xs
xsm
sm
md
lg

ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมของท่านที่มีหน้าที่สำคัญต่อบ้านเมืองในการพิจารณาสรรหาวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา ผู้มีหน้าที่สำคัญใหญ่โตจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเข้าร่วมประชุมด้วย ประธานในที่ประชุมจึงถามว่า แน่ใจในอำนาจหน้าที่ในสถานะที่จะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ถ้าหากจะต้องรับผิดชอบ พร้อมที่จะรับผิดชอบหรือไม่?

คำถามดังกล่าวนั้น ทำให้เขาต้องถอยออกจากที่ประชุมสำคัญนั้นทันที

เรื่องเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการสรรหาวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหา หนึ่ง กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ขาดความต่อเนื่องในการบริการสาธารณะ เกิดความชะงักงันในการบริหารราชการแผ่นดินที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่รัฐต้องได้รับผลกระทบจากการที่มิอาจทำหน้าที่ได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เป็นประการต่อมา

เรื่องของเรื่องเกิดจากปัญหาที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถูกผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องคดีเรื่องให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณมีคำสั่งดังกล่าวภายหลังจากที่คุณหญิงจารุวรรณมีอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ถูกฟ้องคดี คือ คุณหญิงจารุวรรณ ต่อสู้ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ได้บัญญัติให้ประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองมีผลบังคับใช้ต่อไป ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 และฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 จึงเป็นกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ 12 กำหนดว่า ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีประกาศ เป็นอย่างอื่น ต่อมามีประกาศคณะปฏิรูป ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูป และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

ข้อ 2 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นผลให้คุณหญิงจารุวรรณจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 แต่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 1 กำหนดว่า ให้มีการยกเลิกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และข้อ 3 กำหนดว่า ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหา และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ แต่งตั้งนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าฯ เป็นรักษาการแทนผู้ว่าฯ แล้วมีคำสั่งยกเลิก ศาลให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิก) คุณหญิงจารุวรรณ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ประกาศคณะปฏิรูป ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ยังเป็นกฎหมายอยู่หรือไม่

แต่จนบัดนี้ ศาลปกครองก็ไม่ได้ขยับเขยื้อนอันเป็นผลให้ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังเป็นนายพิศิษฐ์รักษาการอยู่ บางวันพี่แกก็เคลิ้มแต่งตั้งตัวเองเป็นปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปโน่น ซึ่งตามตัวบทกฎหมายจะแต่งตั้งตัวเองได้หรือ?

จะร่วมประชุมสรรหาวุฒิสมาชิกกับเขา ก็ไม่แน่ใจนักว่า ทำได้รึเปล่า

คำพิพากษาของศาลที่ให้ผู้ร้องสอดนายพิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมมีอำนาจหน้าที่ทุกอย่างเสมือนตนเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 301 วรรคสองของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 252 ประกอบมาตรา 207 ที่กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

ทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ยังได้กำหนดคุณสมบัติ และวิธีการเลือกบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ได้หลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ร้องสอด (นายพิศิษฐ์เป็นเพียงข้าราชการประจำ ซึ่งไม่มีความเป็นอิสระ จะทำหน้าที่อันสำคัญมีเกียรตินี้ได้อย่างไร?)

เรื่องนี้ต้องจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ ใครที่ดึงเรื่องประวิงเวลา มีแต่จะสร้างความเสียหายให้เกิดแก่บ้านเมืองเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น