นครศรีธรรมราช - ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เผย สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อีก 3 อำเภอระดับน้ำคงที่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 8 หมื่นคน เสียชีวิต 26 คน มูลค่าความเสียหายร่วม 3 พันล้าน ขณะที่ชาว อ.พระพรหม และ อ.หัวไทร กว่า 1,000 คน ประท้วงทวงเงินน้ำท่วมรอบแรก พรุ่งนี้ (12 เม.ย.) กองกำกับการ ตชด.42 เตรียมเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจรอยแยกพื้นที่ สิชล-นบพิตำ 11 จุด
วันนี้ (11 เม.ย.) นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้วในหลายพื้นที่ มีเพียงเฉพาะ 3 อำเภอ คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปากพนัง และ เชียรใหญ่ ที่ยังมีระดับน้ำคงตัวและลดลง สำหรับอำเภอที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล โดยอำเภอนบพิตำ มีความเสียหายในพื้นที่ 4 ตำบล 38 หมู่บ้าน 4,700 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 24,500 คน เสียชีวิต 2 คน บ้านพังทั้งหลัง 32 หลัง เสียหายบางส่วน 130 หลัง ถนนเสียหาย 256 สาย มูลค่าความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท
ในส่วนของอำเภอสิชล ได้รับความเสียหาย 9 ตำบล 110 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2 หมื่นครอบครัว จำนวน 6 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิต 5 คน บ้านพังทั้งหลัง 120 หลัง เสียหายบางส่วนอีกจำนวนหนึ่ง ถนนเสียหาย 440 สาย พื้นที่เกษตรกว่า 1.7แสนไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 320 ล้านบาท
สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น หน่วยกำลังต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ได้ร่วมกันเร่งดำเนินการบูรณะซ่อมแซม ถนน สะพานต่างๆ ให้สามารถเชื่องโยงเส้นทางการสัญจรได้เกือบครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว ตลอดถึงการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ในส่วนการมอบเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ได้ดำเนินการจ่ายไปแล้วส่วนหนึ่ง และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เร่งรัดจ่ายเงินให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 26 ราย โดยเร็วต่อไป ในส่วนการมอบสิ่งของช่วยเหลือนั้น หน่วยงานราชการ มูลนิธิ และผู้เกี่ยวข้อง ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภค เข้าช่วยเหลือแล้วประมาณ 5.9 แสนชุด
ชาว อ.พระพรหม และ อ.หัวไทรกว่า 1,000 คน
ประท้วงทวงเงินน้ำท่วมรอบแรก
ขณะที่เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (11 เม.ย.) ที่หน้าศาลากลางนครศรีธรรมราช ได้มีชาวตำบลปากนคร ต.ท่าซัก อ.เมือง และ ต.นาสาร อ.พระพรหม นำโดย นายชัยธวัช เกื้อกูล กำนันตำบลปากนคร นายนรินทร์ ยุทธชัยนายก อบต.ท่าไร่ และ ส.ต.ท.พงศ์พรรณ เหมทานนท์ ผู้นำชุมชนปากนคร โดยมีประชาชนประมาณ 500 คน เข้าร่วมเพื่อยื่นข้อเรียกร้องในการติดตามสิทธิที่ถูกตัดหายไปในเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 โดยภาพรวมนั้นระบุว่า ชาวตำบลปากนคร ท่าไร่ ท่าเรือ ปากพูน โพธิ์เสด็จ และเมืองนครศรี ถูกตัดสิทธิ์หายไปเป็นจำนวนมากการช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
หลังจากนั้น แกนนำได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 4 ข้อ โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ขอให้มีการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนตามสิทธิที่ตกหล่นซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจและมีรายชื่ออยู่แล้ว และไม่ได้รับการช่วยเหลือมาก่อน 2.ขอให้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์ในการสำรวจผู้ได้รับภัยพิบัติให้ชัดเจนในคราวต่อไป
3.ให้จังหวัดประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่รัฐบาลกำหนด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และ 4.ตามข้อเรียกร้องขอทราบผลอย่างเป็นทางการว่าจะได้รับอย่างไรหรือไม่
ด้าน นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของประชาชนที่มาติดตามทวงสิทธิ หลังจากนั้นจะรวบรวมเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความพอใจและสลายตัวไปในที่สุด
ต่อมาในเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน ที่หน้าที่ว่าการอำเภอหัวไทร ได้มีประชาชนที่ถูกตัดสิทธิ์เงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553 จำนวนกว่า 400 คน จาก ม.4 ต.แหลม และ ม.4 ต.ท่าซอม นำโดยผู้ปกครองท้องที่ ได้รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยที่ถูกตัดสิทธิ์หายไปเช่นเดียวกัน โดยมี นายทินกร มุกสิกวัฒน์ นายอำเภอหัวไทร เข้ารับข้อเรียกร้องและเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อชี้แจงและหาทางในการประสานงานเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด
กองกำกับการ ตชด.42 เตรียมเฮลิคอปเตอร์
บินสำรวจรอยแยกพื้นที่ สิชล-นบพิตำ 11 จุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการพบรอยแยกของพื้นดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.นบพิตำ และ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติดินถล่มอย่างรุนแรง โดยในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีการเตือนจาก พล.ต.ดร.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงจากการอุ้มน้ำเต็มที่อยู่แล้ว และมีโอกาสสร้างความเสียหายเพิ่มได้สูงมาก ขณะเดียวกันนายเดชา กังสะนันท์ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการให้กันพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอันตรายและแจ้งเตือนชาวบ้านที่อพยพกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้วเพิ่มความระมัดระวัง
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ มีรายงานว่า ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ กก.ตชด.42 ได้เตรียมที่จะสำรวจรอยแยกอย่างละเอียดโดยการสำรวจพื้นที่ทางอากาศเพื่อเตรียมแผนรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นโดยจะนำชาวบ้านที่มีความชำนาญในพื้นที่บินขึ้นไปชี้เป้า โดยจะมีการกำหนดพิกัดในการเฝ้าระวังเป็นเขตสีแดงมีความเสี่ยงอย่างสูงในการเกิดดินถล่ม เพื่อเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในการติดตามสถานการณ์และกรณีเข้าทำการกู้ภัยหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น