รัฐบาล-ไพร่แดง เจรจาเหลว! “มาร์ค” ยืนกรานแก้กติกาก่อนยุบสภา ย้ำรัฐบาลไม่สามารถพาประเทศชาติไปตายดาบหน้าได้ ต้องจริงใจ ไม่แก้ รธน.นิรโทษกรรมให้ตัวเอง ไม่สนใจเลือกตั้งมาแล้วจะแพ้หรือชนะ หากยุบสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งร้าวลึกได้ ด้าน “วีระ” ตั้งเงื่อนไขยุบสภาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมรับประกันถ้าแพ้เสื้อแดงจบ ขณะที่ไพร่ตุ๊ดตู่! ตะแบงรัฐไม่ยุบสภา เสื้อแดงเดินหน้าต่อ ขอตายดาบหน้า ชี้ ยุบสภาแฟร์สุดแล้ว เชื่อรัฐสภาชุดนี้แก้ รธน.ไม่ได้ บอกไปกลางทางก็ถูกทิ้งอยู่ดี แกนนำยังยืนเงื่อนไขต้องยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ เจรจาหนังยาวต่ออีกวันจันทร์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเริ่มขึ้นในเวลา 16.25 น.ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ยกมือไหว้และจับมือ นายวีระ มุสิกพงศ์ ขณะที่ นายจตุพร ยกมือไหว้ และจับมือ นายกอร์ปศักดิ์ นพ.เหวง ยกมือไหว้และจับมือ นายชำนิ โดยทั้งสองฝ่ายได้ทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ก่อนจะเริ่มต้นการเจรจาในเวลา 16.30 น.
ทั้งนี้ นายวีระ กล่าวก่อนว่า คนเสื้อแดงได้มาชุมนุมหลายวันแล้ว ที่ถนนราชดำเนิน และวันนี้ทราบข่าวว่าจะมีการหารือกัน ทุกคนยินดีและมีความสุข คนที่ไม่ใช่เสื้อแดง เสื้อเขียว เสื้อเหลือง และเป็นคนธรรมดาได้แสดงความยินดี เรื่องนี้แปลก เพราะเราพวกเดียวกัน แต่ไม่พูดกันโดยตรง เพราะพูดผ่านสื่อมานาน เนื่องจากต่างคนต่างมีสถานะกีดกั้น นายกฯให้โอกาสมาในวันนี้ก็ขอบคุณ และเชื่อว่า สิ่งที่จะคุยกันเป็นทางออกที่ดี นปช.มีแถลงการณ์ง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือ ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง และไม่มีอคติอะไร เราไม่มีจิตใจที่ต้องการทำลายใคร แต่เห็นว่า มันแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เช่น 1.ข้อขัดข้องระหว่างพวกตนอยู่ที่รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาหลักและไม่สบายใจตลอดมา และไม่จบเสียที เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะประชามติกันดี 2.ส่วนการทำงานของรัฐบาลนั้น รัฐบาลนี้มาในภาวะที่ประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลเหน็ดเหนื่อย แต่ไม่อาจฝ่าขวากหนามทั้งในและนอกประเทศไปได้ ฉะนั้น การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดี เพื่อไปถามประชาชนโดยการเลือกตั้ง และขอฟังความเห็นของนายกฯที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติสุข นายกฯพูดคำหนึ่งที่ตนเห็นตรงกันว่า อยากให้ประเทศชนะ พวกตนชนะก็ไม่มีประโยชน์ นายกฯชนะก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเเบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันแบบนี้ หากมาร่วมกันประเทศจะชนะ ฉะนั้น หนทางใดที่จะร่วมกันได้ ก็ร่วมกันเพื่อทำให้ประเทศ มันสุดยอด
จากนั้น นายกฯ กล่าวว่า ขอบคุณและขอยืนยันเสียตั้งแต่ต้น ว่า เราอยากให้ประเทศไทยชนะ ไม่ใช่เป็นชัยชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเห็นว่า ตลอดเวลาที่มีการชุมนุม ตนจะยืนยันตลอดว่าเราไม่ควรจะมาเป็นศัตรูกัน เราไม่ใช่ศัตรูกัน แต่ว่าความคิดเห็นทางการเมืองทุกท่านรู้ดี เพราะคลุกคลี ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาตลอดมันก็มีความแตกต่างหลากหลาย เพียงแต่ว่าหลายคนรู้สึกสะท้อนใจเพราะไม่มียุคใดที่ความแตกต่างทางการเมืองมันแสดงออกลักษณะที่รุนแรงๆ มากขึ้นๆ ซึ่ง 13-14 วัน รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางเรื่องการบริหารสถานการณ์ไม่ให้มีเหตุที่ทุกคนต้องเสียใจภายหลัง และวันนี้ต้องขอบคุณที่เรามาอยู่ตรงนี้ แทนที่จะเห็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐยืนเผชิญหน้ากันอยู่บนความเครียดของคนทั้งประเทศ
นายกฯ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอเรื่องของการยุบสภาว่าตามจริง ตนไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ แม้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับ ตนเห็นไม่ตรงกันในหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ตนถือว่า การยุบสภาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่ว่ามันก็มีคำถามเท่านั้นเอง ว่า การยุบสภาเราต้องการที่จะทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ตนคิดว่าวันนิ้สิ่งที่มันแสดงออกมาจากความขัดแย้ง มันนับยากว่ามันจะเริ่มจากตรงไหน ตนไม่ได้คิดว่ามันเริ่มจากที่ตนมาเป็นนายกฯ ไม่ได้คิดว่าเริ่ม เพราะว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร แต่คิดว่าอาจจะมีหลายเรื่องสะสมกันมา มีเรื่องโครงสร้างบ้าง กับบุคคลบ้าง ปัญหาก็ลุกลามมากขึ้น ฉะนั้น ที่ตนพูดมาตลอดเรื่องของการยุบสภา ตนก็เรียนว่า 1.สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด ถ้าทุกคนชนะ ประเทศสงบสุข ตนก็นึกว่าไม่ออกใครจะค้าน แต่คิดว่าถ้าเราเริ่มคุยกันจะเห็นประเด็นต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าตกลงการยุบสภาเป็นคำตอบเหมือนดีดนิ้วแล้วมันจบแล้วชนะจริงหรือไม่ 2.พี่วีระ (นายวีระ มุสิกพงศ์) บอกว่าท่านทั้ง 3 มาในฐานะคนเสื้อแดง ตนไม่ได้มาของฐานะของหัวหน้าพรรคการเมือง แต่ตนมาในฐานะนายกฯ พอมาในฐานะนายกฯ ก็กินความมากกว่าหัวหน้าพรรคค่อนข้างมาก เพราะข้อที่หนึ่งรัฐบาลตนก็เป็นรัฐบาลผสม ที่บังเอิญระบุว่า ให้มาสามคน ตนไม่สามารถเอาทุกพรรคมาอยู่ในสามคนได้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ตนก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ก็เรียนตั้งแต่ต้นว่าตนได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคกับทุกคนที่เราติดต่อได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทุกพรรคสนับสนุนกระบวนการในการที่เราคุยกันท่าน จะได้สบายใจ แต่เราก็ต้องฟังของเขาด้วย เขาก็มีข้อคิดความอ่านว่าการยุบสภาแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
นายกฯ กล่าวอีกว่า สำคัญกว่านั้น ก็คือ คงไม่ใช่แค่พรรคร่วมรัฐบาล แต่ตนเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเป็น ส.ส.ผู้แทนปวงชนชาวไทย ตนมาพูดแทนพรรค ปชป.หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่ได้ ตนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ รวมทั้งคนเสื้อแดงด้วย ซึ่งตนพูดมาเสมอว่าไม่ว่าคนเสื้อแดงจะยอมรับหรือไม่ยอมรับตนก็ต้องทำหน้าที่ให้เขาไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ และก็มีความคิดเห็นหลากหลายซึ่งตนให้ดูเอสเอ็มเอสก็ได้ว่าที่ไม่เห็นด้วยกับท่านเขาคิดยังไงมันก็เยอะ เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าหกคนไม่ผูกขาดว่าอะไรดีที่สุดได้ เราคงเราต้องนึกถึงคนที่เขาไม่นั่งตรงนี้ เพราะเชื่อว่าหลายคนเขาก็บอกว่าเขาไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาล และไม่สนับสนุนคนเสื้อแดง เขาก็มีสิทธิมีเสียงของเขา ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่เยอะที่สุดก็ได้ ตนคิดว่าถ้าดูว่าบนความตั้งใจร่วมกันว่าการยุบสถามันแก้ปัญห่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือถ้ายุบสภาแล้วแก้ได้ มันมีอะไรที่เราต้องตกลงทำความเข้าใจ หรือทำเพื่อให้เดินไปได้ ถ้าคุยกันก่อนกรอบตรงนี้น่าจะตรงประเด็นที่สุด ถ้ามีเรื่องอื่นที่อยากจะหยิบขึ้นมาเกี่ยวกันก็สามารถพูดคุยกันได้
จากนั้น นายวีระ กล่าวว่า คงจะตรงกัน ตนจะชวนคุยกับนายกฯว่า ปัญหาของบ้านเมืองอยากจะเริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 ที่น่าจะตรงกันคือ ตนมีความเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาแบบนี้ทุกยุคทุกสมัยแบบนี้ ถ้ามีปัญหาแล้วแก้ที่บทบัญญัต คือ รัฐธรรมนูญก็จะแก้ปัญหาได้ แต่พอมีการยึดอำนาจก็เป็นการล็อก รธน.เป็นประเพณีนอก รธน.มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ถูกต้อง มีความแตกแยก และคณะผู้ยึดอำนาจก็ได้ทำกฎหมาย รธน.2550 นั่นเป็นตัวอย่าง ที่ใช้ รธน.มาถึงตอนนี้เห็นพิษสงแล้วว่าเป็น รธน.ที่ขัดหลักการและเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินหลายข้อ เป็นปมปัญหาที่ทำให้คนออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองหลายข้อ
ตนไม่แน่ใจวา นายกฯจะยอมรับหรือไม่ว่าพวกเราเป็นเหยื่อของสถานการณ์ด้วยกัน และตนเห็นว่า ของการยึดอำนาจ พวกตนก็เป็นเหยื่อของการยึดอำนาจพวกตนไม่ควรอยู่บนถนนหรอก พวกตนควรจะได้ใช้ระบบรัฐสภาเหมือนประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน แต่พวกตนก็ต้องออกมาต่อสู้บนถนน ท่านนายกฯเองเข้ามาเป็นนายกฯก็ไม่ควรมีใครต่อต้าน เพราะตนควรจะเป็นคนที่สนับสนุนท่านด้วยซ้ำ เพราะท่านอยู่ในสายตาที่อนาคตก็หนีไม่พ้น ท่านต้องรับผิดชอบ แต่พอตกอยู่ในสถานการณ์ยึดอำนาจ สถานการณ์เงื่อนไขของ รธน.ฉบับนี้ และตกอยู่ภายใต้ทายาทรัฐประการ ทุกคนก็กลายเป็นเหยื่อ นี่คือ ปัญหา เพราะฉะนั้นจะกราบเรียนว่าเมื่อมาถึงบัดนี้ หรือก่อนหน้านี้เราก็เรียกร้องว่าให้แก้ รธน.แต่จนบัดนี้ก็แก้ไม่ได้และมีแนวโน้มว่าแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายที่เขาคัดค้านการแก้ไข ที่เป็นกลุ่มข้างนอกที่บอกว่าแตะ รธน.ไม่ได้ ก็ฮึ่มๆ ตลอดดเวลา ที่ทำให้การแก้ไขล่าช้าจนทุกวันนี้
นายวีระ กล่าวอีกว่า ถ้ายังงี้ก็ให้ทำประชามติว่าประชาชนจะแก้หรือไม่แก้ แต่นั่นก็ไม่เดินหน้าเหมือนกัน รวมทั้งวิธีการแก้ไขกลางรัฐสภาก็ไม่เดินหน้า เราก็เลยมีความเห็นว่าการยุบสภาเท่ากับเป็นการขอประชามติ คือ ยุบแล้วไปเลือกตั้ง ก็ต้องเสนอนโยบายบอกกับประชาชนถ้าเลือกพรรคนี้จะแก้ไม่แก้ รธน.ก็ว่ากันไป ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็หลากหลายก็ว่ากันไปว่าจะแก้อย่างไร ดังนั้น คิดว่า มันก็จะทำให้คนไปลงคะแนนเลือกรัฐบาล เลือกสภา และเลือก รธน.ไปในตัว ถ้าใครเสนอว่าจะแก้ไข รธน.ถ้าชนะก็มาแก้ พวกที่บอกว่าไม่แก้ถ้าชนะก็ไม่ต้องแก้ แต่จะมีคำถามว่าถ้าฝ่ายไม่แก้ชนะจะยุติปัญหาได้หรือไม่ ในส่วนนี้กราบเรียนว่าพวกตนสามารถที่จะรับประกันได้ในส่วนของคนเสื้อแดง ถ้าผลออกมาต้องยอมรับแล้วยุติการต่อต้าน ยุติการเคลื่อนไหวที่ทำให้รัฐบาลลำบากใจ ฝ่ายนี้ตนรับประกัน ถ้าท่านเห็นว่าปัญหาของประเทศอยู่กับคนกลุ่มนี้ ก็รับเงื่อนไขนี้แล้วขอให้สบายใจ แต่ถ้าฝ่ายเหลืองจะมีบ้าง ก็คงต้องพูดจากันต่อไป หมายความว่า คนพวกนั้น พวกนั้นแพ้แล้วไม่ยอมรับแพ้ ก็นอกเหนืออำนาจของพวกตน แต่พวกตนรับประกันได้ว่าแพ้หรือชนะก็จบ ถามว่า ทำไมถึงจบก็ที่เราเรียกร้องคือต้องการขอประชามติ เมื่อได้ประชามติอย่างหนึ่งอย่างใด แก้ก็แก้ไม่แก้ก็ไม่แก้ ก็ทนอยู่กันไป เพราะมันตอบโจทย์ที่วาถ้ายุบสภาแล้วบ้านเมืองจะเดินต่อไปได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ทางอื่นตนมองไม่เห็นว่าจะสงบลงอย่างไรถ้าเดินไปแบบนี้ รอยแตกแยกก็จะถ่างออกถ่างออก คนเสื้อแดงยิ่งโตขึ้นๆ มันน่าห่วงใย ก็ลองพิจารณาดูว่าถ้าทางฝ่ายเสื้อแดงรับประกันข้อนี้ว่าแพ้ชนะแล้วก็ยุติกันคือได้ประชามติก็ยุติกัน การเคลื่อนไหวก็ไม่มีเหตุผลแล้ว อันนี้คิดว่าน่าจะทำให้สบายใจได้ รัฐบาลมาใหม่จะได้เดินสบายสักที ถ้านายกฯมาอีกรอบนั้นตนจะได้สบายใจ เราก็สนับสนุน ดีกว่าไม่สบายใจตลอด
ต่อมา นายกฯ กล่าวว่า การยึดอำนาจนั้น ตนตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ เพราะตนให้สัมภาษณ์และเขียนหนังสือ ตนมีจุดยืนมาตลอดว่า ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และคาดการณ์ไว้ว่าหากเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ แม้ผู้กระทำและผู้สนับสนุนมีเเหตุผลอย่างไร มันหลีกลี่ยงไม่พ้นที่จะสร้างปมขัดแย้ง ตรงนี้ยอมรับ แต่ตนคิดว่าจะโยนทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่รัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น คงไม่ใช่ มันต้องม้วนหนังย้อนกลับไปแต่ตนต้องระวัง เพราะอาจพาดพิงบุคคลที่ฝ่ายท่านนับถือ ขอบอกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้กันมาจุดหนึ่งมีเสียงพูดค่อนข้างชัดว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมนั้นในที่สุดก็มีปัญหา หลายเรื่องที่หลายคนในฝ่ายท่านคัดค้านว่าศาลและองค์กรอิสระมีอำนาจ ที่จริงเริ่มจากปี 2540 แต่วันนั้นเสียงบ่นตรงข้าม คือ ยุคนี้ท่านจะบ่นว่า กกต.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปลงโทษคนที่มาจากการเลือกตั้งแต่ยุคนัน้บ่นกันว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งไปแทรกแซงองค์กรอิสระจนตรวจสอบไม่ได้ มันต้องยอมรับว่า ขัดแย้งกันมาก่อน การเมืองที่ลงไปสู่ถนนนั้นมันไม่ใช่เพราะปี 2549 แต่มันมาจากปี 2548 ที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่องนี้มีบันทึกไว้เยอะไม่ใช่เพียงแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ เรื่องสิทธิและการทุจริต ตรงนี้คือที่มาและจะไปมองเฉพาะ 19 ก.ย.2549 เป็นจุดเริ่มต้นปัญหานั้นคงไม่ใช่ คนที่ทำให้เกิดเหตุนี้มีเหตุผลเพราะหลายเรื่องที่ทักท้วงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะบอกว่าผิดทั้งหมดนั้น คงไม่ใช่เพียงแต่วิธีที่นำมาใช้มันไม่เหมาะสมในสายตาของนักการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลว เพราะในการเลือกตั้ง 2549 ที่มีการตัดสินให้โมฆะ ทุกพรรคการเมืองที่มาเรียกร้องและลงสัตยาบันบ้าง บอกว่า รัฐธรรมนูญต้องรื้อแล้ว ฉะนั้นปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะการรัฐประหาร แต่มันมาก่อนหน้านี้และหลายคนไม่พอใจจนวันนี้และค้างคาใจกับปัญหาที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีจุดอ่อน และข้อบกพร่อง แต่ใช่ว่าจะไม่ดีทั้งหมด เพราะบางเรื่องดีกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ผ่านประชามติ บางคนอาจรับบนความเข้าใจว่าจะมีการแก้ไขต่อไป แต่มันเป็นฐานว่าหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงจริง ต้องคำนึงถึงกระบวนการของประชามติด้วย หากจะทำอะไรต้องมีความชัดเจนกับประชาชนด้วยปมนี้ที่มันเป็นปัญหามากว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เวลาถามว่าจะแก้หรือไม่ ต่างคนคิดคนละอย่าง บางคนคิดแก้เพียงระบบเลือกตั้ง บางคนสนใจเรื่อง ส.ว.บางคนติดใจองค์กรอิสระ ประเด็นมันหลากหลายหากพูดกว้างๆ ว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขมันไม่เคยได้คำตอบ เพราะ 100 คน มี 100 ประเด็น หากจำได้เมื่อปี 2551 หลังการเลือกตั้ง 2550 ตนเป็นรัฐบาลที่สาม ไม่ใช่รัฐบาลแรก พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง มี นายกฯสมัคร สุนทรเวช และ นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพูดมาว่าเป็นความชอบธรรมของพรรคพลังประชาชน ที่ตั้งรัฐบาล รัฐธรรมนูญระบุว่า หากพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคจะโดนยุบ และกรรมการบริหารพรรคจะโดนเพิกถอนสิทธิ 5 ปี ตอนที่นายสมชายพ้นออกจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาล วันที่เลือกนายกฯกันใหม่ พรรคที่มีเสียงมากที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย และไม่ได้เสนอชื่อคนในพรรคเป็นนายกฯ แต่ไปเลือกคนจากพรรคเล็กกว่าพรรคประชาธิปัตย์เยอะ แต่เราถือว่ามันเป็นกลไกของระบบสภา เพราะหากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็ต้องรวบรวมเสียงข้างมาก ไม่ใช่ว่าเลือกแล้วจบเลย รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่มันต้องโดนอภิปราย กฎหมายต่างๆ ในปีกว่าๆ ที่ผ่านมา มีการพูดกันว่าหากไม่ทำอะไรเลย รัฐบาลนี้จะอยู่ค้ำฟ้า ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ หากไม่ทำอะไรเลย และตกลงกันไม่ได้ ปีหน้าต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะสภาครบวาระ หากยุบสภาเพื่อได้คำตอบบ้างอย่างก็ต้องมาคุยกัน
นายกฯ กล่าวอีกว่า ช่วงที่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในปี 2551 นั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมันก้าวล่วงไปถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ความคลางแคลงใจ ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและเพื่อนิรโทษกรรม ตรงนี้คือสิ่งที่ติดใจคนว่ามันไม่เป็นธรรมที่แก้เพื่อตัวเองและนิรโทษกรรมนั้นจนเกิดการความรู้สึกรุนแรง แตกแยก และมีการชุมนุมจากอีกสีหนึ่ง ตนขอตั้งคำถามว่า 1.หากยุบสภาเพื่อประชามติ รัฐธรรมนูญไปด้วยนั้น มันคงไม่ตรงนัก เพราะชาวบ้านอาจเลือกนักการเมือง เพราะนโยบายพรรค และไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การสรุปว่าการเลือกตั้งจะให้คำตอบได้ มันคงไม่ค่อยตรงนัก 2.หากเลือกตั้งในวันนี้จะใช้กติกาที่ใช้ในครั้งที่แล้วเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก หากไปหาเสียงแล้วอ้างว่าตนสั่งฆ่าประชาชนก็ต้องร้องเรียน หาก กกต.วินิจฉัยว่าผิด และเกิดการยุบพรรค มันจะวนกลับมาตรงนี้หรือไม่ ตนจึงบอกว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันให้เห็นประเด็นและเป็นสิ่งที่ดีที่ นายวีระ บอกว่า รับประกันว่าหากผลเลือกตั้งออกมาอย่างไรอีกฝ่ายต้องยอมรับ สมมติว่า พรรคหนึ่งชนะแต่ถูกจับฟาลว์และแพ้ อย่างนี้จะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องคิดกัน และควรตกลงกติกาให้ชัดก่อน เพราะกติกาเขียนแบบนี้ และเวลานี้ที่พวกเรามาคุยกันนั้น จะผูกมัดกับหลายฝ่ายไดไหม พรรคของตนไม่มีปัญหา แต่บางคนบอกว่ายอมรับไม่ได้หากยุบสภาแล้วบางฝ่ายยอมรับ บางฝ่ายไม่ยอมรับแล้วจะมีปัญหาอีก หากคิดว่ายังมีกลุ่มอื่นแล้วควรเชิญมาร่วมอีกหรือไม่ เพื่อให้ได้คำตอบถาวร เพราะหากแก้ปัญหาแล้วมันไม่ได้แก้ แล้วจะโดนตำหนิว่าเราแก้ปัญหาของตัวเองและรัฐบาล แต่ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ ตรงนี้จะซ้ำเติมการเมืองที่เป็นภาพลบ ต้องขยายความว่าควรเชิญฝ่ายอื่นมาร่วมหรือไม่
จากนั้น นายวีระ กล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้นายกฯยอมรับกติกา คมช.แม้อาจปฏิบัติไม่ได้ แต่สิ่งที่ตนจะบอก คือ เราเป็นฝ่ายเลือกตั้งที่น่าจะตั้งหลักให้ตรงกันว่า กติกาที่โดนจัดทำจากผู้ยึดอำนาจต้องได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากสังคม ตนใช้คำว่าพวกนี้คือโจรกบฏและขอให้จบเสียทีและเป็นรุ่นสุดท้ายว่าต่อไปนี้อย่ามีอีก บ้านเมืองจะมีปัญหาต้องว่าไปตามกฎเกณฑ์กติกา วิธียึดอำนาจไม่ควรยอมรับเด็ดขาด หากไปยอมรับครึ่งๆ ก็เป็นปัญหา ตนอยากให้เริ่มต้นว่าทำรัฐธรรมนูญใหม่ คือ มาคิดกัน เราเคยรณรงค์ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญสมัย รมช.แม้มันจะใช้ได้บ้างก็ตาม หากเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นเรายอมรับ หากปัจจุบันเกิดเหตุซ้ำรอยว่าพรรคพลังประชาชนที่ยุบไปและมีเสียงเหลืออยู่แต่บังเอิญทหารเข้ามายุ่ง และสมคล้อยกับรัฐธรรมนูญ คมช.และทหารมาจัดให้ ตรงนี้มันเป็นหนามแทงใจคนและรับไม่ได้ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากกติกาของเผด็จการนั้นเรายุบไปให้สิ้น มันก็ง่าย รัฐบาลนายสมัครเข้ามาสู้เรื่องนี้ก็โดนกำลังนอกสภา ขอทหารช่วยทหารก็ไม่ช่วยและไปไม่รอด นายกฯโชคดีที่ขอทหารช่วยทหารก็ช่วย สรุปว่า จะชวนนายกฯมาช่วยกันรังเกียจคณะยึคอำนาจและเครื่องมือกัน พวกตนรับองค์กรที่ตั้งโดย คมช.ไม่ได้ ที่ทำให้พวกเรามาทะเละกัน และขอให้นายกฯมาช่วยกันสร้างกติกาประชาธิปไตยที่ชวนมาสองปีแล้ว อย่ารอครบเทอม ควรตัดสินใจเดินทางลัดไปสู่ประชาธิปไตย
ต่อมานายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่า ที่อยากจะได้มีกติกาที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบใสๆ เลย ตนคิดว่าใครก็อยากได้ แต่ปัญหาคือ ตนคงต้องให้มุมมองว่าประเด็นแรก รธน.ที่จะแก้ไขต้องแก้ไขโดยไม่ใช่สภาผู้แทนฯ ก็บอกว่า วุฒิสภาที่ยุบเขาไม่ได้ยังไงก็เป็นจุดที่ค้างอยู่ ก็ทำให้ตนจึงสงสัยว่าถ้ายุบวันนี้มันจะวนเหมือนกับปีที่แล้วหรือปีก่อนนี้หรือไม่ที่เลือกตั้งแล้วจะมีคำตอบ แต่ตนยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ เพราะมันมีฝ่ายที่มีความเห็นหลากหลาย ที่ท่านบอกว่าผลเลือกตั้งออกมาก็เป็นประชามติ แต่อีกฝ่ายบอกว่า รธน.มันก็ประชามติมาแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนรับรธน.แล้ว แล้วทำไมเราไม่รับบ้าง เราจะตอบเขายังไงกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ตนคิดว่าจะไปโยงทุกอย่างกลับไปว่าเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจคงพูดยังงั้นไม่ได้ ท่านบอกว่าทหารตั้งนายกฯ แต่การเลือกนายกฯปัจจุบันต้องลงคะแนนเปิดเผยและมติพรรคไม่ผูกพัน มีการขานชื่อทีละคน แล้วจะบอกว่า ส.ส.400 กว่าคนจะให้เขาเป็นยังงั้นยังงี้ไม่ได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนอยากจะชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ตนไม่นำพาเรื่องเหล่านี้ เพราะรัฐบาลของนายสมัคร นายสมชาย ก็เผชิญเรื่องนี้และเป็นปัญหามาก ตนเข้ามาก็เผชิญอีกด้าน เพราะปีที่แล้วที่คนเสื้อแดงชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.ก็ชุมนุมเรื่องนี้ เหตุการณ์ก็จบลง และตนก็เป็นคนเสนอให้ทั้งสภาสองสภา ลองไปดูว่าจะแก้ไจอะไรได้อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาว่าจะแก้ไขอะไร ตนก็แปลกใจมที่ว่าอ่านรายงานสองคณะพบว่าประเด็นที่ต้องแก้ไขค่อนข้างน้อย แต่อาจจะไม่ชอบที่มาถึงบอว่าจะแก้ แต่พอลงตัวประเด็นก็กลับน้อย ล่าสุด สองสภาหยิบมา 6 ประเด็น แต่มีบางประเด็นที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ตนก็เชิญวิปสามฝ่ายมาคุยกัน แล้วบอกว่าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ให้ทำประชามติหกประเด็นรวมทั้งประด็นที่ตนไม่อยากแก้ และถ้าประชามติออกมบอกว่าแก้ ตนก็บอกว่าสภาต้องแก้ตาม ตนก็เสนออย่างนี้ มีการตกปากรับคำเรียบร้อยแล้วทั้งสามฝ่าย แต่ต้องขออภัยว่าที่ต้องบอกว่าอดีตนายกบอกว่าไม่เอาเท่านั้นแหละ ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าไม่เอาก็ล้มโต๊ะ แต่ไม่ใช่ว่าฝ่ายตนไม่พยายาม แต่เพื่อประณีประนอมโดยเอาประชาชนเป็นหลังอิง เมื่อตกลงกันแล้วแต่พรรคเพื่อไทย บอกว่า ไม่สนใจ จะทำฉบับของคุณหมอเหวง หรือคล้ายๆ ของคุณหมอเหวงบ้าง แต่ตนบอกว่าถ้าไปแตะเรื่องของนิรโทษกรรม ถ้าจะทำอะไรที่บอกว่าทำเพื่อตัวเองยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าเจตนาของท่านอยากได้ รธน.ดีๆ ก็ไม่มีปัญหา ก็มาคุยกัน มาตั้งหลักกันใหม่เรื่องของประชามติ แต่การยุบสภาไม่ตอบประเด็นนี้แน่นอน เพราะมีเรื่องอื่นที่มาเกี่ยวข้อง เพราะการหาเสียงไม่แน่ใจว่ากี่คนที่จะไปลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้ง โดยเฉพาะยุคนี้แข่งขันกันหนักอยู่แล้วและหาเสียงเรื่องนโยบายอย่างหนักอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มีการขุ่นข้องหมองใจว่ามีองค์กรที่ คมช.หรือใครตั้งองค์กรเหล่านี้ก็จะหมดอายุและจะมีการสรรหา แต่ถ้าบอกว่าพรุ่งนี้วันนี้ยุบสภาแล้วถามว่าเราได้คำตอบเรื่อง รธน.หรือยัง
จากนั้น นายจตุพร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนั้นต้องยอมรับความเป็นจริง ตนเชื่อว่าสภานี้จะแก้ไม่สำเร็จและเป็นไปได้ยาก อดีตนายกฯไม่ได้โทรมาแล้วล้มโต๊ะและแสดงความเห็นที่ไม่ต่างกับตน เพราะตนเป็นคนที่พูดเรื่องนี้เองในพรรคเพื่อไทยว่าจะแก้ไม่สำเร็จ หากรัฐบาลและส.ว.ที่สนับสนุนก็น่าจะผ่านได้ พวกตนจึงไม่ไปยุ่งแต่จะไม่ไปขัดขวาง แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล สถานการณ์มาถึงจุดที่ตนเรียกว่า นายกฯจะบริหารประเทศอย่างไร แม้จะมีกองทัพและกำลัง หากปราบพวกตนนายกฯก็อยู่ไม่ได้ วันนี้ตั้งใจมาพูดว่ายุบสภา และเป็นสิทธิของนายกฯที่พูดได้ว่าไม่ยุบ ตรงนี้ก็มาสู้กัน แต่บรรยากาศบ้านเมืองเเบบนี้ไปไม่ได้ นายกฯควรคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะนายกฯบอกว่าจะได้240เสียงและไปไหนก็ไม่ต้องใช้กำลัง
ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรก็จบ และตนจะให้สัตยาบันในเรื่องหาเสียง แต่ละฝ่ายจะไปหาเสียงได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากประชาชนเห็นว่านายกฯถูกนั้นก็กลับมาได้อย่างสง่างาม หากไม่ยุบสภาวันนี้จะหาความสงบสุขไม่ได้ หากประชุม ครม.ที่ ร.11 รอ.พวกตนก็ตามไปทวงอีก พวกเราไม่ควรอยู่ในชะตากรรมแบบนี้ ประชาชนจะกลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ เพราะเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว วันนี้นายกฯหน้าแก่แล้ว เพราะเครียด นายกฯเป็นคนหนุ่มที่น่าจะแฟร์เกม และแฟร์เพลย์ วันนี้ นายกฯทำอะไรและทหารสนับสนุน มันตอกย้ำและติดใจคน หากนายกฯเดินหน้าต่อก็ลำบาก ยิ่งใช้กำลังยิ่งไม่จบ พวกตนมีวินัยและคุยรู้เรื่อง จึงควรคืนอำนาจให้ประชาชน ผลการเลือกตั้งจะบอกเองว่าสนับสนุนใคร วันนี้นายกฯจะสนุกกับการนั่งเฮลิคอปเตอร์แบบนี้หรือ หากไม่เจรจาวันนี้ก็ไม่รู้จะจบอย่างไร สถานการณ์วันนี้ควรคืนอำนาจให้ประชาชน หากไม่ยุบนายกฯก็กลับ ร.11 รอ.ตนก็ไปชุมนุม
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ชั่วโมงกว่าๆ ที่ผ่านไป ระบายกันนิดหน่อย แต่ในเรื่องการเจรจาเมื่อพูดเรื่องอดีต ย้อนไปอดีตมันไม่จบ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องกติกา ว่า กติกามันแก้ยาก ท่าน ส.ส.พูดว่าแก้ไม่ได้ ผมเป็นผู้แทนมาก็เชื่อว่าแก้ยาก เมื่อแก้ยาก ก็ถามว่าจะทำยังไง พี่วีระเสนอว่าให้คนชนะการเลือกตั้งไปดำเนินการแก้ไข แต่ถามว่า ชนะเต็มหรือเปล่า ความจริงเรื่องการสอบถามประชาชนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องปกติประเทศพัฒนาทำกัน ผมย้ำใครชนะหรือแพ้ต้องแก้ตามนั้น ไม่ใช่แก้ตามใจพรรคที่ชนะ ถ้าเราจะพูดว่ากติกามันยาก ไม่ยุบเสียที เราสามารถเอาประเด็นต่างๆ มานั่งคุยต่อ ที่ท่านนายกฯเปิดไว้ ช่วงนายกฯไม่อยู่คุยกับพี่วีระได้ ก็น่าจะมีจุดจบ ก็น่าสนใจ
นายชำนิ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่า การยุบสภาจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อปี 49 ที่ผ่านมา มีการยุบสภา ซึ่งรัฐบาลคิดว่า จะเป็นทางออกของวิกฤต แต่กลับนำไปสู่วิกฤตใหม่มาให้สังคมไทย และทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และแน่ใจว่า ถ้ายุบสภาครั้งนี้ นำไปสู่วิกฤตแน่นอน
ซึ่งประเด็นนี้ นายวีระ กล่าวว่า ถ้าปล่อยไปคนเสื้อแดงจะมีจำนวนเยอะขึ้น ถ้ามีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งก็จะยุติปัญหา แต่เราจะให้หลักประกันไม่ได้ว่าถ้าเกินกว่าเสื้อแดงเราก็รับประกันไม่ได้ แต่มีปัญหาอยู่ว่าถ้ายุบหรือไม่ยุบอันไหนจะดีกว่ากัน ลองให้ทบทวนดูกันว่าแล้วถ้าจะติดต่อกันอีกทีก็ว่ากันอีกทีน่าจะดีกว่า บางทีอาจจะได้พักหรือคุยกันเองเพื่อเชื่อมประสานจากที่คุยกันตึงเครียดกัน น่าจะดีกว่า เพราะพวกตนคอยกลางถนนต่างกับคนที่คอยบ้านก็ต่างกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ไม่ขัดข้องที่จะพักแล้วค่อยประสานกัน แต่ยืนยันว่าไม่มีตั้งแง่ว่ายุบหรือไม่ยุบก่อน เพราะรัฐบาลก็ฟัง และมองว่าการยุบสภาเป็นทางออกหนึ่ แต่ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้การยุบเป็นของคนทั้งประเทศ และต้องการให้ยุบสภาแล้วทุกคนหลอมรวมกันในสังคมไทย ดังนั้นน่าจะกลับไปพักต่างคนต่างคิดและฟังเสียงรอบข้างก่อน
จากนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตนขอเสนอเงื่อนไขให้ยุบสภาภายในสองสัปดาห์หรือ15วัน ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในช่วงนี้ก็สุดแล้วแต่ และพรุ่งนี้ค่อยให้คำตอบซึ่งการยุบหรือไม่ยุบก็ได้เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล แต่ถ้าไม่ยุบก็เผชิญหน้ากันต่อไป เพราะการเจรจาต้องรีบเร่งเพราะอยู่ในสภาพไม่เป็นปกติทั้งสองฝ่าย แม้ว่าฝ่ายเราจะเรียกร้องให้ยุบสภาทันทีแต่ก็ให้มีจุดกึ่งกลาง ก็ถือว่าแฟร์ๆ และนายจตุพร ได้สอบถามนายกฯว่า กลับจากการเยือนบรูไนวันไหน และก็ได้นัดนายกฯและคณะประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้สถานที่เดิม ซึ่งจังหวะนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวแทรกว่า จริงๆ รัฐบาลเหลืออายุ 2 ปี แต่ให้เวลาเหลือแค่สองสัปดาห์ วันนี้ก็คงคุยได้แค่นี้
จากนั้น นายวีระ ได้กล่าวขอบคุณและทั้งสองฝ่ายก็ได้ยกมือสวัสดีอำลากันถือว่าจบการเจรจาในวันนี้