“ลุงจำลอง” แฉ “เทือก” เล่นสกปรกสั่งสลาย พธม. ลั่นไม่กลัว พร้อมไล่ไปขอคืนพื้นที่ที่เขมรดีกว่ามาขอพื้นที่จากประชาชน ด้าน “ปานเทพ” ซัด 4 มาตรการหยุดยิงไทย-กัมพูชา ไม่ช่วยแก้ปัญหา เผยคนร่วมชุมนุมคับคั่งชี้ ประชาชนเข้าใจปัญหามากขึ้น ขณะที่ “ประพันธ์” ขู่เล่นงานรัฐ-สภาฯทำผิดกฎหมายทั้งกระบิ
วันนี้(5 ก.พ.) เมื่อเวลา 17.00 น. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวการชุมนุมประจำวัน
โดย พล.ต.จำลอง เปิดเผยว่า ตนได้ทราบข่าวจากตำรวจไทยหัวใจไทยแจ้งว่า เมื่อเวลา 16.30 น.ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำการสลายการชุมนุมทั้งกลุ่มพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตนขอฝากไปว่านายสุเทพไม่ได้ทำหน้าที่ รองนายกฯฝ่ายน้ำมันปาล์ม แต่เป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ต้องมีหน้าที่ไปขอพื้นที่ดินจากกัมพูชา ไม่ใช่ขอพื้นที่คืนจากประชาชน เพราะถนนราชดำเนินเป็นพื้นที่ของคนไทย เราเป็นคนไทยที่มาตรากตรำเพื่อให้มีการปกป้องแผ่นดืนไทย เหตุใดจึงจะมาสลายการชุมนุม ตามที่ตนได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ตำรวจสามารถที่จะมาสลายการชุมนุมเมื่อไรก็ได้ แต่ไม่มีวันสำเร็จ เพราะเมื่อมาไล่เรา เราก็กลับเข้ามาอีกไม่มีวันเลิกรา จนกว่าจะสามารถปกป้องแผ่นดิน ซึ่งสุดท้ายประชาชนผู้รักบ้านเมืองก็จะเป็นฝ่ายชนะ
“ในฐานะนักชุมนุมอาชีพ ขอยืนยันว่านายสุเทพไม่มีวันชนะเราได้ เรามั่นใจว่าชนะแน่ เพราะทำเพื่อบ้านเมืองไม่ใช่ผลประโยชน์ใดๆ” พล.ต.จำลอง
ด้านนายปานเทพ กล่าวถึงกรณีที่มีเจรจาระหว่างไทบกับกัมพูชาในการหยุดยิงบริเวณชายแดนด้าน จ.ศรีสะเกษ โดยมี 4 มาตรการ คือ 1.หยุดยิง 2.ห้ามเพิ่มกำลังทหาร 3.เฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุ และ 4.ประสานงานด้านข้อมูล ว่า กลุ่มพันธมิตรฯเห็นว่าทั้ง 4 มาตรการ ไม่สามารถตอบโจทย์การรุกล้ำอธิปไตยและการยึดครองดินแดนประเทศไทยที่ฝ่ายกัมพูชาใช้เป็นฐานที่มั่นในการยิงโจมตีทหารไทยและพื้นที่ของราษฎรไทย หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาตรงนี้ต้องให้กัมพูชาถอนออกจากพื้นที่ประเทศไทยที่อยู่เลยแนวสันปันน้ำ โดยไม่มีเงื่อนไข หากไม่ใช่เช่นนี้จะทำให้กัมพูชายึดครองได้โดยไม่มีกำหนดเวลา โดยเฉพาะเงื่อนไขใน MOU 2543 ทั้งการห้ามเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศและห้ามใช้กำลังทหารนั้นไม่สามารถแก้ไขในเรื่องของการรุกล้ำดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวได้เลย
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลา 20.00 น.จะมีการขอฉันทานุมัติจากประชาชน หากดูจากบรรยากาศการชุมนุมตลอด 12 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่าวันนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดอีกครั้งหนี่ง หมายความว่าประชาชนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมการชุมนุมที่ผ่านมาอาจเห็นว่าก่อนหน้านี้ยังไม่ถึงเวลาเข้าร่วม โดยมีการติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้เข้าร่วมคับคั่งตลอดวันแสดงให้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากที่รับรู้เรื่องนี้แล้วไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลที่ปล่อยให้กัมพูชารุกล้ำดินแดนของไทยอยู่
ขณะที่ นายประพันธ์ กล่าวว่า การที่พี่นน้องประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมในวันนี้อย่างมากมาย โดยมีประชาชนผู้ติดตามข่าวสารพร้อมร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนและลงประขามติกับกลุ่มพันธมิตรฯ สะท้อนให้เห็นว่าการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลนั้นมีความถูกต้อง ประชาชนพร้อมที่จะร่วมปกป้องดินแดนและอธิปไตย ดังนั้นนายสุเทพที่พยายามให้มีการสลายการชมุนุมพึงตระหนักว่าการชุมนุมของประชาชนนี้เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องและเพื่อปกป้องดินแดนและอธิปไตย
นายประพันธ์ ยังได้นำบทความของนายยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มาแสดง พร้อมกล่าวว่า นายยินดีเป็นอดีตผู้พิพากษา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ แต่ได้เขียนบทความที่มีความหมายและความสำคัญที่จะเตือนไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณี MOU 2543 โดยมีประเด็นที่สำคัญว่า เมื่อปี 2541 นั้นประเทศได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาประกาศให้พื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ ครอบคลุมบริเวณป่าพระวิหาร และพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบประสาทพระวิหาร เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล้มที่ 115 ตอนที่ 24ก บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2541 ทั้งนี้ยังได้ระบุกำหนดแนวเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฏีกาไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่น กฎหมายฉบับนี้ออกในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการลงนามใน MOU 2543 นั้นไม่ได้มีการยกเลิกพระราชกฤษฎีกานี้ ดังนั้นการไปทำ MOU 2543 จึงเป็นการยกเลิกกฏหมายฉบับนี้และยกเลิกแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่นอีกด้วย เป็นการไปยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนของกัมพูชา ทำให้ไทยเสียประโยชน์ เสียดินแดนและอธิปไตย เท่ากับยกดินแดนให้กัมพูชา ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า MOU 2543 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การไปทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนกับต่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยตามมาตรา 224-225 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้ MOU 2543 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่เกิดจาก MOU 2543 ทั้งข้อตกลงและคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ร่างบันทีกการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาก็ไม่ถูกต้องด้วย รวมไปถึงยังมีคำพิพากษาของศาลปกครองที่กลุ่มพันธมิตรฯเป็นผู้ร้องเมื่อปี 52 ได้ยืนยันว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย ซึ่งคำพิพากษานี้มีผลผูกพันธ์ต่อรัฐที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ดังนั้นจึงขอเตือนผู้ใดที่ทำตาม MOU 2543 จะเข้าข่ายการทำผิดประมวลกฏหมายอาญามาตรา 119-120 และ 157 โดยหากรัฐสภาที่ทราบเรื่องนี้แล้วยังดึงดันนำเข้าสู่การพิจารณานั้นมีความผิดเช่นกัน
“ต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าที่พันธมิตรเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 2543 เป็นเรื่องที่มีเหตุผลในแง่กฏหมาย รัฐบาลไม่สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงที่เป็นที่ประจักษ์นี้ได้” นายประพันธ์ กล่าว
โฆษกการชุมนุมฯ กล่าวด้วยว่า มาตรการ 4 ข้อที่ทหารไปตกลงกับกัมพูชานั้นไม่มีข้อใดที่บอกให้ทหารและคนกัมพูชาที่อยู่ในไทยออกไปจากดินแดนไทย การไปเจรจาในลักษณะหยุดยิง ไม่เพิ่มกำลังทหาร เป็นการปล่อยให้มีการยึดครองพื้นที่ต่อไป หากทหารและรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ แล้วไปเจรจาทำให้ไทยเสียประโยชน์ เสียดินแดน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย จึงขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องของเราทั้ง 3 ข้อถูกต้อง และเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องดินแดน