“อิทธิพล เรืองวรบูรณ์” ส.ส.สรรหา หนีไม่พ้นแม้ชิงลาออกก่อนศาล รธน.วินิจฉัยสิ้นสมาชิกภาพ ส.ว.นับแต่ลูกชายนั่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีสงครามเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ส่อถูกเรียกคืนเงินเดือน ด้าน “ไพบูลย์” รอด ศาลชี้ที่เสนอความเห็นทาง กม.ให้ “หญิงเป็ด” ไม่เข้าข่ายใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ว.แทรกแซงการปฏิบัติราชการของ สตง.
วันนี้ (11 ก.พ.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่างคำวินิจฉัย กรณีประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาพร้อม ส.ว.อีก 16 คนที่เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (5) ประกอบมาตรา 266 กรณีใช้ตำแหน่งหน้าที่ประธานที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาส่งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพื่อนำไปกล่าวอ้างในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 266 กำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซง การปฏิบัติราชการ ในหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้กับข้าราชการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องเป็นกลาง ไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ทั้งนี้ การที่คุณหญิงจารุวรรณมีหนังสือถึงนายไพบูลย์ ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา เพื่อขอทราบความเห็นของทางกฎหมายของคณะที่ปรึกษาฯ ต่อประเด็นดังกล่าว เพื่อจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และต่อมาแม้คุณหญิงจารุวรรณจะนำความเห็นดังกล่าวไปใช้กล่าวอ้างในการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ความเห็นดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลตามที่ สตง.ได้มีการร้องขอ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา อีกทั้งความเห็นที่นายไพบูลย์ส่งให้ก็เป็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ใช่ความเห็นของนายไพบูลย์เพียงคนเดียว
ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ดังนั้นจึงไม่ถือว่าการมีบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายไปถึงคุณหญิงจารุวรรณ เป็นการใช้สถานะวุฒิสภาเข้าไปก้าวกายแทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่จึงไม่เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์ ส.ว.สรรหาต้องสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยกรณี ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นส.ว.ของนายอิทธิพล เรืองวรบูรณ์ ส.ว.สรรหาต้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (4) ประกอบมาตรา 115 (5) กรณีนายยุทธนา บุตรชายไปดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 115 บัญญัติให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับเข้าการสรรหาเป็น ส.ว. (5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ทั้งนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัตินิยามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 259 ที่ระบุถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อ ป.ป.ช.ทุกครั้งที่เข้ารับหรือพ้นจากตำแหน่ง
(6) จะกำหนดให้หมายถึงผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ และเมื่อพิจารณาระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้กำหนดอำนาจ หน้าที่ ตำแหน่ง ในการบริหารราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งนายกเทศมนตรีตำบลนั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจหน้าที่กำกับและกำหนดทิศทางในการบริการท้องถิ่นนั้น ดังนั้นนายกเทศมนตรีตำบลจึงอยู่ในความหมายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถือเป็นผู้บริหารท้องถิ่นประเภทหนึ่งที่หากรัฐธรรมนูญ จะให้สิทธิในการสมัครเป็น ส.ว.สรรหา รัฐธรรมนูญก็จะต้องเขียนยกเว้นไว้ เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 115 (9)
คำวินิจฉัยยังระบุด้วยว่า การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 115 (5) บัญญัติเช่นนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว.เข้ามาตรวจสอบถอนถอดด้วยความเป็นอิสระ จึงไม่ต้องการให้มีบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะอาจจะถูกครอบงำได้ ข้อเท็จจริง แม้ ส.ว.จะไม่มีอำนาจถอดถอนนายกเทศมนตรีตำบล ได้โดยตรงแต่ก็สามรารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ว.เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการบริหารงานส่วนท้องถิ่นได้ทั้งทางตรงทางอ้อม ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายยุทธนาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ตำบลศรีสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายอิทธิพล สิ้นลงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (4) นับแต่ที่มีเหตุให้ผู้ถูกร้องขาดคุณสมบัติคือตั้งแต่วันที่ นายยุทธนาได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลศรีสงคราม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ นายยุทธนาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีศรีสงคราม ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.52 ซึ่งก็จะเท่ากับว่านายอิทธิพลต้องสิ้นสมาชิกสภาพการเป็น ส.ว.ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันเดียวกัน โดยทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องไปพิจารณาในเรื่องการเรียกคืนผลประโยชน์ที่นายอิทธิพลได้รับการจากการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระหว่างวันที่ 20 ก.ย.52 จนถึงวันที่ 8 ก.พ.54 ที่นายอิทธิพลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ว.สรรหา