คำต่อคำ การเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและแกนนำคนเสื้อแดง ที่สถาบันพระปกเกล้า วันที่ 28 มีนาคม 2553 โดยฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดง ประกอบด้วยนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. นพ.เหวง โตจิราการ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย
วีระ - ...สำหรับทั้งสองฝ่ายเราจะได้คุยกัน ขอบคุณท่านชำนิ ท่านกอร์ปศักดิ์ พวกกระผมทั้ง 3 คนนี่ก็เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดง ซึ่งขณะนี้ก็รอกันอยู่บนถนนราชดำเนิน แล้วก็หลายวันมาแล้ว แต่พอได้ทราบข่าวว่าวันนี้จะได้มีการพูดจาหารือกัน ทุกคนก็มีความสุขนะ ผมว่า ทุกคนยินดี คนที่อยู่ที่บ้าน ที่ไม่ได้แดง ไม่เขียว ไม่เหลืองอะไรก็แล้วแต่ เป็นคนธรรมดาๆ ก็ได้แสดงความเห็นกันมาทั้งนั้น ซึ่งความจริงมันก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่าเราก็พวกเดียวกัน แต่ไม่ได้พูดกันโดยตรง เราก็พูดกันผ่านสื่อกันมานาน แล้วก็เป็นธรรมดา เพราะว่าต่างคนต่างก็มีสถานะที่กีดกั้นอยู่ ดังนั้นในการที่ท่านนายกฯ ได้ให้โอกาสให้เวลามาสนทนาในวันนี้ต้องขอบคุณ และเชื่อว่าสิ่งที่จะคุยกันจะเป็นทางออกที่ดี ท่านก็ทราบแล้วนะครับ เราก็มีแถลงการณ์ที่จะเรียกร้องอยู่ ก็ง่ายๆ แล้วก็ตรงไปตรงมา คืออยากให้มีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติอะไรมากหรอกครับ ไม่มีจิตใจที่ต้องการทำลายอะไรใคร แต่เห็นว่ามันแก้ปัญหาได้หลายอย่าง แก้ปัญหาได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือว่า ข้อขัดข้องระหว่างพวกเรามันไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก และทำให้ไม่สบายใจกันตลอดมา รัฐธรรมนูญก็ไม่จบเสียทีว่าจะเอากันยังไง จะแก้กันแบบไหน หรือจะทำประชามติหรือไม่
พอมาเรื่องที่ 2 ก็เรื่องของการทำงานของคณะรัฐบาล ซึ่งก็มาในภาวะที่ประเทศมีปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจมากมาย ท่านก็เหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยังไม่อาจจะฝ่าขวากหนามของปัญหาที่มีรอบด้าน ทั้งในและนอกประเทศ ก็เป็นปัญหาอยู่ ประชาชนก็กลุ้มอกกลุ้มใจ ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี ก็เลยเสนอทางนี้มา มันก็ได้ทั้งสองเรื่อง เรื่องที่ 1 ก็ไปถามชาวบ้านเรื่องรัฐธรรมนูญเสีย ด้วยวิธีการเลือกตั้ง กับ 2 ก็เรื่องของการจะแก้ไขปัญหา ซึ่งอันนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยืดยาว แต่ว่าจะพูดกราบเรียนท่านสั้นๆ แต่ว่าเมื่อท่านก็ได้ทราบจากสื่อ ซึ่งเราก็ได้แถลงตลอดมา ก็คงจะได้ฟังความเห็นทางฝ่ายท่าน ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบอยู่ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดสันติสุข
ผมคิดว่าท่านนายกฯ เองก็พูดอยู่ คือมันมีคำหนึ่งที่เราเห็นตรงกัน แล้วก็พูดตรงกัน คืออยากให้ประเทศไทยชนะ พวกผมชนะก็ไม่มีประโยชน์ ท่านชนะก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ามันยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แล้วก็ทำอะไรกันไม่ได้เต็มไม้เต็มมือ เพราะฉะนั้นถ้าร่วมกันเสีย ประเทศไทยก็จะชนะ ก็กราบเรียนท่านสั้นๆ ตามนี้นะครับ แล้วก็ขอความเห็นท่าน เห็นมีหนทางใดที่เราจะร่วมกันได้ด้วยหลักที่ว่านี้ คือขอให้ประเทศไทยชนะ ก็คิดว่าสุดยอด เชิญนะครับ
อภิสิทธิ์ - ก็ขอขอบคุณครับ แล้วก็ยืนยันเสียตั้งแต่ต้นนะครับ เราต้องการให้ประเทศไทยชนะ ไม่ใช่เป็นชัยชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะเห็นว่าตลอดเวลาที่มีการชุมนุม ผมก็จะยืนยันตลอดว่าเราไม่ควรจะมาเป็นศัตรูกัน เราไม่ใช่ศัตรู แต่ว่าความคิดเห็นทางการเมือง ทุกท่านทราบดี เพราะว่าคลุกคลีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาตลอด มันก็มีความแตกต่างหลากหลาย เพียงแต่ว่าหลายคนก็รู้สึกสะท้อนใจว่ามันไม่เคยมียุคใดที่ความแตกต่างทางการเมืองมันแสดงออกในลักษณะที่รุนแรงมากขึ้นๆ
ก็ 13-14 วันนี้รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางเรื่องการบริหารสถานการณ์ไม่ให้มีเหตุที่จะต้องทำให้ทุกคนต้องเสียใจภายหลัง และวันนี้ก็ต้องขอบคุณที่เรามาอยู่ตรงนี้ แทนที่จะเห็นประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ยืนเผชิญหน้ากันอยู่บนความเครียดของคนทั้งประเทศ
ทีนี้ข้อเสนอของการยุบสภา ว่าตามจริง ผมไม่เคยป็นคนที่ปฏิเสธเรื่องนี้ และตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ผมคงจะไม่ตรงกันในเรื่องเหตุเรื่องผลหลายอย่าง แต่ผมก็ถือว่าการยุบสภาก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่ว่ามันก็มีคำถามเท่านั้นเองว่า การยุบสภาเขาต้องการที่จะทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่มันแสดงออกมาจากความขัดแย้ง มันนับยากครับ มันจะเริ่มจากทางไหน ผมไม่ได้คิดว่ามันเริ่มเพราะว่าผมมาเป็นนายกฯ ผมไม่ได้คิดว่ามันเริ่มเพราะว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร ผมคิดว่ามันอาจจะยาวไกลไปกว่านั้น หลายเรื่องสะสมกันมา มีเรื่องโครงสร้างบ้าง เรื่องตัวบุคคลบ้าง เรื่องอะไรบ้าง ปัญหามันก็ลุกลามมากขึ้น เพราะฉะนั้นที่ผมได้พูดมาตลอดเรื่องของการยุบสภา ผมก็เรียนว่า ข้อที่ 1 สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดก็คือ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นทางออก ทุกคนชนะ ประเทศสงบสุข ผมก็นึกไม่ออกว่าใครจะค้าน ผมก็นึกไม่ออกว่าใครจะค้าน แต่ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มคุยกัน เราก็จะเริ่มเห็นประเด็นต่างๆ ที่เราคงจำเป็นจะต้องมาทำความเข้าใจพูดคุยกันก่อนว่า ตกลงการยุบสภามันเป็นคำตอบ เหมือนกับดีดนิ้วแล้วจบ ชนะ จริงหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นที่ 2 ก็พี่วีระบอกว่า ท่านทั้งสามมาในฐานะตัวแทนคนเสื้อแดง ผมคงไม่ได้มาในฐานะของหัวหน้าพรรคการเมือง ผมมาในฐานะนายกรัฐมนตรี พอมาในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็กินความมากกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองค่อนข้างมาก ข้อที่ 1 อย่างน้อยรัฐบาลผมก็รัฐบาลผสม บังเอิญระบุว่า ให้มา 3 คน ผมไม่สามารถจะเอาทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลมาอยู่ใน 3 คนได้ ก็เป็นเรื่องซึ่งผมต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่ว่าถือโอกาสเรียนตั้งแต่ต้นว่า ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เท่าที่บุคคลที่เราตามตัวได้เวลาสั้นๆ ทุกพรรคสนับสนุนกระบวนการที่เราพูดคุยกัน อันนี้ท่านจะได้สบายใจ ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวเดินออกไปมีพรรคร่วมรัฐบาลบอก มาคุยอะไร ไม่สนับสนุน ไม่รับรู้ คงไม่ใช่ แต่เราก็ต้องฟังความคิดเห็นของเขาด้วย ซึ่งเขาก็มีข้อคิดความอ่านเกี่ยวกับเรื่องยุบสภา แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
สำคัญกว่านั้นก็คือ คงไม่ใช่แค่พรรคร่วมรัฐบาลนะครับ ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และจริงๆ ผมก็เป็น ส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ผมมาพูดแทนพรรคประชาธิปัตย์ หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่ได้ ผมต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ รวมทั้งคนเสื้อแดงด้วย ผมพูดเสมอนะครับ ไม่ว่าคนเสื้อแดงจะยอมรับผมหรือไม่ยอมรับผม ผมถือว่าผมต้องทำหน้าที่ให้กับเขา ไม่น้อยไปกว่าทำหน้าที่ให้กับคนอื่น แล้วความคิดเห็นก็หลากหลาย เอาว่าตั้งแต่นั่ง ผมให้ดู sms ก็ได้ครับ ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับทางฝั่งท่าน เขาคิดยังไง มันเยอะครับ เพราะฉะนั้นเราคงไม่สามารถที่จะมาบอกว่า 6 คนตรงนี้เราผูกขาดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดได้ เราคงต้องนึกถึงคนที่เขาอาจจะคิดว่าเขาไม่ได้มานั่งตรงนี้ เพราะผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เขาบอกว่า เขาก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐบาล และเขาก็ไม่ใช่ผู้สนับสนุนคนเสื้อแดง เขาก็มีสิทธิ์มีเสียงของเขา ไม่น้อยกว่าคนอื่น ดี/ไม่ดี กลุ่มคนนี้อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เยอะที่สุดก็ได้
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราตั้งต้นบนความตั้งใจร่วมกัน มาดูว่าการยุบสภามันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือถ้าจะยุบสภาแล้วแก้ได้ มันมีอะไรบ้างที่เราต้องตกลงทำความเข้าใจ หรือทำ เพื่อให้เดินไปได้ ผมว่าถ้าเราคุยในกรอบนี้น่าจะเป็นจุดที่ตรงประเด็นที่สุด ส่วนถ้ามีเรื่องอื่นๆ ที่อยากจะหยิบขึ้นมาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันมันก็สามารถที่จะพูดคุยกันได้ ก็อยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับ
วีระ - ก็คงเห็นตรงกัน ทีนี้ผมจะชวนท่านนายกฯ นิดเดียวว่า คือปัญหาของบ้านเมืองนี่อยากจะเริ่มตั้งแต่ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ที่น่าจะตรงกันได้ก็คือว่า พวกผมมีความเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหามันก็มีแหล่ะ ทุกยุคทุกสมัย การบริหารบ้านเมืองก็ต้องมีปัญหา แต่ถ้ามีปัญหา เราแก้โดยวิธีที่มีบทบัญญัติกฎหมาย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็จะแก้ปัญหาได้ ทีนี้พอมีการยึดอำนาจ ต้องถือว่าเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ วิธีการที่นอกประเพณีการปกครอง มันก็เลยเริ่มต้นความไม่ถูกต้อง ความแตกแยก แล้วก็คณะยึดอำนาจนั้นเองก็ได้ทำกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2550 นี่เป็นตัวอย่างที่ดี ผมคิดว่าใช้มาจนบัดนี้เราก็รู้พิษสงแล้วว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย แล้วก็เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินหลายข้อด้วยกัน นี่คือตัวปมปัญหาของประเทศ ที่ทำให้คนออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองกันมากตลอดมา
ผมไม่แน่ใจว่าท่านนายกฯ จะยอมรับหรือไม่ ถ้าจะกล่าวว่า พวกเราต่างเป็นเหยื่อของสถานการณ์การยึดอำนาจ ท่านนายกฯ เองผมเห็นว่าเป็นเหยื่อของการยึดอำนาจ พวกผมก็เป็น เป็นเหยื่อของการยึดอำนาจ หมายความว่าพวกผมไม่ควรจะมาอยู่บนถนนหรอก พวกผมควรจะได้ใช้ระบบรัฐสภาแบบที่ประเทศเจริญแล้วเขาทำกัน แต่เราก็ต้องออกมาต่อสู้บนถนน ท่านนายกฯ เองเข้ามาเป็นนายกฯ ก็ไม่ควรจะมีใครต่อต้าน ตรงกันข้ามผมควรจะได้สนับสนุนท่านสักคนด้วยซ้ำ เพราะว่าก็อยู่ในสายตาที่ว่าในอนาคตบ้านเมืองก็หนีไม่พ้น ท่านต้องรับผิดชอบ แต่พอมันตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การยึดอำนาจ ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และตกอยู่ภายใต้ทายาทคณะรัฐประหาร ทุกคนก็เลยกลายเป็นเหยื่อ นี่คือปัญหา เพราะฉะนั้นที่จะกราบเรียนท่านก็คือว่า เมื่อมาถึงบัดนี้ ก่อนหน้านี้เราก็เรียกร้องว่าแก้รัฐธรรมนูญกัน มันก็แก้ไม่ได้ เวลามันนานมาจนกระทั่งบัดนี้ ก็แก้ไม่ได้ แล้วก็ยังไม่มีแนวโน้มว่ามันจะแก้ได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นเราก็มา เอ๊ะ ฝ่ายที่เขาคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคของท่านเอง ก็ยังมีกลุ่มข้างนอก ซึ่งบอกว่าแตะรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ เขาก็ฮึ่มๆของเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุให้การแก้ล่าช้ามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
เราก็ชวน บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ขอประชามติว่าประชาชนจะให้แก้หรือไม่แก้ ประชามติก็ไม่เดินหน้าเหมือนกัน ประชามติก็ไม่เดินหน้า วิธีการแก้ไขจากรัฐสภาก็ไม่เดินหน้า เราก็เลยมีความเห็นว่า การยุบสภามันเท่ากับการขอประชามติ ยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งกัน ความหมายก็อย่างนั้น ทีนี้เลือกตั้งแต่ละพรรคก็ต้องเสนอนโยบาย บอกกับประชาชน ถ้าเลือกพรรคผม จะแก้ เลือกพรรคผมไม่แก้ ก็ว่าไป ชัดเจนอย่างนี้ ในเรื่องของหลักการปกครองประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ นั่นก็หลากหลาย ก็ว่ากันไป ต่างคนต่างก็เสนอได้ว่าจะแก้กันอย่างไร ถึงตรงนั้นผมก็คิดว่าต่างคนต่างก็เสนอได้ว่าจะแก้กันอย่างไร ถึงตรงนั้นผมก็คิดว่ามันก็จะทำให้คนเขาเท่ากับไปลงคะแนนเลือกรัฐบาล เลือกสภา แล้วก็เลือกรัฐธรรมนูญไปในตัว หรือถ้าใครเสนอว่าจะแก้รัฐธรรมนูญชนะ ก็มาแก้ พวกที่บอกไม่แก้รัฐธรรมนูญชนะ ก็ไม่ต้องแก้
แต่ทีนี้ก็จะมีคำถามว่า ถ้าฝ่ายไม่แก้รัฐธรรมนูญชนะ แล้วจะยุติได้หรือไม่ ในส่วนนี้ผมก็กราบเรียนท่านนายกฯ ว่า พวกผมสามารถที่จะรับประกันได้ในส่วนของคนเสื้อแดงนะครับ คือผลลัพธ์ออกมาแล้วต้องยอมรับผลลัพธ์นั้น แล้วยุติการต่อต้าน ยุติการเคลื่อนไหว ในลักษณะที่ทำให้รัฐบาลเขาลำบากใจ ฝ่ายนี้ผมรับประกันได้ แล้วถ้าท่านเห็นว่าขณะนี้ปัญหาประเทศมันก็อยู่ที่กลุ่มนี้ ก็กลุ่มนี้รับข้อเงื่อนไขข้อนี้แล้ว อันนั้นท่านสบายใจ แต่ว่าฝ่ายอื่นถ้ามันจะมีบ้างก็คงต้องไปพูดจากันต่อไป หมายความว่าคนพวกนั้นแพ้แล้วไม่ยอมรับแพ้ อันนี้มันก็นอกเหนืออำนาจพวกผม แต่พวกผมรับประกันได้ว่าแพ้-ชนะ จบ ถามว่าทำไมถึงจบ ก็สิ่งที่เราเรียกร้องต้องการคือขอประชามติ เมื่อได้ประชามติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญก็คือไม่แก้ ก็จะทนอยู่กันไปอย่างนี้ ก็ไม่เป็นไร ก็ว่ากันไป เพราะฉะนั้นหลักประกันส่วนนี้ผมคิดว่ามันตอบโจทย์ที่ว่า ยุบสภาแล้วบ้านเมืองจะเดินไปได้ดีจริงหรือไม่ ผมคิดว่าแนวทางอื่นมองไม่เห็น ว่ามันจะสงบลงได้อย่างไร ถ้าเดินไปแบบนี้ มันยิ่งกว้างออกๆ รอยแตกแยกมันถ่างออก ก้อนเสื้อแดงก็ยิ่งโตขึ้นๆๆ มันน่าห่วงใย ก็ลองพิจารณาดูนะครับว่า ถ้าทางฝ่ายเสื้อแดงรับประกันข้อนี้ ว่าแพ้/ชนะแล้วก็ยุติกัน คือได้ประชามติ มันเท่ากับได้ประชามติ ก็ยุติกัน ใครเคลื่อนไหวก็ถือว่าไม่มีเหตุผลแล้ว มวลชนทั้งประเทศก็จะมองเห็นว่าขาดเหตุผลที่จะเคลื่อนไหว อันนี้ผมคิดว่าน่าจะทำให้สบายใจได้ รัฐบาลมาใหม่จะเดินไปสบายเสียที ถ้าหากว่าท่านนายกฯ มาอีกรอบนั้น ผมก็จะได้สบายใจ คือเราพูดได้ว่าเรามาถูกวิธี เราสนับสนุน นี่ไม่สบายใจอยู่ตลอดนะเนี่ย
อภิสิทธิ์ - ก็คงมีหลายประเด็นนะครับ เอาที่ท่านชวนคิดก่อน คือ 19 กันยาฯ ความจริงผมเป็นคนที่ตรงไปตรงมาเรื่องนี้ เพราะว่าพอเกิด 19 กันยาฯ ผมทั้งให้สัมภาษณ์ เขียนหนังงสือ มีหลักฐานทุกอย่างเรียบร้อย ผมก็เป็นคนที่มีจุดยืนมาตลอดว่าไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ แม้ว่าผู้กระทำ หรือผู้สนับสนุน เขามีเหตุและผลของเขาอย่างไร มันคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะสร้างปมความขัดแย้ง ไม่มากก็น้อย อันนี้ผมยอมรับ แต่ผมคิดว่าจะโยนทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่การรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญปี 50 ก็คงไม่ใช่ คือต้องม้วนหนังย้อนกลับไปอีก ทีนี้ผมก็จะระมัดระวัง เพราะว่าเดี๋ยวไปพาดพิงคนที่ฝ่ายท่านเคารพนับถือกันอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่า เราใช้รัฐธรรมนูญปี 40 กันมา ถึงจุดหนึ่งก็มีเสียงที่พูดค่อนข้างชัดว่ามันไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์เหมือนกัน รัฐธรรมนูญดีๆ แท้ๆ ที่บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วม ในที่สุดก็มีปัญหา ความจริงหลายเรื่องซึ่งทางฝ่ายท่านมักจะพูดในลักษณะคัดค้านอยู่ เช่น การที่ศาลมีอำนาจ องค์กรอิสระมีอำนาจ ที่จริงเรื่องมาจากปี 40 นะครับ แต่วันนั้นเสียงที่บ่นมันตรงข้าม คือยุคนี้ท่านจะบ่นว่า กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ไปลงโทษคนที่มาจากการเลือกตั้ง ยุคนั้นเขาบ่นว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งไปแทรกแซงองค์กรเหล่านั้นจนตรวจสอบไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งต้องยอมรับว่ามันขัดแย้งกันมาก่อน แล้วถ้าพูดถึงประวัติของการ.. พูดง่ายๆ คือว่าที่การเมืองลงไปสู่ท้องถนนคงไม่ใช่ปี 49 มันตั้งแต่ปี 48 ปี 48 ที่เป็นจุดเริ่มต้น แล้วเรื่องนี้ก็มีบันทึกเอาไว้เยอะ ไม่ใช่เฉพาะการแทรกแซงองค์กรอิสระ เรื่องสื่อ เรื่องสิทธิ เรื่องปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่ลงลึกไปเดี๋ยวมีปัญหา ไปพาดพิงบุคคลอื่น แต่นั่นคือที่มาด้วย ผมจึงบอกว่ามันจะไปมองเฉพาะว่า 19 กันยาฯ คือจุดเริ่มต้นของปัญหาคงไม่ใช่
คนที่เขาทำให้เกิดเหตุ 19 กันยาฯ เขาก็บอกเขามีเหตุผลของเขา ซึ่งผมก็บอกว่าหลายเรื่องที่เขาทักท้วงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ผมว่าจะบอกว่าเขาผิดทั้งหมดคงไม่ใช่ เพียงแต่ว่าวิธีการที่เขาใช้อาจจะไม่ใช่วิธีการที่มันเหมาะสมในสายตาของพวกเรา ซึ่งเป็นนักการเมือง
ทีนี้ ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ที่ผมให้เป็นรูปธรรมเลยก็คือว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เองก็ล้มเหลวมาจนถึงขั้นที่เรียกว่า ตอนที่มีการเลือกตั้งปี 49 ที่ในที่สุดถูกตัดสินว่าเป็นการเลือกตั้งที่โมฆะ ทุกพรรคการเมืองนะครับ ทุกพรรคการเมืองขณะนั้นบอกรัฐธรรมนูญปี 40 ต้องรื้อแล้ว ไม่เว้นแม้แต่พรรคเดียวเลยนะครับ ทุกพรรคที่มาลงสัตยาบันกันบ้าง หรือแสดงจุดยืนกันบ้าง เรียกร้องให้ลงสัตยาบันบ้าง เพราะฉะนั้นปัญหามันไม่ใช่เฉพาะปฏิวัติรัฐประหาร มันก่อนนั้นด้วย ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาถึงทุกวันนี้ หลายคนก็ยังค้างคาใจเรื่องความไม่ถูกไม่ต้องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น
แล้วรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เช่นเดียวกัน ผมก็คิดว่าก็มีจุดอ่อน มีข้อบกพร่อง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดีเสียทั้งหมด ผมว่าบางเรื่องก็ดีกว่าปี 40 แล้วอย่างน้อยที่สุดก็เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งต้องผ่านการประชามติด้วย ซึ่งคนที่เขาลงประชามติกัน แน่นอนบางคนอาจจะรับบนความเข้าใจว่าจะมีการแก้ไขต่อไป อันนี้เราก็เข้าใจได้ แต่มันก็เป็นฐานอันหนึ่งที่บอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันจริงก็คงต้องคำนึงถึงกระบวนการของประชามติที่มีมาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำอะไร มันก็ต้องมีความชัดเจนจากประชาชนด้วย
ทีนี้ ปมตรงนี้ที่มันเป็นปัญหามาก ก็คือว่าเวลาเราถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ มันต่างคนมันคิดคนละอย่างครับ บางคนคิดแค่ว่าอยากจะแก้ระบบเลือกตั้ง พรรคการเมือง เขตเล็ก เขตใหญ่ บางคนสนใจไปที่วุฒิสภา ควรจะเลือกตั้งทั้งหมด หรือมีสรรหาบ้าง หรืออะไรบ้าง บางคนก็ติดใจองค์กรอิสระ บางคนบอกไม่ควรมีเลย บางคนมีถูกแล้ว แต่ว่าที่มาที่ไปจะทำอย่างไร อำนาจขอบเขตจำกัดได้ไหม มีความรับผิดชอบต่อใคร ประเด็นมันหลากหลายมาก
ทีนี้การไปพูดกว้างๆ ว่า เห็นด้วยกับการแก้ไข มันไม่เคยได้คำตอบหรอกครับ เพราะว่า 100 คน อาจจะมี 100 ประเด็น ทั้ง 100 คนก็เลยบอกควรแก้ แต่จริงๆ พอหยิบประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา อาจจะ 99 คนบอกว่าไม่ใช่แก้ประเด็นนี้ ถ้าจำได้ เมื่อปี 51 ที่เริ่มมีการ...คือต้องบอกก่อนว่าหลังจากการเลือกตั้งปี 50 ตามรัฐธรรมนูญมา ผมไม่ได้เป็นรัฐบาลแรกนะครับ ผมเป็นรัฐบาลที่ 3 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งมา ก็มีท่านนายกฯ สมัคร ต่อมาก็มีท่านนายกฯ สมชาย ท่านก็พูดขึ้นมาว่า อันนี้เป็นความชอบธรรมของพรรคพลังประชาชนที่จะได้ตั้งรัฐบาล ซึ่งก็ได้ตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง ขณะเดียวกันโดยรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนกรรมการบริหารไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคนั้นจะถูกยุบ กรรมการบริหารก็ถูกเพิกถอนสิทธิ์ 5 ปี ซึ่งเป็นกติกาซึ่งทุกพรรคการเมืองรู้ตอนสมัครรับเลือกตั้ง
อันนี้คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของ ส.ส.ในสภา ซึ่งไม่มีใครได้เสียงข้างมากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องว่าใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ ผมว่าพี่วีระจำได้ เพราะว่าอยู่ประชาธิปัตย์ปี 18 ประชาธิปัตย์ได้ 72 เสียง พยายามตั้งรัฐบาล สุดท้ายสภาเสียงส่วนใหญ่เขาไม่เอา เขาไปเอาพรรค 18 เสียง อ.คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯ ทุกคนก็ยอมรับว่านั่นก็เป็นเรื่องปกติของระบบรัฐสภา แม้แต่ตอนที่ท่านนายกฯ สมชาย พอพ้นจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาล วันที่เลือกนายกฯ กันใหม่ พรรคที่มีเสียงมากที่สุดตอนนั้นก็คือพรรคเพื่อไทย เขาก็ไม่ได้เสนอชื่อคนของตัวเองเป็นนายกฯ นะครับ เขาไปเสนอชื่อบุคคลซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เล็กกว่าพรรคประชาธิปัตย์เยอะด้วย แต่เราก็ถือว่านี่เป็นกลไกของระบบสภา เพราะว่าระบบสภาก็คือ ถ้าไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็เป็นการรวบรวมเสียงข้างมาก และก็ไม่ใช่ว่าเลือกกันแล้วก็จบกันไปเลย รัฐบาลจะอยู่ได้/ไม่ได้ ก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผ่านกฎหมายการเงิน งบประมาณ อะไรต่างๆ ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ไม่นับเรื่องการเลือกตั้งซ่อมซึ่งก็จะมีอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว
ผมได้พูดด้วยว่า บางทีพูดกันขณะนี้เหมือนกับว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลยรัฐบาลนี้จะอยู่ค้ำฟ้า ไม่ใช่นะครับ รัฐบาลนี้ก็มีวาระที่แน่นอน คือสมมุติไม่ทำอะไรกันเลย ตกลงอะไรกันไม่ได้ ปีหน้าก็ต้องไปเลือกตั้งอยู่แล้ว ถูกไหมครับ เมื่อสภาครบวาระก็ต้องไปเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เอาล่ะ ถ้าบอกว่ายุบสภา อยากจะได้คำตอบบางสิ่งบางอย่าง เราก็ต้องมาคุยกัน ทีนี้ปี 51 ตอนที่มีการพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันก้าวล่วงไปถึงประเด็นที่มันมีความละเอียดอ่อน เช่น ตีความคลางแคลงใจว่า คลางแคลงใจ 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 ก็คือ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองหรือไม่ กับ 2 เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมหรือไม่ อันนี้ที่มันติดใจคน เพราะว่าเขามีความรู้สึกว่า ถ้าแก้เพื่อตัวเองก็ดี แก้เพื่อนิรโทษกรรมก็ดี มันก็มีลักษณะของความไม่เป็นธรรมอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แล้วมันก็เกิดความรู้สึกรุนแรง และทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นมา ก็เป็นที่มาของการชุมนุมเรียกร้อง แต่วันนั้นไม่ใช่สีแดงเท่านั้นเอง ก็เป็นอีกสีหนึ่ง
ผมก็ตั้งคำถามง่ายๆ นะครับว่า 1. ถ้าบอกว่ายุบสภาเป็นการประชามติรัฐธรรมนูญไปด้วย ผมคิดว่าคงจะไม่ค่อยตรงครับ ผู้แทนราษฎรไปหาเสียง ถึงเวลาบางคนอาจจะบอกไปทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เวลาไปหาชาวบ้านจริงๆ หาเสียงกัน บอกเรียนฟรีนะ ล้างหนี้นะ เด็กเอาคอมพิวเตอร์ไปคนละเครื่องนะ เขาอาจจะเลือกพรรคการเมืองเพราะเขาอยากได้นโยบายเหล่านี้ แต่เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะไปสรุปว่าการเลือกตั้งสามารถจะให้คำตอบประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ ผมคิดว่ามันคงไม่ค่อยตรงนัก อันที่ 2 ก็คือว่า ถ้าไปเลือกตั้งกันวันนี้ เราใช้กติกาอะไร ก็ใช้กติกาที่เลือกครั้งที่แล้วนั่นแหล่ะ เดี๋ยวมีปัญหาอีก นี่ผมยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมนะครับ ผมไม่ทราบ 2 ท่านลงสมัครหรือเปล่า แต่ว่าพรรคเพื่อไทยลงสมัครแข่งขันกับผม เอาง่ายๆ สมมุติว่าไปหาเสียง อ้างว่าผมสั่งฆ่าประชาชน เอาคลิปเสียงไปเปิด ซึ่งผมยืนยันว่าตัดต่อ 70 กว่าจุด พิสูจน์หลักฐาน พิสูจน์แล้ว ก็ต้องมีการร้องเรียนกันล่ะว่าใส่ร้ายป้ายสี เกิด กกต.วินิจฉัยว่าผิด ได้ใบแดงตามกติกา เกิดมีกรรมการบริหารไปพูด เกิดการยุบพรรคอีก มันจะวนกลับมาตรงนี้อีกหรือเปล่าครับ มันจะวนกลับมาตรงนี้หรือเปล่า ผมก็ถึงบอกว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องซึ่งเราคงต้องมาคุยกันให้เห็นประเด็นให้มันขาดไป แล้วก็เป็นสิ่งที่ดีที่เมื่อสักครู่พี่วีระบอกว่า รับประกันได้ ผลออกมาอย่างไร ยอมรับตามนั้น ทีนี้สมมุติพรรคหนึ่งชนะ ต่อมาพูดง่ายๆ เหมือนถูกจับฟาล์ว กลายเป็นพรรคที่แพ้ อย่างนี้ยอมรับหรือไม่ยอมรับ ก็เป็นประเด็นที่ต้องมานั่งคิดกัน ถ้าเห็นว่ายังมีปัญหา จะยอมรับ/ไม่ยอมรับกัน ก็คงต้องไปดูอีกว่า ตกลงกติกากันให้ชัดก่อนได้ไหม ว่าเรารับกติกากันอย่างนี้ คนชนะก็มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลก่อน แต่ถ้าถูกจับแพ้ฟาล์ว เกิดจับแพ้ฟาล์วขึ้นมา เรายังยอมรับกันหรือเปล่า เพราะกติกามันเขียนอย่างนั้น
ประเด็นที่ 2 ก็คือว่า ณ เวลาที่เราพูดคุยกัน ก็มีหลายฝ่ายเขาก็บอกแล้วว่า แล้วเราจะไปผูกมัดเขาได้หรือเปล่า ทางฝ่ายผม เป็นพรรคการเมือง ไม่ค่อยเป็นปัญหาหรอกครับ ท่านก็เริ่มจากประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์เนี่ยเป็นฝ่ายค้านมากกว่าเป็นรัฐบาลเยอะครับ ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ แต่ว่าบางคนเขาก็บอกว่ามันยอมรับไม่ได้ แล้วถ้าเราทำยุบสภาไป ปรากฏผลออกมาทางหนึ่งทางใด ยอมรับ บางฝ่ายเกิดไม่ยอมรับ แล้วมีปัญหาแบบนี้อีก เราก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประเทศ ถ้าเราคิดว่า เอ๊ะมันจะมีกลุ่มอื่นไหม เราจะเชิญเขามาไหมครับ เอามานั่งอีก 3 คนก็ได้ ถึงจะได้เป็นคำตอบที่ถาวร คือผมไม่อยากว่า เราแก้ปัญหาแล้ว เราคิดว่ามันแก้ มันไม่ได้แก้ สุดท้ายเขาจะมาตำหนิเราครับว่า ที่สุดที่มานั่งคุยกัน 6 คน เพียงเพื่อประโยชน์ว่า เมื่อท่านได้ตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลก็แก้ปัญหาของตัวเองไป แต่ปัญหาประเทศไม่ได้แก้ ผมว่าอันนั้นจะเป็นเรื่องที่ซ้ำเติมสิ่งที่คนมองการเมืองที่เป็นภาพลบไปแล้ว ผมก็เลยคิดว่าอันนี้ต้องขยายความกันอีกว่า ฝ่ายอื่นๆ เราจะต้องเชิญเขามาหรือเปล่า
วีระ - อีกนิดเดียว เดี๋ยวจะชวนท่านสนทนากันบ้าง เพราะว่าคนจะได้ความคิดที่หลากหลาย สิ่งที่จะเพิ่มเติมประเด็นหลักก็คืออย่างนี้ครับ ประเด็นหลักคือ ผมไม่อยากให้ท่านนายกฯ ยอมรับกติกาของ คมช. ถึงแม้ว่าท่านอาจจะปฏิบัติไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่ผมจะต้องบอกก็คือ เราเป็นฝ่ายเลือกตั้ง เราน่าจะตั้งหลักของเราให้ตรงกัน ว่ากติกาที่ถูกจัดทำโดยผู้ยึดอำนาจ มันจะต้องได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากสังคม โดยเฉพาะสังคมการเมืองเรา ต้องช่วยกันปฏิเสธ ท่านจะเห็นพวกผมใช้คำว่าพวกนี้เป็นโจรกบฏ ต้องใช้อย่างนี้ และผมพูดว่า ขอให้การปล้นของคนพวกนี้เป็นเรื่องสุดท้ายเสียที 19 กันยาฯ 2549 ขอให้จบเป็นรุ่นสุดท้าย ต่อไปนี้อย่ามีอีกเลย บ้านเมืองจะมีปัญหา มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการกระทำความผิดใดๆ ว่ากันไปตามกฎเกณฑ์กติกา ตามระบอบประชาธิปไตย อาจจะช้าหน่อย แต่หนีไม่พ้นหรอกครับ หนีไม่พ้น ใครผิดต้องโดนลงโทษแน่นอน
ทีนี้ วิธีการยึดอำนาจมันทางลัด และเป็นทางที่เราไม่ควรจะยอมรับร่วมกันโดยเด็ดขาด ถ้าเราไปยอมรับของเขามาครึ่งๆ มันก็เป็นปัญหาอย่างที่เป็น เพราะว่าเราไปคิดแค่ว่ามันจำเป็นจะต้องทำอย่างนั้นแล้วเพราะร่างกฎเกณฑ์กติกามา มันก็เลยรับเอามาใช้ พวกผมอยากจะให้ไปเริ่มต้นกันว่า ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เริ่มอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่ามาคิดกันเมื่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ท่านก็อยู่ในเหตุการณ์ เราเคยรณรงค์บนถนนเหมือนกันเพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของ รสช. (***สัญญาณเสียงขัดข้อง***) พอเขาประชุมกันเราบอกเราไม่ตั้ง ของคุณทวิช กลิ่นประทุม พรรคหนึ่ง ของท่านประมาณ อดิเรกสาร พรรคหนึ่ง เราไปเอาท่านคึกฤทธิ์ดีกว่า อันนั้นก็เป็นกติกา พูดง่ายๆ ว่า เมื่อพรรคที่ตระหนัก (***สัญญาณเสียงขัดข้อง***) อันดับ 2 อันดับ 3 ไม่สู้ แต่ไปเชิดเอาพรรคอื่นขึ้นมา ก็ทำได้ ก็ทำกันไป เพราะกติกามันได้โดยประชาธิปไตย ก็ไม่รังเกียจ แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ พอมันมาเกิดเหตุซ้ำรอยเข้า พรรคเพื่อไทยเขาล้มไป พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบไป ก็ตั้งเพื่อไทย ปัญหามันก็คือว่า เขาก็ยังมีเสียงเหลืออยู่ 180-190 ช่างเถอะ ผมไม่อยากจะเอาเรื่องนี้มาพูดมากนะ แต่อธิบายให้ฟังว่า เพราะบังเอิญว่าทหารมันเข้ามาจุ้น ซึ่งข้อนี้มันไปสมคล้อยกับไอ้รัฐธรรมนูญของ คมช.ที่เรารังเกียจอยู่เดิม เรารังเกียจอยู่เดิม ก็มาเกิดเหตุว่าทหาเข้ามา
ปี 18 อ.คึกฤทธิ์ เขาไม่ได้มีทหารเข้ามาจัดรัฐบาล เขาจัดกันเอง อันนี้ทหารมาจัดให้ มันก็เลยเป็นปัญหาหนามแทงใจคนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่เอา ทีนี้ถ้าหากว่า เราช่วยกัน เห็นตรงกันแบบนี้ว่ากติกาของพวกเผด็จการ ล้างเสียให้สิ้น อาจจะง่ายขึ้นในส่วนหนึ่ง ทีนี้ถ้าหากว่าเรายังอยู่ ท่านต้องเห็นใจนะว่ามันไม่ใช่แต่รัฐธรรมนูญ มันกฎหมายลูก กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และองค์กรซึ่ง คมช.ก็ตั้งไว้ทั้งนั้น นี่มันเป็นเรื่องที่ผมบอกว่าเราเป็นเหยื่อของพวกเผด็จการ เพราะคนพวกนี้มันเป็นสมุน คมช. คนเขารับไม่ได้เพราะเหตุอย่างนี้นะ
ทีนี้คุณสมัครมาก็ปล้ำจะสู้ แต่ก็เจอกำลังนอกสภา กำลังนอกถนน ถูลู่ถูกัง ขอให้ทหารช่วย ทหารไม่ช่วย ท่านโชคดี ขอร้องทหาร ทหารช่วย คุณสมัครขอห้ามปรามประชาชนอย่าเข้าทำเนียบหน่อย ทหารไม่ช่วย คุณสมัครไปไม่รอด อันนี้ความแตกต่างมันหลักมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ แต่ว่าอย่างไรก็ตามแต่ ผมคิดว่า เดี๋ยวเราคงจะให้คุณหมอเหวงได้คุยบ้าง เดี๋ยวผมจะผูกขาดคุยเสียคนเดียวมันก็ไม่ถูกเรื่อง แต่ถ้าเราไปย้อนความหลังกันยาว (***) ซึ่งผมก็ต้องยอมรับนะว่าพวกผมรับไม่ไหวจริงๆ องค์กรที่ตั้งโดย คมช. แล้วตั้งโดยวิธีที่แย่ ซึ่งก็พูดหลายครั้งแล้วในโทรทัศน์ ก็ไม่ต้องพูดในที่นี้อีก สรุปว่าเรามาสร้างกติกาประชาธิปไตย แต่ว่าชวนสร้างมาตั้ง 2 ปีแล้ว มันก็ไม่ได้ ชวนแก้ก็ไม่สำเร็จ ก็อย่างว่า มาคราวนี้ก็เลยว่า เอ้า รวบหัวรวบหาง อย่ารอให้มันไปครบเทอมแล้วค่อยมา ตอนนั้นก็ไม่รู้จะแก้ได้หรือเปล่า นี่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นขณะนี้เมื่อเรื่องมันเกิดอยู่ตรงนี้ ลองตัดสินใจ ถ้าเราตัดสินใจเดินทางลัดกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มันคงไม่มีใครว่า ถ้าเราเดินทางลัดโดยวิธีการยึดอำนาจ เอาล่ะ มันสร้างปัญหาเพิ่มในบ้านเมือง เพิ่มแน่ เพราะฉะนั้นผมเลยบอกว่า ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ว่าเรื่องอื่น เรื่องของเผด็จการที่มายึดอำนาจ กับเครื่องมือของเผด็จการที่ใช้ ทั้งเป็นรูปกฎหมาย ทั้งเป็นองค์กร ใส่ตัวบุคคล ซึ่งสร้างปัญหาให้พวกเรามาทะเลาะกัน นี่ผมเห็นว่าอย่างนี้
อภิสิทธิ์ - คือผมก็คิดว่าที่อยากจะได้มีกติกาที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบใสๆ เอาอย่างนี้เลย ใสๆ เลย ผมว่าใครๆ ก็อยากได้ ทีนี้ปัญหาก็คือว่า ผมคงจะต้องให้มุมมองนิดหนึ่งที่พี่วีระพูดก็คือ ประเด็นแรกเลย รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขมันต้องแก้โดยไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร มันก็สภาผู้แทนราษฎร บวกกับวุฒิสภา ซึ่งเรายุบเขาไม่ได้นะครับ ยังไงก็ยังเป็นจุดที่ค้างอยู่ นี่ผมยกเป็นตัวอย่าง ก็ทำให้ผมถึงได้สงสัยว่า เอ๊ะ ถ้าเรายุบวันนี้ มันจะวนกลับมาเหมือนกับปีที่แล้ว ปีก่อนนี้หรือเปล่า ว่า เอ้าเรานึกว่าเลือกตั้งแล้ว แล้วจะมีคำตอบเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะใช่ เพราะมันมีฝ่ายต่างๆ ที่เขามีความเห็นหลากหลายกันไป
ทีนี้ ท่านบอกว่าไปเลือกตั้ง ผลออกมาเป็นยังไงก็รับ เหมือนกับเป็นประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งเขาก็บอกว่า รัฐธรรมนูญนี้มันประชามติมาแล้ว ก็คนส่วนใหญ่ลงคะแนนรับแล้ว ทำไมเราไม่ยอมรับผลอันนี้บ้างล่ะ เราจะตอบเขาอย่างไร นี่คือกลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ใช่ไหมครับ ทำไมไปเลือกตั้งเราบอกไปประชามติรัฐธรรมนูญด้วยการยุบสภา เลือกตั้ง ผลเป็นอย่างไรให้รับ แต่เวลาประชามติตรงๆ รัฐธรรมนูญ รับรัฐธรรมนูญมาแล้ว ทำไมเราบอกเราไม่รับ เขาอาจจะมีเหตุผลนะ เราก็รับฟัง ก็แลกเปลี่ยนกัน คือผมคิดว่าเราจะไปโยงทุกอย่างกลับไป โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าคงไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ ท่านบอกทหารตั้งรัฐบาล ความจริงการเลือกนายกฯ ในยุคปัจจุบัน ต้องลงคะแนนเปิดเผย แล้วมติพรรคไม่ผูกพันด้วยนะครับ ขานชื่อกันทีละคนๆๆ เลยครับ เพราะฉะนั้นจะบอกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 กว่าคน ถูกจับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันคงเป็นไปไม่ได้ แล้วก็อย่างที่ผมบอก ไม่ได้เลือกนายกฯ แล้วจบกันไปเลย มันมีเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องของสภา เรื่องของอะไร แต่เอาล่ะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะไปลึกลงไปในเรื่องเหล่านี้มากเกินไป
คือผมอยากจะชวนชี้ให้เห็นด้วยว่า ไม่ใช่ผมไม่นำพาในเรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนายกฯ สมัคร นายกฯ สมชาย เผชิญกับเรื่องนี้แล้วก็เป็นปัญหามาก ผมเข้ามาก็เผชิญอีกด้าน เพราะว่าปีที่แล้วตอนที่คนเสื้อแดงชุมนุมในช่วงเดือนเมษาฯ ก็ชูประเด็นนี้เป็นหลัก เหตุการณ์จบลง ผมนะครับ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องเร่งรีบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวว่ามันละเอียดอ่อน ผมเป็นคนเสนอให้สภาทั้งสภา รวมวุฒิฯ ด้วย เขาลองไปดูกันซิ จะแก้อะไรกันอย่างไร ก่อนหน้านั้นสภาผู้แทนราษฎรเขาก็ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งแล้ว ไปดูซิว่าจะแก้ไขอะไรกันอย่างไร ผมก็แปลกใจนะครับ ผมอ่านรายงานของทั้งสองคณะ คือประเด็นที่บอกว่าต้องแก้ไขมันค่อนข้างน้อย แต่ว่าอาจจะเป็นความรู้สึกที่บอกว่าไม่ชอบที่มา ถึงบอกอยากจะแก้ แต่พอลงไปถึงตัวประเด็นจริงๆ กลับบอกว่าน้อย
ล่าสุดของคณะกรรมการสองสภา เขาก็หยิบมา 6 แต่ใน 6 ก็มีบางประเด็นซึ่งค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและไม่ใช่เอกฉันท์ บางพรรคการเมือง หรือสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนเขาก็ไม่เห็นด้วย ผมก็เชิญวิป 3 ฝ่ายมาคุยกัน และก็บอกว่าเอาอย่างนี้ไหมล่ะ เพื่อให้มันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 6 ประเด็นนี้ไปทำประชามติ รวมทั้งประเด็นที่ผมไม่เคยอยากให้แก้เลยนะครับ แล้วถ้าประชามติออกมาบอกว่า แก้ ผมยังบอกว่าสภาต้องแก้ตามประชามติ ต้องแก้ตามประชาชน ผมก็เสนออย่างนี้ ตกปากรับคำกันเรียบร้อยกับวิป 3 ฝ่าย ก็ต้องขออภัยนะครับต้องเอ่ย พออดีตนายกฯ ท่านบอกว่าไม่เอาเท่านั้นล่ะ ฝ่ายหนึ่งก็บอก งั้นก็ไม่เอา ก็ล้มโต๊ะกันไป อันนี้ไม่ใช่ว่าฝ่ายผมไม่พยายามนะ ฝ่ายผมน่ะเริ่มจากจุดที่บอกว่าไม่อยากจะแก้ แต่เอาล่ะ เพื่อประนีประนอมฟังความเห็นทุกฝ่าย มาแก้โดยเอาประชาชนเป็นหลังพิงให้พวกเราทุกคน คือประชามติ ตกลงกันแล้ว ปรากฏว่าทางพรรคเพื่อไทยเป็นคนบอกว่าไม่เอา ไม่สมใจ อยากจะทำฉบับของคุณหมอ หรือคล้ายๆ ของคุณหมอมากกว่า ผมก็บอกแล้วว่าถ้าเรื่องนี้มันไปแตะเรื่องของปัญหานิรโทษกรรม ข้อกล่าวหาว่าแก้เพื่อตัวเอง คือนักการเมืองน่ะ พูดตรงๆ นะครับผมก็เป็นมา 18 ปี 19 ปี ความขมขื่น (***สัญญาณเสียงหาย***) ยิ่งจะทำอะไรซึ่งเขาบอกว่าทำเพื่อตัวเองนะครับ ไปกันใหญ่เลย ฉะนั้นถ้าเจตนาของท่านบอกว่าอยากจะได้รัฐธรรมนูญดีๆ ไม่มีปัญหา ผมก็ มาคุยกันสิครับ จะตั้งหลักกันใหม่ไหมเรื่องประชามติ แต่ว่ายุบสภาคงไม่ได้ตอบประเด็นนี้ได้หมด เพราะมันมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะ ยุบสภา หาเสียง ผมก็ไม่แน่ใจอีกว่าคนเขาจะไปลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้งโดยคิดถึงเฉพาะประเด็นรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะยุคนี้สมัยนี้เขาก็แข่งขันกันเรื่องนโยบายเป็นหลักอยู่แล้ว อย่างที่เราเห็นกันอยู่ เพราะฉะนั้นผมได้ปฏิเสธว่าความปรารถนาที่จะเห็นการปรับปรุงรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น
เล็กๆ ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะบอกว่า ที่ท่านยังขุ่นข้องหมองใจว่ามันมีองค์กรที่ คมช.หรือใครตั้งมา องค์กรเหล่านี้ก็จะหมดอายุเหมือนกันนะครับ ก็จะหมดอายุเหมือนกัน แล้วก็จะมีการสรรหา ซึ่งก็จะมีฝ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เพียงแต่เป็นข้อสังเกตว่า ถ้าอยากจะทำเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมก็บอกมาคุยกันได้ ชวนกันทำเรื่องรัฐธรรมนูญก็ชวนกันทำได้ แต่ต้องเรียนรู้จากอดีตว่ามันละเอียดอ่อนอย่างไร เราควรจะมีกระบวนการอย่างไรให้มันเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าท่านบอกว่า พรุ่งนี้ วันนี้ ยุบสภา แล้วเราได้คำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมคงจะต้องมองว่าคงไม่ใช่ และผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็มองว่ามันไม่ใช่
จตุพร - ผมขออนุญาตตอบประเด็นท่านนายกฯ ประเด็นรัฐธรรมนูญนะครับเราต้องยอมรับความเป็นจริง ผมก็อยู่ในสภา แล้วก็มีความเชื่อด้วยว่าสภาชุดนี้ไม่มีทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ประเด็นที่ท่านบอกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ โทรมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงของวิป 3 ฝ่าย ไม่ใช่ ผมเองต่างหากที่พูดนำในพรรควันนั้น เพราะว่าเป็น ส.ส.ก็เข้าอยู่ด้วย เพราะผมไม่เชื่อหรอกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันจริงๆ แล้วผมไม่ต้องการให้เพื่อนสมาชิกได้ไปมีปัญหาระหว่างทาง โดยร่าง คปพร.ที่คุณหมอเหวงไปยื่น ท่านนายกฯ ก็เห็นแล้วว่าอยู่ในลำดับที่ 1 ในวาระเร่งด่วน ในที่ประชุมรัฐสภา มาเป็นปีๆ และเป็นลำดับที่ 1 เพื่อไม่ให้เลื่อนลำดับที่ 2 ลำดับที่ 3 มาแทนที่กันทุกครั้ง ผมก็เป็นคนพูดนำในที่ประชุมพรรค ท่านนายกฯ ทักษิณ วันนั้นท่านก็แสดงความคิดเห็นในฐานะวิทยากร แล้วก็บอกว่ายังไม่ (***) เมื่อไม่ขัดข้องถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วลำพังคะแนนเสียงของรัฐบาล บวกกับวุฒิสมาชิก ที่มีตัวตนชัดเจน ที่เขาสนับสนุนรัฐบาลนั้น ก็น่าที่จะผ่านพ้นไปได้ เพราะฉะนั้นพวกผมเองก็ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม แต่ว่าจะไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางใดๆ แต่ว่าเมื่อพรรคร่วมฯ (***) สัญญา 4 ข้อ ก็หนึ่งในนั้นด้วย รัฐธรรมนูญ
จดหมายของคุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา ตัวท่านอยู่ชาติไทย ถูกตัดสิทธิ์ เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เพื่อแลกเปลี่ยนกับท่าน เขาก็เอามา 2 ประเด็นจาก 6 ประเด็น ของคุณดิเรก ถึงฝั่ง ท่านเองก็เป็นเสียงข้างมากในพรรคประชาธิปัตย์ 80 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นผมเองก็ตกผลึกแล้วก็บอกกับเพื่อนสมาชิกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคงเป็นไปได้ยากจากรัฐบาลชุดนี้ กับสภาชุดนี้ เพราะฉะนั้นสถานการณ์มันมาถึงจุดที่ว่า คือผมไม่แน่ใจว่าท่านจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร นี่คุยกันด้วยความจริงใจนะ ท่านอาจจะมีกองทัพ มีกำลัง ท่านปราบปรามพวกผมท่านก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมเรียนอย่างนี้ว่า ความจริงแล้ววันนี้ตั้งใจที่จะมาพูดเรื่องนี้ ว่าจะยุบสภากันอย่างไร แล้วก็เป็นสิทธิ์ของท่านนายกฯ เช่นเดียวกันว่าจะไม่ยุบสภา แล้วพวกผมก็ต้องสู้กันต่อไป แต่การมาพูดกันในวันนี้เพื่อที่จะหาทางออกว่า บรรยากาศวันนี้พวกท่านกับพวกผมไปได้ทุกที่กัน ท่านอาจจะไปได้น้อยกว่าพวกผม พวกเราจะไปมากกว่าพวกท่าน แต่บ้านเมืองมันจะแตกแบบนี้มันไปไม่ได้ เราจึงชวนกันบอกว่า ถ้ายุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางด้านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่านบอกเองว่าท่านได้ 240 เลขาฯ เลขาฯ พรรคท่านมาเกทับอีกจะได้ 280 จัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว พวกผมรวมกับทุกพรรคก็กลายเป็นเสียงข้างน้อย ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรมันก็จบ แล้วพวกผมให้สัตยาบันกันว่า เมื่อท่านยุบสภาไปแล้ว การหาเสียงท่านจะเอาวิธีการอะไรท่านว่าไป ซึ่งทางนี้เขาก็ว่าไป มีทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ นโยบาย เรื่องเกี่ยวข้อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม มันก็ต้องรวบรวมกันอยู่แล้ว เป็นปกติในการหาเสียง แต่แต่ละคนแต่ละฝ่ายสามารถไปได้ทุกที่ทั้งประเทศ ผลการเลือกตั้งออกมา พวกท่านรวมเป็นพรรคซีกรัฐบาลเสียงข้างมากอยู่แล้ว และถ้าท่านมั่นใจ ถึงเวลา 280-240 ยิ่งไม่เป็นอุปสรรคใหญ่ แล้วหลังจากนั้นท่านกลับมาเป็นนายกรัฐมตรีอีก คือท่านไม่ต้องเอากำลังไปไหน เวลาไปเดินทางไปดูงาน ยังต้องใช้กำลังขนาดนั้น มันไม่จำเป็น แล้วบรรยากาศแบบนี้เหรอที่ท่านไปที่ไหนก็เจอคนต่อต้าน บรรยากาศแบบนี้ไม่สมควรจะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อท่านมีความมั่นใจ ท่านยังเป็นรัฐบาลอยู่ และก็เป็นรัฐบาลรักษาการสมมุติว่ามีการยุบสภา ถ้าประชาชนเห็นว่าท่านถูก ท่านจะกลับมาอย่างสง่างาม แต่ถ้าไม่มีการยุบสภากัน ผมว่าวันนี้หาความสงบสุขไม่ได้เลย ประชาชนเขาจะเดินกลับบ้าน แล้วก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่เขามานี่เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่สถานะเดิม ทุกคนแสวงหาความเท่าเทียม ความยุติธรรม รัฐธรรมนูญ 40 50 ตอนปลายรัฐธรรมนูญปี 40 คนเขาก็หน่าย แต่คนเห็นว่ามันดี เพราะหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 50 เขาถึงเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 40 นี่เป็นความรู้สึกของคน เพราะฉะนั้นผมเรียนอย่างนี้ว่า วันนี้มันเดินไปไม่ได้จริงๆ
สมมุติว่าท่านประชุม ครม.ราบ 11 ซึ่งผมก็ไปตามทวงกับท่านในครั้งหน้า แล้วเราก็ต้องใช้ชีวิตร่วมกันแบบนี้ ซึ่งไม่น่าจะเป็น ท่านยังเป็นคนหนุ่ม อายุมากกว่าผมปีหนึ่ง แต่ตอนนี้หน้าเริ่มแก่แซงแล้ว ตามโรคเครียด คือมันไม่สมควรที่จะอยู่ในชะตากรรมแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า คนหนุ่มอย่างท่าน พวกเราเอง ต้องการแฟร์เกม ในสนามกันแฟร์ๆ คือพวกผมอึดอัดใจกับสภาพที่เวลาจะตั้งรัฐบาลของท่านมารับที่ปั๊มน้ำมัน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมท่านอนุมัติสร้างไว้ แล้วรับเข้าไปในค่ายทหาร อันนี้มันเป็นภาพที่ติดใจคน เพราะฉะนั้นพอท่านทำอะไรแล้วทหารให้การสนับสนุน ซึ่งแตกต่างไปจากสองรัฐบาล มันยิ่งตอกย้ำความเป็นรัฐทหาร เพราะฉะนั้นท่านเดินหน้าต่อไปอย่างนี้ท่านก็รู้ว่าท่านก็ไปลำบาก และก็ยิ่งใช้กำลังท่านก็รู้ว่ายิ่งไม่จบ และพวกผมเองก็เห็นแล้วว่า วันนี้พวกผมเป็นพวกที่คุยกันรู้เรื่อง เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเองก็มีความมั่นใจ คนที่เป็นผู้จัดการรัฐบาลบอกว่าได้ 280 เสียง เพราะฉะนั้นคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
เสร็จแล้วกติกาท่านบอกว่า ถ้าหาเสียงเรื่องคลิปเลือกตั้ง เรื่องคลิปเสียงที่ท่านพูด ผมก็พูด ท่านก็ไปฟ้องผม ท่านก็ใช้สิทธิ์ไป ศาลยุติธรรมก็เป็นคนตัดสินไป ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่คณะกรรมการพรรคไปพูดแล้วเป็นเหตุให้ยุบพรรคโดย กกต. ก็มาว่ากัน คือทั้งหมดมันมีกติกาขั้นตอนที่มันพาไป ส่วนผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร มันจะเป็นตัวอธิบายความ ถ้าพวกผมแพ้การเลือกตั้ง ก็แสดงว่าประชาชนเขาพึงใจต่อท่าน และเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นด้วยกับที่มาของท่าน มันก็จบลงตรงนั้น ต่างฝ่ายต่างมาใช้ชีวิตกันปกติ แต่ถ้าเดินหน้าไปในสภาพอย่างนี้ ท่านลองดูทำเนียบรัฐบาล เขาสลับที่อยู่กับท่าน ทหารมาอยู่ในทำเนียบฯ แล้วท่านไปอยู่ในค่ายทหาร ท่านมีความสนุกกับนั่งเฮลิคอปเตอร์ทุกวัน วันนี้ท่านก็จะเริ่มพูดเสียงดัง เพราะว่าเสียงเฮลิคอปเตอร์มันดัง คือความรู้สึกผมไม่ต้องการบรรยากาศแบบนี้ แล้วเราเองทุกอย่างก็ได้สู้กันตามกติกาอย่างแฟร์ๆ กัน มันจะเป็นทางออก เพราะฉะนั้นผมว่าน่าจะมาสรุปข้อกันว่า 1. ท่านก็สามารถบอกได้เลยว่าท่านจะไม่ยุบสภา พวกผมก็จะได้คิดเดินหน้าต่อสู้กับท่าน หรือว่าท่านยุบสภาแล้วจะอย่างไร อย่างนี้จะดีกว่า เพราะว่าเราถอยไปปัญหาจะไม่จบ ด้วยความเคารพกันจริงๆ ว่า สถานการณ์มันยิ่งตึงเครียดครับ สมมุติว่าวันนี้ไม่เจรจากัน ไปจนถึงราบ 11 ยังไม่รู้จะยังไงกันต่อเหมือนกัน คือด้านหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งจัดกำลังอาวุธเต็มที่ อีกฝ่ายหนึ่งมือเปล่า ล้มหายตายจากไปท่านก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกัน สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ผมยืนยันว่าการยุบสภาคืนอำนาจกลับไปยังประชาชน ให้ประชาชนเจ้าของประเทศ เขาตัดสินใจกัน จะทำให้การคุยเราง่ายขึ้น คือถ้าท่านไม่ยุบสภาก็ไม่มีปัญหาอะไร คุณก็ไป พวกผมก็จะกลับที่ชุมนุม ท่านก็กลับราบ 11 ก็เท่านั้นเอง ด้วยความเคารพ
ชำนิ - ผมขออนุญาตคุณวีระ ที่จริงมันมีประเด็นอย่างนี้ ผมอยากกลับมาสู่กรอบที่ท่านวีระได้พูดถึงเรื่องว่า เรากำลังหาคำตอบให้กับการยุบสภา ทำไมต้องยุบ ยุบเพื่อไปแก้ปัญหาอะไร ปัญหานี้ผมคิดว่าสิ่งที่คุณจตุพรกำลังพูดเมื่อสักครู่นี้ มันกลายเป็นเรื่องระหว่างเราสองคน มันเรื่องระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งถ้าอธิบายอย่างนั้นมันมีเรื่องของความชอบ ไม่ชอบ และความต้องการ ไม่ต้องการอยู่ แต่ว่าสิ่งที่คุณวีระได้เสนอมาตั้งแต่ต้นก็คือว่า เรากำลังต้องหาคำตอบให้เหมือนกันว่า ข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภา และท่านนายกฯ ก็บอกตั้งแต่ต้นว่าการยุบสภาไม่ใช่เป็นหนทางที่รัฐบาลปิดประตูแน่นอน แต่ว่าเรากำลังต้องหาคำตอบให้ได้ของการยุบสภามันไปบรรลุเป้าหมายอะไร เรากำลังพูดถึงประเด็นหนึ่งซึ่งโอกาสแบบนี้ผมคิดว่าเราต้องเคลียร์เหมือนกัน คือกรณีของรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร คุณวีระครับ อย่าว่าแต่ครั้ง คมช.นี้เลย คนรุ่นเรายังคิดว่าตอนสมัย รสช.ไม่คิดว่าจะมีด้วยซ้ำไป ผมยังคิดว่าหลังจากเหตุการณ์วันนั้นแล้วครั้งสุดท้ายมันจบไปแล้ว และครั้งสุดท้ายก็มาเจอตอน รสช. มันก็ไม่สุดท้าย ผมตลกกับ คมช.ก็คือว่า ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีก และเราก็หวังว่าเป็นครั้งสุดท้ายอีกเหมือนกัน ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า กรณีของรัฐธรรมนูญมันมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ว่ามันมีเรื่องของความชอบและไม่ชอบอยู่ด้วย คือบังเอิญผมไปเป็นกรรมการทั้ง 2 ชุด กรรมการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ที่ท่านนายกฯ พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ กรณีนี้มันเป็นการศึกษาเรื่องปัญหาการบังคับใช้ แล้วก็ไม่พบจริงๆ พบน้อยมาก เพราะว่ากระบวนการบังคับใช้มันไม่ได้เป็นปัญหาของระบบการเมืองที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แต่มันมีเรื่องของความรู้สึกที่รัฐธรรมนูญนี้มาจากไหน กระบวนการที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้มันเป็นหรือไม่เป็นปัญหา มันแทบไม่มี กรณีครั้งแรกสภาถึงไม่มีประเด็นเหล่านี้จะต้องทำ แต่กรณีมาศึกษาปัญหาครั้งที่เป็นปัญหากับวุฒิสภาด้วย คุณจตุพรก็เป็น
จตุพร - ผมเป็นชุดแรก
ชำนิ - ผมก็มาชุดที่ 2 ด้วย ก็กรณีที่ 6 ข้อที่หามา มันเป็นกระบวนการที่อธิบายได้จริงๆ เขาอธิบายได้ว่ามันเป็นปัญหาของระบบการเมือง เช่น เขายกตัวอย่างเรื่องของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาก็พูดถึงระบบการเมืองเหล่านี้ มาจากประชาธิปไตย ลักษณะอย่างนี้เป็น ทีนี้ผมไม่ต้องไปพูดเรื่องรัฐธรรมนูญทั้งหมดหรอกนะครับ ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นว่า (***) และผมคิดว่าคุณวีระต้องเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มันตอบคำถามนี้ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าเราจะจัดการกับรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร โดยกระบวนการทางรัฐสภาปัจจุบันให้นำไปสู่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐธรรมนูญที่ไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้น วันนี้เราไม่ได้มาคุยกันว่าเราจะรัฐประหารกันดีไหม เหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว มันเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐธรรมนูญ 50 มันมีแล้ว และเราใช้มันแล้ว และมันเป็นปัญหาของระบบการเมืองอยู่แล้วในปัจจุบัน ถามว่าถ้าอย่างนั้นกระบวนการที่จะไปเลือกตั้งเราจะได้คำตอบนี้ไหม ผมแน่ใจว่าเราไม่ได้คำตอบจากการเลือกตั้ง ถามว่า ถ้าแปลว่าเลือกพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน แล้วไม่ชอบรัฐธรรมนูญ หรือถ้าเลือกพรรครัฐบาลปัจจุบันแล้วชอบรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่านี่ก็ไม่ใช่เป็นคำตอบที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ก็เป็นกระบวนการว่า ถ้าอย่างนั้นเรามีประเด็นอะไรอย่างไรที่เราจะเคลียร์กันอย่างนี้ นี่ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่ยอมรับ ผมคิดว่ากรอบที่เราต้องตอบคำถามให้ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วพอยุบสภาครั้งนี้ สมมุติท่านนายกฯ ตัดสินใจ มันกลายเป็นเรื่องเราสองคน ยอมกันสองคน แต่ว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องมันมากกว่าเราสองแน่นอน นี่ก็เป็นปัญหา ผมเป็นคนนั่งฟังในเรื่องที่ท่านปราศรัยอยู่อย่างชัดเจน ผมแยกแยะได้ ประเด็นที่เป็นประชาธิปไตยผมฟังชัดเจนมาก ประเด็นที่ไม่ใช่ ประเด็นที่เป็นความรู้สึก เราก็เข้าใจกันได้ ฝ่ายการเมืองเราก็เคลื่อนไหวกันมา เราก็หาคำตอบ และเราแน่ใจเลยว่าถ้าคำตอบที่เราได้และเสนอออกไป ไม่สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึก นั่นเป็นเรื่องเราสองคนมาตกลง แล้วไปถามคนอื่นมันตอบคำถามกันไม่ได้ มันก็เป็นปัญหา ซึ่งจบวันนี้มันก็เรื่องอื่นเข้ามา นี่เป็นประเด็นความเห็นต่อกรณีของรัฐธรรมนูญนะครับ
เหวง - ผมขออนุญาตท่านนายกฯ และพี่วีระในการที่จะแสดงความคิดเห็น ที่จริงสิ่งที่ท่านนายกฯ พูดมา ผมด้วยความเคารพ ทุกเรื่อง มันมีเปลือกเขียวกับแก่นแท้ ท่านนายกฯ นี่พูดเฉพาะเปลือกเขียว แก่นแท้ขณะนี้มันไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านนายกฯ จะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ มันไม่เป็นปัญหา คือท่านนายกฯ บอกว่าเราไม่ควรจะพูดถึงรัฐประหาร 19 กันยาฯ ผมก็จะไม่พูด เพราะมันผ่านไปแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนก็คือว่า ท่านนายกฯ คงจะเห็นด้วยกับผมว่าสิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ความหมายก็คือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีทหาร (***) เราควรจะต้องปฏิเสธ ถ้าเราไม่ปฏิเสธก็เท่ากับเราปฏิเสธหลักการประชาธิปไตย ผมยืนยันนะครับว่าฝ่ายเรา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนะครับ หากจะยกตัวอย่างประเทศที่นายกฯ ก็เคยอยู่ประเทศอังกฤษ ก็คงคล้ายๆ แต่เรามีลักษณะพิเศษของเราบางอย่างที่อาจจะแตกต่างไปจากอังกฤษ เพราะฉะนั้นผมอยากจะปูฐานตรงนี้ให้แน่นเสียก่อน เพราะท่านนายกฯ คงจะเห็นตรงกับผมนะครับ ถ้าไม่เห็นตรงกับผมท่านโปรดกรุณาปฏิเสธตรงนี้ก่อน ก็คือว่าท่านนายกฯ ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงหมายถึงว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
ถ้าหากตรงกันนะครับท่านนายกฯ 19 กันยาฯ ได้ทำร้ายประเทศอย่างพินาศยับเยินโดยการสร้างโครงสร้างใหม่ขึ้นแทนที่ แล้วมีหนังประชาธิปไตยหุ้มอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นท่านนายกฯ จะเห็นว่ามีการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้วก็จากนั้นรัฐบาลก็หกล้ม ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างน้อยก็ 3 รัฐบาล ท่านนายกฯ ขออนุญาตด้วยความเคารพนะครับ ถ้าไตร่ตรองและพิจารณาอย่างลึกซึ้งสักนิดหนึ่ง ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ คงจะไม่โต้แย้งผมว่าโครงสร้างที่แท้จริงของประเทศในวันนี้คือโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านอาจจะถามผมว่าคุณหมออธิบายอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร ท่านนายกฯ ครับ คือทันทีที่รัฐประหารปั๊บ รัฐประหารทำสิ่งแรกก็คือฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 และผมอยากจะกราบเรียนว่า จริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเห็นรัฐบาลชุดท่านนายกฯ ทักษิณเสียทุกเรื่อง ตัวผมเองก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในบางเรื่องด้วยซ้ำไป ถ้าท่านนายกฯ กลับไปดูอีกทีนะครับ แต่ตรงนั้นผมดีใจเพราะอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ นั่นคือบรรยากาศประชาธิปไตย แต่นี่ปัญหาท่านนายกฯ คงจะทราบนะครับว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เรียบร้อยแล้ว ผ่านไป 26 วัน แต่คณะรัฐประหารก็จงใจในการรัฐประหาร โค่นล้มระบอบประชาธิปไตยลงไป ถ้าหากท่านนายกฯ ติดตาม ไม่ทราบว่าท่านจะเห็นด้วยกับผมหรือเปล่า จากนั้นเป็นต้นมาคณะรัฐประหารจงใจสร้างโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองของคณะรัฐประหารขณะนี้ยังคงดำรงอยู่ อาทิเช่น กกต. อาทิเช่น ป.ป.ช. เป็นต้น และว่าไปแล้ว คตส.ก็เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยตรงของคณะรัฐประหาร
ที่ผมหยิบยกบางประการเพื่อให้ท่านนายกฯ เชิญชวนท่านนายกฯ อย่าไปพูดที่ผิวเปลือก ทะลุลงไปที่แก่น ผมอยากจะถามท่านนายกฯ ว่าแก่นแท้ของรัฐไทยในวันนี้เป็นรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ อันที่จริงสำหรับผม คนจำนวนมาก เห็นว่าแก่นแท้ของรัฐไทยวันนี้ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย ซึ่งในสายตาของท่านนายกฯ อาจจะเห็นว่าเป็นรัฐประชาธิปไตย เราจึงสู้กันตรงนี้ ท่านเห็นว่าเป็นรัฐประชาธิปไตย ท่านว่าอย่างนั้น ไม่ทราบนะครับ ท่านสามารถจะชี้แจงผมได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าแก่นแท้ของรัฐไทยในวันนี้ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย เราเรียกศัพท์ที่เป็นผลรวมทั้งหมด ก็คือเรียกว่ารัฐอำมาตยาธิปไตย จะว่าไปแล้วท่านนายกฯ คงไม่โกรธเคืองผมนะครับ ถ้าผมจะกราบเรียนท่านนายกฯ ว่าคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นผลพวงของอำมาตยาธิปไตยอุ้มสมมา
กราบเรียนท่านนายกฯ ตรงๆ เพื่อจะเข้าสู่ปัญหา เพื่อจะได้ตอบคำถามว่าถ้ายุบสภาแล้วจะดีต่อประเทศไทยอย่างไร เพราะขณะนี้ท่านนายกฯ ไม่ยอมรับนะครับว่าประเทศไทยมีระบบความคิด 2 ชุดเรียบร้อยแล้ว ระบบความคิด 2 ชุดนี้มันจะแตก ร้าว ขยายตัว และห่างไกลกันออกไปทุกทีๆ หากท่านนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับผมเรื่องนี้ อภิปรายตรงนี้ก่อนนะครับ ถ้าหากท่านนายกฯ เห็นด้วยกับผมในเรื่องนี้ ผมอยากจะกราบเรียนท่านนายกฯ ว่า วิธีการในการแก้ปัญหาความแตกร้าวของระบบคิด 2 ชุด ที่เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐทหาร เป็นรัฐอำมาตยาธิปไตย เพราะอันที่จริงแล้ว ถ้าท่านนายกฯ ไม่เชื่อผม ผมอาจจะยกตัวอย่างบางประการมาสนับสนุนความคิดเห็นของผมนะ
ผมขออนุญาตที่จะเอ่ยชื่อบางท่าน ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ แต่ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นจริง อาทิเช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในสมัยที่ท่านนายกฯ สมัครมอบอำนาจให้ท่านดำเนินการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปรากฏว่าท่านอธิบายว่าคนไทยด้วยกันไม่ควรจะฆ่ากัน อะไรแบบนี้ ผมก็จำคำพูดของท่านไม่ได้แน่นอน แต่ผมอยากจะถามว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้ดุลพินิจส่วนตัว ขออนุญาตท่านนายกฯ ใช้ศัพท์แรงๆ สักนิดหนึ่ง ใช้ดุลพินิจส่วนตัวเหยียบย่ำกฎหมายได้ไหมครับ ผมว่าคงไม่ได้นะครับ ไม่ได้ เพราะท่านนายกฯ เองก็ใช้ดุลพินิจส่วนตัวเหยียบย่ำกฎหมายไม่ได้ แต่ในวันนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ใช้ดุลพินิจส่วนตัวเหยียบย่ำกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชัดนะครับว่าห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ได้ทำอะไรเลย กระทั่งต่อมาในสมัยของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถึงแม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ท่านอาจจะไม่ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นผู้รักษาการในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นคนรักษาการก็จริง แต่ท่านนายกฯ ครับ โปรดเชื่อผมเถอะครับ ผมได้ไปถามตำรวจหลายท่าน คือตำรวจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภ.ราชาเทวะ และผู้ว่าฯ สมุทรปราการ ก็บอกผมเลยนะครับว่าขอกำลังจากฝ่ายทหารเพื่อมาสนธิกำลังเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ แต่ปรากฏว่าทหารปฏิเสธนะครับ แสดงว่าในขณะนี้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองที่แท้จริงมันอยู่ในมือของอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเรียกว่าอำมาตยาธิปไตย และตัวรัฐบาลท่านนายกฯ เองก็มาจากกลุ่มนี้ล่ะครับ ที่เขาอุ้มสมท่านนายกฯ ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ซึ่งท่านมีสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับผมนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็เลยก่อให้เกิดการแตกร้าวทางความคิดอย่างรุนแรง ผมจึงหยิบยกตัวอย่างประกอบ
อย่างเช่นท่านนายกฯ มันไม่มีเหตุผลอะไร เพราะพวกเราบอกแล้วว่าเราจะไม่ไปรัฐสภา แต่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังทหารร่วมๆ 75,000 นาย ไปจุกอยู่ในวัด จุกอยู่ในโรงเรียน ด้วยความเคารพนะครับท่านนายกฯ วัดเป็นศาสนสถาน เป็นสถานที่ประกอบกิจของสงฆ์ เพราะฉะนั้นทหาร ด้วยความเคารพ ผมรักทหาร ผมรักกองทัพ และผมเห็นด้วยบ้านเมืองต้องมีกองทัพและมีทหาร แต่วัดไม่ใช่เป็นที่อยู่ของทหาร เพราะทหารโดยอาชีพ ขออนุญาตท่านนายกฯ นะครับ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ ทหารมีอาชีพฆ่าคนครับ ฆ่าอริราชศัตรู เพราะฉะนั้นวัดไม่ใช่เป็นที่อยู่ของทหาร แต่ในการบริหารราชการแผ่นดินของท่านนายกฯ วัดตั้ง 7-8 วัด มีทหารเข้าไปจุกอยู่เต็ม และโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งกราบเรียนท่านนายกฯ ด้วยความเคารพนะครับ โรงเรียนน่ะ แก่นแท้ของโรงเรียนก็คือปลูกฝังเยาวชนในสิ่งที่ดีที่งาม แต่ท่านเอาทหารไปจุกอยู่ในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นจำนวนนับพันนาย มันเท่ากับเป็นการแสดงบอกประชาชนไทยทั่วทั้งประเทศ และบอกเยาวชนว่า นี่คือแบบอย่างที่ควรจะทำ คือสอนให้เยาวชนกระหายเลือด กระหายในการฆ่าฟัน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอาจจะด้วยความอึดอัดคับข้องใจของท่านนายกฯ หรือเปล่าไม่รู้ ผมกราบเรียนด้วยความเคารพนะครับ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นต่อท่านนายกฯ ว่า การเอาทหารอยู่ในวัด การเอาทหารอยู่ในโรงเรียนนั้นผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งทางปรัชญา และการทำให้สถาบันเสื่อมเสียด้วย
นี่ผมยกหยิบยกบางประเด็นที่ให้ท่านนายกฯ เห็นนะครับว่าขณะนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นชัดว่ารัฐไทยขณะนี้ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐทหาร หรือเรียกกันง่ายๆ ว่ารัฐอำมาตยาธิปไตย แล้วท่านนายกฯ มาจากการอุ้มสมของรัฐอำมาตยาธิปไตย เมื่อเป็นอย่างนี้ ความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองแก้ไม่ตกครับท่านนายกฯ เดี๋ยวผมจะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญต่อ เพราะท่านนายกฯ พูดเรื่องรัฐธรรมนูญยาวนะครับ ผมต้องขออนุญาตพูดต่อ คือท่านนายกฯ ถามว่าถ้าเรายุบสภาจะได้อะไร ทำให้ประเทศก้าวหน้าอย่างไร ผมกราบเรียนท่านนายกฯเลยนะครับ ข้อที่ 1 เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง ระบบความคิดทางการเมืองที่แตกร้าวอย่างรุนแรง แตกกระสานซ่านเซ็นและขยายตัวอย่างรุนแรง ด้วยความเคารพนะครับ ผมอาจจะไม่ได้มีโอกาสไปพบกับครอบครัวทุกครอบครัว แต่เท่าที่ผมได้มีโอกาสไปซื้อผัก ในวงกว้างแทบจะทุกครัวเรือน มีความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างรุนแรง เพียงแต่ว่าเขาอาจจะพูดในเชิงสี สีเหลือง สีแดง สำหรับผมน่ะเรื่องสีไม่ใช่เป็นเรื่องแก่น แต่เรื่องแก่นก็คือว่า ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าขณะนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าขณะนี้เป็นรัฐอำมาตยาธิปไตย แล้วตรงนี้ท่านนายกฯ ไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการอย่างอื่นเลย ยกเว้นจะต้องคืนอำนาจให้ประชาชน แล้วให้ประชาชนตัดสินใจอีกที เอ้อ พรรคประชาธิปัตย์โดยมีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี่แหล่ะเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง และหากว่าประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้งโดยตัดสินว่าพรรคประชาธิปัตย์นี่ล่ะเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นตัวแทนของอำมาตยาธิปไตย ตรงนี้จะแก้ปัญหาโดยรากฐาน โดยแก่นแท้ได้เลย นี่ประการที่ 1 นะครับ
ที่จริงมีเรื่องว่ารัฐไทยไม่ใช่เป็นรัฐประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐอำมาตยาธิปไตย เรื่องนี้ถ้าท่านนายกฯ ไม่ปิดโอกาสผม ผมสงวนสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม แต่ผมไม่อยากจะใช้เวลาเยอะ เดี๋ยวท่านนายกฯ จะเบื่อผมเสียก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นปรัชญา ถ้าท่านนายกฯ ถามผมว่ายุบสภาด้วยเหตุอะไร ด้วยเหตุว่าขณะนี้มีความขัดแย้งในเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้งมาก และแตกแยกมาก กว้างขวางมาก และแผ่ศาลไปทั่วประเทศ และมันลึกไปจนถึงรากหญ้าเลย และทุกครอบครัวก็รู้แล้วครับว่าขณะนี้อำมาตย์คืออะไร ระบอบอำมาตยาธิปไตยคืออะไร ไม่มีทางอื่นนะครับ ยกเว้นยุบสภาอย่างเดียว และเป็นไปได้นะครับควรจะยุบสภาในวันพรุ่งนี้เสียด้วยซ้ำไป เพื่อให้ประชาชนเขาตัดสินใจอีกทีว่า เอ้อ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่เป็นตัวแทนอำมาตย์ แต่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ท่านไม่ต้องไปยกตัวอย่างท่านทักษิณว่าเป็นอำมาตย์นะ อย่างที่ผมเรียนแล้วว่าผมยังสงวนสิทธิ์ในการที่จะอภิปรายในเชิงปรัชญา ผมจะไม่ลงในเรื่องตัวบุคคล ผมจะพูดถึงเรื่องปรัชญา ท่านนายกฯ ตอบผมสิครับ กอ.รมน.นี่ผมเคารพท่านชวนนะครับ แล้วปกติผมเรียกท่านว่าพี่ชวน ในสมัยรัฐบาลพี่ชวนท่านยังบอกเลยว่า กอ.รมน.ต้องเล็กลงๆๆๆ มาถึงท่านทักษิณ ผมมีเพื่อนเยอะ และญาติผมคนหนึ่งก็รับราชการอยู่ใน กอ.รมน. กอ.รมน.นี่อยู่ในมุมเหวที่กำลังจะยุบหายไปแล้วครับ แล้วทหารปืนนี่ กอ.รมน.นี่เป็นยักษ์อาละดินเลยนะครับ แล้วงบประมาณทางการทหารลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยของรัฐบาลท่านชวน มาสมัยรัฐบาลท่านทักษิณก็ยุบลงไปเหลือประมาณ 70,000 ล้าน แต่รัฐประหารตูม สิ่งแรกที่เขาทำ กอ.รมน.ขยายเต็มฟ้าเลยครับ แล้วสิ่งต่อมาก็คือว่า งบประมาณแผ่นดินในการทหารขยายจาก 70,000 กว่าล้าน เป็น 110,000 ล้านทันที แล้วปีต่อมา 110,000 ล้าน คือในสมัยของท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 50 นะครับ ปี 51 สมัยท่านสมัครก็ขยายต่อมาเป็น 140,000 ล้าน ปีต่อมาเป็น 150,000 ล้าน สมัยท่านนายกฯ ถ้าผมจำไม่ผิดคือมันจะเป็น 160,000 ล้าน จะว่าไปแล้วท่านนายกฯ สมัครก็ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ เพราะอำนาจที่แท้จริง เวลาท่านสมัรมอบให้กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ปรากฏว่า ด้วยความเคารพนะครับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ท่านไม่ได้อยู่ในที่สนทนาของเราแห่งนี้นะครับ ท่านสามารถโต้แย้งกับผมได้ ผมอยากกราบเรียนถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ท่านใช้ดุลพินิจส่วนตัวของท่านละเมิดและเหยียบย่ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อย่างไร เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขียนชัดนะครับว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ในทำเนียบรัฐบาลมีมากกว่า 2,000 คน แน่นอน ดุลพินิจส่วนตัวของท่านสามารถเหยียบย่ำกฎหมายได้ไหมครับ ผมไม่ทราบนะครับ แต่ท่านทำไปแล้ว ตรงนี้เป็นการสำแดงออกว่ารัฐไทยนั้นอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นนายกฯ สมัคร
นี่เรื่องเฉพาะทหารนะครับ ยังมีเรื่องตุลาการภิวัฒน์อีกนะครับ ด้วยความเคารพนะครับท่านนายกฯ คงจะมีความรู้ทางกฎหมาย คงจะไม่มากไม่น้อยกว่าผมนะครับ บางด้านผมอาจจะมากกว่าท่าน บางด้านท่านมีมากกว่าผม ท่านตอบผมสักคำสิครับว่ามีที่ไหนในโลกนี้ไหมครับว่าการพิจารณาของตุลาการไปพลิกพจนานุกรมมาประกอบการตัดสิน ด้วยความเคารพนะครับ ผมเคารพต่อคำตัดสินวินิจฉัยของศาลเรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ผมถามในเชิงกฎหมายนะครับ เพราะผมเรียนนิติศาสตร์มานะครับ นิติศาสตร์บอกเลยนะครับว่าในการพิจารณาคดีต้องเอาตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่มี เอากฎหมายที่ใกล้เคียง ถ้ากฎหมายที่ใกล้เคียงไม่มีก็เอากฎหมายสากลที่ใกล้เคียง ถ้าไม่มีก็เอาขนบธรรมเนียมประเพณีมาพิจารณา ไม่มีที่ไหนในหลักนิติศาสตร์ ด้วยความเคารพนะ ผมมีเพื่อนเยอะที่เป็นหมอ ในวันนี้เนี่ยเวลาเข้าไปประชุมทางการแพทย์ทั่วโลกไม่มีใครสนทนาเรื่องวิชาการแพทย์ เขาถามว่านายกฯ ของคุณนี่ถูกปลดด้วยเรื่องการทำกับข้าวได้อย่างไร ผมขายหน้ามาก นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่า ตุลาการภิวัฒน์มีอำนาจสูงเหลือเกิน ในประเทศนี้
ผมเพียงแต่กราบเรียนท่านนายกฯ 2 ประเด็นที่สำคัญว่า อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของทหารครับ ในวันนี้เนี่ย ท่านนายกฯ ใจผมไม่คิดว่า ท่านนายกฯ จะเป็นคนเช่นนั้น เราบอกแล้วว่าเราจะไม่ไปรัฐสภา แต่เนี่ยเอาบังเกอร์สงคราม ไม่ทราบว่าท่านนายกฯได้ไปดูหรือเปล่า ท่านนายกฯไม่ได้ไปดู ท่านจะเสียดแทนใจยิ่งกว่าผม ผมไปดูแล้ว ผมรับไม่ได้ มีบังเกอร์สงครามตั้งอยู่รอบรั้วพระราชวังสวนจิตรลดารโหฐาน บังเกอร์สงครามนะท่านนายกฯ อย่างนี้เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือเปล่าครับ เป็นการทำให้หลู่พระเกียรติยศหรือเปล่าครับ พระเกียรติยศของท่านเนี่ยมีอันมัวหมองหรือเปล่าครับ ทหารทำผิดเช่นนี้ได้อย่างไรครับ และทหารทำอย่างนี้ในวันศุกร์ดิบที่มีการประชุม IPU เนี่ย ผมว่า IPU เนี่ยทั่วโลกเขาเห็นแล้ว อันนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ท่านนายกฯเสียหาย รัฐสภาเสียหาย แต่มันประจานชัดเจนว่า ขณะนี้เนี่ยรัฐไทยเนี่ยไม่ใช่เป็นรัฐประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐประหาร หรือเป็นรัฐอำมาตยาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ที่พวกเราเสนอให้ท่านนายกฯเนี่ยพิจารณายุบสภาเสีย ในวันรุ่งขึ้น หรือในอีกกี่วันก็แล้วแต่นะครับ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจกันอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า รัฐบาลของท่านนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยแท้จริงแล้วเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริง และประชาชนจะได้เลือกท่านมา และผมจะเคารพท่านเลยนะครับ และผมจะไม่มีการต่อต้านอะไรท่าน แม้แต่น้อย และผมก็ยินดี ยกเว้นว่า แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันบ้าง ตามควรแก่กรณีเท่านั้นเอง ซึ่งตามสิทธิประชาธิปไตย นี่เรื่องที่ 1 นะครับ ตอบคำถามท่านนายกฯว่า เราจะมาร่วมกันทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าได้อย่างไร ผมอยากจะมาชวนท่านนายกฯว่า โปรดทำประเทศไทยที่เป็นรัฐอำมาตยาธิปไตย ให้เป็นรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริง อันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเถิด นะครับนี่อันที่ 1 นะครับซึ่งผมสรุปความโดยแก่นนะครับ
เรื่องที่ 2 ท่านนายกฯ พูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และท่านพูดถึงเรื่องประชามติเนี่ย ท่านนายกฯเนี่ยได้มีโอกาสไปร่ำเรียนที่ประเทศอังกฤษนะครับ ผมไม่มีโอกาสไปร่ำเรียนที่ประเทศอังกฤษ และผมทราบมาว่าที่ประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบประชาธิปไตย ท่านนายกฯครับ ท่านโปรดกรุณาตอบผมหน่อยนะครับว่า ประชามติที่ทำภายใต้ปากกระบอกปืนเนี่ยนะครับ เป็นประชามติที่เป็นประชาธิปไตยไหมครับ ประชามติที่ทำภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก 46 จังหวัด ใน 76 จังหวัด มากกว่าครึ่งประมาณ 60% นะครับ อันนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ครับ และข้อต่อมามีการใช้เงินประมาณ ผมจำไม่ได้แล้ว ตัวเลขผมอาจจะเวอร์เกินไปก็ได้นะครับ ถ้าเวอร์ไปขอประทานอภัย สิ่งที่ผมทราบมาคือ เป็นพันล้านบาท เพื่อที่จะไปชักชวน ชักจูง โน้มน้าวจูงใจ หรือว่าล้างสมองอะไรก็แล้วแต่ โดยท่านายกฯจะทราบหรือไม่ทราบนั้น ก็แล้วแต่ แต่ผมทราบ เพราะว่า ตรงข้ามคลินิกผมมีชุมชน คนยากจน ประมาณ 50,000 คน เขาบอกผมเลยว่า มีทหารลาดตระเวน ในช่วงก่อนที่จะมีการลงมตินะครับลงมติวันที่ 23 สิงหาคม หรือ 28 สิงหาคม 19 สิงหาคม ก่อนหน้าโน่นคือ เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคม เขามาฟ้องร้องผมทุกวัน ว่ามีทหารเนี่ยควงปืน M16 ไปลาดตระเวน ในชุมชนของเขา และเพียงแต่ใส่เสื้อแดงเขาจะไปตะคอกใส่ ขออนุญาตท่านายกฯนะครับ ถ้าผมจะใช้ศัพท์ชาวบ้าน เขาบอกว่า "มึงใส่เสื้อแดงทำไม" ท่านนายกฯครับ บรรยากาศอย่างนี้นะครับ ประชามติอย่างนี้ ท่านนายกฯยังจะรับรองว่า เป็นประชามติที่เป็นประชาธปไตยหรือไม่ครับ
ใน 10.7 ล้านเสียง อาจจะแพ้นะครับ แต่ว่า 14.7 ล้านเสียง ไม่ทราบท่านนายกฯ จะรับ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่มีเอ็กซิทโพลล์ นะครับ สำหรับผมแล้วเอ็กซิทโพลล์เป็นวิทยาศาสตร์ หมายความว่าถ่าออกมาจากคูหา เขาจะไปถามทันทีว่า คุณโหวดอะไร ก็ปรากฎว่า ส่วนที่โหวดไปเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญเนี่ยนะครับ 30%ครับท่านนายกฯ ผมสามารถหาหลักฐาน ท่านนายกฯ ต้องการที่ให้ผมเสนอหลักฐานเนี่ย ผมยินดีที่จะเสนอหลักฐานไปใน 3 วันข้างหน้านี้ ผมเอาหลักฐานมาให้ท่านนายกฯ ดู 30% ของ 14.7 ล้านเสียงนะครับ เห็นว่าการับไปก่อน การับไปก่อน เพราะเขาอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะเขาอยากให้การรัฐประหารผ่านพ้นไป เขาอยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เพราะเขาเห็นว่า นานาอารยประเทศทั่วโลกไม่ต้อนรับท่านนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็พูดเอง เพราะฉะนั้น 30% นี่ต้องนับรวมว่า เป็นผู้ที่ไปเห็นชอบโดยขมชื่นใจ เพราะฉะนั้นถ้า 30% ก็คือ 4.7 ล้านเสียง เพราะฉนั้น 4.7 ล้านเสียง ซึ่งอยู่ในฟากเห็นชอบด้วยเนี่ย ต้องมารวมในฟากที่ไม่เห็นด้วยนะครับ
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านนายกฯ มาบอกว่า ประชามติเห็นด้วย ผมขออนุญาติที่จะสงวนความคิดเห็น ผมไม่เห็นด้วยกับท่านนายกฯ นะครับ ผมกลับเห็นว่า เนี่ย 14.7 ล้านเสียงต่างหาก ที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และด้วยความเคารพนะครับ ท่านนายกฯสามารถโต้แย้งผมได้ เพราะว่าผมติดตามการให้ความเห็นทางการเมืองของท่านนายกฯมาพอสมควร แม้ว่าอาจจะไม่เสมอปลายทุกครั้ง แต่ผมจำได้นะครับ ว่าท่านนายกฯได้ไปแสดงความคิดเห็นในเวทีแห่งหนึ่ง ท่านบอกว่า รับไปก่อนเถอะ อันที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เนี่ยนะครับก็มีจุดอ่อน ข้อบกพร่องอยู่อีกเยอะ รีบไปแล้วก็มาแก้กันทีหลัง นี่ผมแยกประเด็นพูดแล้วนะครับ ประเด็นแรกผมจบไปแล้วนะครับ ท่านบอกว่า รับไปก่อนเถอะและมาแก้กันทีหลัง ถ้าผมจำผิดท่านนายกฯ โปรดแก้ให้ผมด้วย นะครับ คือท่านบอกว่าที่มาของ ส.ส.และที่มาของ ส.ว.น่าจะมีการแก้ ท่านว่าอย่างนั้นนะครับ แต่ผมจำไม่ได้แล้วนะครับ ขอประทานอภัยถ้าผมจำผิด แต่ผมจำได้ว่าท่านนายกฯบอกว่ารับไปก่อนเถอะ และมีสิ่งที่ต้องแก้อีกเยอะแยะ ด้วยความเคารพจริงๆนะท่านนายกฯ ปีหนึ่งหรือ ปีกว่าแล้วใช่ไหมครับ ด้วยความเคารพนะครับ ท่านมีโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเนี่ย แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามของท่านนายกฯ ในการที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยเนี่ย ดูจะไม่มากเท่าที่ควร ผมใช้คำว่าไม่มากเท่าที่ควรนะครับ ที่นี่ผมจะไม่โต้แย้งทั้งนั้น แต่ถ้าท่านนายกฯถามผมนะครับ ผมอยากจะกราบเรียนท่านนายกฯครับ ท่านนายกฯ โปรดกรุณาหยิบยกรัฐธรรมนูญสักฉบับหนึ่งของประเทศไทยก้ได้นะครับ หรือฉบับหนึ่งของโลกก็ได้นะครับ ที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ ตัวรัฐธรรมนูญเองครับว่า การรัฐประหารนั้น ถูกต้องชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันนะครับว่า ท่านนายกฯคงไม่สามารถ หารัฐธรรมนูญ แม้ฉบับเดียวในประเทศไทย หรือฉบับเดียวในโลก ที่ตราไว้ในตัวรัฐธรรมนูญว่า การรัฐประหารนั้น ถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ท่านนายกฯ ตอบผมหน่อยสิครับว่า 309 ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะครับ มันทำลายศักดิ์ศรีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยยับเยินหรือเปล่า เพราะว่าาถ่าท่านนายกฯไปอ่านมาตราอื่นเนี่ย ทุกมาตราขัดแย้งกับมาตรา 309 โดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้น เพียงมาตราเดียวเนี่ยก็สมควรจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว พวกคุณตีตราได้อย่างไรว่า การรัฐประหารถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เพราะการรัฐประหารความหมายมันก็คือ ใช้ปืน ใช้รถถัง มาทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของพี่น้องประชาชน แม้ท่านนายกฯเป็นนายก แม้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ถ้ามีคนเอาปืนและรถถังมาโค่นล้มรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ และเป็นรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมนี่แหละจะต่อต้านรัฐประหาร 1 คนเลย และจะออกมาต่อหน้า และท่านนายกฯพูดถึงรัฐธรรมนูญเนี่ย ผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนหลักนิติปรัชญา และนิติรัฐซักเล็กน้อยนะครับ
ท่านนายกฯคงจะเห็นด้วยกับผมนะครับว่า ที่จริงตั้งแต่สมัยฮัมบูราบี กฎหมาย 12 โต๊ะนะครับ บอกไว้ชัด ใครทำผิดลงโทษเฉพาะคนนั้น เพราะก่อนหน้าโน่นมนุษย์มันไม่เจริญ นะครับไม่เจริญ เพราะถ้าใครทำผิดเนี่ยบางทีฆ่า 7 ชั่วโคตรเลย แต่ฮัมบูราบีเป็นต้นมา ก็มีกติกาปรากฏชัดอยู่มนุษย์โลกแล้วว่า ถ้าใครทำผิดเนี่ย ลงโทษเฉพาะคนนั้น เพราะฉะนั้นมาตราอะไรผมจำไม่ได้แล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดดูดเหมือนจะเป็นมาตรา 267 หรือยังไงก็ไม่ทราบ
นายกฯ -237
น.พ.เหวง - 237 ครับท่านนายกฯครับ ขอบคุณมาก ท่านนายกครับ สมมตินะครับ สมมติท่านนายก กรรมการบริหารท่านหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ทำผิดนะครับ และหลายกลายเป็นว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เนี่ย กรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำผิด ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผมเองก็โกรธนะครับ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เป็นของท่านนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของ ชำนิ ไม่ใช่ของกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ไม่ใช่ของท่านพี่ชวน หลีกภัย ท่านนายกฯชวน หลีกภัย หรือของท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นของกรรมการบริหาร เป็นสมาชิกพรรค และไม่เพียงเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นของประชาชน ซึ่งเห็นดีเห็นงามกับนโยาบายพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจำนวนนับล้าน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ากรรมการบริหาร ก.ของพรรคประชาธิปัตย์ทำผิด ตูม! และยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตูม! เนี่ยเท่ากับผิดทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ด้วยนะครับ มันชัดเจนแล้วนะครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะยกทิ้งไปเลย ซึ่งเรื่องนี้เนี่ย ไม่เคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540
ท่านนายกฯ ครับ คือท่านเวลาพูดถึง 2540 ควรจะแก้เนี่ย ผมอยากจะกราบเรียนท่านนายกฯนะครับว่า ผมเข้าใจว่า ท่านนายกฯคงจะเห็นด้วยกับผม เรื่องที่จะแก้เนี่ยถ้าเป็นหลักใหญ่ หลักสำคัญเนี่ย เราควรจะยกทิ้งเลยครับ ถ้ามันผิดในหลักใหญ่หลักสำคัญ แต่ถ้าเป็นประเด็นปลีกย่อยเนี่ย เราควรจะแก้ ใช่ แต่ถ้าหลักใหญ่หลักสำคัญเนี่ย 2550 1. เนี่ย ระบุชัดเจนว่า รัฐประหารชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2.ความผิดส่วนตน กลายเป็นยุบทั้งพรรคเลย ซึ่งมันทำลายหมด 3.ท่านนายกฯครับหลักการประชาธิปไตยก็คือ 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ท่านนายกฯ ตอบผมหน่อยครับ เพียงผมเกิดในเขตจตุจักร ก็เลยทำให้ผมมีสิทธิ์กา ส.ส.ได้ 3 คน ถ้าผมบังเอิญ บังเอัญไปเกิดในระนอง และทำไมผมกา ส.ส.ได้คนเดียว และสิทธิ์ประชาธิปไตยของผมเนี่ย ต่างกันเพียงเพราะผมเกิดในจตุจักร และผมเกิดในระนองอย่างงั้นเหรอ เพราะฉะนั้นอย่างนี้มันทำลายหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
และนอกจากนี้ บัญชีรายชื่อที่ไปกรุ๊ปปิ้งว่า 8 จังหวัดเนี่ยนะครับ กลายเป็น 1 บัญชี อันนี้ก็ผิดเหมือนกัน เพราะผมไปดูแล้วว่ากรุ๊ปปิ้ง 8 จังหวัด ต่อ 1 กรุ๊ปปิ้ง กรุ๊ปปิ้ง กรุ๊ปปิ้ง เนี่ยนะครับ ไม่มีเท่ากันเลย นะครับ เหลื่อมล้ำกัน 3 หมื่นชื่อ 2 หมื่นชื่อ 5 หมื่นชื่อ ไอ้นี่ก็ทำลายสิทธิประชาธิปไตยเช่นกัน และ ส.ว. ท่านนายกฯครับ ส.ว.ใช้อำนาจอธิปไตยสุงสุดของประชาชนตั้ง 6 ประเด็นใหญ่ ผมคงไม่ลงเข้าสู่รายละเอียด นะครับ6 ประเด็น เช่น ฟังการแถลงนโยบายซึ่งสามารถอภิปรายได้ นะครับ ฟังการแถลงงบประมาณ อภิปรายได้นะครับ และก็นะครับ รับรองเรื่องการแก้กฎหมายนะครับ และก็ในเรื่องการแต่งตั้งบุคลากรองค์กรอิสระ และถอดถอนองค์กรอิสระ เป็นต้น
อำนาจของปวงชนชาวไทย 65 ล้านคน มอบให้กับคนเพียง 7 คนนะครับ มาตัดสิน ในการแต่งตั้งคนถึง 74 คนนะครับ ตรงนี้ใช้หลักการประชาธิปไตยอะไรมาอธิบาย ท่านนายกฯกรุณาอธิบายให้ผมฟังหน่อย เพราะผมฟังยังไง ยังไง ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแน่นอน เอาอำนาจของคน 65 ล้านคนไปมอบให้คน 7 คน เพื่อที่จะตั้ง ส.ว. 74 คน ท่านอาจจะใช้ภาษาสวยหรู ว่าสรรหา แต่ตรงนี้เป็นการทำลายประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง และด้วยความเคารพ ท่านนายกฯ ก็คงเห็นด้วยกับผมนะครับว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกไม่ได้ และทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปบอกว่า จังหวัดหนึ่งเลือก ส.ว.ได้ 1 คน คุณใช้หลักอะไรครับ เพราะกรุงเทพฯมีประมาณ 6 ล้านคน เชียงใหม่ประมาณ ล้านกว่า หรือ 2 ล้าน อุบลฯ ล้านกว่า หรือ 2 ล้าน และหลายจังหวัดเนี่ยประมาณ 2 ,3 แสน อย่างงี้ทำไม ถึงทำให้แต่ละจังหวัดนะครับ สามารถมีสิทธิ์ ในการเลือก ส.ว. ได้ 1 คน อันนี้เอาหลักของ สหพันธรัฐ หรือว่า นะครับ ก็พอดี พี่วีระ เขาส่งมาว่า คือผมเห็นท่านนายกฯอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญเยอะนะ และผมก็เห็นว่า ท่านไปแตะในเรื่องเปลือก ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องแก่นเลยนะครับ
เพราะฉะนั้น กลับมาประเด็นนะครับ คือในวันนี้ ผมยืนยันท่านนายกฯ นะครับว่า ขณะนี้ระบบคิด 2 ชุด ในสังคมไทยเกิดขึ้นแล้ว และนับวันนี้มันจะแตกร้าวขึ้นไปทุกที ทุกที ระบบคิดชนิดหนึ่ง คือว่า เห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ว่ากันไป แต่ระบบคิดอีกชุดหนึ่ง เห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลที่ อุ้มสมมาโดยรัฐอำมาตยาธิปไตย หรือรัฐทหาร และความคิดชนิดนี้เนี่ย เป็นความคิดทางการเมือง มันรุดไปขั้นปรัชญา ดังนั้นไม่มีทางแก้อย่างอื่น ก็คือ ควรจะต้องยุบสภา และให้พี่น้องประชาชนเนี่ยตัดสินใจทางการเมืองกันใหม่อีกครั้งหนึ่งนะครับ ขอบคุณครับ
**ต่อตอน 2**