xs
xsm
sm
md
lg

ถ้อยแถลง “กษิต” ต่อ UNSC ชี้เขมรยิงก่อน-ใช้ปราสาทฯ เป็นฐานรบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่ถ้อยแถลงของ “กษิต” ต่อ UNSC แจงกัมพูชายิงก่อน ใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานทำการรบ ขณะที่ไทยรักสันติภาพ ยึดมั่นการเจรจาตามกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ทั้ง เอ็มโอยู 2543 และเจบีซี

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 โดยสรุป นายกษิตระบุว่า ไทยและกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านกัน จะย้ายประเทศหนีกันไม่ได้ มีอะไรก็ควรพูดคุยกัน ส่วนเหตุการณ์ปะทะกัน ในวันที่ 4-7 ก.พ. ทั้งๆ ที่ตนยังอยู่ในกรุงพนมเปญ เกิดจากทหารกัมพูชายิงก่อน แต่นายกฯ กัมพูชากลับมาบอกว่า “ไม่สำคัญว่าใครยิงก่อน” ซึ่งไทยก็ต้องปกป้องตนเอง นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ทหารทั้งสองฝ่ายเจรจาหยุดยิงแล้ว แต่กัมพูชาก็ยังโจมตีต่ออีก 2 ครั้ง ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ทหารไทยตายไป 2 นาย ชาวบ้านเสียชีวิต 2 ราย และผู้คนต้องอพยพหนีถึง 20,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจที่คนไทยต้องเป็นผู้อพยพในประเทศของตัวเอง

นายกษิตยังแถลงต่อ UNSC ว่า กัมพูชาได้ใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานการรบ ซึ่งมีหลักฐานเผยแพร่ตามสื่อมากมาย สำหรับเหตุจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการรุกรานครั้งนี้ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า เพราะกัมพูชาต้องการดึงนานาชาติเข้ามาแทรกแซงการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับเรื่องการปักปันเขตแดน กัมพูชาต้องการยืมมือสหประชาชาติเข้ามาช่วยผลักดันแผนการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ กัมพูชามักจะใช้ยุทธวิธีทางทหารเพื่อหวังผลการเมืองในประเทศ ขณะที่ไทยยึดมั่นสันติภาพ มุ่งที่จะลดความตึงเครียด และรักษาสัญญาตามกรอบการเจรจามาโดยตลอด โดยกรณีนี้ไทยและกัมพูชาสามารถยึดกรอบการเจรจาทวิภาคี ตามกลไกเอ็มโอยู 2543 และเจบีซี

ทั้งนี้ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยถ้อยแถลงดังกล่าว สามารถดูได้ที่ http://www.mfa.go.th/web/3036.php

...

รายละเอียด ถ้อยแถลงของ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก 14 กุมภาพันธ์ 2554 (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

“ท่านประธานที่เคารพ

ผมในนามคณะผู้แทนไทย ขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อการเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของท่าน อีกทั้งขอส่งความปรารถนาดีมายังมิตรทั้งหลายในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทุกท่านด้วย

ผมขออนุญาตส่งคำทักทายของคณะผู้แทนไทยไปยัง ฯพณฯ ฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ผู้ซึ่งกระผมรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีในฐานะเพื่อนร่วมงานในอาเซียน และได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาหลายปี คณะผู้แทนของผมใคร่ขอทักทาย ฯพณฯ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนี้ด้วย

ท่านประธานที่เคารพ

ผมมา ณ ที่นี่ในวันนี้ด้วยความลำบากใจที่จะต้องกล่าวเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนบ้านและสมาชิกร่วมครอบครัวอาเซียนของไทย เป็นเรื่องขัดกันเองที่น่าเศร้าที่เมื่อตอนเช้าของวันที่ 4 ก.พ.ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ผมได้ร่วมประชุมที่ประสบผลหลายด้านและเป็นกันเองกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาในระหว่างประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ผมออกจากที่ประชุมดังกล่าวด้วยความเชื่อในอนาคตที่สดใสของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศต้องมาที่นี่เพื่อพูดเกี่ยวกับปัญหาทวิภาคีระหว่างกัน ทั้งๆ ที่อาเซียนได้มีข้อตัดสินใจร่วมกันไปแล้วว่า กรณีเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไขระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ท่านประธานที่เคารพ

ผมมาที่นี่เพื่อที่จะอธิบายให้มิตรประเทศในคณะมนตรีมั่นคงฯ ได้ทราบถึงข้อเท็จจริง โดยผมตั้งใจที่จะ 1.วางเรื่องที่อยู่เฉพาะหน้าเรานี้ให้อยู่ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสม 2.แจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ณ บริเวณหนึ่งของชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งมีความยาว 800 กิโลเมตร 3.เปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 4.ให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ และลบล้างนิยายเรื่องเล่าที่ทางกัมพูชาได้กระพืออยู่ และสุดท้าย ชี้แจงถึงแนวทางที่ประเทศไทยและอาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป

ประเด็นแรก การวางเรื่องที่อยู่เฉพาะหน้าเรานี้ให้อยู่ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ในการนี้ ผมขอให้เพื่อนๆ ในคณะมนตรีมั่นคงฯ ละวางภาพต่างๆ ที่ได้เห็นผ่านทางโทรทัศน์ รวมถึงสำบัดสำนวนที่ชวนทะเลาะต่างๆ ไว้ชั่วคราวก่อน และลองนึกภาพประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีพรมแดนร่วมกันยาวประมาณ 800 กิโลเมตร หรือประมาณ 500 ไมล์ ตลอดแนวชายแดนร่วมกันนี้ ประชาชนยังคงไปมาหาสู่ ทำมาค้าขาย และมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันโดยสันติเป็นประจำทุกวันตลอดทั้งปี ชาวไทยและชาวกัมพูชาเป็นเหมือนญาติพี่น้องที่มีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต

แต่ก็เช่นเดียวกับในภูมิภาคต่างๆ ในโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีพรมแดนร่วมกันนั้นเป็นเหมือนพี่น้อง ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่ใช่ข้อยกเว้น พูดกันตามตรงแล้ว ความสัมพันธ์ของเรามีขึ้นมีลง มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี แต่เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาเกิดขึ้น เราก็จะแก้ไขปัญหานั้นด้วยกันผ่านการปรึกษาหารือและพูดคุยกัน แล้วเราก็เดินหน้าต่อไปด้วยกันในลักษณะที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เราสามารถเอาชนะความท้าทายระดับทวิภาคีต่างๆ ที่ผ่านมาได้ เพราะทั้งสองประเทศตระหนักว่า ในฐานะเพื่อนบ้านและสมาชิกของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น เราจะต้องอยู่เคียงข้างกัน เราไม่สามารถย้ายประเทศหนีจากกันได้

ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ ผมขอเน้นย้ำว่า ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทหารไทยไม่เคยเป็นผู้ที่ยิงก่อน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กองกำลังทหารกัมพูชาได้เริ่มยิงโจมตีไปยังทหารไทยซึ่งอยู่ภายในดินแดนไทย ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการโจมตีตามไปอีกด้วยอาวุธหนักมากมาย

เป็นเรื่องน่าประหลาดมากที่การโจมตีของฝ่ายกัมพูชาเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังการประชุม JC ที่ประสบผลในหลายด้านและเป็นกันเอง ซึ่งผมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเป็นประธานร่วมกันที่จังหวัดเสียมราฐ การประชุมดังกล่าวมีข้าราชการระดับสูงฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศเข้าร่วม อันที่จริงแล้ว ผมและคณะได้รับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวหลังจากที่เครื่องบินลงที่ท่าอากาศยานกรุงพนมเปญเพื่อเดินทางไปเยี่ยมพลเมืองชาวไทยที่นั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิงที่ทหารฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายเริ่มยิงไปยังกองกำลังทหารกัมพูชาก่อน ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการระดับสูงของไทยยังคงอยู่ในกรุงพนมเปญ

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองได้กล่าวในลักษณะที่แทบจะยอมรับเสียเองว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน โดยในหนึ่งในสุนทรพจน์ที่กล่าวโจมตีไทยอย่างดุเดือดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์นั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่สำคัญว่า “ใครเริ่มยิงก่อน” ซึ่งจะเป็นเรื่องไม่สำคัญได้อย่างไร เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มยิงไปยังพลเรือนและกองกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คาดเดาได้ว่าอีกฝ่ายก็จะต้องป้องกันตนเองและประชาชนของตน

ท่านประธานที่เคารพ

ประเทศไทยรักษาคำมั่นของเราตามที่ตกลงกันเสมอและก็คาดหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะทำเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ความคาดหวังดังกล่าวได้ถูกทำลายลงโดยสิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาได้กระทำในพื้นที่ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้

หลังจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ผู้บังคับการทหารระดับภูมิภาคของไทยและฝ่ายกัมพูชาได้พบกันที่ช่องสะงำในจังหวัดศรีสะเกษของประเทศไทยในช่วงสายของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ในการพบกันดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดยิงทันทีและกำหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 18.30 น. กองกำลังทหารกัมพูชาก็ได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวโดยการยิงพลุส่องสว่างขึ้นไปบนท้องฟ้า ตามด้วยการยิงโจมตีด้วยอาวุธหนักไปที่ช่องโดนเอาว์และภูมะเขือในดินแดนไทย การโจมตีได้ขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนไทย ได้แก่ เขาสัตตะโสม พลาญยาว ช่องตาเฒ่า พื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร และหมู่บ้านภูมิซรอลซึ่งตั้งอยู่ลึกไปในดินแดนไทยประมาณ 5 กิโลเมตร หลังแนวที่ตั้งทางทหารของไทยเข้าไปมาก ในการโจมตีดังกล่าวนี้ กองกำลังกัมพูชาได้ใช้อาวุธหลายชนิด รวมถึงปืนอากา AK-47 จรวดอาร์พีจี และจรวดสนามหลายลำกล้องรุ่น BM-21 นอกจากนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กองกำลังทหารกัมพูชาได้เริ่มยิงอีกครั้งมายังทหารไทยที่ประจำอยู่ที่ภูมะเขือและพลาญยาวในดินแดนไทย โดยใช้อาวุธต่างๆ อาทิ จรวดอาร์พีจี

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งปลูกสร้างของพลเรือนไทยหลายหลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนทั้งพลเรือนและทหารไทย ทหาร 2 นาย และพลเรือน 2 คนซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 คน ต้องสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านไทยผู้บริสุทธิ์ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนในพื้นที่ที่ถูกโจมตีกว่า 20,000 คนต้องอพยพหนี ภาพของความเสียหายเหล่านี้ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติ ซึ่งไม่เคยนึกมาก่อนว่า ในชั่วชีวิตของเรานี้ คนไทยจะต้องตกอยู่สภาพเป็นผู้อพยพในประเทศของตัวเอง

ท่านประธานที่เคารพ ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ฝ่ายไทยได้ใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุดเสมอมา แต่เมื่อต้องเผชิญกับการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างชัดเจน และการโจมตีโดยไม่มีการยั่วยุก่อนต่อประชาชนพลเรือนและทรัพย์สินของไทย ฝ่ายไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้สิทธิโดยชอบธรรมของเราในการปกป้องตนเอง ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว เราได้ใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด บนพื้นฐานของความจำเป็น พอเหมาะพอควร และมุ่งเป้าโดยตรงไปยังเป้าหมายทางทหารที่ฝ่ายกัมพูชาได้โจมตีออกมาเท่านั้น

นอกจากนี้ พวกเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ควรประณามที่ทหารกัมพูชาได้ใช้ปราสาทพระวิหารเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร อันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่ผมเชื่อว่าทั้งโลกได้เห็นกับตาแล้วจากรูปภาพหลายรูปที่แสดงทหารกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นค่ายทหารและฐานในการโจมตี รูปภาพเหล่านี้ถ่ายและเผยแพร่โดยทั้งสื่อกัมพูชาและสื่อต่างประเทศ ซึ่งผมคงไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้เนื่องจากรูปภาพเหล่านี้บอกความหมายได้ดีกว่าคำพูดมากมายนัก

ท่านประธานที่เคารพ

เรื่องนี้นำมาสู่ประเด็นที่ 3 ของผม เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองเลยจากสิ่งที่กัมพูชาพูดไปยังเหตุจูงใจเบื้องหลังของการรุกรานที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อนล่วงหน้านี้ เช่นเดียวกับละครบรอดเวย์ การรู้เค้าโครงของเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ

เค้าโครงของเรื่องก็คือ สำหรับกัมพูชาแล้ว กัมพูชาต้องการสร้างสถานการณ์บริเวณชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ยุทธศาสตร์การเมืองที่จะเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีที่กำลังดำเนินอยู่ และทำให้ประเด็นที่โดยสาระแล้วเป็นเรื่องทวิภาคีกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ตัวอย่างหนึ่ง คือ การโจมตีของกัมพูชาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ซึ่งจงใจเริ่มต้นทันทีที่พระอาทิตย์ตก การใช้พลุส่องสว่างอย่างเป็นระบบเพื่อนำทางปืนใหญ่จากฝั่งกัมพูชาเป็นการเน้นย้ำอย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่าการโจมตีนี้ได้มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าและวางแผนเป็นอย่างดีไว้ก่อนแล้ว ความรวดเร็วของการส่งหนังสือจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้องให้มีการประชุมเร่งด่วนเพียงไม่นานหลังจากที่การโจมตีของฝ่ายกัมพูชาเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นการยืนยันลักษณะของการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าของการโจมตีนี้

ท่านประธานที่เคารพ

จุดมุ่งหมายสูงสุดของเค้าโครงเรื่องนี้มีความชัดเจน นั่นคือ เพื่อเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับเขตแดนที่กำลังดำเนินอยู่ และยืมมือสหประชาชาติเพื่อแผ้วถางทางสำหรับการที่กัมพูชาจะผลักดันให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปที่ประเทศบาห์เรนในกลางปีนี้ ให้ความเห็นชอบแก่แผนบริหารจัดการสำหรับปราสาทพระวิหารของตนให้สำเร็จให้ได้แม้ว่าจะมีปัญหาอยู่อีกมากก็ตาม การเจรจาทวิภาคีกับประเทศไทยเกี่ยวกับเขตแดนบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองในขณะนี้ของกัมพูชา ดังนั้นจึงต้องกำจัดให้พ้นทาง

เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชา ประเด็นเรื่องเขตแดนเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ได้ผลเสมอสำหรับการเมืองภายใน โดยเรื่องเขตแดนกับประเทศไทยถือเป็นไพ่ทางเลือกที่ใช้สะดวกและได้ผลมากที่สุด ประเทศไทยได้กลายเป็นผีร้ายที่ปลุกได้ง่ายสำหรับการเมืองภายในกัมพูชา วันนี้กลยุทธ์นี้ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

ท่านประธานที่เคารพ

ไม่มีสิ่งใดสามารถให้ความชอบธรรมแก่การใช้ยุทธวิธีทางทหารเช่นนี้เพื่อผลทางการเมืองได้ ไม่มีสิ่งใดสามารถให้ความชอบธรรมกับการเล่นเกมกับชีวิตของประชาชนเพื่อผลทางการเมือง คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่ควรสนับสนุนการใช้กลยุทธ์เช่นนี้

ผมขอเน้นย้ำ ณ ที่นี้ อย่างชัดเจนและจริงใจที่สุดว่า ประเทศไทยไม่มีความมุ่งร้ายต่อประเทศกัมพูชา เราจะมีได้อย่างไร? ทุกอย่างที่เรามีคือ มิตรภาพ ความสุจริตใจ และความจริงจังที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

เราได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรกับกัมพูชา เราเคยให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชานับล้านคน เราสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในกัมพูชาโดยทหารไทยได้มีส่วนร่วมในความพยายามรักษาสันติภาพในกัมพูชาภายใต้สหประชาชาติและมีบทบาทแข็งขันในการบูรณะประเทศกัมพูชา เรามีความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับกัมพูชามากมาย เราให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาอย่างสม่ำเสมอในหลายสาขา อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวสั้นๆ คือ สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศกัมพูชา ก็คือสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยนั่นเอง

ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีความตั้งใจและไม่มีความปรารถนาที่จะยึดครองอาณาเขตของประเทศเพื่อนบ้าน เราเพียงแต่ต้องการที่จะอยู่อย่างสันติและสมัครสมานสามัคคีกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เราไม่ต้องการความขัดแย้ง เราไม่ต้องการเห็นคนบริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าประเทศกัมพูชาจะทุกข์ยากมามากกับปัญหาการเมืองภายในของตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากัมพูชาจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีนี้ กัมพูชาโจมตีประเทศไทยเอาเสียเฉย ๆ แล้วก็กลับไปร้องแรกแหกกระเชอเรียกร้องความเห็นใจและกล่าวโทษประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายถูกโจมตี

สำหรับคำขอให้หยุดยิงของกัมพูชานั้น ประเทศไทยไม่มีปัญหากับเรื่องดังกล่าว เพราะเรายึดมั่นในสันติภาพ ไม่เคยเปิดฉากโจมตีก่อน และรักษาข้อตกลงของฝ่ายเราในอันที่จะลดความตึงเครียดลงเสมอ คำขอนี้ควรมุ่งไปที่ฝ่ายกัมพูชามากกว่า เพื่อที่กัมพูชาจะได้รักษาสัญญาของฝ่ายตน ฝ่ายไทยจะยังคงใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุดต่อการยั่วยุต่างๆ ต่อไป

ท่านประธานที่เคารพ

ผมขอกล่าวถึงประเด็นที่ 4 มีความจำเป็นที่ผมจะต้องลบล้างนิยายกล่าวอ้างต่าง ๆ ที่กัมพูชากระพืออยู่ ซึ่งได้สร้างความสับสนแก่มิตรของเราหลายฝ่าย

ข้อ 1 ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 แล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ศาลฯ ได้วินิจฉัยเองว่า ศาลฯ ไม่มีเขตอำนาจในประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และปฏิเสธความพยายามของกัมพูชาที่จะขยายขอบเขตของคำพิพากษาให้ครอบคลุมประเด็นดังกล่าว แผนที่ที่กัมพูชาใช้เป็นพื้นฐานของความพยายามดังกล่าวก็มิได้รับการผนวกเข้ากับคำพิพากษาของศาลโลก ดังนั้น จึงไม่มีสถานะทางกฎหมายในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพียงแต่ได้รับการผนวกเข้ากับคำฟ้องของกัมพูชาต่อศาลฯ เท่านั้น

ที่สำคัญคือ เป็นความเข้าใจร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าจะหาข้อยุติในประเด็นเขตแดนโดยการเจรจาทวิภาคีภายใต้กรอบที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ปี 2543 เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมถึงการยอมรับของกัมพูชาว่า เขตแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนวยังคงต้องหาข้อยุติโดยการเจรจาทวิภาคี บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (JBC) จะ “จัดทำแผนที่ของเขตแดนทางบกที่ได้มีการสำรวจและจัดทำหลักเขต” เป็นหนึ่งในงานของ JBC

สำหรับประเทศไทย เรามีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนทั้งหมดรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารโดยสันติและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงทวิภาคี ภายใต้กรอบและกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ โดยเฉพาะ MOU และกลไก JBC ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งทั้งสองประเทศได้ผูกพันตนเองอยู่

2.ความตึงเครียดที่มีอยู่ต่อเนื่องนี้เป็นผลโดยตรงจากความพยายามฝ่ายเดียวของกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริง พื้นที่โดยรอบยังคงต้องขึ้นกับการเจรจาทวิภาคีภายใต้ JBC ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งซึ่งหลายคนเป็นญาติพี่น้องกัน ได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และนักท่องเที่ยวก็สามารถเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ และโดยตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาท และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะซ่อมแซมปราสาท ประเทศไทยก็ได้เคยเสนอที่จะช่วยเหลือกัมพูชาในการฟื้นฟูปราสาทนี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยังคงมีอยู่

ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่คณะกรรมการมรดกโลกและสำนักเลขาธิการ UNESCO ต้องระงับการดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ อันจะเป็นการขัดขวางหรือด่วนตัดสินผลงานของ JBC ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้อย่างยั่งยืน

กัมพูชาเองได้ยอมรับอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุดที่กรุงบราซิเลียเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาว่า แผนบริหารจัดการเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารจะขึ้นอยู่กับผลสรุปของงานของ JBC ดังนี้

“รัฐภาคีกัมพูชาได้อธิบายในรายงานว่า จะมีแผนที่ที่เสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้จัดทำหลักเขตแดนทางบกในพื้นที่เสร็จสิ้น โดยการตกลงร่วมกันของรัฐภาคีกัมพูชาและไทยเกี่ยวกับผลสรุปสุดท้ายของงานของ JBC”

3.กลไกทวิภาคียังมิได้ใช้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด และไทยยึดมั่นกับกระบวนการนี้โดยสุจริตใจ เพราะเราเชื่อว่า ประเด็นเขตแดนระหว่างสองประเทศควรได้รับการแก้ไขโดยประเทศที่เกี่ยวข้องสองประเทศเป็นการดีที่สุด ดังเห็นได้จากกรณีข้อพิพาททางเขตแดนหลายกรณีทั่วโลก กระบวนการทวิภาคีจะต้องใช้เวลาและไม่สามารถเร่งรัดได้ การแก้ไขปัญหาเขตแดนต้องใช้ความอดทนและความสุจริตใจที่จะบรรลุซึ่งผลที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ดังเช่นตัวอย่างของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซียที่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นเขตแดนในปี 2551 ภายหลังจากที่ได้เจรจากันนานกว่า 40 ปี

ประเทศไทยได้รอคอยกว่า 30 ปีเพื่อให้กัมพูชาได้แก้ไขปัญหาภายในก่อนที่จะสามารถเริ่มเจรจาเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกได้ ประเทศไทยเข้าใจข้อจำกัดของกัมพูชาในขณะนั้น เรามิได้กดดันกัมพูชาจนกระทั่งกัมพูชาพร้อม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศไทยขอย้ำว่า รัฐบาลไทยไม่เคยมีความตั้งใจที่จะถ่วงเวลาการให้ความเห็นชอบบันทึกรายงานการประชุม JBC 3 ครั้งที่ผ่านมาโดยรัฐสภา บันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต้องเสนอต่อรัฐสภา และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญของไทย

เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ รัฐบาลไทยในฐานะฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งการฝ่ายนิติบัญญัติได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่า รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบรายงานการประชุมในโอกาสแรก ผมยินดีที่จะแจ้งต่อคณะมนตรีฯ ว่า ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งให้พิจารณาร่างบันทึกรายงานการประชุม JBC ได้ประกาศว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปข้อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอข้อพิจารณาต่อรัฐสภาในเร็วๆ นี้ ดังนั้น จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่กัมพูชาจะด่วนตัดสินการพิจารณาของรัฐสภาไทยเป็นการล่วงหน้า

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัฐสภาไทยได้เห็นชอบข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญา ภายหลังที่ได้พิจารณากันเป็นเวลานาน การแก้ไขดังกล่าวช่วยขจัดความไม่แน่นอนในกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญา นี่ถือเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย

ผมประสงค์จะชี้ให้เห็นด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชาที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ดังที่สะท้อนอยู่ในรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการ กัมพูชาได้แสดงความเข้าใจในกระบวนการภายในทางด้านรัฐสภาของไทย และยังได้แสดงความหวังว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับงาน JBC ต่อได้อย่างรวดเร็วต่อไป จึงเป็นที่น่าพิศวงที่เพียงแค่ช่วงเวลาเพียง 10 วันหลังจากนั้น รัฐบาลกัมพูชาได้เปลี่ยนใจไปเป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

ผมขอเน้นด้วยว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และในฐานะรัฐบาลที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องรับฟังทุกความเห็นในสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเองได้ใช้เวลา 17 ชั่วโมงในรัฐสภาในการตอบคำถามสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ประเทศไทยหวังว่าบรรดามิตรของเราจะเคารพกระบวนการประชาธิปไตยของเรา

ในการนี้ แม้ว่าบันทึกรายงานการประชุม JBC จะยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา รัฐบาลไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอหลายข้อ โดยสุจริตใจ ต่อกัมพูชาให้จัดการประชุม JBC เพื่อผลักดันงานที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนทางบก เป็นที่น่าเสียใจว่าข้อเสนอทั้งหมดของเราถูกปฏิเสธ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอต่อกัมพูชาอีกครั้งให้จัดการประชุม JBC ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ กัมพูชาได้ตอบรับข้อเสนอ แต่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เราได้รับแจ้งจากกัมพูชาอีกครั้งว่าไม่ต้องการประชุม อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสุจริตใจและความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาปัจจุบันด้วยการเจรจาอย่างสันติ เราได้ส่งหนังสือถึงกัมพูชาเรียกร้องให้กลับมาเข้าร่วมกระบวนการ JBC ตามที่กัมพูชาได้ตกลงไว้ก่อนหน้านี้ ผมขอเรียกร้องให้มิตรฝ่ายกัมพูชาของผมตอบรับคำเชิญนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความสุจริตใจ

4.ประเทศไทยขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงถึงข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานของกัมพูชาที่ว่าประเทศไทยใช้ระเบิดพวงในระหว่างการปะทะกันเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยให้การสนับสนุนความพยายามในการลดกำลังอาวุธอย่างแข็งขัน ซึ่งรวมถึงการกำจัดอาวุธระเบิดพวง เรากำลังพิจารณาอย่างจริงจังที่จะเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง

ท่านประธานที่เคารพ

มาถึงประเด็นสุดท้ายของผม นั่นคือ แนวทางต่อไปที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป

ผมขอยืนยันต่อคณะมนตรีฯ ว่า แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และไม่ว่าจะน่าสลดใจเพียงใด ประเทศไทยก็ยังคงเชื่อว่าการร่วมมือกันบนพื้นฐานของมิตรภาพและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทั้งสองประเทศก้าวผ่านปัญหาในปัจจุบันไปได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศทั้งสอง ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามีทั้งช่วงขึ้นและช่วงลง แต่ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็ได้รับการยับยั้งและแก้ไขอย่างประสบผลเสมอมา ในครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างกัน

การปะทะกันบริเวณชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ จำกัดทั้งในแง่พื้นที่และในแง่ระยะเวลา สถานการณ์ในขณะนี้ได้สงบลงแล้ว ชาวบ้านได้ทยอยเดินทางกลับบ้านและเริ่มกลับเข้าสู่วิถีชีวิตตามปกติ ประเทศไทยยึดมั่นที่จะดำเนินการทุกอย่างที่สามารถกระทำได้ต่อไปเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะมีความสงบที่ยั่งยืนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อันที่จริง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนกรุงพนมเปญในวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าไทย (Thailand Trade Fair) ประจำปี ณ กรุงพนมเปญ ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โดยในระหว่างที่พำนักในกรุงพนมเปญ รองนายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดการที่จะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย

ในขณะเดียวกัน เราขอขอบคุณต่อการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวอาเซียน เรายินดีต่อการเยือนกัมพูชาและไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน เพื่อปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ตามลำดับ เราเห็นพ้องกับข้อสังเกตของประธานอาเซียนว่า ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชาโดยสาระแล้วเป็นประเด็นทวิภาคี และทั้งสองประเทศควรแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีผ่านกลไกการหารือทวิภาคี โดยที่ภูมิภาคสามารถให้การสนับสนุนและกำลังใจได้ตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับกัมพูชา เราได้เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

ท่านประธานที่เคารพ

โดยสรุป คณะผู้แทนของผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยและกัมพูชาต้องมองไปสู่อนาคตด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเรากำลังก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เราตระหนักว่า สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไทยและกัมพูชาเข้าไว้ด้วยกันนั้น ยิ่งใหญ่กว่าความแตกต่างที่แบ่งแยกทั้งสองประเทศมากนัก เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายหนีกันไปได้ เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ การกระทำใดๆ ที่ไม่บังควรเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นจะสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างรอยแผลเป็นที่บาดลึกอีกแผลหนึ่งในความรู้สึกของประชาชนของทั้งสองประเทศ ประชาชนผู้ซึ่งจะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันต่อไปอีกนานหลังจากการประชุมนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว

ประเด็นเบื้องหน้าเราในวันนี้ ในสาระแล้วเป็นปัญหาทางการเมือง และในที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องได้เจตจำนงทางการเมืองจากทั้งสองฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยยังคงยึดมั่นที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาอย่างใกล้ชิดและโดยสุจริตใจ ผ่านกรอบการเจรจาทวิภาคีต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ ประเทศไทยได้ยื่นมือออกมาแล้วและกำลังรอคอยการการแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างจริงใจจากกัมพูชา เราหวังว่าเมื่อกัมพูชาได้คิดทบทวนอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับอนาคตในระยะยาวของความสัมพันธ์ในภาพรวมของเรา รวมทั้งผลประโยชน์ของภูมิภาคอย่างดีแล้ว กัมพูชาจะตอบรับความปรารถนาดีและความจริงใจของเรา ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ให้การสนับสนุนแก่การดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกระบวนการทวิภาคี ซึ่งจะสามารถทำให้เข้มแข็งขึ้นได้จากการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวอาเซียน แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศไทยและต่อประเทศกัมพูชา รวมทั้งภูมิภาคโดยรวมด้วย

ผมขอขอบคุณ ท่านประธาน”

*****************
14 กุมภาพันธ์ 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น