“มาร์ค” คุยโว 2 ปีบริหารประเทศ เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องด้วยหลักคิด ปชช.ต้องมาก่อน ฟุ้งพร้อมสละตำแหน่งคืนให้ ปชช. ภายใต้เงื่อนไขสงบและเป็นธรรม หมดสภาพแก้ไขปัญหาแรงกดดัน ความแตกแยก เล็งใช้ตัวช่วยหวังผลเลือกตั้งกำหนดทิศทางประเทศ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งใหม่เป็นความหวังของประเทศไทย การจัดหัวข้อนี้ของโพสต์ทูเดย์ เป็นการเลือกหัวข้อที่จะฉลาด ประการแรก เป็นการผูกมัดว่าจะหลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะปกติเวทีนี้จะพูดเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ประเทศชาติ แต่นี่เป็นการผูกมัดให้พูดเรื่องการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปีนี้จะต้องมีการยุบสภา ถ้าไม่มีการยุบสภา สภาก็จะครบวาระในเดือน ธ.ค.ของปีนี้ ก็ต้องมีการจัดเลือกตั้งปีหน้า แต่แสดงให้เห็นว่า โพสต์ทูเดย์มีความเชื่อมั่นในคำพูดของผม ที่กล่าวยืนยันชัดเจนว่า ผมไม่มีความประสงค์จะอยู่ครบวาระ และต้องการจัดเลือกตั้งใหม่ เพื่อเดินหน้าประเทศไทย พวกเราทุกคนทราบดี ตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเราผ่านกับปัญหาอุปสรรคการเมืองมากนับแต่ปี 2548 ที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และนำไปสู่การรัฐประหาร และช่วงเปลี่ยนผ่าน จนมีการยกร่างรธน.และการเลือกตั้งปี 2550 ต้องยอมรับว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย จนมีรัฐบาล 4 ชุด มีการชุมนุมถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาลได้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในปี 2551 และสภาได้มอบความไว้ใจให้ผมบริหารประเทศวันนี้ 2 ปีกว่า แต่ก็ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองจนมีเหตุการณ์รุนแรงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553
หลุด สังคมที่ไร้ระเบียบ อนาธิปไตย
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่ผมให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง มีเหตุผลรองรับและหลักคิดชัดเจน สังคมในยุคนี้ไม่ว่าในประเทศใด มีความหลากหลาย สลับซับซ้อน อาจจะด้านเชื้อชาติ ศาสนา สถานะ เศรษฐกิจ สังคม มีความแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ถ้าเบาที่สุด เป็นความขัดแย้งทางความคิด เลวร้ายสุดอย่างที่เราพบเห็นในหลายประเทศซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง แต่ว่าประเทศที่ก้าวหน้า จะต้องคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งโดย 2 กระบวนการหลัก 1.กระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการทางกฎหมายซึ่งใช้ในการตัดสิน การกระทำกลุ่มบุคคลว่า ชอบหรือไม่ชอบ โดยอาศัยกระบวนทางศาลซึ่งต้องมีความอิสระและความเป็นกลาง ถ้าสังคมใดไม่สามารถใช้กระบวนการตรงนี้ได้ก็จะกลายเป็นสังคมที่ไร้ระเบียบ เป็นอนาธิปไตย แม้ว่า กระบวนการตรงนี้จุดสุดท้ายจะไปอยู่ที่ศาลยุติธรรม แต่ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่บริหาร รักษาและบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมและอาจจะยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าหย่อนเกินไปก็ไร้ระเบียบ ตึงเกินไปก็เกิดความขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายข้อขัดแย้งได้ แต่ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ต้องการให้สังคมนี้รักษากฎหมาย อย่างของผม บางช่วงอาจจะดูตึง ดูหย่อนแต่เราต้องการให้กระบวนการความขัดแย้งไม่ว่า ถูกหรือผิด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องการให้กระบวนการยุติธรรมแสดงออกความชัดเจนถึงความเป็นกลาง ตรงนี้จึงทำให้เราประคับประคองสถานการณ์ต่างๆ มาได้ในช่วง 2 ปี ส่วนกระบวนการที่ 2 ที่ใช้คลี่คลายความแตกต่าง และความขัดแย้งในสังคม คือ กระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องใช้สิทธิ์เสียงตัดสินใจว่า บ้านเมืองของเราจะเดินไปในทิศทางใด ตรงนี้ รัฐบาลและผมแสวงหาอยู่ ซึ่งในวันที่เราจำเป็นต้องประคับประคองให้เศรษฐกิจฝันฟ่าวิกฤตที่รุนแรงในโลก ให้เกิดความมั่นคงฟื้นตัว เราก็สามารถประคองสถานการณ์ต่าง ๆทางการเมืองไว้ได้ และเมื่อสังคมมีความเสี่ยงที่จะเป็นรัฐล้มเหลวเมื่อปี 2551 เราก็ยืนหยัดเป็นรัฐบาลที่แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ แต่เมื่อความขัดแย้งยังดำรงอยู่ อาจเป็นผลพวงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายกลุ่มความคิด ที่มองเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง การคลี่คลายความขัดแย้งนี้ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
ก้าวสำคัญ คลี่คลายขัดแย้ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ต้องการอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นก้าวสำคัญที่จะคลี่คลายสถานการณ์ความตรึงเครียดในบ้านเมืองได้ คนเป็นรัฐบาลต้องพร้อมที่จะสละตำแหน่ง สละอำนาจ เพื่อคืนอำนาจไปสู่ประชาชน และผมเห็นว่า ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ และสถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองก็เดินมาในทิศทางที่ถูกต้องพอสมควร ดังนั้น การกำหนดแนวทางเลือกตั้งก่อนครบวาระ ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องสมควร หลายคนจำได้ว่า ผมได้กำหนดเงื่อนไขคร่าวๆ 1.เศรษฐกิจ ต้องฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้หลังจากที่เราเห็นการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 8 และปีนี้ ก็เป็นบวก การส่งอออก การท่องเที่ยวดี แม้ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมัน แต่ภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมก็ดีกว่าหลายประเทศในโลก และในภูมิภาค
เงื่อนไขเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องสงบ และเป็นธรรม
2. ที่ต้องการความชัดเจนคือ กติการเลือกตั้งคือ การแก้ไข รธน. ซึ่งรัฐสภาเป็นเวทีที่ต้องให้คำตอบหลังจากเราเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระ และขณะนี้ร่างรธน. ก็ผ่านวาระ 2 รอการลงมติในวันที่ 11 ก.พ. เป็นวาระสุดท้ายของการแก้ไข รธน. หมายความว่าหลังจากวันศุกร์ เรามีข้อยุติที่ชัดเจนผ่านกระบวนการรัฐสภาที่จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข ความพร้อมสู่การเลือกตั้ง ส่วนเงื่อนไขสุดท้าย คือ การเลือกตั้งจะแก้ปัญหานำประเทศเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สงบ และเป็นธรรม ทั้งนี้ ไม่มีประโยชน์ถ้าเราเลือกตั้งกันแล้ว นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้น พรรคการเมืองไม่สามารถทำหน้าที่ พบปะประชาชนเพื่อนำเอานโยบายต่างๆ ไปหาเสียง นี่เป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่ผมประเมินตลอดเวลา และเรากำลังเดินไปสู่จุดนั้น หลังจากเราประกาศยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน เหลือเพียง 3 จว.ภาคใต้ นี่คือหลักคิดและเหตุผล และวันนี้ ผมยืนยันว่า ผมในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองต้องการให้ประชาชนใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ กำหนดทิศทางของประเทศ เสียงของประชาชนที่จะลงไปคะแนนเลือกตั้ง ต้องเป็นเสียงที่ดังกว่าทุกกลุ่มที่แสดงออกทางการเมืองในขณะนี้เพื่อให้ประเทศมีความชัดเจน และชาวโลกมองเห็นว่า เราได้ก้าวพ้นจากวัฎจักรวิกฤตการเมืองที่สะสมมาหลายปี และเป็นการยืนยันถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ใช้คำว่า มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเลือกตั้งได้ในระดับสากล ส่วนทิศทางที่ประชาชนจะกำหนดนั้น ผมคิดว่า มีความชัดเจนเช่นเดียวกัน ว่า ทางเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรเพราะรัฐบาลนี้ได้ผลักดันนโบายต่างๆ แม้ว่าผมยังไม่พึงพอใจทั้งหมด แต่ทิศทางเราชัด เราได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาบนหลักคิดที่ว่าประชาชนต้องมาก่อน ด้วยการสนับสนุนกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยคิดว่า คนคือปัจจัยที่สุดของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่า โครงการเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เบี้ยคนพิการ และอีกหลายยนโบายโดยเฉพาะการปูทางไปสู่สวัสดิการที่ให้คนไทยทุกคน เช่น กองทุนเงินออมแห่งชาติที่กำลังออกมา แรงงานนอกระบบ ที่กำลังเข้าวสู่ประกันสังคมได้เป็นครั้งแรกและกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง ทิศทางนี้ชัด
ท้าคู่แข่งเปิดตัวคู่ชิงนายกฯ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับรัฐบาลนี้อย่างน้อย เราไม่เปลี่ยนทิศทาง เรายืนยันทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่เราอยากบอกประชาชนว่า เราอยากทำมากกว่านี้ ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้เราอาจพอใจ แต่ผลประโยชน์ยังไม่ลงไปถึงประชาชนจำนวนมาก ปัญหาสินค้าราคาแพงเกิดขึ้นจากปัญหาต้นทุนที่เราคุมไม่ว่า ปัญหาราคาน้ำมัน ผลิตผลราคาเกษตร แต่เราได้เพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงให้ประชาชน ไม่ว่า เรื่องค่าแรง โครงการเรียนฟรี 15 ปี การศึกษาขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนให้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย คุณภาพของคน และสังคม เรายังทำไม่เสร็จ โดยเฉพาะที่เราต้องเร่งคือ การปราบปรามตู้ม้า การพนัน ยาเสพติด
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งจะเป็นโอกาสที่ดีว่า พรรคที่เป็นรัฐบาล หรือ เป็นฝ่ายค้านหรือ พรรคที่เกิดขึ้นใหม่ก็ต้องบอกกับประชาชนว่า จะมีทางเลือกอื่นใด จะไม่เอาระบบสวัสดิการ หรือไม่ หรือจะไม่สานต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ฟื้นขึ้นมา ก็ต้องบอกประชาชน ซึ่งรัฐบาลนี้ตั้งใจเดินหน้าประเทศไทย แต่ถ้าใครอยากติดยึดอดีต ยึดบุคคลมากกว่า ส่วนรวมก็ขอให้บอกประชาชนที่จะเป็นผู้ตัดสิน สำหรับผมยังเดินหน้าตามเจตนารมณ์ ผมยังอาสาตัวมาทำหน้าที่ ใครอาสาก็ประกาศให้ทราบ ประชาชนจะได้เปรียบเทียบตัดสินใจ นี่เป็นความสำคัญของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ หลายเรื่องดูจะเป็นเรื่องพื้นๆ ของการแข่งขันการเลือกตั้ง แต่ผมขอบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่เฉพาะประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ชาวโลกกำลังดูอยู่ เพราะเขาต้องการเห็นว่า ประชาชนคนไทยจะเลือกทางไหน จะหลุดพ้นจากสภาพเงื่อนไขวิกฤต และเดินหน้าสู่การพัฒนาต่อเนื่องในศักยภาพของเราได้หรือไม่ ผมมั่นใจในประชาชน ผมทำงานการเมืองวันนี้มา 20 ปี เป็นเส้นทางที่ผมต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนกำหนดอนาคตของประเทศ ผมจึงยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญกับประเทศ ขอบคุณโพสต์ทูเดย์ที่ให้แสดงจุดยืนทำไมเราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง