“สาทิตย์” ยันรัฐจ่ายเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยทั่วถึง แฉพื้นที่นายกสมาคมกำนันฯ ที่ขู่ก่อม็อบ พบน้ำท่วมแค่ไม่มากแต่ลงชื่อขอเงินเกือบทั้งตำบล เตือนหากแจ้งเท็จถูกดำเนินคดี
วันนี้ (11 เม.ย.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายยงยศ แก้วเขียว กำนันตำบลเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท ที่บางจังหวัดถูกตัดทอนไปว่า เรื่องเงิน 5,000 บาทของปี 2553 ที่เดิมไม่เคยมีเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินมาก่อน แต่รัฐบาลนี้เพิ่งมาทำ และครั้งที่แล้วเรามีการจ่ายไปทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เจอปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมในพื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสานบางจังหวัด กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกน้ำท่วมเมื่อวันที่ 1พ.ย.ปี 2553 และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ขอมาว่า ก่อน 10 ตุลาคมมีบางจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมก็ขอให้จัดให้ด้วย รวมแล้วในกรอบมีประมาณ 1 ล้านครัวเรือน
นายสาทิตย์กล่าวว่า ในเรื่องการขอนั้น ให้แต่ละจังหวัดประเมินมาว่าแต่ละจังหวัดมีน้ำท่วมเท่าไร และเมื่อประเมินแล้ว มีการจ่ายไป นครศรีธรรมราช ขอมารอบแรกประมาณ 4.9 หมื่นราย จ่ายครบ 100% จังหวัดพัทลุงขอมาครั้งแรกประมาณ 3 หมื่นราย และจ่ายครบ 100% จังหวัดอื่นก็คล้ายๆ กัน แต่มีบางจังหวัดที่ขอมาแต่จ่ายให้ไม่เต็มกรอบ เพราะเมื่อไปตรวจสอบจริงพบว่าไม่ตรงกับยอดประมาณการ อย่างเช่นที่ จ.นนทบุรี ประมาณการว่าน่าจะท่วมประมาณ 6 หมื่นครัวเรือน แต่ปรากฏว่าท่วมจริง 2 หมื่นครัวเรือน กรอบที่วางไว้จึงเหลือ 4 หมื่นครัวเรือน และเมื่อจ่ายในรอบแรกครบแล้วในช่วงปลายเดือน พ.ย.ต่อต้นเดือน ธ.ค. และต่อมาปลายเดือน ธ.ค. มีการส่งยอดมาเพิ่ม
“นครศรีธรรมราชจากเดิมครั้งแรกที่ได้ไปประมาณ 2.9 หมื่นรายนั้น ส่งยอดมาเพิ่มอีก 7 หมื่นกว่า พัทลุงได้ไป 3 หมื่นส่งยอดมาอีก 4 หมื่นกว่า สงขลาได้ไปอีกประมาณเกือบ 2 แสนราย เพิ่มมาอีก 1.7 แสนราย ตรงนี้ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพราะเห็นว่ายอดที่โผล่มาอีกมาก โดยอนุกรรมการประกอบด้วยกรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน, ป.ป.ท. สตง.และกรมบัญชีกลาง ไปกางภาพถ่ายดาวเทียมดู เมื่อดูแล้วกรรมการก็มีการปรับลดยอดลง นครศรีธรรมราชปรับลดจาก 7 หมื่นราย เหลือประมาณ 4 หมื่นราย พัทลุง, ตรัง ถูกปรับลดหมด และเมื่อลดแล้วเงินไม่สามารถจ่ายได้ อย่างนครศรีธรรมราชขอเงินมาเกินกรอบที่ขอมาตั้งแต่ต้นเลยขอ ครม.ถัวเฉลี่ย เอาจากจังหวัดที่จ่ายไม่เต็มมาจ่ายให้จังหวัดอื่นเลยประเมินจ่ายให้สงขลาไป ประมาณ 1.7 แสนราย นครศรีธรรมราชจ่ายประมาณ 4 หมื่น จังหวัดอื่นก็เหมือนกัน ขณะนี้ ครบประมาณล้านครัวเรือนเศษๆฉะนั้นไม่มีที่บอกว่าไปจ่ายให้จังหวัดตรัง มันทำไม่ได้” นายสาทิตย์กล่าว
นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีบางจังหวัดที่พบแล้ว อย่างกรณีของนายยงยศ ที่ อ.เชียรใหญ่นั้น ให้ทางกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปตรวจสอบพบว่า นายยงยศเซ็นรับรองมาเกือบทั้งตำบล แต่ทาง ปภ.ไปตรวจสอบพบว่าภาพถ่ายดาวเทียมมีน้ำท่วมบางส่วนเท่านั้น จึงได้ทำการปรับลดยอดลง แต่ก็ยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ถ้าคิดว่าท่านทำถูกต้อง แต่ถ้าพบว่ามีการเซ็นรับรองบ้านที่น้ำไม่ท่วม ท่านจะต้องรับผิดทางกฎหมายเพราะถือเป็นการแจ้งความเท็จ ขณะนี้มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปแล้วในบางจังหวัดภาคกลาง ตนชี้แจงในสภาฯชัดเจน และที่ อ.เชียรใหญ่นั้น ที่จ่ายไปแล้วนั้นยืนยันได้ว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นที่เพิ่มมาและต้องการจะให้จ่ายเพิ่มนั้นก็ต้องตรวจสอบ การจ่ายเงินชดเชยของปี 2553 จ่ายครบ เกือบ 100% แล้ว จะมีที่ตกค้าง มีชื่อแล้วยังไม่มารับก็จะเก็บเงินไว้ประมาณ 1 ปีรอให้มารับ
นายสาทิตย์กล่าวว่า การทุจริตหรือกรณีรายชื่อตกหล่น ตนไม่คิดว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เองที่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าในพื้นที่บางคนได้รับการช่วยเหลือน้ำท่วมไปแล้ว อีกบางส่วนไม่ได้ก็ไม่สบายใจ เลยไปคุยกับผู้นำท้องถิ่นให้รับรองไปด้วย
“เงินภาษีชาวบ้าน เก็บภาษีคนมาทั้งประเทศ มาจ่าย 5,000 ไม่ใช่เงินส่วนตัวที่ไหน ก็ต้องตรวจสอบ สตง.ก็ต้องตรวจสอบซ้ำอีกครั้งมันต้องจ่ายให้ครบ ทางรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกรองให้ถูกต้อง” นายสาทิตย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนที่สนิทกับผู้มีอำนาจในการอนุมัติมักจะได้รับการช่วยเหลือก่อน ส่วนคนที่เดือดร้อนจริงกับไม่ได้รับการช่วยเหลือ นายสาทิตย์กล่าวว่า คงไม่มีถึงขนาดนี้ เพราะการตรวจสอบจะต้องตรวจสอบตามข้อเท็จจริง เรื่องน้ำว่าท่วมหรือไม่ ถ้าท่วมจริงก็ต้องได้รับ ส่วนการประสบเหตุรอบใหม่คาดว่าหลังสงกรานต์จะได้รับเงินช่วยเหลือ และทาง คชอ.เองก็ได้ส่งอนุกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วด้วย