xs
xsm
sm
md
lg

ประธานวุฒิฯ รับมี ส.ว.สรรหาหลายคนเตรียมลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพสุข บุญเดช (แฟ้มภาพ)
“ประสพสุข” รับ ส.ว.หลายคนที่ต้องการจะสรรหากลับมาทำหน้าที่ใหม่เตรียมไขก๊อก ตัดปัญหาข้อกฎหมายที่อาจถูกฟ้องในอาคตหากได้รับเลือกกลับมาเป็น ส.ว. ด้านอดีตเลขาฯ กมธ.ยกร่าง รธน.รับไม่ได้คิดปัญหานี้ แต่เชื่ออยู่ต่อได้

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.สรรหาจำนวนมากอาจพิจารณาลาออกก่อนหมดวาระวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการเข้ารับการสรรหาใหม่ว่า ตอนนี้มี 2 ความเห็น ระหว่างลาออกก่อนพ้นวาระ และไม่ต้องลาออก ซึ่งเท่าที่ตนอ่านเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการให้ลาออก เพราะรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 117 วรรคสาม บัญญัติว่า ให้ ส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ส.ว.ใหม่ อย่างไรก็ดี มาตรา 115 (8) และมาตรา 102 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เข้ารับการเลือกตั้งและสรรหาต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งคำคำนี้มีปัญหาว่าหมายความว่าอย่างไร ในอดีตศาลฎีกาเคยวินิจฉัยคำคำนี้ว่า เป็นบุคคลที่กินเงินเดือนหลวง ซึ่งกรณีนี้ ส.ว.ที่รักษาการก็กินเงินเดือนหลวง มีอำนาจหน้าที่เหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นปัญหา

“ส.ว.ส่วนใหญ่เขาก็บอกว่าจะตัดปัญหาโดยการลาออก เพราะกลัวมีคนฟ้อง และกลัวผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะมีอำนาจถอดถอนกรรมการสรรหาทั้ง 7 คนได้ แต่บางคนก็บอกว่า รัฐธรรมนูญยกเว้น เลยจะไม่ลาออก ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำความชัดเจนตรงนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ดีๆ ก็ไปส่งศาลไม่ได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผมถามไปยังกกต.แล้ว กกต.ยังไม่ตอบ และผมเชื่อว่า มีแนวโน้มจะไม่ตอบ เพราะเป็นเพียงความเห็น ไม่ผูกพัน หากตอบมาถ้าสุดท้ายมีการสรรหาแล้วมีคนไปร้องศาล แล้วศาลตัดสินว่าไม่ถูกต้อง กกต.ก็หน้าแตกอีก ดังนั้น ปัญหานี้ก็แล้วแต่ ส.ว.แต่ละคนจะพิจารณา” นายประสพสุขกล่าว

นายประสพสุขกล่าวว่า หากมี ส.ว.สรรหาลาออกจำนวนมากจะประชุมวุฒิสภาได้หรือไม่นั้น สมมติว่าเหลือ ส.ว.ทั้งสภา 90 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 วรรคสาม บัญญัติว่า ให้มีเท่าที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่ามาตราเดียวกันวรรคสี่ บัญญัติว่า ต้องมี ส.ว.ร้อยละ 95 จึงถือว่าเป็นวุฒิสภา ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่ไม่มีใครชี้ แต่ตนคิดว่าเรื่องร้อยละ 95 น่าจะเป็นการบังคับใช้ในครั้งแรกสุดในการเลือกตั้งและสรรหาเป็นการทั่วไป และหลักการใช้กฎหมาย ต้องตีความให้บังคับใช้ได้ ฉะนั้น มี ส.ว.เท่าไหร่ก็ประชุมจำนวนเท่านั้น ถ้าใครคิดว่าไม่ชอบก็ฟ้องศาล

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากองค์ประชุมมีแค่ 90 คน การผ่านร่างกฎหมายใช้เสียงกึ่งหนึ่งสมมติว่า 50 ต่อ 40 ก็จะดูประหลาด นายประสพสุขกล่าวว่า ตนเห็นตามนั้น แต่คิดว่าเมื่อเหลือ ส.ว.ครึ่งสภา วุฒิสภาก็น่าจะหมดสภาพในฐานะความชอบธรรมในการพิจารณา ทางแก้คือ รอให้สรรหา ส.ว.มาใหม่แล้วค่อยประชุมก็ได้ และตอนนั้นคงไม่มีร่างกฎหมายผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรมายังวุฒิสภาเท่าไหร่ และปัจจุบันไม่มีร่างกฎหมายค้างอยู่ที่วุฒิสภาเลย

ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า เบื้องต้นตนคิดว่า ส.ว.สรรหาน่าจะอยู่ต่อได้จนหมดวาระและสามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 50 ผู้ร่างไม่ได้มีการหารือว่า ส.ว.สรรหาจะต้องลาออกก่อนมาสมัครเข้ารับการสรรหาหรือไม่ ส่วนกรณีขององค์ประชุมหากมี ส.ว.สรรหา ลาออกไปจำนวนมากนั้น ตนคิดว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะเชื่อว่า ส.ว.สรรหาคงไม่ลาออกทั้งหมดแน่นอน อาจจะลาออกแค่ 20-30 คน ซึ่งเหลือเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว และบางคนที่ลาออกไปก็คงไม่อยากกลับมาเป็น ส.ว.ทั้งหมด บางคนอาจจะเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก็ได้ เนื่องจากในช่วงนั้นคงใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น