xs
xsm
sm
md
lg

คนเมืองคอนฮือประท้วง เงิน5พันรอบแรกไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - พระองค์ภาฯเสด็จเยี่ยมชาวบ้านกาญจนดิษฐ์ ประทานเงิน-ถุงยังชีพ เมืองคอนวุ่นชาว"พระพรหม-หัวไทร"กว่า 1,000 คนฮือประท้วงทวงเงินน้ำท่วมรอบแรกยังไม่ได้เหมือนกับที่วิเชียรใหญ่ "สาทิตย์" แฉกลับ"กำนันยงยศ"เซ็นต์รับรองมาทั้งตำบล ทั้งที่น้ำไม่ท่วม “สุเทพ” จนปัญหาวิงวอนเอกชนบริจาควัสดุก่อสร้างสร้างบ้านน้ำท่วมใต้

วานนี้ (11 เม.ย.) พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ณ โรงเรียนบ้านม่วงลีบ และหมู่บ้าน บ้านปากฮาย ต.คลองสระ อ.กาษจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดย นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ สมาชิกเหล่ากาชาด และพ่อค้าประชาชนทุกภาคส่วน เฝ้ารับเสด็จฯ

โอกาสนี้ ได้ประทานเงินช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมจำนวน 11 รายและประทานถุงยังชีพพระราชทานรวม 700 ชุด พร้อมกันนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรที่ประสบภัย และทอดพระเนตรความเสียหายของพื้นที่ประสบอุทกภัย ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับวังสุโขทัย กรุงเทพมหานคร ในวันเดียวกัน ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนิน ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ครั้งนี้ สร้างความปราบปลื้มปิติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรผู้ประสบภัยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-11 เม.ย.54 ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19 อำเภอ 128 ตำบล 1,067 หมู่บ้าน ราษฎร 140,116 ครัวเรือน 510,068 คน เสียชีวิต 12 ราย บ้านพังเสียหายทั้งหลัง 139 หลัง เสียหายบางส่วน 740 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายประมาณ 384,397 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 4,180 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์ล่าสุด ระดับน้ำเริ่มลดลงแต่ยังมีท่วมขังในพื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำตาปี บริเวณอำเภอบ้านนาเดิม อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

**ภัยพิบัตินครศรีฯเสียหายกว่า3พันล้าน

ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช วานนี้ (11 เม.ย.) นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชด้วยว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้วในหลายพื้นที่ มีเพียงเฉพาะ 3 อำเภอ คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ ปากพนัง และเชียรใหญ่ ที่ยังมีระดับน้ำคงตัวและลดลง สำหรับอำเภอที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ อ.นบพิตำ และ อ.สิชล โดย อ.นบพิตำ มีความเสียหายในพื้นที่ 4 ตำบล 38 หมู่บ้าน 4,700 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 24,500 คน เสียชีวิต 2 คน บ้านพังทั้งหลัง 32 หลัง เสียหายบางส่วน 130 หลัง ถนนเสียหาย 256 สายมูลค่าความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท

ในส่วนของ อ.สิชล ได้รับความเสียหาย 9 ตำบล 110 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2 หมื่นครอบครัว 6 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิต 5 คน บ้านพังทั้งหลัง 120 หลัง เสียหายบางส่วนอีกจำนวนหนึ่ง ถนนเสียหาย 440 สาย พื้นที่เกษตรกว่า 1.7แสนไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 320 ล้านบาท

สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น หน่วยกำลังต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ได้ร่วมกันเร่งดำเนินการบูรณะซ่อมแซม ถนน สะพานต่างๆ ให้สามารถเชื่องโยงเส้นทางการสัญจรได้เกือบครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว ตลอดถึงการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ในส่วนการมอบเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ได้ดำเนินการจ่ายไปแล้วส่วนหนึ่ง และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เร่งรัดจ่ายเงินให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 26 ราย โดยเร็วต่อไป ในส่วนการมอบสิ่งของช่วยเหลือนั้น หน่วยงานราชการ มูลนิธิ และผู้เกี่ยวข้อง ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภค เข้าช่วยเหลือแล้วประมาณ 5.9 แสนชุด

**เตรียม ฮ.สำรวจรอยแยกสิชล-นบพิตำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการพบรอยแยกของพื้นดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.นบพิตำ และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติดินถล่มอย่างรุนแรง โดยในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีการเตือนจาก พล.ต.ดร.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงจากการอุ้มน้ำเต็มที่อยู่แล้วและมีโอกาสสร้างความเสียหายเพิ่มได้สูงมาก ขณะเดียวกันนายเดชา กังสะนันท์ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการให้กันพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอันตรายและแจ้งเตือนชาวบ้านที่อพยพกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้วเพิ่มความระมัดระวัง

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ มีรายงานว่าในวันที่ 12 เม.ย.นี้ กก.ตชด.42 ได้เตรียมที่จะสำรวจรอยแยกอย่างละเอียดโดยการสำรวจพื้นที่ทางอากาศเพื่อเตรียมแผนรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยจะนำชาวบ้านที่มีความชำนาญในพื้นที่บินขึ้นไปชี้เป้า โดยจะมีการกำหนดพิกัดในการเฝ้าระวังเป็นเขตสีแดงมีความเสี่ยงอย่างสูงในการเกิดดินถล่ม เพื่อเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในการติดตามสถานการณ์และกรณีเข้าทำการกู้ภัยหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

**ชาวนครประท้วงเงิน5พันรอบแรก

เช้าวันเดียวกันที่หน้าศาลากลางนครศรีธรรมราช ได้มีชาวตำบลปากนคร ต.ท่าซัก อ.เมือง และ ต.นาสาร อ.พระพรหม นำโดยนายชัยธวัช เกื้อกูล กำนันตำบลปากนคร นายนรินทร์ ยุทธชัยนายก อบต.ท่าไร่ และ ส.ต.ท.พงศ์พรรณ เหมทานนท์ ผู้นำชุมชนปากนคร โดยมีประชาชนประมาณ 500 คนเข้าร่วมเพื่อยื่นข้อเรียกร้องในการติดตามสิทธิที่ถูกตัดหายไปในเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 โดยภาพรวมนั้นระบุว่า ชาว ต.ปากนคร ท่าไร่ ท่าเรือ ปากพูน โพธิ์เสด็จ และเมืองนครศรีฯถูกตัดสิทธิ์หายไปเป็นจำนวนมากการช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

หลังจากนั้นแกนนำได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 4 ข้อโดยมีสาระสำคัญคือ 1.ขอให้มีการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนตามสิทธิที่ตกหล่นซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจและมีรายชื่ออยู่แล้ว และไม่ได้รับการช่วยเหลือมาก่อน 2.ขอให้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ในการสำรวจผู้ได้รับภัยพิบัติให้ชัดเจนในคราวต่อไป 3.ให้จังหวัดประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และ 4.ตามข้อเรียกร้องขอทราบผลอย่างเป็นทางการว่าจะได้รับอย่างไรหรือไม่

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช จะรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของประชาชนที่มาติดตามทวงสิทธิ หลังจากนั้นจะรวบรวมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความพอใจและสลายตัวไปในที่สุด

ต่อมาเวลา 12.00 น.ที่หน้าที่ว่าการอำเภอหัวไทร ได้มีประชาชนที่ถูกตัดสิทธิ์เงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 กว่า 400 คนจาก ม.4 ต.แหลม และ ม.4 ต.ท่าซอม นำโดยผู้ปกครองท้องที่ได้รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยที่ถูกตัดสิทธิ์หายไปเช่นเดียวกัน โดยมีนายทินกร มุกสิกวัฒน์ นายอำเภอหัวไทร เข้ารับข้อเรียกร้องและเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อชี้แจงและหาทางในการประสานงานเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

**"สาทิตย์"โต้กำนันยงยศปัญหาเงิน5พัน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.)กล่าวถึงกรณีนายยงยศ แก้วเขียว กำนันตำบลเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท ที่บางจังหวัดถูกตัดทอนไปว่า เรื่องเงิน 5,000 บาทของปี 53 ที่เดิมไม่เคยมีเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินมาก่อน แต่รัฐบาลนี้เพิ่งมาทำและครั้งที่แล้วเรามีการจ่ายไปทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.กลุ่มที่เจอปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.ในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานบางจังหวัด กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ถูกน้ำท่วมเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ปี 53 และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ขอมาว่า ก่อน 10 ต.ค.มีบางจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ก็ขอให้จัดให้ด้วย รวมแล้วในกรอบมีประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในเรื่องการขอนั้นให้แต่ละจังหวัดประเมินมาว่าแต่ละจังหวัดมีน้ำท่วมเท่าไรและเมื่อประเมินแล้ว มีการจ่ายไป จ.นครศรีธรรมราช ขอมารอบแรก ประมาณ 4.9 หมื่นราย จ่ายครบ 100% พัทลุง ขอมาครั้งแรกประมาณ 3 หมื่นราย และจ่ายครบ 100% จังหวัดอื่นก็คล้ายๆ กัน แต่มีบางจังหวัดที่ขอมา แต่จ่ายให้ไม่เต็มกรอบ เพราะเมื่อไปตรวจสอบจริงพบว่าไม่ตรงกับยอดประมาณการ อย่างเช่นที่ จ.นนทบุรี ประมาณการว่าน่าจะท่วมประมาณ 6 หมื่นครัวเรือน แต่ปรากฏว่าท่วมจริง 2 หมื่นครัวเรือน กรอบที่วางไว้จึงเหลือ 4 หมื่นครัวเรือน และเมื่อจ่ายในรอบแรกครบแล้ว ในช่วงปลายเดือนพ.ย.ต่อต้นเดือน ธ.ค.และต่อมาปลายเดือน ธ.ค.จึงมีการส่งยอดมาเพิ่ม

"นครศรีธรรมราชจากเดิมครั้งแรกที่ได้ไป ประมาณ 2.9 หมื่นรายนั้น ส่งยอดมาเพิ่มอีก 7 หมื่นกว่า พัทลุงได้ไป 3 หมื่น ส่งยอดมาอีก 4 หมื่นกว่า สงขลาได้ไปอีกประมาณเกือบ 2 แสนราย เพิ่มมาอีก 1.7 แสนราย ตรงนี้ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพราะเห็นว่ายอดที่โผล่มาอีกมาก โดยอนุกรรมการประกอบด้วย กรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ,ปปท.,สตง.และกรมบัญชีกลาง ไปกางภาพถ่ายดาวเทียมดู เมื่อดูแล้วกรรมการ ก็มีการปรับลดยอดลง จ.นครศรีธรรมราช ปรับลดจาก 7 หมื่นราย เหลือประมาณ 4 หมื่นราย พัทลุง, ตรัง ถูกปรับลดหมด และเมื่อลดแล้วเงินไม่สามารถจ่ายได้ อย่างจ.นครศรีธรรมราช ขอเงินมาเกินกรอบที่ขอมาตั้งแต่ต้น เลยขอครม.ถัวเฉลี่ย เอาจากจังหวัดที่จ่ายไม่เต็มมาจ่ายให้จังหวัดอื่น เลยประเมินจ่ายให้ จ.สงขลาไปประมาณ 1.7 แสนราย นครศรีธรรมราช จ่ายประมาณ 4 หมื่น จังหวัดอื่นก็เหมือนกัน ขณะนี้ ครบประมาณล้านครัวเรือนเศษๆ ฉะนั้นไม่มี ที่บอกว่าไปจ่ายให้จ.ตรัง มันทำไม่ได้" นายสาทิตย์ กล่าว

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีบางจังหวัดที่พบแล้ว อย่างกรณีของนายยงยศ ที่ อ.เชียรใหญ่นั้น ให้ทางกรมป้องกันภัย (ปภ.)ไปตรวจสอบพบว่า นายยงยศ เซ็นรับรองมาเกือบทั้งตำบล แต่ทาง ปภ.ไปตรวจสอบพบว่า ภาพถ่ายดาวเทียมมีน้ำท่วมบางส่วนเท่านั้น จึงได้ทำการปรับลดยอดลง แต่ก็ยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ถ้าคิดว่าท่านทำถูกต้อง แต่ถ้าพบว่ามีการเซ็นรับรองบ้านที่น้ำไม่ท่วม ท่านจะต้องรับผิดทางกฎหมาย เพราะถือเป็นการแจ้งความเท็จ ขณะนี้มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปแล้วในบางจังหวัดภาคกลาง ตนชี้แจงในสภาฯ ชัดเจน และที่ อ.เชียรใหญ่ นั้น ที่จ่ายไปแล้วนั้นยืนยันได้ว่าถูกต้อง เพราะฉะนั้นที่เพิ่มมา และต้องการจะให้จ่ายเพิ่มนั้น ก็ต้องตรวจสอบ การจ่ายเงินชดเชยของปี 53 จ่ายครบ เกือบ 100 % แล้ว จะมีที่ตกค้าง มีชื่อแล้วยังไม่มารับ ก็จะเก็บเงินไว้ประมาณ 1 ปี รอให้มารับ

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า การทุจริตหรือกรณีรายชื่อตกหล่น ตนไม่คิดว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เองที่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าในพื้นที่บางคนได้รับการช่วยเหลือน้ำท่วมไปแล้ว อีกบางส่วนไม่ได้ ก็ไม่สบายใจ เลยไปคุยกับผู้นำท้องถิ่นให้รับรองไปด้วย

"เงินภาษีชาวบ้าน เก็บภาษีคนมาทั้งประเทศ มาจ่าย 5,000 บาทไม่ใช่เงินส่วนตัวที่ไหน ก็ต้องตรวจสอบ สตง.ก็ต้องตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง มันต้องจ่ายให้ครบ ทางรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกรองให้ถูกต้อง"

เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคนที่สนิทกับผู้มีอำนาจในการอนุมัติ มักจะได้รับ การช่วยเหลือก่อน ส่วนคนที่เดือดร้อนจริงกับไม่ได้รับการช่วยเหลือ นายสาทิตย์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะการตรวจสอบจะต้องตรวจสอบตามข้อเท็จจริง ว่าท่วมหรือไม่ ถ้าท่วมจริง ก็ต้องได้รับ ส่วนการประสบเหตุรอบใหม่ คาดว่าหลังสงกรานต์จะได้รับเงินช่วยเหลือ และทาง คชอ.เองก็ได้ส่งอนุกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วด้วย

**"เทือก"เชิญชวนบริจาควัสดุสร้างบ้าน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ว่า อยากขอเชิญชวนผู้ที่มีใจกุศล อยากช่วยเหลือคนไทยด้วยกันที่กำลังประสบความเดือดร้อนในภาคใต้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีบ้านเรือนพังทั้งหลัง อยากให้ช่วยกันร่วมเป็นเจ้าภาพช่วยซื้อวัสดุก่อสร้าง เพื่อมอบให้ทางทหารช่างหรือทางจังหวัดจัดสร้างบ้านให้กับประชาชนเหล่านั้น ซึ่งเท่าที่ประเมินตัวเลขบ้านเรือนที่จะต้องสร้างใหม่ อย่างที่นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 หลัง กระบี่ ประมาณ 145 หลัง และที่สุราษฎร์ธานี ประมาณ 100 หลัง ซึ่งค่าวัสดุก่อสร้างจะสร้างตามแบบบ้านที่บริษัทปูนซีเมนท์ไทย ได้ออกแบบไว้ จะมีราคาประมาณหลังละ 2.4 แสนบาท

"หากใครมีใจกุศลขอให้ติดต่อได้ที่กองทัพบก หรือติดต่อมาที่ผม หรือ รมต.สาทิตย์ ก็ได้จะได้ประสานงานในการรับเงินบริจาคนี้ และดำเนินการให้คณะกรรมการในระดับจังหวัดได้จัดซื้อวัสดุก่อสร้างและมอบหมายให้ทางทหารช่างรับผิดชอบในการก่อสร้าง ผมตั้งใจว่าจะพยายามสร้างให้เร็วที่สุดให้เสร็จภายใน 3 เดือน สำหรับจำนวนบ้านทั้งหมด ซึ่งราคาบ้านที่ระบุไว้ 2.4 แสนบาท ถือว่าราคาสูงสุดแล้ว เพราะราคาที่ถูกสุดเพียง 1.2 แสนเท่านั้น" รองนายกฯกล่าว

ทั้งนี้ วัสดุที่ต้องการ เช่น กระเบืองลอนคู่ พื้นซีเมนท์ หรืออาจจะเป็นไม้ก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคนติดต่อขอบริจาคบานประตูมาแล้ว ตนก็รับไว้และจะส่งไปภาคใต้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น