xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เอ็มโอยู43มัดมือทหาร ขึงพืดมทภ.2 เอื้อประโยชน์ชายแดนอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พันธมิตรฯแฉ “ฮุนเซน” ดันทหารใหญ่ทัพภาค 2 จนได้ดี สาเหตุกองทัพปวกเปียก “ปานเทพ” ประณามแขมร์ไร้ยางอาย กล่าวหาไทยใช้อาวุธเคมี ชี้กฎบัตรฯ ยูเอ็นทำนานาชาติแทรกแซงไม่ได้ แฉนายทหารเมีย 4 ส่งส่วยเขมรทุกเดือน แถมเอี่ยวผลประโยชน์นักการเมือง "เทพมนตรี" อัดซ้ำ "มทภ.2-ปธ.เจบีซี "วางตัวไม่เหมาะสม แสดงพฤติกรรมยอมรับกัมพูชาที่เข้ามายึดครองพื้นที่ 4.6 ตร.กม.

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (13 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวประจำวัน โดยนายปานเทพ กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาแถลงถึงความเสียหายจากการปะทะกับไทย เมื่อวันที่ 4-7 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ฝ่ายกัมพูชามีทั้งผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และมีผู้อพยพอีกนับหมื่นคน โดยอ้างว่าฝ่ายไทยใช้อาวุธระเบิดพวง และอาวุธเคมีพุ่งเป้าใส่พลเรือนว่า เรื่องเหล่านี้ถือเป็นเท็จทั้งสิ้น พันธมิตรฯ จึงขอประณามทางการกัมพูชา ที่บิดเบือนใส่ร้ายประเทศไทยอย่างไร้อย่างอาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังจะเข้าชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC สะท้อนให้เห็นว่า กัมพูชาพยายามสร้างเงื่อนไข ใส่ร้ายประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การดึงนานาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งที่การปะทะที่ผ่านมามีลักษณะจำกัดขอบเขตอยู่เพียงชายแดน ไม่สามารถเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค หรือนานาชาติได้เลย ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าอาเซียน หรือสหประชาชาติ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมายุ่งกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

นายปานเทพ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาพยายามที่จะร้อ
งเรียนต่อสหประชาชาติหลายครั้ง แต่ยังไม่เป็นผลแม้แต่ครั้งเดียว เหตุเพราะเหตุที่ไทยปะทะกับกัมพูชาเรื่องเขตแดน ไม่สามารถให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงได้ตามกฎบัตรของสหประชาชาติ

ดังนั้นหากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไปเจรจาไม่ให้มีการแทรกแซง และสามารถยึดกรอบทวิภาคีได้ ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถอ้างถึงผลงานของ MOU 2543 ได้เลย เพราะก่อนมี MOU 2543 ก็ไม่เคยมีอาเซียน หรือสหประชาชาติ มาแทรกแซงได้อยู่แล้ว

"ต้องดักคอนายกฯอภิสิทธิ์ไว้ก่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อกลับมาจากการเจรจา ก็จะมีการอ้างถึงผลงานของ MOU 2543 ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เหตุที่นานาชาติไม่สามารถมาแทรกแซงได้ เป็นเพราะไทยไม่เคยเพลี่ยงพล้ำต่อกัมพูชามานานแล้ว ภายใต้กฎกติกา ของสหประชาชาติเอง แต่หากสหประชาชาติสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ทั้งที่ไม่เคยทำได้ และมี MOU 2543 อยู่ต่างหาก ต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่บกพร่อง ปล่อยให้กัมพูชาโน้มน้าวให้นานาชาติเข้ามาได้" นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ระบุว่าไม่สามารถผลักดันกองกำลังกัมพูชา ที่ยึดดินแดนไทยทั้งที่ภูมะเขือ หรือถนนขึ้นเขาพระวิหาร ยิงใส่ราษฎรไทย โดยอ้างว่าผิดเงื่อนไข MOU 2543 ว่า เท่ากับว่าฝ่ายกระทรวงกลาโหมอ้าง MOU 2543 ในการไม่ทำหน้าที่ แต่ปล่อยให้กัมพูชา รุกล้ำดินแดน และละเมิด MOU 2543 ฝ่ายเดียว ทำให้ราษฎรไทยบาดเจ็บเสียหาย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่งที่ นายกฯอภิสิทธิ์ ต้องตอบให้ได้ว่าในฐานะนายกฯ ที่ไม่ประกาศยกเลิก MOU 2543 ส่งผลให้กองทัพไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่ทำงานเพราะติดผลประโยชน์แล้วมาอ้าง MOU 2543 ทำให้ราษฎรไทยเดือดร้อน ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการถูกรุกล้ำและละเมิดอธิปไตย โดยไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ในการผลักดันเพื่อคุ้มครองชีวิตราษฎรไทย

นายปานเทพ เปิดเผยด้วยว่า เราเริ่มค้นพบข้อมูลว่า เหตุใดการปะทะที่ผ่านมาฝ่ายไทยไม่จัดการผลักดันกัมพูชาอย่างเด็ดขาด และปล่อยปละละเลยให้เป็นสงครามการปะทะอย่างมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยทหารในระดับปฏิบัติ ก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่นายทหารระดับสูงกลับไม่พยายามจัดการผลักดัน ซึ่งต้องฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีต่างๆ ทั้งการที่ฝ่ายการเมืองมีผลประโยชน์ในเรื่องพลังงานน้ำมันกับกัมพูชาจริงหรือไม่ อีกทั้งยังมีนายทหารคนหนึ่งในกองทัพภาคที่ 2 ที่ขึ้นมานั่งตำแหน่งสำคัญได้ เนื่องจากนายฮุนเซน ผลักดันผ่านฝ่ายการเมืองไทย โดยนายทหารที่ว่านี้ มีผลประโยชน์ตามแนวชายแดนทั้งบ่อนการพนัน น้ำมัน ไม้เถื่อน และรับเหมาก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ มีการเก็บส่วยรายเดือนไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างถนนขึ้นภูมะเขือ ที่กัมพูชาใช้เป็นฐานทัพยิงราษฎรไทย โดยใช้ผู้รับเหมาเป็นของนายทหารคนนี้

"นายทหารคนนี้ยังได้ส่งข้าวสาร กุนเชียง หัวไชโป้ว เสมือนเป็นส่วยให้กับผู้บังคับบัญชากัมพูชา ทุกระดับ โดยเฉพาะกุนเชียงบุรีรัมย์ เดือนละ 60 กล่อง ปัจจุบันนายทหารคนนี้หย่าขาดจากภรรยาแล้ว โดยมีเมียน้อย 4 คน คนหนึ่งเป็นชาวกัมพูชา ทำหน้าที่ค้าขายด้านน้ำมัน กับฝั่งกัมพูชา รวมถึงแรงงานเถื่อนจากกัมพูชา" นายปานเทพกล่าว

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งทุกครั้ง นายทหารกลุ่มนี้จะใช้กำลังทหารปิดหมู่บ้าน เพื่อซื้อเสียงประชาชนให้แก่นักการเมืองคนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังพบว่ามือปืนคนหนึ่งที่หนีคดียิงนายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลบหนีอยู่ที่กัมพูชา แต่สามารถเข้าออกประเทศไทยได้ เนื่องจากนายทหารคนนี้ เป็นผู้ดูแลอยู่ โดยมือปืนคนนี้ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของฮุนเซน และมีความสนิทสนมอย่างยิ่ง กับนักการเมืองและฝ่ายทหาร

"พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ต้องตรวจสอบว่า เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้กองทัพอ่อนแอผิดปกติ จนไม่กล้าผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญตอบโต้ทหารกัมพูชา ที่ยึดครองแผ่นดินไทยทำร้ายราษฎรไทย" นายปานเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย เสนอตัวเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างพันธมิตรฯ กับรัฐบาล นายปานเทพ กล่าวว่า ได้มีการประสานงานมาแล้ว ซึ่งตนยืนยันไปว่า ในส่วนของการเจรจาเลยเวลาในการพูดคุยกันแล้ว ที่สำคัญที่ผ่านมามีการเจรจาหลายครั้ง ล้มเหลวทุกครั้ง ไม่เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น

ดังนั้นหากสมาคมฯ มีความหวังดีและต้องการให้เกิดประโยชน์ในขณะที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่นั้น ควรเปิดเวทีให้ภาคประชาชน ชี้แจงผ่านสื่อของรัฐ ชี้แจงกลับบ้างเป็นการให้ความรู้กับประชาชน ไม่ใช่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว

ด้านนายประพันธ์ กล่าวเสริมว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่ทางการออกแถลงการณ์ว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน กระทรวงการต่างประเทศไทยไม่เคยตอบโต้ปฏิเสธแต่ประการใด ทั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เสียหายต่อดินแดนและอธิปไตยอย่างแน่นอน

ล่าสุดที่เขมรออกมาแถลงว่าไทยอาวุธเคมี ทางการไทยก็ยังไม่ปฏิเสธ ทั้งยังไม่ตอบโต้ว่าไทยต่างหากที่ถูกกัมพูชาโจมตีก่อน ทั้งรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงใช้ข้ออ้าง MOU 2543 มาปิดปากกองทัพ ในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องดินแดน ปล่อยให้กัมพูชา ละเมิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งการใช้กำลังทหารโจมตีราษฎรไทย หากนายอภิสิทธิ์ เห็นว่ายึดถือ MOU 2543 เหตุใด จึงไม่คัดค้าน หรือยกเลิก MOU 2543

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า มีข้อมูลปรากฎชัดแล้วว่า นายทหารระดับสูงตั้ง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม แม่ทัพบางคน และนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือนายเนวิน ชิดชอบ มีสายสัมพันธ์แนบแน่น มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับ ฮุนเซน เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ ก็ตกอยู่ในวังวนความลับของคนรอบข้าง ที่มีผลประโยชน์กับกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลการสมรู้ร่วมคิด ในการปราศรัยค่ำวันนี้ (14 ก.พ.)

"อุปสรรคที่สำคัญคือ ผู้บังคับบัญชากองทัพบางคน สมคบกับนายฮุนเซน ในการทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติ คำนึงถึงผลประโยชน์ตัวเอง โดยเฉพาะพล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นปัญหาหนึ่งที่ ผบ.ทบ. และรัฐบาลต้องปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ยอมสยบต่ออริราชศัตรูที่รุกรานประเทศไทย ทั้งยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายฮุนเซน” นายประพันธ์กล่าว

**อัดมทภ.2-ปธ.เจบีซีวางตัวไม่เหมาะสม

เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ฯพณฯนายกรัฐมนตรี คงได้เห็นภาพชุดการศึกษาดูงานบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่มีผู้ปารถนาดี ต่อชาติ มาให้กลุ่มพันธมิตรฯ และนำมาเปิดเผยโดยนายประพันธ์ คูณมี และแพร่หลายไปสู่สื่อมวลชน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ผมในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา รวม 3 ฉบับ ผมรู้สึกไม่สบายใจต่อการที่ประธานกมธ. และกมธ. บางท่านได้เดินทางไปยังบริเวณ และตัวปราสาทพระวิหาร โดยมีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้ประสานงาน และได้แสดงพฤติกรรมที่สมยอม เข้าข้างการเข้ามายึดพื้นที่ 4.6 ตารางกม. ของทหารกัมพูชา และการเข้ามาตั้งวัด ชุมชน ของชาวกัมพูชา

โดยพฤติกรรมของประธาน กมธ. และแม่ทัพภาคที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนาน ไม่รู้สึกสะทกสะท้าน หรือหวงแหนแผ่นดินของตัวเอง มีการถ่ายภาพในบริเวณที่สำคัญ เช่น ซุ้มประตูทางขึ้นตัวปราสาท ซุ้มประตู้วัดแก้วสิกขาฯ การมอบเงินทำบุญพร้อมสิ่งของให้พระเขมร (ทหารปลอมตัวเป็นพระ ) และการโพสต์ท่าถ่ายภาพของกมธ.หลายท่าน พร้อมกันนั้น สื่อมวลชนชาวกัมพูชา ที่ติดตามอย่างใกล้ชิดได้ถ่ายภาพทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ทั้งนี้ จะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า การที่บุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์สมยอม ย่อมรู้เห็นเป็นใจกับการเข้ายึดครองพื้นที่ของชาวกัมพูชา และยังเห็นดีเห็นงามไปกับการกระทำผิดข้อตกลงข้อที่ 5 ในบันทึกความเข้าใจการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบก ( MOU 2543 ) ที่ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ และกอดอยู่จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมประชุมกมธ. พิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา รวม 3 ฉบับ ผมอยากจะนำเรียนต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ว่า แนวโน้มของที่ประชุมเสียงข้างมาก อยากให้บันทึกนี้ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งตอนนั้นผมก็คิดว่า กรรมาธิการแต่ละคนคงจะมีมุมมองเป็นของตัวเอง และยิ่งท่านประธานในที่ประชุม ก็ดูออกจะเข้าข้างที่จะให้ผ่านความเห็นชอบให้จงได้

ตอนนั้นผมก็ยังคิดว่า เป็นเพราะท่านประธาน มีความเมตตา และเอ็นดูต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษ แต่เมื่อผมได้พิจารณาจากพฤติการณ์ และการเดินทางไปยังบริเวณ และตัวปราสาทพระวิหารของท่านประธานแล้ว ผมเกิดความรู้สึกกังวลว่า สิ่งที่ผมคิดนั้นอาจผิดไป และผมคิดว่า หากที่ประชุมของกมธ.ฯชุดนี้ มีมติให้ความเห็นชอบ ก็จะเป็นที่ครหาอย่างร้ายแรง และนำไปสู่ตัว ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯอภิสิทธิ์ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯชุดนี้จะผ่านให้ความเห็นชอบ และอาจมีที่ปรึกษาได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งผมคิดว่า จะมีความไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่จะให้ประธานกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่อ เพราะหากมีมติให้ความเห็นชอบ อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง เช่น การแสดงสิทธิอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไทย การใส่ร้ายป้ายสี ของฝ่ายกัมพูชา เป็นต้น
สำหรับแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมคือ 1 . ให้ความสนิทสนมกับนายทหารเขมรเป็นพิเศษ ออกนอกหน้า นอกตา

2 . ขาดความเป็นผู้นำ เพราะมีใจที่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายกัมพูชา ในการเข้ามายึดครองพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

3 .ทำตัวไม่เหมาะสมไม่รู้จักกาละเทศะ เช่น การขึ้นไปนั่งหลังรถกะบะของกัมพูชา การไม่ติดอาวุธประจำกายในแผ่นดินของตัวเอง ดูไม่สมศักดิ์ศรีการเป็นถึงแม่ทัพภาค ซึ่งเป็นตำแหน่ง ยศ พระราชทาน

4 .การไม่แสดงท่าทีที่จะปกป้องผืนแผ่นดินไทย แต่กลับมีอากัปกิริยา รู้เห็นเป็นใจกับกัมพูชา อย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น การใส่เงินลงไปร่วมทำบุญ พระวัดแก้วฯ หรือการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ทั้งก่อนและหลังจากที่การเดินทางของคณะกมธ. ชุดนี้ เป็นต้น

** จี้ "เจริญ-มทภ.2 " ลาออก

ผมเห็นแล้วว่าบุคคล 2 คนที่ผมเอยถึงคือ 1 . ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา รวม 3 ฉบับ และ 2 . แม่ทัพภาคที่ 2 มีความไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติเช่นนี้อีกต่อไป เพราะทั้งพฤติกรรมและการแสดงออก ดูจะเข้าข้าง และโน้มเอียงไปทางประเทศกัมพูชาอย่างเห็นได้ชัด จึงขอนำเรียนต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็สุดแท้แต่ท่าน จะพิจารณาหาทางเอาเอง

ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูง และด้วยความโกธรแทนพี่น้องชาวไทย

**"เจริญ"อ้างถูกใส่ร้าย-หวังผลการเมือง

ด้านนายเจริญ คันธวงศ์ ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า ตนและน.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อไปศึกษาปัญหาระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการกล่าวหาของนายประพันธ์ ถือว่าเป็นเรื่องเท็จ เพราะการเดินทางลงพื้นที่ดังกล่าว ยังมีนายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ร่วมเดินทางไปด้วย อีกทั้งกมธ.การต่างประเทศ ยังได้เชิญกรรมาธิการร่วมพิจารณาบันทึกการประชุม JBC ไปด้วย คือ พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมทั้งได้รับการต้อนรับจากอย่างดีจากพล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

นายเจริญ กล่าวว่า เหตุผลที่เดินทางไปก็เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาฯ ก็ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาก็ได้สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาท ตามกรอบ MOU 2543 โดยอยู่บนพื้นฐานของการปกป้องศักดิ์ศรี และอธิปไตยของประเทศ และยืนยันว่าการเดินทางของคณะกมธ.ต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการยินยอมยกพื้นที่ให้กับกัมพูชา ซึ่งภาพถ่ายขณะที่เดินทางไปเยี่ยมนั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะทหารไทย และทหารกัมพูชา ซึ่งผลของการเดินทางได้นำมารายงานต่อ คณะกมธ.การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการร่วม JBC

" ผมและน.ส.รัชดาไม่ได้ไปในฐานะ ส.ส. แต่ไปในฐานะกรรมาธิการต่างประเทศ และภาพถ่ายต่างๆนั้น ที่กล่าวหาว่าไปยอมรับว่าเป็นที่ของกัมพูชานั้น ผมขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง และไม่สบายใจที่คนบางกลุ่ม นำเรื่องส่วนรวมไปบิดเบือนเพื่อปลุกปั่น สร้างกระแสนิยม และขอวอนกลุ่มดังกล่าวให้มีสติ วุฒิภาวะ และคำนึงผลได้เสียของประเทศชาติ รวมถึงการพูดหมิ่นศักดิ์ศรีข้าราชการประจำด้วย "
นายเจริญ กล่าวด้วยว่า การที่นายประพันธ์ นำเรื่องดังกล่าวมาพูดบนเวทีอย่างไร น่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองของตัวเอง คือ หวังผลในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหม่ ตนจึงอยากแนะว่าควรที่จะตั้งนโยบายของพรรคตัวเอง ไม่ใช่บังคับให้พรรคอื่นมาทำตามนโยบายของพรรคตัวเอง ส่วนจะฟ้องร้องนายประพันธ์ หรือไม่นั้น ตนคงไม่ทำ เพราะรู้จักกันดี แต่อยากให้นายประพันธ์ เอาวิชาชีพตัวเองมาช่วย นายวีระ สมความคิด ให้ออกจากคุกโดยเร็วจะดีกว่า

**รับรองเจบีซีเท่ากับรับแผนที่1 ต่อ 2 แสน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมาธิการศึกษาบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) รวม 3 ฉบับ ได้หารือต่อที่ประชุมวุฒฺสภา ในช่วงก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า ตนมีเรื่องขอเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และประชาชนว่า ไม่ว่าผลการชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( UNSC ) ของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะเป็นอย่างไร จะต้องมีการประชุมเจบีซีขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมาจากความเห็นของ ยูเอ็นเอสซี หรือมาจากฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งหากมีการประชุมจะต้องมีการนำบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ เข้าพิจารณาด้วย ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าว หากรัฐสภารับรองบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ จะสร้างปัญหามาก เพราะเท่ากับเป็นการรับรองบันทึกลงนามความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ( เอ็มโอยู 43 ) และ ทีโออาร์ 2546 ซึ่งมีสาระการรับรองแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งเป็นแผนที่ปฏิบัติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนปราสาทพระวิหาร

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญให้ทหารไทยออกจากพื้นที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และพื้นที่รอบวัด ที่หมายรวมครอบคลุมบริเวณภูมะเขือ บันทึกการประชุม เจบีซีไม่ระบุข้อห้ามในการนำข้อตกลงที่ลงนาม และมีผลผูกพันแล้วไปอ้างกับองค์กรระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่การสำรวจปักปันเขตแดนยังทำไม่เสร็จ

" ฝ่ายกัมพูชามักเอาไปอ้างกับคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขออนุมัติแผนปฏิบัติการพื้นที่ 4.6 ตารางกม. ผมเห็นว่ารัฐสภาจะรับหลักการบันทึกการประชุมเจบีซี จึงขอเตือนให้มีการระบุถึงข้อห้ามเอาบันทึกการประชุมไปอ้าง ขณะที่การปักปันเขตแดนยังทำไม่เสร็จ" นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนคงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว เพราะต้องลาออก จึงเป็นห่วงหากรับรองบันทึกการประชุม จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ จึงขอให้ ส.ว.ที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปดูแลเรื่องนี้ด้วย

** ไทยต้องยืนยันเป็นเจ้าของพท.4.6 ตร.กม.

จากนั้นนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนของสนับสนุนข้อเป็นห่วงของนายไพบูลย์ ทุกประการ สิ่งที่ตนอยากหารือคือ รูปแบบการไปประชุมชี้แจงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในรูปแบบปิด ของรมว.ต่างประเทศ ในวันที่ 14 ก.พ.นั้น ตนมีความเห็นว่า รัฐบาลควรยึดหลักการ 2 หลักการ ในการเข้าประชุม คือ จะต้องยืนยันความเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามสิทธิโดยสมบูรณ์ โดยเว้นเฉพาะพื้นที่ตัวปราสาทเท่านั้น ทั้งนี้โดยอาศัยฐานของอนุสัญญา 1904 และสนธิสัญญา และพิธีสารแนบท้าย 1907 ประกอบกับคำตัดสินคำพิพากษาแย้ง และคำพิพากษาแยก (โดยเฉพาะที่เป็นคุณ ) ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 และประเทศไทยต้องเข้าไปแบบโจทก์ ไม่ใช่เข้าไปแบบจำเลย

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ภายใต้หลักการทั้งสอง ประเทศไทยจะต้องแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ ด้วยการยืนยันตามแถลงการณ์ กระทรวงการต่างประเทศ โดยเรียกพื้นที่ 4.6 ตารางกม. ว่า แผ่นดินไทยไม่ใช่ พื้นที่อ้างสิทธิ รวมถึงต้องแสดงหลักฐานการรุกรานพื้นที่ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการรบทั้ง 4 ครั้ง ที่ผ่านมาที่มีเป้าหมายกระทำกับประชาชน และต้องยืนยันเคารพกฎบัตรสหประชาชาติ โดยให้ทุกประเทศอื่นเคารพกฎบัตรสหประชาชาติว่าเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของไทย การจัดการต้องเป็นของไทย องค์กรใดไม่มีสิทธิมายุ่งเกี่ยว และฝากไปยังรัฐบาลว่า อย่าไว้วางใจสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศเดียว แต่ควรให้น้ำหนักกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซียด้วย ไม่ใช่ไปโจมตีเขา

** "ประยุทธ์"ฮึ่ม อย่ามากดดันทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาว่าน่าจะสงบ เพราะขณะนี้ชาวบ้านกลับบ้านแล้ว และทหารในพื้นที่วางกำลังไว้ ซึ่งมั่นใจว่า สามารถต้านทานได้ ประเด็นสำคัญคือถ้ามีการใช้อาวุธระยะไกลมา เราจะป้องกันลำบาก แต่คิดว่า ในการเจรจาและชี้แจงกับทางยูเอ็น น่าจะเข้าใจว่าต้องมาพูดคุยกันแบบทวิภาคีกันอย่างไร ขอให้รอฟังว่า ชาติอื่นเขาจะว่าอย่างไร

ทั้งนี้ตนเป็นห่วงที่ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงปัญหา ทุกคนต้องช่วยกัน ทำอย่างไรก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงาน มีการเจรจา และอย่าไปกดดันเจ้าหน้าที่ การกดดันทหารมากๆ ทำให้การตัดสินใจต่างๆ ผิดพลาดไป ทหารจะยืนอยู่ในจุดที่ทหารจะต้องยืน และต้องรักษาอธิปไตยแนวชายแดนให้ได้ ซึ่งเท่าที่รักษาให้ได้ปัจจุบัน ถือว่าตนทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครจะว่าอะไรหรือกดดันอะไรตนไม่ได้

** ช่วยกันสวดมนต์ให้ปชช.ปลอดภัย

เมื่อ ถามว่าประเทศอาเซียนจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาพยายามไม่ให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยว ตอนนี้เราพยายามเจรจาแบบทวิภาคี แต่ถ้าไม่ได้ต้องใช้ระบบอาเซียนหรือไม่ตนไม่รู้ ต้องถามนายกฯ ซึ่งนายกฯระบุว่า ถ้าพูดได้ อยากให้เราคุยของเรากันเอง ถ้าปัญหาทุกเรื่องเราแก้กันเอง ทุกเรื่องก็จบ เพราะรบกันเองไม่ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะวุ่นวาย

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระดับผู้นำทางทหาร ทั้งสองฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางกองทัพยังดีทุกคน ทุกระดับดีหมด แต่ตอนนี้เมื่อมีปัญหากันอยู่ ก็ยังไม่พูดคุยกัน แต่ ในระดับล่างให้คุยกัน ส่วนในระดับบน ขอให้รัฐบาลเป็นคนพูดดีกว่า ซึ่งคิดว่าระดับบนควรหยุดพูดได้แล้ว เพราะเราทำตามกติกาทุกอย่าง วันนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ที่จะดำเนินการ ส่วนฝ่ายความมั่นคง กระทรวงกลาโหม กองทัพไทยกองทัพบก ผบ.เหล่าทัพทุกคน พูดกันว่าให้กลไกเดินไป ทหารเราทำหน้าที่ดีที่สุด คือ ดูแลชายแดนให้ประชาชนปลอดภัย ขณะนี้เราช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้าน ซ่อมบ้าน ดูแลหลุมหลบภัย ขอร้องให้ทุกคนใจเย็นๆ และช่วยสวดมนต์ อวยพรให้ประชาชนทั้งประเทศปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ภาคใต้ ให้หมดทุกข์หมดโศกโรคภัย ในปีมหามงคล

เมื่อถามถึงกรณีที่กองทัพภาคที่ 2 สามารถจับกุมสายลับกัมพูชาที่เข้ามาหาข่าวในพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่เมื่อมีผู้ต้องสงสัย ก็จะต้องดูกันไป ใครมาเดินเกะกะ ก็จะต้องตรวจสอบ

**คุยหลักฐานแน่นพร้อมแจงUNSC

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า ขณะนี้มีความมั่นใจในหลักฐานที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมไปชี้แจงว่าจะทำให้UNSC เข้า ใจถึงจุดยืนของไทย ที่ต้องการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ตามกลไกทวิภาคี โดยเรื่องที่เตรียมไปชี้แจงคือ ยืนยันว่าไทยปฎิบัติต่อกัมพูชาตามพันธกรณีในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีมาตลอด รวมทั้งหลักฐาน คำสัมภาษณ์ของทหารกัมพูชา ที่ยอมรับว่ายิงใส่ฝ่ายไทยก่อน หลักฐานการที่ฝ่ายกัมพูชาโจมตีเข้ามายังที่อยู่ของพลเรือน ซึ่งถือว่าขัดหลักการสากล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะระมัดระวังในช่วงนี้เป็นพิเศษ ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เกรงว่าจะกระทบต่อการพิจารณาของ UNSC และกองทัพได้เตรียมหลักฐานให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปชี้แจงแล้วว่าทางกัมพูชายั่วยุให้เกิดความรุนแรงมาตลอดในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา

" ฝ่ายไทยยืนยันว่าต้องการแก้ปัญหาในระดับทวิภาคี ซึ่งตรงกับจุดยืนของ UNSC เมื่อ UNSC ได้พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าจะมีถ้อยแถลงของประธาน UNSC ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ และกระตุ้นให้สองประเทศหาทางสร้างความร่วมมือกันในระดับทวิภาคี" โฆษกรัฐบาลกล่าว

ส่วน การเข้าชี้แจงของนายกษิต จะเกิดขึ้นเวลา 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และจะแถลงผลการประชุมด้วยการโฟนอินในวันนี้เวลา 06.00 ทาง ททบ.5 และเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 จากนั้น ในเวลา 10.00 น. จะมีการโฟนอินมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรายงานความคืบหน้าอีกครั้ง

นายปณิธานกล่าวว่าส่วนความต้องการของกัมพูชา ที่ต้องการให้ยูเอ็น ส่งกองกำลังสันติภาพ เข้ามาใน พื้นที่ 4.6 ตร.กม. นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพียงการปะทะกันในจุดเล็กๆ ถ้าเปรียบกับเหตุการณ์ใหญ่กว่านี้ยูเอ็น ยังพยายามให้ 2 ประเทศไกล่เกลี่ยกันเอง และกรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เหมือนในกัมพูชาที่ต้องให้ยู เอ็นเข้าไปตัดสิน

** ส.ว.จี้ "กษิต-รัฐบาล" ลาออก

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (14 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมการ เพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา โดยมีนายจิติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว. ศรีสะเกษ เป็นประธาน มีการหารือถึงสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เป็นห่วงท่าทีการทูตไทย โดยที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้กล่าวพาดพิงประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การที่กัมพูชาเปิดการปะทะไม่เป็นผลดีต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ต้องการยกระดับความขัดแย้งสู่พหุภาคี และมองว่านายกษิต ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการแสดงออกในที่สาธารณะได้ สอดคล้องกับความเห็นของ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมการฯ เสนอให้รัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกด้วย เพื่อแสดงความรับผิดชอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองปธ.คณะกรรมการฯ แสดงความเห็นว่า เป็นกังวลกับการให้สัมภาษณ์ของคนในรัฐบาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งต่างจากในอดีต ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้ชี้แจง เพราะได้รับข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติโดยตรง

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการมรดกโลก เตรียมเดินทางลงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เพื่อรับทราบข้อมูลนั้น พล.อ.เอกชัย ระบุว่า ต้องได้รับมติเอกฉันท์จากสหประชาชาติก่อน ตามมาตรา 8 ของสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียน ต้องยินยอมให้ใช้วิธีการดังกล่าวด้วย

** เตือนเลิกคิดสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมหารือถึงความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยที่ประชุมส่วนใหญ่ เชื่อว่าการสู้รบเป็นเรื่องทางการเมืองระหว่างคนในประเทศ และระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดน และส่งผลเสียต่อศักยภาพของอาเซียนโดยรวม ดังนั้นทุกคนจึงสนับสนุนแนวทางการเจรจาทวิภาคี และร่างหนังสือถึงรัฐบาล ให้ควบคุมการแสดงท่าทีของฝ่ายต่างๆ ในประเด็นความขัดแย้ง และเรียกร้องอย่าใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาต่อต้านแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล

**ส.ว.เตรียมลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันทุจริต และตรวจสอบภาครัฐ ของวุฒิสภา ที่ได้พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับหลักเขตที่ 46-47 ในประเด็นสระน้ำ องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น อยู่ในเขตแดนไทยหรือไม่ และประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดตั้งค่ายผู้อพยพบ้านหนองจาน โดยเชิญนายมงคล อินทรสุวรรณ รองอธิบดีกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหาร รวมทั้งแนวร่วมกลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ อาทิ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ เข้าชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการฯ

โดยนายโชคพิสิษฐ์ วรพัฒน์ธนาชัย ตัวแทนกลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ที่เคยถูกทหารกัมพูชาจับกุม ชี้แจงว่าได้เดินล้ำเข้าไปในแนวรั้วลวดหนาม 100 เมตร ยังไม่ถึงเส้นปฏิบัติการ ที่นายกรัฐมนตรีระบุ ก็ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัว

ส่วน 7 คนไทย แม้อยู่ในแนวเส้นปฏิบัติการ แต่ก็ยังไม่ล้ำหลักเขตที่ 46-47 เพราะยังเข้าไปไม่ถึงสระน้ำของสหประชาชาติ ในศูนย์ผู้อพยพหนองจาน ซึ่งเป็นดินแดนไทย โดยอ้างหลักฐานการครอบครองพื้นที่ของนายหมา อันสมศรี เป็น ส.ค.1 เลขที่ 83 ในที่ดินดังกล่าว

ด้านพ.อ.ไชย์ฐ์ไชย์ วงษ์ระนอง และพ.อ.สาคาร บุญภักดิ์ ตัวแทนจากกรมแผนที่ทหาร ชี้แจงว่า สระน้ำยูเอ็น แม้จะเป็นสระที่ขุดขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าขุดขึ้นมาเมื่อไร ส่วนหลักเขตแดนที่มีการเคลื่อนย้าย เพราะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ได้เปรียบการทหารของทั้ง 2 ฝ่าย

ด้านมงคล กล่าวยืนยันว่าได้ยึดแผนที่ มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่น ของไทย อย่างที่ดินของ นายเบ พูนสุข ที่มีเอกสาร นส.3 ครอบครองนั้น คือ แผ่นดินไทย เพราะแม้จะมีการเคลื่อนย้ายหลักเขต หลังการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศ ในหลักเขตที่ 47 เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ก็จะรังวัดที่ดินโดยชิดแนวกับประเทศกัมพูชาเข้ามาในดินแดนไทย เช่นเดียวกับกรณีที่ดินของ นายบุญจันทร์ เกษธาตุ ที่มีเอกสาร สค.1 เลขที่ 103 ครอบครองที่ดิน 24 ไร่ พร้อมชี้แจงว่า เอกสาร นส.3 เป็นการประมาณการเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ครอบครองที่ดินจำนวนกี่ไร่ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปรังวัดในพื้นที่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย แต่สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า เป็นแผ่นดินไทย ทั้งนี้ เห็นว่า หากอนุกรรมาธิการต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยต้องแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพภาคที่ 1 และผู้ว่าฯสระแก้ว จึงจะเข้ารังวัดในพื้นที่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

ด้านนายไพบูลย์ ยอมรับว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบในเขตปฏิบัติการ ทำได้ยาก แต่เบื้องต้นจะขอความร่วมมือจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลเพื่อให้สามารถประเมินการรังวัดไม่คลาดเคลื่อนมากนัก และทางอนุกรรมาธิการฯ จะเสนอไปยังคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวุฒิสภา เพื่อขอเป็นมติให้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่นี้
การเมือง/ทำเนียบ/14 ก.พ.54

***“มาร์ค”พร้อมดีเบตชนพธม.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาคมนักข่าวและวิทยุโทรทัศน์เสนอเป็นคนกลางในการจัดเวทีการเจรจาระหว่างรัฐบาลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อหาทางออกข้อพิพาทไทย-กัมพูชาว่า ตนเองไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เรายินดีที่จะให้ข้อมูล และได้คุยมาตลอดว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วถ้าทุกฝ่ายต้องการที่จะแก้ปัญหา และมีจุดประสงค์ตรงกันคือ ดูแลไม่ให้ประเทศของเราเสียอธิปไตย เสียดินแดน พร้อมๆ กันไป ตนเชื่อว่า ทุกๆ ฝ่ายต้องการเห็นความสุขที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลไม่ตรงกันก็เอามาแลกเปลี่ยนจะได้ทราบ

“วันนี้ผมเห็นพันธมิตรฯ เรียกร้องว่า ต้องพยายามแก้ปัญหาในกรอบทวิภาคี ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอด และกำลังจะบอกว่าที่ผ่านมา ขณะนี้ที่เรายึดทวิภาคีได้ในเวทีพหุภาคีทั้งหลาย เพราะกัมพูชายอมรับมีเอ็มโอยูอยู่ ผมก็พยายามอธิบายตรงนี้มาโดยตลอด แต่พอไม่ยอมมาพูดพร้อมกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกัน และเกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนไปหยิบปัญหาแต่ละเรื่อง แต่ละมุมมา ก็ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น ฉะนั้นจริงๆ แล้วถ้ามาอธิบายพร้อมๆ กัน มันจะเป็นจุดที่เห็นได้อย่างชัดเจน” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าในส่วนที่ยังเห็นต่างกันจะแสวงหาจุดร่วมให้ตรงกันได้ยังไง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็พยายามอยู่ ความจริงแล้วในการประชุมวุฒิสภา ซึ่งได้มีการประชุมลับก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในบางส่วน และเห็นว่าจริงๆ มันน่าจะพูดคุยกันได้ แต่เวลานี้มีความพยายามที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการชุมนุมไปในลักษณะที่กล่าวหา เช่น บางทีบอกว่า รัฐบาลหรือตนเองไปมีผลประโยชน์เรื่องพื้นที่ทางทะเล ซึ่งมันไม่มีก็เลยไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เพราะเรายืนยันว่า ทั้งหมดในความคิดเป็นเรื่องของความแตกต่างว่า เราควรจะเดินอย่างไรในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ขณะเดียวกันจะสังเกตเห็นว่า เอกสารข้อมูลหลายเรื่องที่พันธมิตรฯหยิบมาเป็นปัญหาที่เคยดำเนินการในอดีต ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้เข้ามาแก้ไขไปแล้ว แต่เอาข้อมูลในอดีตกลับมาทำให้เกิดความสับสนอีกว่า ทิศทางของรัฐบาลในขณะนี้คืออะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะไปร่วมตามคำเชิญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามต่อว่า ต้องการดีเบตผ่านทางทีวีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้ต้องการดีเบต และทางพันธมิตรฯก็ไม่ยอมที่จะให้มีเวทีเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อถามต่อว่า ทางพันธมิตรฯบอกว่าพร้อมแล้วที่จะดีเบต นายกฯ กล่าวว่า เห็นเมื่อวานก็บอกไม่เอา วันก่อนก็ไม่เอา ตนเองไม่ได้มีปัญหา ถ้าพร้อมก็พร้อม เพราะข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนไปไหน เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน

“ผมอยากให้พันธมิตรฯได้ฟัง และเปิดใจกว้าง ลดทิฐิ เพราะการเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องที่ขณะนี้ยิ่งทำยิ่งเป็นปัญหา กับรัฐบาลไทย กับประเทศไทย นึกภาพดูซิถ้าตอนนี้ไปถอนตัวออกจากมรดกโลกเรียบร้อยทางกัมพูชาเลย ลดทิฐิลงหน่อย ผมเข้าใจความห่วงใย ก็มาคุยกัน แล้ววันข้างหน้าสถานการณ์เป็นอย่างไร มันอาจจะต้องมีการปรับกลยุทธอะไรกันแต่ละฝ่าย ก็มาคุยกันได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น