xs
xsm
sm
md
lg

คชอ.ปัดตั้งงบกลางฟื้นฟูภัยพิบัติ เดินหน้าจัดทำฐานข้อมูลรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
ปธ.คชอ.เผยตั้งอนุกรรมการตรวจสอบการของบฟื้นฟูภัยพิบัติเกินเป้า พร้อมชงเข้าครม.อีก 2 สัปดาห์ เดินหน้าจัดทำฐานข้อมูลรับมือ ยันไม่ต้องใช้ “งบกลาง” ช่วย ปัดดูแลเข้มงวด ไม่ใช่เพราะฝ่ายค้านกำลังเก็บข้อมูลซักฟอก แต่ได้รับมีการรายงานข้อมูลมาว่าตัวเลขอาจจะดูผิดปกติอยู่มาก

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) แถลงภายหลังการประชุมว่า เรื่องแรกสำคัญในการประชุมวันนี้ คือ เรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นครัวเรือนละ 5,000 บาท มีรายงานยอดล่าสุดว่า ขณะนี้มีการอนุมัติเงินให้จ่ายผ่านธนาคารออมสินทั้งหมด 710,000 ครัวเรือน ซึ่งธนาคารออมสินได้จ่ายไปแล้ว 640,000 ครัวเรือน คิดเป็นยอดเห็น 3,900 ล้านบาทโดยประมาณ และยังมีที่ค้างอยู่ต้องจ่ายเพิ่ม 3.5 หมื่นครัวเรือน โดยธนาคารออมสินได้เร่งจ่ายประมาณวันละ 10,000 รายเศษ ภายในวันพรุ่งนี้น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด ส่วนที่มีการร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับเงินนั้น ในส่วนนี้ได้มีการดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ 1.รายชื่อที่ส่งเข้ามาในศูนย์ป้องกันภัยและต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากมีชื่อและนามสกุลเหมือนกันแต่เลขประจำตัวนั้นต่างกัน สำหรับส่วนที่เป็นยอดใหญ่และยังไม่มีการอนุมัติจ่ายเป็นส่วนที่มีการขอเพิ่มเติมมาจากกรอบเดิมที่มีการอนุมัติไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ เช่น จ.นครศรีธรรมราช จ่ายไปครบแล้วและขอเพิ่มมากว่า 70,000 ครัวเรือน จ.พัทลุง ขอเพิ่มมา 36,000 กว่าครัวเรือน

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า ตัวเลขเหล่านี้ทาง คชอ.มีความกังวลเพราะตัวเลขที่ขอมานั้นสูงมาก จึงมอบคณะอนุกรรมการให้วางหลักเกณฑ์และไปตรวจสอบพื้นที่จริงในสัปดาห์หน้า โดยการตรวจสอบนั้นจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่มีความผิดปกติ เป็นส่วนที่น้ำท่วมจริงแต่ไม่มีปัญหาเรื่องประชากรผิดปกติ ส่วนที่ 2 รายชื่อของครัวเรือนที่ส่งเข้ามาในรอบแรกแล้วส่งเข้ามาอีก แต่จำนวนครัวเรือนมากกว่าฐานข้อมูลตามรายชื่อประชากร ซึ่งเป็นความผิดปกติทางคณะกรรมการจะลงไปตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความสุจริต ขณะนี้เราใช้จ่ายเงินไปทั่วประเทศ 3,000 กว่าล้านบาท ส่วนที่เหลือตกค้างจะเร่งจ่ายในรายที่ขาดตกครบถ้วนโดยเร็วที่สุด และน่าจะดำเนินการในผู้ที่มีสิทธิถูกต้องในเดือนมกราคมนี้

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่สองเรื่องของงบประมาณฟื้นฟู ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกรอบวงเงินในส่วนกันเหลื่อมปีไว้เกือบ 10,000 ล้านบาท และให้แต่ละกระทรวงทบวงกรมเสนอของบประมาณมา โดยให้ คชอ.ดูแล ขณะนี้ทางศูนย์ราชการได้ขอวงเงินมา 23,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินหนึ่งเท่าตัว ทางคณะกรรมการ คชอ.จึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อพิจารณางบประมาณที่เสนอมาว่าถูกต้องตรงกันกับสถานที่ที่เกิดอุทกภัยหรือไม่ และเมื่อตรวจสอบแล้วจะเสนอเป็นแผนงานจัดลำดับให้ คชอ.อนุมัติก่อนเสนอเข้า ครม. ซึ่งจะเสนอต่อจากนี้ไปอีกสองสัปดาห์ โดยตนจะเป็นประธานในชุดนี้ และมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมประชุมในวันที่ 20 มกราคมนี้

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการติดตามเงินช่วยเหลือการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัด ซึ่งมีการจ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคมจนบัดนี้และได้มีการโอนเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 12,000 ล้านบาท และจะนำเข้า ครม.ในส่วนเพิ่มเติม 3,000 กว่าล้านบาทในสัปดาห์หน้า โดยการจ่ายเงินถือว่าเร็วกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และจะเร่งรัดจ่ายให้ครบถ้วนในเดือนมากราคมนี้ ส่วนสองเรื่องที่ คชอ.จะดำเนินการต่อ คือ เรื่องฐานข้อมูล เช่น เรื่องการจัดเก็บระดับน้ำที่ท่วม วัสดุอุปกรณ์ยังชีพ ฐานข้อมูลทางเดินของน้ำ และฐานข้อมูลของประชานที่ได้รับผลกระทบและได้รับการช่วยเหลือจาก คชอ.โดยภาคเอกชนได้เสนอโปรแกรมเข้ามาในการจัดเก็บ และจะมอบให้อนุกรรมการซึ่งมีท่านปรึกษานายกฯ เป็นประธาน เพื่อประโยชน์ในการเกิดภัยพิบัติครั้งต่อไปจะได้นำมาใช้ และในวันนี้ตนได้ให้การบ้านทุกหน่วยงานไปทำแผนรับมือและป้องกันในครั้งต่อไป และทางสำนักนายกรัฐมนตรีจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ในการรับมือภัยพิบัติในครั้งต่อไป โดยตนจะเชิญนักวิชาที่ศึกษาเรื่องนี้มาหารือก่อนการจัดสัมมนาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายโดยรวมของเหตุการณ์ว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีอาจจะต้องงบกลางขึ้นมาฟื้นฟูปัญหาอุทกภัย ทาง คชอ.ได้เสนอไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ นายสาทิตย์กล่าวว่า ประมาณการความเสียหายเดิมที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ เดิมตัวเลขถึงปลายปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนกรณีของงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูขณะนี้ยังไม่ได้พูดถึงการตั้งงบกลางขึ้นมาเป็นการเฉพาะยังคงใช้วงเงินที่ปรับมาจากเงินเหลื่อมปี 2552 และ 2553 ร่วมกับเงินที่เหลือจากงบไทยเข้มแข็งและส่วนราชการไปปรับตามปกติ ประธาน คชอ.กล่าวว่า ดังนั้นยังไม่มีการเสนอฟื้นฟูที่ใช้งบกลาง เนื่องจากงบกลางนั้นต้องใช้เยอะ คือ 1.งบกลางที่ไปช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งใช้ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท 2.เงินเยียวยาเบื้องต้น 5,000 บาท ซึ่งใช้ไปแล้วเกือบ 4,000 ล้านบาท รวม 2 ยอดนี้อยู่ที่ 2 หมื่นกว่าล้านแล้ว แล้วงบกลางของประเทศที่ตั้งเอาไว้ประมาณ 4.7 หมื่นกว่าล้าน ถ้าใช้ 2 ยอดนี้ก็จะเหลือเพียง 2 หมื่นล้าน ซึ่งยังต้องใช้อีก 9 เดือน ดังนั้นจะพยายามปรับให้อยู่ในงบกันเหลื่อมปี กับงบปรับแผนปกติ และงบไทยเข้มแข็งก่อน ตรงนี้จะมีวงเงินอยู่ประมาณหมื่นล้านบาท

นายสาทิตย์กล่าวว่า เรายังคิดว่าการฟื้นฟูต่างๆ เงินหมื่นล้านนี้ก็จะร่วมกับเงินอีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นเงินบริจาค ซึ่งขณะนี้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีก็จะมีเงินในกองทุนผู้ประสบภัยอยู่ประมาณ 80 กว่าล้านบาท แต่ทางกระทรวงการคลังได้รับบริจาคเพิ่มมาอีกประมาณ 30 กว่าล้านบาท ส่วนนี้จะนำไปช่วยเหลือประชานที่บ้านพัง ซึ่งยังมีอีกหลายที่ที่จะต้องทำและได้ให้สำรวจห้องสมุดกับศูนย์เด็กเล็กที่ได้รับความเสียหาย เราก็จะลงไปช่วยกันอีกแรงหนึ่ง แต่ในส่วนนี้ก็จะเชิญภาคเอกชนที่เคยช่วยเหลือประชาชนไปแล้วมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าไปช่วยเหลือที่ไหนบ้างและยังขาดที่ไหนบ้างจะได้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ราชการเสนอขอ 2.3 หมื่นล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีให้ 1 หมื่นล้าน ซึ่งยังขาดอีก 1.3 หมื่นล้าน ถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้จริงๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะต้องของบกลาง ประธาน คชอ.กล่าวว่า คงต้องดูก่อนว่า 1.2 หมื่นล้านบาทนั้นจะมีส่วนที่มีความจำเป็นจะต้องฟื้นฟู ซึ่งเข้าใจว่าบางท่านเสนอในเรื่องป้องกันครั้งหน้าด้วย ซึ่งเราถือว่าไม่ใช่การฟื่นฟูบูรณะ ส่วนนี้จึงมีจำนวนหนึ่งที่ต้องตัดไป ดังนั้น เวลานี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบกลางส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดปัญหาอุทกภัยซ้ำซากนั้น นายสาทิตย์กล่าวว่า ได้ตรวจสอบและสอบถามเบื้องต้นจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่าพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่เดิมหรือไม่ เข้าใจว่าเป็นพื้นที่เดิมเกือบหมด ดังนั้นพื้นที่เดิมก็ได้รับเงิน 5, 000 บาทไปแล้วบางส่วน แต่เรื่องการยังชีพนั้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องลงไปช่วยกัน แต่ถ้าบ้านพังเสียหายก็ยินดีที่จะใช้เงินบริจาคไปช่วยเพิ่มเติมซึ่งขณะนี้มีเพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ต้องลงไปเข้มงวดเป็นพิเศษเพราะขณะนี้ฝ่ายค้านกำลังเก็บข้อมูลเพื่อนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ประธาน คชอ.กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะมีการรายงานข้อมูลมาว่าตัวเลขอาจจะดูผิดปกติอยู่มาก รวมถึงจำนวนตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่จ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมไม่มีการรายงานมาก่อนหน้านี้บางจังหวัดก็ตอบกลับมาว่าสาเหตุที่รานงานมาน้อย เพราะไม่คิดว่าจะจ่ายจริง ตนก็คิดว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผลอีกอย่างหนึ่งเพราะเป็นการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชน ก็เลยต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยทาง ปภ.มีหนังสือสั่งการไปหลายรอบ และ ป.ป.ท.ก็สุ่มตรวจอยู่ หากพบการทุจริตก็ดำเนินคดีอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น