ผอ.ศชอ.แฉ ชาวเชียรใหญ่ นครฯ บางหมู่บ้านกดดันผู้ใหญ่บ้าน จ่ายเยียวยาปี 53 ทั้งที่น้ำไม่ท่วม เผย ถ่ายภาพทางอากาศ พบเดือดร้อน 6.6 หมื่น ไม่ใช่ 1 แสน ตามที่ขอ ปูดภาคกลาง ขรก.โกงเสนอชื่อบ้านไม่ท่วม แถมหักหัวคิว ชง ป.ป.ช.ฟันแล้ว ส่ง ป.ป.ท.สอบทุกจุดกันพวกมั่วนิ่ม ยันตัดยอดบางจังหวัดช่วยพื้นที่อื่นทำถูก พร้อมจ่ายตำบลแรก 18 เม.ย.รองอธิบดี ปภ.แฉ ปี 53 มี 4 จว.ร้องเกินจริง
วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) แถลงถึงปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมปี 2553 ที่พบ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ทำเรื่องขอเงินทั้งที่น้ำไม่ท่วม ว่า บางหมู่บ้าน ใน อ.เชียรใหญ่ มีประชาชนกดดันให้ผู้ใหญ่บ้าน ลงนามเสนอ ศชอ.ให้จ่ายค่าเยียวยา 5 พันบาท จำนวน 4 พันครัวเรือน แต่ผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวไม่ยอมลงนาม สุดท้ายก็ต้องลาออกไป ถือว่าน่าเห็นใจ โดย ศชอ.ได้ตัดรายชื่อทั้ง 4 พันออกไปแล้ว เบื้องต้นไม่อยากให้มองว่าประชาชนทุจริต แต่อาจจะเป็นเพราะเห็นเพื่อนบ้านได้เงินก็อยากได้บ้าง หากในหมู่บ้านนี้ต้องการจะเสนอชื่อขอรับความช่วยเหลือมาอีกรอบ ก็จะให้คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด สำหรับจ.นครศรีฯ นั้นมีการเสนอมา 3 รอบประมาณ 1 แสนครัวเรือน แต่เมื่อใช้ภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบกลับไปแล้ว พบว่าครัวเรือนที่ได้รับความเดือนร้อนมี 66,223 ครัวเรือน
“จากการตรวจสอบพบว่าบางจังหวัดในภาคกลาง มีเจ้าหน้าที่ทุจริตด้วยการเสนอชื่อครัวเรือนที่น้ำไม่ท่วม โดยหักหัวคิวประชาชน หลังจากได้รับเงิน 5 พันบาท ขณะนี้ ป.ป.ท.ได้ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.เอาผิดตามกฎหมายแล้ว ยืนยันว่า เป็นหมู่บ้านเดียว ไม่กี่ครัวเรือน ถือว่าเป็นส่วนน้อยของทั้งหมด และหลังจากนี้พื้นที่ที่ยังสงสัยว่าจะของบมาเกินความเป็นจริงจะให้ป.ป.ท.ลง ไปตรวจทุกจุด สำหรับการป้องกันการทุจริตในการเยียวยาน้ำท่วมรอบนี้ ศชอ.ได้ตรวจสอบพื้นที่ที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายทางอากาศไว้ก่อนไม่รอการเสนอจาก พื้นที่เหมือนครั้งที่ผ่านมา” นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ ชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหามีการโยกงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วมจากจังหวัดอื่นเข้าไปยัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ของตัวเอง ว่า รัฐบาลได้กำหนดกรอบการจ่ายเงินไว้ประมาณ 1 ล้าน ครัวเรือน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบบางพื้นที่เสนอมา แต่ไม่ถูกน้ำท่วม ดังนั้น จึงตัดยอดของพื้นที่นั้นมาจ่ายให้กับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นการคำนวณแบบถัวไม่ใช่โยกจากจังหวัดหนึ่งไปจังหวัดหนึ่งตามที่มีการกล่าวหา ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลจะรีบจ่ายตำบลแรกให้ได้ภายใน 18 เม.ย.2554
ขณะที่ นายธีรภัทร สันติเมทนีดล ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย แถลงภายหลังผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในปี 54 จะในรูปแบบใด ซึ่งตัวเลขของผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา ยังไม่นิ่ง โดยมีการดำเนินการและตรวจสอบอยู่ ส่วนเรื่องที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ ที่มีการโยกงบประมาณของจังหวัดนครศรีธรรมราชไปให้ที่จังหวัดตรังนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะตัวเลขเลยตามกรอบที่จังหวัดขอมาในเบื้องต้น ซึ่งเราได้มีการตรวจสอบว่า ข้อมูลไหนไม่สมบูรณ์ ขาดคนรับรองก็จะถูกตัดออกไป ฉะนั้น เรื่องการโยกเงินจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ด้าน นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวละ 5 พันบาท ในปี 53 ที่ยังเกิดความล่าช้าอยู่ ว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการ ที่ใช้ภาพถ่ายอากาศจิสด้าร่วมด้วยนั้น พบว่า มี 4 จังหวัด ที่ขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม ที่มากเกินความจริง และไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ จึงมีการตัดบางส่วนออกไป คือ จ.นครศรีธรรมราช ที่ขอเข้ามาเพิ่ม กว่า 7 หมื่นราย ถูกตัดออก เหลือเพียงกว่า 4 หมื่นราย จ.พัทลุงขอเพิ่มมา 3 หมื่นราย ตัดออกเหลือ 1.5 หมื่นราย จ.ปัตตานี ขอเพิ่มมา 2 หมื่นราย ตัดออกทั้งหมด เนื่องจากว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นายฉัตรป้อง เผยอีกว่า ในส่วนของ อ.เชียรใหญ่ มีหมู่บ้านหนึ่ง มีผู้ประสบภัยมาขอความช่วยเหลือรอบที่ 2 จำนวน 4 พันราย แต่กำนันไม่ได้เซ็นรับรอง เพราะพื้นที่นั้นที่น้ำไม่ได้ท่วมจริง ทางกำนันจึงเซ็นรับรองไม่ได้ และได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับรองใหม่ที่เป็นคนที่มีอำนาจในองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นเซ็นแทน จากนั้นจึงส่งเรื่องดังกล่าวมาที่ ปภ.ซึ่งทางเราได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่าเกินความเป็นจริงมาก จึงมีความเป็นที่จะต้องตัดออกไป ทั้งนี้ส่งเรื่องให้ทาง ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบในทางลับว่าเกิดจากสาเหตุใด และหาผู้กระทำความผิด และหากพบผู้กระทำความผิดจะดำเนินการลงโทษตามกฎเกณฑ์ โดยการจ่ายเงินเยียวยาครั้งใหม่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้เซ็นเท่านั้น