xs
xsm
sm
md
lg

"ประสพสุข"กั๊กเรื่องไขก๊อก ยันตีความส.ว.สรรหาไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าจะลาออกจาก ส.ว. ช่วงเดือนม.ค.ก่อนหมดวาระ ว่า ก็คิดว่าจะลาออกช่วงม.ค.นี้ แต่จะลาออกช่วงนี้หรือไม่ ขอคิดพิจารณาให้รอบคอบ ให้ชัดเจนก่อน ถ้าหากอยู่ในตำแหน่งจนหมดวาระ ก็เกรงว่าจะถูกโจมตีจากหลายฝ่าย ซึ่งขณะนี้ขอคิดดูก่อนว่า หากลาออกแล้วจะมีปัญหาหรือไม่
"ผมต้องพิจารณาดูอีกครั้งว่าหากลาออกก่อน จะมีผลดีผลเสียอย่างไร เพราะหากไม่ลาออกตอนนี้ เกรงว่าจะมีคนหาว่าผมหวงตำแหน่ง อีกทั้งอยากรักษาคำพูดที่เคยบอกไว้ว่า หากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลงแล้วจะลาออก " นายประสพสุข กล่าว
นายประสพสุข ยังกล่าวถึงกรณีมี ส.ว.สรรหา บางคนเกรงว่าหากตนลาออกจากตำแหน่งแล้ว จะมีปัญหาเรื่องที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สถานะของส.ว.สรรหาว่าควรจะลาออกก่อนสมัครรับเลือกตั้งใหม่ หรือไม่ต้องลาออกว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ปัญหานั้นคงไม่เกี่ยวกับประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้หากมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนปัญหาการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ปกติแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับตีความ เพราะยังไม่มีข้อพิพาทกัน ถ้าหากมี ส.ว.ส่งให้ตีความจริง ศาลก็คงเพียงรับไว้ แต่คงไม่ตีความเพราะไม่ใช่กฤษฎีกา ขนาดส่งให้กฤษฎีกาตีความ กรณีของผู้ว่าฯสตง. ยังไม่ฟังกันเลย อีกอย่างกฤษฎีกาไม่มีข้อผูกพันธ์แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีข้อผูกพันธ์จึงมีสิทธิ์ที่จะตีความ

**ส.ว.สรรหาหลายคนอาจลาออก
นายประสพสุข ยังกล่าวถึงกรณี ส.ว.สรรหา จำนวนมากอาจลาออกก่อนหมดวาระ ในวันที่ 18 ก.พ. เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการเข้ารับการสรรหาใหม่ ว่า ตอนนี้มี 2 ความเห็น ระหว่างลาออกก่อนพ้นวาระและไม่ต้องลาออก ซึ่งเท่าที่ตนอ่านเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการให้ลาออก เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 117 วรรคสาม บัญญัติว่า ให้ ส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามวาระอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีส.ว.ใหม่
อย่างไรก็ดี มาตรา 115 (8) และมาตรา 102 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เข้ารับการเลือกตั้ง และสรรหาต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งคำๆนี้ มีปัญหาว่า หมายความว่าอย่างไร ในอดีตศาลฎีกาเคยวินิจฉัยคำๆนี้ว่า เป็นบุคคลที่กินเงินเดือนหลวง ซึ่งกรณีนี้ ส.ว.ที่รักษาการ ก็กินเงินเดือนหลวง มีอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นปัญหา
"ส.ว.ส่วนใหญ่เขาก็บอกว่าจะตัดปัญหาโดยการลาออก เพราะกลัวมีคนฟ้อง และกลัวผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีอำนาจถอดถอนกรรมการสรรหาทั้ง 7 คนได้ แต่บางคนก็บอกว่า รัฐธรรมนูญยกเว้น เลยจะไม่ลาออก ทั้งนี้ผู้ที่จะทำความชัดเจนตรงนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ดีๆ ก็ไปส่งศาลไม่ได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผมถามไปยังกกต.แล้ว กกต.ยังไม่ตอบ และผมเชื่อว่า มีแนวโน้มจะไม่ตอบ เพราะเป็นเพียงความเห็น ไม่ผูกพัน หากตอบมาถ้าสุดท้ายมีการสรรหาแล้วมีคนไปร้องศาล แล้วศาลตัดสินว่าไม่ถูกต้อง กกต.ก็หน้าแตกอีก ดังนั้นปัญหานี้ก็แล้วแต่ส.ว.แต่ละคน จะพิจารณา" นายประสพสุข กล่าว
ส่วนกรณีที่หากมีส.ว.สรรหา ลาออกจำนวนมาก จะประชุมวุฒิสภาได้หรือไม่นั้น สมมติว่า เหลือ ส.ว.ทั้งสภา 90 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 วรรคสาม บัญญัติว่า ให้มีเท่าที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่า มาตราเดียวกัน วรรคสี่ บัญญัติว่า ต้องมี ส.ว.ร้อยละ 95 จึงถือว่า เป็นวุฒิสภา ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่ไม่มีใครชี้ แต่ตนคิดว่า เรื่องร้อยละ 95 น่าจะเป็นการบังคับใช้ในครั้งแรกสุดในการเลือกตั้งและสรรหาเป็นการทั่วไป และหลักการใช้กฎหมาย ต้องตีความให้บังคับใช้ได้ ฉะนั้น มี ส.ว.เท่าไร ก็ประชุมเท่านั้น ถ้าใครคิดว่าไม่ชอบ ก็ไปฟ้องศาล
เมื่อถามว่า หากองค์ประชุมมีแค่ 90 คน การผ่านร่างกฎหมายใช้เสียงกึ่งหนึ่งสมมติว่า 50 ต่อ 40 ก็จะดูประหลาด นายประสพสุข กล่าวว่า ตนเห็นตามนั้น แต่คิดว่า เมื่อเหลือ ส.ว. ครึ่งสภา วุฒิสภาก็น่าจะหมดสภาพ ในฐานะความชอบธรรมในการพิจารณา ทางแก้คือ รอให้สรรหาส.ว.มาใหม่แล้วค่อยประชุมก็ได้ และตอนนั้น คงไม่มีร่างกฎหมายผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรมายังวุฒิสภาเท่าไหร่ และปัจจุบัน ไม่มีร่างกฎหมายค้างอยู่ที่วุฒิสภาเลย

**"40 ส.ว."หนุนประสพสุขทำหน้าที่ต่อ
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีนายประสพสุข จะลาออกก่อนหมดวาระว่า ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่ยุติธรรมสำหรับ ส.ว.สรรหา 74 คนชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในระยะ 3 เดือนนับจากนี้ เนื่องจากเขาจะไม่มีโอกาสเลือกประธานวุฒิสภา และเกรงว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องที่ ส.ว.สรรหา ชุดเก่าจะหมดวาระ จะต้องส่งเรื่องการตีความว่า ควรจะลาออกก่อนสมัครรับเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะต้องส่งผ่านประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่านายประสพสุข ควรจะทำหน้าที่จนครบวาระซึ่งเหลือเพียง 1 เดือนเศษ เท่านั้น การทำหน้าที่ของประธาน ควรจะเป็นประเภณีปฏิบัติ ทำให้เกิดความลงตัวในขณะที่ยังมีทั้ง ส.ว.สรรหา และส.ว.เลือกตั้งควบคู่กันไป

** ส.ว.เลือกตั้งบีบ"ประสพสุข"ออก
จากกรณีที่ นายประสพสุข เคยประกาศไว้ในเดือนก.พ.53 ว่า จะลาออกจากตำแหน่งประธานฯ ภายหลังจากสถานการณ์บ้านเมืองสงบ เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว.รายอื่นได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาบ้างนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดเริ่มมีความเคลื่อนไหวในหมู่ ส.ว.ในการขอความชัดเจนในคำประกาศดังกล่าว โดยฝ่ายหนึ่งมีความพยายามกดดันให้ นายประสพสุข ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระวันที่ 18 ก.พ.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ก่อนที่ ส.ว.สรรหา ชุดใหม่จะเข้ามา เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ว.เลือกตั้งได้เป็นประธานบ้าง ทำให้มีกระแสข่าวลือว่า นายประสพสุข อาจจะประกาศลาออกในวันที่ 18 หรือ วันที่ 25 ม.ค.นี้

**ผู้ร่างไม่ได้คิดปัญหานี้ เชื่ออยู่ต่อได้
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า เบื้องต้นตนคิดว่า ส.ว. สรรหา น่าจะอยู่ต่อได้จนหมดวาระ และสามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ผู้ร่างไม่ได้มีการหารือว่า ส.ว.สรรหา จะต้องลาออกก่อนมาสมัครเข้ารับการสรรหาหรือไม่ ส่วนกรณีขององค์ประชุมหากมี ส.ว.สรรหา ลาออกไปจำนวนมากนั้น คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะเชื่อว่าส.ว.สรรหา คงไม่ลาออกทั้งหมดแน่ อาจจะลาออกแค่ 20-30 คน ซึ่งเหลือเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว และบางคนที่ลาออกไป ก็คงไม่อยากกลับมาเป็นส.ว.ทั้งหมด บางคนอาจจะเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ก็ได้ เนื่องจากในช่วงนั้นคงใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น