ยังไม่สามารถคาดเดาได้สำหรับชะตากรรมของ วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ 2 คนไทยที่เพิ่งถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก 8 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ ส่งผลให้ ราตรี ซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้สิ้นอิสรภาพทันที
ขั้นตอนการช่วยเหลือบุคคลทั้งสองต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องเอาใจช่วย โดยสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นผลโดยเร็วคือ ยื่นประกันตัวเพื่อให้ทั้งคู่ได้ออกมาสู้คดีนอกคุกให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจะยื่นอุทธรณ์หรือจะยุติเพื่อให้คดีถึงที่สุดแล้วขออภัยโทษ เป็นเรื่องที่ต้องให้สิทธิทั้งวีระ สมความคิดและ ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ได้ตัดสินใจเพื่อเลือกทางเดินให้กับชีวิตของตัวเอง
สำหรับ ราตรี ต้องนับว่าเป็นหญิงใจเด็ดไม่น้อย เพราะในวันที่เธอมีทางเลือกที่จะเซ็นยินยอมให้ศาลกัมพูชาตัดสินคดีของเธอพร้อมกับอีก 5 คนไทย ซึ่งอาจทำให้เธอได้กลับแผ่นดินเกิดพร้อมกับอีก 5 คนไทยที่ได้คืนสู่อ้อมอกของครอบครัวไปก่อนหน้านี้
แต่เธอก็เลือกที่จะยืนหยัดเคียงข้าง วีระ เพราะความผูกพันในฐานะคนทำงานร่วมกัน
ไม่มีใครมีสิทธิไปตัดสินว่า เธอทำถูกหรือผิด เพราะในฐานะกัลยาณมิตรของ วีระ เธอพร้อมที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อสู้ตามความเชื่อของ วีระ และคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ
เป็นเรื่องที่ต้องนับถือหัวจิตหัวใจของทั้งราตรี และ วีระ เพราะการเดินหน้าสู้เรื่องนี้ไม่มีแสตนอิน เล่นจริง ติดคุกจริง
คำถามที่ตามมาคือ การตัดสินคดีของศาลกัมพูชาจะส่งผลต่อเขตแดนตามความเชื่อของ วีระ จริงหรือ เพราะหากเราคิดว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้อำนาจฝ่ายตุลาการเข้าไปตัดสินคดีที่ผูกโยงกับอาณาเขตดินแดน เท่ากับมีผลต่ออธิปไตยข้ามประเทศได้ ก็ต้องลองคิดดูอีกมุมหนึ่งว่า แล้วการใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่ประเทศไทยเคยมีการจับกุมและส่งตัวชาวกัมพูชาจำนวนมาก ทั้งนอกพื้นที่และในพื้นที่ที่มีปัญหากลับกัมพูชาไปล่ะ จะถือว่าไทยได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารเหนืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาหรือไม่
เพราะด้วยตรรกกะเดียวกัน ถ้าเราเชื่อว่าอำนาจศาลกัมพูชาจะส่งผลกระทบต่อดินแดนไทย การใช้อำนาจฝ่ายบริหารนับครั้งไม่ถ้วนผ่านกลไกรัฐด้วยการส่งชาวกัมพูชากลับประเทศ ก็เท่ากับว่ารัฐไทยได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารเหนืออธิปไตยกัมพูชาในพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์ด้วยหรือไม่
เหล่านี้ จะถือว่ากัมพูชาเสียสิทธิ์และอธิปไตยบนพื้นที่เหล่านั้นด้วยหรือเปล่า
ถ้าไม่ใช่ด้วยหลักคิดเดียวกันการใช้อำนาจตุลาการของกัมพูชาในการตัดสินคดี วีระ - ราตรี ย่อมไม่ส่งผลทำให้ไทยต้องเสียสิทธิ์หรืออธิปไตยบนพื้นที่ที่ 7 คนไทยถูกจับด้วยเช่นเดียวกัน
มุมมองในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติน่าจะได้ขบคิดดูบ้าง แทนที่จะเดินหน้าท้าชนเพียงอย่างเดียว เพราะแค่มีการนำเอาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกูเกิ้ลไปอ้างอิงก็ถูกศาลกัมพูชาตอกกลับมาแล้วว่า แผนที่ดังกล่าวมีประเทศไหนรับรองบ้าง
เช่นเดียวกับการต่อสู้ข้อกล่าวหาจารกรรมก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงก่อนว่า พยานหลักฐานที่อัยการกัมพูชาใช้กล่าวหา วีระ และ ราตรีนั้น ไม่ใช่มีแค่กล้องวีดีโอที่ใช้ถ่ายทำกันตามปกติซึ่งเห็นในคลิปความยาวกว่า 20 นาที แต่ทหารกัมพูชาเขาค้นตัว ราตรี และพบกล้องขนาดเล็กที่มีการถ่ายทำค่ายทหารของกัมพูชาในขณะที่คนไทยทั้ง 7 อยู่ในระหว่างถูกควบคุมตัว
แน่นอนว่า บุคคลทั้งคู่ย่อมไม่มีเจตนาจารกรรมข้อมูลทางการทหารของกัมพูชา ดังนั้นการต่อสู้ถ้าอยู่บนพื้นฐานต้องการให้ทั้งวีระ และ ราตรี ได้กลับประเทศโดยเร็วจริง ต้องวางความเชื่อลงและยืนอยู่บนข้อเท็จจริง จึงจะประเมินสถานการณ์ได้ถูก ว่าควรจะทำอย่างไรในขณะที่คนไทยทั้งคู่อยู่ในมือของกัมพูชา และอะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อวีระ และ ราตรี อย่างแท้จริง
ในขณะที่รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนทั้งคู่ได้รับการประกันตัวโดยเร็วที่สุด เหมือนที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น โดยช่องทางการบีบเรื่องบ่อนการพนันที่เคยเจรจาผ่าน “เสี่ยพัด”มือขวาของ ฮุน เซน แล้วได้ผล ทำให้ศาลกัมพูชากลับลำแยกตัดสินคดี 5 คนไทยเร็วกว่าที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนทั้งหมดได้รับอิสรภาพ
รัฐบาลต้องกดดันกัมพูชาให้หนักขึ้นในทางลับ ควบคู่กับการเจรจาทางการทูตในที่แจ้งเพื่อให้เกิดผลที่เป็นบวกกับชะตากรรมของวีระและราตรี
อีกช่องทางหนึ่งที่น่าจะเสริมกันได้เพื่อให้เกิดผลมากขึ้น คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งในคอลัมน์นี้เคยเรียกร้องไปแล้วครั้งหนึ่งให้เข้าไปดูแลสิทธิของคนไทยที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกกัมพูชา และเป็นที่น่ายินดีว่ากรรมการสิทธิฯก็เริ่มขยับส่งตัวแทนเข้าไปสนใจฟังการไต่สวนคดีนี้ แต่ทำเท่านี้ยังไม่พอ ต้องรวบรวมข้อมูลร้องไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ หรือแม้แต่คณะมนตรีสิทธิมนุษยนชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้เห็นว่าคนไทยถูกรัฐบาลกัมพูชาและศาลของกัมพูชากระทำโดยขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนด้วยโมหะจริตของฮุนเซนที่มีความเกลียดชังเป็นการส่วนตัวกับ วีระ สมความคิด โดยเฉพาะการยัดเยียดข้อหาจารกรรม
หรือแม้แต่ความพยายามล่าสุดของ ณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ที่เตรียมจะร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย เพราะการสร้างแรงกดดันจากนานาชาติไปยังกัมพูชา น่าจะส่งผลต่อชาติที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงชาติอื่นอย่างกัมพูชาไม่มากก็น้อย
เพราะแม้แต่การดำรงความเป็นชาติของกัมพูชาในทุกวันนี้ ก็ได้มาจากการหยิบยื่นให้โดยชนชาติอื่นมิใช่หรือ ?