xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ สภา ชี้แม้มาตรา 64 กม.ป.ป.ช.ขัด รธน.ไม่ทำให้ตกทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิทูร พุ่มหิรัญ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สภายันไม่มีปัญหาแม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 64 ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญ แค่ประธานสภานำแจ้งต่อที่ประชุมสภา แล้วเสนอให้ตัดมาตราดังกล่าวออก ก็สามารถนำทั้งฉบับมาใช้ได้ ด้านที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อเลือก ส.ว.สรรหาชุดใหม่

นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2553 (ป.ป.ช.) ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีปัญหา เพราะตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงมาตรา 64 เท่านั้น ส่วนมาตราอื่นๆ ไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ประธานสภาก็จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแจ้งต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเห็นอย่างไร อาจจะมีการอภิปรายบ้าง กระบวนการมีเท่านั้น หากที่ประชุมเห็นตามนั้นก็ส่งทูลเกล้าฯต่อไป

“จะเสนอต่อทั้ง 2 สภา ทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้แยกเสนอ และแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เมื่อกฎหมาย ป.ป.ช.เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วบอกว่าบทบัญญัติในมาตรา 64 อาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็เสนอให้ตัดออก ถ้าที่ประชุมไม่เห็นเป็นอย่างอื่นก็ตัดมาตรา 64 ออก แต่ไม่ตัดออกไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว แต่ไม่มีผลอะไร เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ข้าราชการก็ยังรับเงินเดือนได้ตามปกติ ส่วนมาตราอื่นไม่มีปัญหา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าเป็นการเสียหน้าขององค์กรนิติบัญญัติหรือไม่ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า ไม่เสีย แต่มุมมองไม่เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นสาระสำคัญอาจตกทั้งฉบับ แต่ฉบับดังกล่าวไม่ใช่อย่างนั้น ตัดออกเฉพาะบางมาตราได้

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือถึง นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวยังไม่ตกไปในเรื่องการให้อำนาจ ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่สารสำคัญที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรรมาธิการมีความเห็นว่าต้องนำร่างดังกล่าวกลับไปให้แต่ละสภายืนยันด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งโดยตัดเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญออกไป แต่ในส่วนของสภาไม่ทราบจะมีมติออกมาเช่นไร ในส่วนของวุฒิสภามีความเห็นว่าจะผ่านแน่นอน เพราะเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการทุจริต

“สาเหตุที่วุฒิสภาแก้กฎหมายเพื่อให้อำนาจ ป.ป.ช.เพราะต้องการให้ ป.ป.ช.ทำงานอิสระในการปราบปรามทุจริตโดยไม่ให้ฝ่ายไหนเข้ามาครอบงำ และที่ผ่านมายังไม่มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติ จึงทำให้ ส.ว.ไม่ทราบว่าการเสนอกฎหมายลักษณะนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยมาแล้ว ต่อไปการพิจารณากฎหมายก็จะไม่มีการเสนอเนื้อหาดังกล่าวอีกต่อไปโดยเฉพาะในองค์กรอิสระอื่น และที่แก้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่เกี่ยวกับส.ว.สรรหาหลายคนมีความใกล้ชิดกับคนใน ป.ป.ช.และเกี่ยวกับการสรรหา ส.ว.ใหม่ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ด้วย” นายไพบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น