั่ง คปค.แตกต่างจากกรณีของพิศิษฐ์ ที่เป็นแค่รักษาการผู้ว่าฯ สตง.เท่านั้น

กระนั้นก็ตาม แม้ไม่ครบ 7 อรหันต์ก็ไม่มีปัญหากรรมการสรรหายังทำงานได้ต่อไป

ซึ่งแม้ดูแล้วด้วยชื่อชั้น-ตำแหน่งของกรรมการสรรหา

จะได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่สูง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะกระบวนการ

“ล็อบบี้” หรือ “คุณขอมา” ให้กรรมการผลักดันเป็น ส.ว.สรรหาย่อมมีแน่นอน ยิ่งกระบวนการทั้งหมด กรรมการสรรหาทำกันแบบ “ปิดห้องลับ”

คุยกันภายในกรรมการสรรหา โดยไม่มีใครล่วงรู้เหตุผลและการตัดสินใจของกรรมการสรรหา ได้ว่าทำไมถึงเลือกรายชื่อแต่ละคนจากที่องค์กรนิติบุคคลแต่ละแห่งเสนอชื่อมา

กรรมการสรรหาจึงควรต้องมีการทำเรื่องนี้อย่างโปร่งใสและคัดเลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมจะมาเป็น ส.ว.สรรหา ที่ควรต้องมีความหลากหลายในวิชาชีพ เพื่อให้เข้ามาเป็น ส.ว.อย่างดีที่สุด

เพราะหากรายชื่อออกมาแล้ว สังคมไม่ยอมรับหรือเห็นได้ชัดว่า แย่ลงกว่า ส.ว.สรรหาชุดปัจจุบัน

คณะกรรมการสรรหาก็เตรียมรับก้อนอิฐ!
กำลังโหลดความคิดเห็น