xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภาต้องถามคนทั้งประเทศ ขึงพืดแดงออกทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "รัฐบาล-เสื้อแดง" เจรจายื้อ "มาร์ค" ขึงพืด ลั่นยุบสภาต้องถามคนทั้งประเทศ จี้ใจดำต้องไม่แก้ รธน. นิรโทษกรรมให้ใครบางคน ยันไม่สนใจเลือกตั้งมาแล้วจะแพ้หรือชนะ หากยุบสภาแล้วแก้ปัญหาความขัดแย้งร้าวลึกได้ "ไอ้ตู่" หาทางลง จี้ยุบสภา ใน 2 สัปดาห์ ม็อบเซ็ง เจรจายืดยาดแกนนำถูกต้อน


เมื่อเวลา 08.05 น. วานนี้ (28 มี.ค.) สถานีโทรทัศน์ทุกสถานี ได้แพร่ภาพเทปบันทึกแถลงการณ์พิเศษ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง และข้อเรียกร้องให้ยุบสภา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้แสดงจุดยืนพร้อมเจรจากับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงในบรรยากาศที่เป็นไปด้วยความปกติ ไม่ใช่ใช่การชุมนุม ข่มขู่ กดดัน เหมือนที่กำลังกระทำกันอยู่ (อ่านรายละเอียดแถลงการณ์พิเศษ หน้า 4)

**ลั่นแดงบุกราบ 11 เจอกฎอัยการศึก

ต่อมา เวลา 08.18 น. ที่ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส. ) กองพลหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก ร่วมแถลงข่าวสรุปสถานการณ์การดูและความสงบเรียบร้อย และแผนการรับมือกลุ่มเสื้อแดงที่จะเคลื่อนพลมาบุก ราบ 11

โดยนายสุเทพ กล่าวว่าหลักในการดำเนินการของ ศอ.รส. ยึดหลักการปฏิบัติการทุกอย่างต้องอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย และศอ.รส. เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งผู้มาชุมนุม และที่เป็นเจ้าของประเทศ

ที่ผ่านมา การปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. ทั้งที่เป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้ยึดหลักการอดทน อดกลั้น ยืดหยุ่น ด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อจะไม่ให้เหตุการณ์ทั้งหลายขยายตัว พี่น้องในกรุงเทพฯ เห็นชัดเจน เราได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ไปรักษาความสงบเรียบร้อย กระจายออกไปรักษาความสงบทั่วทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้พกพาอาวุธร้ายไปเลย มีเพียงแต่อุปกรณ์ปกป้องตนเอง เช่น โล่ หรือกระบองเท่านั้น

นายสุเทพ กล่าวว่า ข้อเสีย คือว่า เวลามีคนร้ายเข้าไปโจมตีสถานที่ของทางราชการขว้างระเบิดใส่ หรือยิงระเบิดเข้าใส่ มักจะได้รับบาดเจ็บ เพราะไม่มีอาวุธตอบโต้ได้ทันที เราจะติดตามคนก่อเหตุร้ายเหล่านั้นมาดำเนินคดีได้ทุกราย เราต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ และต้องให้คนเหล่านี้ต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ซึ่งบางคดีจับกุมคนร้ายได้แล้ว บางคดีรวบรวมหลักฐานได้แล้ว เพื่อดำเนินการจับกุมตัวมาเรียบร้อยแล้ว ตนและผู้รับผิดชอบใน ศอ.รส. ทุกท่าน จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และจะให้พี่น้องข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้ทำหน้าที่โดยเต็มที่ต่อไป

" ยืนยันว่า ศอ.รส. จะไม่ยอมผ่อนปรนโดยเด็ดขาด ในการที่จะปกป้องรักษาสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านเป็นศูนย์รวมใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย เราทราบพี่น้องเป็นห่วง สนามบินสุวรรณภูมิ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล สถานที่เหล่านี้ ศอ.รส.จะพยายามดูแลอย่างเข้มงวด และไม่ยอมผ่อนปรน ส่วนที่มีการผ่อนปรนให้ผู้ชุมนุมไปเมื่อวาน ด้วยเหตุที่เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง บานปลาย ศอ.รส.มีความกังวลใจ ขอซักซ้อมชี้แจงพี่น้องประชาชน บรรดาแกนนำ และผู้ร่วมชุมนุมที่มาบริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำคัญของทางทหาร และมีกฎหมายพิเศษที่จะให้อำนาจผู้บัญชาการหน่วยทหารแห่งนี้ ใช้อำนาจตามกฎหมายดูแลปกป้องสถานที่สำคัญแห่งนี้ กรมทหารราบที่ 11 เป็นสถานที่สำคัญของทหาร นอกจากมีทหารแล้ว ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของกองทัพปกป้องประเทศ ปกป้องอธิปไตยของประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ยอมให้ใครบุกรุกเข้ามาปราศจากการควบคุม เพราะผู้บุกรุกเหล่านั้น อาจจะฉวยโอกาสหยิบเอาอาวุธไปก่อการร้ายไปทำร้ายประเทศ ทำร้ายประชาชนข้างนอกได้

ถ้าหากมีกรณีการบุกรุกทหารราบที่ 11 ศอ.รส.ได้ตัดสินใจมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหาร ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่กรมพลทหารราบที่ 11 แห่งนี้ กรณีนี้เราไม่ได้มองพี่น้องประชาชนเป็นศัตรู แต่ต้องยับยั้งเหตุร้าย หรือการก่อการร้าย การประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น จะประกาศใช้ ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่สามรถควบคุมได้ มีการบุกรุกกรมพลทหารราบที่ 11 เท่านั้น และประกาศใช้เฉพาะกรมทหารราบที่ 11 เท่านั้น จึงจะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของพี่น้องประชาชน ที่อยู่ภายนอก" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ตนต้องประกาศซักซ้อม ถ้าหากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่นี้ จะแจ้งประชาชนทราบทันที และจะชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกเรื่องให้ประชาชนรับรู้ทุกขั้นตอน ของศอ.รส. ถ้าไม่มีการบุรุกกรมพลทหารราบที่ 11 ก็จะไม่มีการประกาศกฎอัยการศึก และแม้ประกาศใช้ไปแล้ว ถ้าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็จะเลิกใช้ทันที จึงอยากจะส่งข่าวสารไปถึงแกนนำผู้ชุมนุม ตระหนักในเรื่องนี้ และขอให้ระมัดระวังควบคุม ดูแลพี่น้องประชาชนจำนวนมาก อาจมาร่วมชุมนุมอาจมี ผู้ยุยง ปลุกปั่น อยากให้แกนนำทั้งหลายร่วมกันรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้แกนนำทั้งหลายพาพี่น้องมาด้วยตัวเอง ศอ.รส. จะพิจารณาใช้กฎหมายที่เหมาะสม และจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ตนให้ความมั่นใจได้ว่าทุกภาคส่วนราชการร่วมมือปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมงด้วยความเข้มแข็ง

**เลือกเจรจาที่ส.พระปกเกล้าฯ

เมื่อเวลา 10.45 น. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประสานการเจรจาระหว่างนายกฯ แกนนำคนเสื้อแดง เปิดเผยผ่านสถานนีโทรทัศน์ช่อง 11 ว่า นายกฯจะไปเจรจาบวกกับอีก 3 ท่าน ส่วนจะเป็นใครกำลังใช้ดุลพินิจอยู่ ส่วนแกนนำส่วนแกนนำคนเสื้อแดง ที่จะมาเจรจาเบื่องต้น ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระ มุสิกพงศ์ และนพ.เหวง โตจิราการ สำหรับสถานที่ในการเจรจากำลังประสานกับสถานบันพระปกเกล้าฯ เป็นสถานที่เจรจา

**แกนนำแดงตอบรับการเจรจา

ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เวลา 10.50 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. แถลงข่าวพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ระหว่างแกนนำทั้ง 4 คน คือนายวีระ นายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนพ.เหวง กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมด้วยตัวแทนอีก 3 คน หรือรัฐบาลจะมากี่คน เราก็ยินดี ส่วนสถานที่จะใช้สถาบันพระปกเกล้า เราก็ไม่ขัดข้อง เราจะเดินทางไปทั้ง 4 คน ด้วยความสงบแล้วเข้าสู่กระบวนการเจรจากันทันที ส่วนรูปแบบการเจรจา จะให้เป็นการภายใน หรือเปิดเผยและมีการถ่ายทอดสด เราก็ยินดีทุกรูปแบบ ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงจะยังุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า และหน้ากรมทหารราบที่11 รักษาพระองค์ (ราบ 11) เหมือนเดิม และจะไม่มีการบุรุกเข้าไปใน ราบ 11 แน่นอน

"หวังว่าผลของการเจรจา จะได้ข้อยุติที่ดีเพราะไม่ประสงค์ต้องการให้เกิดความรุนแรง และต้องการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปให้กับประเทศชาติ ยืนยันว่า คนเสื้อแดงมีจุดยืนเดียว จุดยืนเดิม คือ การยุบสภาเท่านั้น และการเจรจาจะต้องเป็นไปภายใต้หลักการสันติวิธี" นายณัฐวุฒิ กล่าว

**ต้องถ่ายทอดสดการเจรจา

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้ คนเสื้อแดงต้องการให้มีการถ่ายทอดสด เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ และถ้ามีการ ยุบสภา เชื่อว่าผลดีจะตกอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เพราะจะสามารถหาเสียงได้อย่างสงบทุกพื้นที่ สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้เหมือนกับก่อนเหตุการณ์ 19 ก.ย. 49

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า หากมีการเจรจาเสร็จแล้วจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำโดยใช้คดีในอดีตนั้นยืนยันว่าไม่ได้ห่วงในเรื่องนี้ หากจะมีการตลบหลังจากรัฐบาล

" เราจะไปกัน 4 คน และขอร้องว่าคนเสื้อแดงอย่าตามไปเด็ดขาด เพื่อให้นายกฯสบายใจขอให้ตั้งอยู่ในฐานที่มั่นทั้ง 2 ที่อย่างสงบ การเจรจาเป็นเรื่องของแกนนำ 4 คน ผลเป็นอย่างไร เราจะแจ้งให้รับทราบต่อไป และอยากให้นายกฯ เตือนนายสุเทพ และนายเนวิน ว่าระหว่างการเจรจา อย่าจัดชุดแดงเทียมเข้ามาสร้างสถานการณ์ เพราะยืนยันว่า แล้วคนเสื้อแดงจะไม่ไปในพื้นที่ที่จะมีการเจรจาอย่างเด็ดขาด อยากเตือนว่ารัฐบาล อย่าใช้วิธีลอบกัด เพื่อเตรียมการล้มโต๊ะด้วยการใช้แดงเทียม" นายจตุพร กล่าว

เมื่อถามว่า หากการเจรจานายกฯ ขอให้มีเวลาในการยุบสภาออกไป และให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมไปก่อน พร้อมกับมีการลงสัตยาบัน นปช. จะยอมรับหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่อยากคาดการณ์ล่วงหน้า ต้องรอให้มีการเจรจาเกิดขึ้นก่อน ส่วนผลจะเป็นอย่างไรให้ไปเกิดขึ้นในการเจรจา ตนไม่อยากจะพูดถึงการยกเลิกการชุมนุม

**เลื่อนเวลาเจรจาไป 16.00 น.

ต่อมานายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กล่าวว่า ล่าสุดจากการประสานงานจากนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ข้อสรุปว่า นายอภิสิทธิ์ ตกลงกำหนดนัดหมายเจรจา 16.00 น. แล้ว ซึ่งเราได้รับการนัดหมายนี้อย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยตัวแทนเราจะเดินทางไปยังสถาบันพระปกเกล้า เพื่อเริ่มการเจรจา และฝ่ายรัฐบาล จะต้องมีนายอภิสิทธิ์ มาเจรจาด้วยตนเอง

"เดิมทีแกนนำจะไปเจรจาทั้ง 4 คน แต่เกรงว่าอาจจะมีการสร้างสถานการณ์เกิดขึ้น ดังนั้น ผมจะกำกับดูแลประชาชนอยู่ที่นี่ เพื่อระวังหลังให้กับตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง และหากถึงเวลาหนึ่งทุ่ม สองทุ่ม หรือสามทุ่ม แกนนำที่ไปเจรจาทั้ง 3 คน ไปแล้วยังไม่กลับ ผมก็จะประกาศมาตรการเข้มข้นต่อไป ส่วนผู้ชุมนุมที่กระจายอยู่บริเวณ ราบ 11 ขอให้มารวมพลกันเพื่อเตรียมตัวที่ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศที่เดียว" นายณัฐวุฒิ กล่าว

**รัฐบาล-เสื้อแดงจับมือก่อนเจรจา

ต่อมาเวลา 15.45 น. ที่สถาบันพระปกเกล้า อาคาร บี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่เจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเป็นตัวแทนการเจรจา ได้เดินทางมาถึงโดยรถยนต์ประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และคณะ

ต่อมาแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ ก็เดินทางมาถึงเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่า ระหว่างที่มีการเจรจาเกรงว่า จะมีปัญหาเกิดขึ้นไหม นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาๆ พร้อมกับบอกให้ผู้สื่อข่าวใจเย็น จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ในเบื้องต้น จะมีการเจรจากี่ครั้ง นายกฯก็ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด โดยนายชำนิ เปิดเผยว่า ที่มาเจรจา เพื่อจะคุยว่าข้อเรียกร้องที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งอะไรที่อยู่ในกระบวนการเป็นการเจรจาปรึกษาหารือ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีธงทั้งสิ้น เพียงแต่ถือว่าเป็นการพบปะกันเพียงครั้งแรกของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนครั้งที่ 2 ที่ 3 จะมีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการคุยวันนี้ว่าจะตกลงกันได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่เคยคุยกัน

ขณะที่ นายจตุพร กล่าวยืนยันว่า จะคุยแค่ประเด็นเดียวคือ เรื่องยุบสภา จะไม่คุยเรื่องอื่น จะคุยแค่ครั้งเดียว และต้องมีการถ่ายทอดสดด้วย

จากนั้น ตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้เข้าสู่ห้องเจรจา โดยนั่งอยู่คนละฝั่ง หันหน้าเข้าหากัน และได้เปิดโอกาสให้ช่างภาพได้บันทึกภาพ ซึ่งปรากฏว่าทั้ง 2 ฝ่าย ได้จับมือกันให้ช่างภาพบันทึกภาพด้วย

** วีระอ้างผลจากรัฐประหารทำวุ่น

การเจรจาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 16.30 น. โดยในช่วงต้น นายวีระ ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้สละเวลามานั่งเจรจาเพื่อหาทางออกในครั้งนี้ และเชื่อว่า คนไทยก็รู้สึกโล่งใจ เพราะหากปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะหรือพ่ายแพ้ มีแต่ชาติบ้านเมืองที่จะเสียหาย พร้อมทั้งยืนยันว่าเจตนาของคนเสื้อแดง ก็คือ ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา เพื่อนำไปสู่การขอประชามติจากประชาชน เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ก่อนนำไปสู่การแก้ไขรธน.ปี 50 ที่เกิดจากการทำรัฐประหาร ได้มาโดยผิดครรลอง และไม่เป็นประชาธิปไตย ดังจะเห็นพิษสงจากนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิ หรือพรรคการเมืองถูกยุบ รธน.ฉบับจึงมีที่มาจากเผด็จการทหาร

"นายกฯไปยอมรับกฎเกณฑ์ของรธน.50 ทำให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อของการทำรัฐประหาร ทั้งนายกฯ เองก็เป็นนักเลือกตั้ง จึงขอได้ไหมให้มีกระบวนการแก้รธน. แต่เวลาล่วงเลยมาแล้วปีเศษ การแก้รธน.ก็ไม่ความคืบหน้า กลุ่มคนเสื้อแดงก็เลยหมดความอดทน จึงจำเป็นต้องออกมาเดินขบวนกันข้างถนน" นายวีระกล่าว

***ยุบสภาต้องถามคนทั้งประเทศ

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเราอยากให้ประเทศไทยชนะ ไม่ใช่เป็นชัยชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งตนยืนยันตลอดว่า เราไม่ใช่ศัตรูกัน แต่ว่าความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

สำหรับข้อเสนอ เรื่องยุบสภานั้น ตนไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่มีคำถามว่า เราต้องการยุบสภาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ตนคิดว่าวันนิ้สิ่งที่แสดงออกมาจากความขัดแย้ง มันนับยากว่ามันจะเริ่มจากตรงไหน ตนไม่ได้คิดว่ามันเริ่มจากที่ตนมาเป็นนายก หรือเพราะว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร แต่คิดว่าอาจจะมีหลายรื่องสะสมกันมา มีเรื่องโครงสร้างบ้าง ตัวบุคคลบ้าง ปัญหาก็ลุกลามมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ตนพูดมาตลอดในเรื่องของการยุบสภาคือ 1. สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด ถ้าทุกคนชนะ ประเทศสงบสุข ตนก็นึกว่าไม่ออกใครจะค้าน แต่ถ้าเราเริ่มคุยกันจะเห็นประเด็นต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าตกลงการยุบสภาเป็นคำตอบเหมือนดีดนิ้ว แล้วมันจบแล้วชนะจริงหรือไม่

2. ท่านทั้ง 3 คน มาในฐานะคนเสื้อแดง ส่วนตนไม่ได้มาของฐานะของหัวหน้าพรรคการเมือง แต่มาในฐานะนายกฯ ซึ่งกินความมากกว่าหัวหน้าพรรค เพราะรัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลผสม ที่บังเอิญระบุว่าให้มา 3 คน ตนก็ไม่สามารถเอาทุกพรรคมาอยู่ในสามคนได้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ตนก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งตนก็ได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมาแล้ว ทุกพรรคก็สนับสนุนกระบวนการในการที่เราคุยกันท่านจะได้สบายใจ แต่เราก็ต้องฟังของเขาด้วย เขาก็มีข้อคิดว่ายุบสภาแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

ที่ สำคัญกว่านั้นคือ ตนเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเป็นส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ รวมทั้งคนเสื้อแดงด้วย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าดูว่าบนความตั้งใจร่วมกันว่า การยุบสภาแล้ว แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือถ้ายุบสภาแล้วแก้ได้ มันมีอะไรที่เราต้องตกลงทำความเข้าใจ หรือทำเพื่อให้เดินไปได้ ถ้าคุยกันก่อนกรอบตรงนี้น่าจะตรงประเด็นที่สุด ถ้ามีเรื่องอื่นที่อยากจะหยิบขึ้นมากี่ยวกันก็สามารถพูดคุยกันได้

**อ้างเลือกตั้งเพื่อขอประชามติแก้รธน.

จากนั้นนายวีระ กล่าวว่า ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมืองเริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจ 19 ก.ย. 49 และคณะผู้ยึดอำนาจก็ได้ทำกฎหมายรธน. 50 ซึ่งเมื่อใช้รธน.มาถึงตอนนี้ ก็เห็นพิษสงแล้วว่าเป็นรธน.ที่ขัดหลักการและเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และทำให้พวกตน และรัฐบาลต้องตกเป็นเหยื่อการเมือง จนทำให้ประชาชนต้องออกกมาต่อสู้บนท้องถนน

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เท่ากับเป็นการขอประชามติ ประชาชนไปในตัว ตอนเสนอนโยบาย ก็บอกกับประชาชนว่า ถ้าเลือกพรรคนี้จะแก้ ไม่แก้รธน. ก็ว่ากันไป ถ้าใครเสนอว่าจะแก้ไขรธน.ถ้าชนะก็มาแก้ พวกที่บอกว่าไม่แก้ ถ้าชนะก็ไม่ต้องแก้ แต่จะมีคำถามว่าถ้าฝ่ายไม่แก้ชนะ จะยุติปัญหาได้หรือไม่ ในส่วนนี้พวกตนสามารถที่จะรับประกันได้ ว่า ถ้าผลออกมาอย่างไร ต้องยอมรับ แล้วยุติการเคลื่อนไหวต่อต้าน

**มาร์คจี้ใจดำ แก้รธน.เพื่อใคร

ประเด็นดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะโยทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่รัฐประหาร และรัฐธรรมนูญ50 นั้นคงไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ใช้กันมาจุดหนึ่ง มีเสียงพูดกันว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่บอกว่าประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ในที่สุดก็มีปัญหา หลายเรื่องที่หลายคนในฝ่ายท่านคัดค้านว่า ศาล และองค์กรอิสระมีอำนาจ ที่จริงเริ่มจากปี 40 แต่วันนั้นเสียงบ่นตรงข้าม คือยุคนี้ท่านจะบ่นว่า กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ไปลงโทษคนที่มาจากการเลือก ตั้งแต่ยุคนั้นบ่นกันว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งไปแทรกแซงองค์กรอิสระจนตรวจสอบไม่ได้ มันต้องยอมรับว่า ขัดแย้งกันมาก่อน การเมืองที่ลงไปสู่ถนนนั้นมันไม่ใช่เพราะปี 49แต่มันมาจากปี 48 ที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่องนี้มีบันทึกไว้เยอะ ไม่ใช่เพียงแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ เรื่องสิทธิและการทุจริต ตรงนี้คือที่มา และจะไปมองเฉพาะ19 ก.ย. 49 เป็นจุดเริ่มต้นปัญหานั้นคงไม่ใช่ คนที่ทำให้เกิดเหตุนี้มีเหตุผลเพราะหลายเรื่องที่ทักท้วงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะบอกว่าผิดทั้งหมดนั้น คงไม่ใช่ เพียงแต่วิธีที่นำมาใช้มันไม่เหมาะสมในสายตาของนักการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวเพราะในการเลือกตั้ง 2549 ที่มีการตัดสินให้โมฆะ ทุกพรรคการเมืองที่มาเรียกร้องและลงสัตยาบันบ้างบอกว่า รัฐธรรมนูญต้องรื้อแล้ว ฉะนั้นปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะการรัฐประหาร แต่มันมาก่อนหน้านี้ และหลายคนไม่พอใจจนวันนี้ และค้างคาใจกับปัญหาที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ก็มีจุดอ่อน และข้อบกพร่อง แต่ใช่ว่าจะไม่ดีทั้งหมด เพราะบางเรื่องดีกว่า อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านประชามติ ซึ่งหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงจริง ต้องคำนึงถึงกระบวนการประชามติด้วย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็มีความเห็นแตกต่าง หลากหลายประเด็นมาก

เมื่อปี 2551 หลังการเลือกตั้ง 2550 ตนเป็นรัฐบาลที่สาม ไม่ใช่รัฐบาลแรก พรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้งมีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพูดมาว่าเป็นความชอบธรรมของพรรคพลังประชาชน ที่ตั้งรัฐบาล รัฐธรรมนูญระบุว่า หากพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พรรคจะโดนยุบ และกรรมการบริหารพรรคจะโดนเพิกถอนสิทธิ 5 ปี ตอนที่นายสมชาย พ้นออกจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาล วันที่เลือกนายกฯกันใหม่ พรรคที่มีเสียงมากที่สุดคือพรรคเพื่อไทย และ ไม่ได้เสนอชื่อคนในพรรคเป็นนายกฯ แต่ไปเลือกคนจากพรรคเล็กกว่าพรรคประชาธิปัตย์เยอะ แต่เราถือว่ามันเป็นกลไกของระบบสภา เพราะหากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็ต้องรวบรวมเสียงข้างมากไม่ใช่ว่าเลือกแล้วจบเลย รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ มันต้องโดนอภิปราย กฎหมายต่างๆ ในปีกกว่าๆ ที่ผ่านมา มีการพูดกันว่าหากไม่ทำอะไรเลยรัฐบาลนี้จะอยู่ค้ำฟ้า ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ หากไม่ทำอะไรเลยและตกลงกันไม่ได้ ปีหน้าต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะสภาครบวาระ หากยุบสภาเพื่อได้คำตอบบางอย่าง ก็ต้องมาคุยกัน

" ช่วงที่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในปี 2551 นั้นปัญหาที่เกิดขึ้นมันก้าวล่วงไปถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ความคลางแคลงใจว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง และเพื่อนิรโทษกรรม ตรงนี้คือสิ่งที่ติดใจคนว่ามันไม่เป็นธรรม ที่แก้เพื่อตัวเองและนิรโทษกรรมนั้น จนเกิดการความรู้สึกรุนแรง แตกแยก และมีการชุมนุมจากอีกสีหนึ่ง ผมขอตั้งคำถามว่า 1 . หากยุบสภาเพื่อประชามติ รัฐธรรมนูญไปด้วยนั้น มันคงไม่ตรงนัก เพราะชาวบ้านอาจเลือกนักการเมืองเพราะนโยบายพรรคและไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการสรุปว่าการเลือกตั้งจะให้คำตอบได้ มันคงไม่ค่อยตรงนัก 2. หากเลือกตั้งในวันนี้ จะใช้กติกาที่ใช้ในครั้งที่แล้วเดี๋ยวก็มีปัญหาอีก หากไปหาเสียงแล้วอ้างว่าตนสั่งฆ่าประชาชน ก็ต้องร้องเรียน หาก กกต.วินิจฉัยว่าผิด และเกิดการยุบพรรค มันจะวนกลับมาตรงนี้หรือไม่ ผมจึงบอกว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันให้เห็นประเด็น และเป็นสิ่งที่ดี ที่นายวีระบอกว่า รับประกันว่าหากผลเลือกตั้งออกมาอย่างไรอีกฝ่ายต้องยอมรับ สมมติว่าพรรคหนึ่งชนะ แต่ถูกจับฟาลว์และแพ้ อย่างนี้จะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องคิดกัน และควรตกลงกติกาให้ชัดก่อน เพราะกติกาเขียนแบบนี้ และเวลานี้ที่พวกเรามาคุยกันนั้น จะผูกมัดกับหลายฝ่ายไดไหม พรรคของผมไม่มีปัญหา แต่บางคนบอกว่า ยอมรับไม่ได้หากยุบสภาแล้วบางฝ่ายยอมรับ บางฝ่ายไม่ยอมรับ แล้วจะมีปัญหาอีก หากคิดว่ายังมีกลุ่มอื่น แล้วควรเชิญมาร่วมอีกหรือไม่ เพื่อให้ได้คำตอบถาวร เพราะหากแก้ปัญหาแล้วมันไม่ได้แก้ แล้วจะโดนตำหนิว่า เราแก้ปัญหาของตัวเอง และรัฐบาลแต่ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ ตรงนี้จะซ้ำเติมการเมืองที่เป็นภาพลบ ต้องขยายความว่าควรเชิญฝ่ายอื่นมาร่วมหรือไม่" นายกรัฐมนตรี กล่าว

** ถ้าไม่ยุบสภา ทางใคร ทางมัน

จากนั้น นายจตุพร กล่าวว่าถึงประเด็นที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ เสนอแก้ไขใน 6 ประเด็น เพราะ ตนเชื่อว่า สภานี้จะแก้ไม่สำเร็จ และเป็นไปได้ยาก ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณโทรมาแล้วล้มโต๊ะ เพราะหากรัฐบาลและ ส.ว.ที่สนับสนุนก็น่าจะผ่านได้ พวกตนจึงไม่ไปยุ่ง

วันนี้ตั้งใจมาพูดว่ายุบสภา และเป็นสิทธิของนายกฯ ที่พูดได้ว่าไม่ยุบ ตรงนี้ก็มาสู้กัน แต่บรรยากาศบ้านเมืองเเบบนี้ไปไม่ได้ นายกฯ ควรคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะนายกฯบอกว่าจะได้ 240 เสียง และไปไหนก็ไม่ต้องใช้กำลัง ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรก็จบ และตนจะให้สัตยาบันในเรื่องหาเสียง แต่ละฝ่ายจะไปหาเสียงได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากประชาชนเห็นว่านายกฯถูก ก็กลับมาได้อย่างสง่างาม หากไม่ยุบสภาวันนี้ จะหาความสงบสุขไม่ได้ หากประชุมครม.ที่ ร.11รอ. พวกตนก็ตามไปทวงอีก พวกเราไม่ควรอยู่ในชะตากรรมแบบนี้ ประชาชนจะกลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ เพราะเห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว นายกฯเป็นคนหนุ่ม ที่น่าจะแฟร์เกม และแฟร์เพลย์ วันนี้นายกฯทำอะไรและทหารสนับสนุน มันตอกย้ำและติดใจคน หากนายกฯเดินหน้าต่อก็ลำบาก ยิ่งใช้กำลังยิ่งไม่จบ พวกตนมีวินัย และคุยรู้เรื่อง จึงควรคืนอำนาจให้ประชาชน ผลการเลือกตั้ง จะบอกเองว่าสนับสนุนใคร วันนี้นายกฯ จะสนุกกับการนั่งเฮลิคอปเตอร์แบบนี้หรือ หากไม่เจรจาวันนี้ก็ไม่รู้จะจบอย่างไร สถานการณ์วันนี้ควรคืนอำนาจให้ประชาชน หากไม่ยุบนายกฯ ก็กลับร.11รอ. ตนก็ไปชุมนุมต่อ

**เชื่อยุบสภายิ่งนำไปสู่วิกฤติ

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การเจรจา ถ้ามัวพูดเรื่องย้อนอดีต มันไม่จบ ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง กติกา ว่ากติกามันแก้ยาก ท่านส.ส.พูดว่าแก้ไม่ได้ ตนเป็นผู้แทนมาก็เชื่อว่าแก้ยาก เมื่อแก้ยากก็ถามว่าจะทำยังไง นายวีระเสนอว่าให้คนชนะการเลือกตั้งไปดำเนินการแก้ไข แต่ถามว่าชนะเต็มหรือเปล่า ความจริงเรื่องการสอบถามประชาชนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องปกติประเทศพัฒนาทำกัน ตนย้ำใครชนะหรือแพ้ ต้องแก้ตามนั้น ไม่ใช่แก้ตามใจพรรคที่ชนะ ถ้าเราจะพูดว่ากติกามันยาก ไม่ยุบเสียที เราสามารถเอาประเด็นต่างๆ มานั่งคุยต่อ ที่ท่านนายกฯ เปิดไว้ ช่วงนายกฯไม่อยู่ คุยกับนายวีระได้ ก็น่าจะมีจุดจบ ก็น่าสนใจ

นายชำนิ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่า การยุบสภาจะนำไปสูการแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อปี 49 ที่ผ่านมามีการยุบสภา ซึ่งรัฐบาลคิดว่า จะเป็นทางออกของวิกฤติ แต่กลับนำไปสู่วิกฤตใหม่มาให้สังคมไทย และทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และแน่ใจว่าถ้ายุบสภาครั้งนี้ นำไปสู่วิกฤตแน่นอน

**เสนอให้ต่างฝ่ายต่างกลับไปคิดต่อ

ประเด็นนี้ นายวีระ กล่าวว่า ถ้าปล่อยไปคนเสื้อแดง จะมีจำนวนเยอะขึ้น ถ้ามีการยุบสภาแล้วเลือกตั้ง ก็จะยุติปัญหา แต่เราจะให้หลักประกันไม่ได้ว่าถ้าเกินกว่าเสื้อแดงเราก็รับประกันไม่ได้ แต่มีปัญหาอยู่ว่าถ้ายุบหรือไม่ยุบ อันไหนจะดีกว่ากัน ลองให้ทบทวนดูกันว่าแล้วถ้าจะติดต่อกันอีกที ก็ว่ากันอีกทีน่าจะดีกว่า บางทีอาจจะได้พักหรือคุยกันเองเพื่อเชื่อมประสานจากที่คุยกันตึงเครียดกัน น่าจะดีกว่า เพราะพวกตนคอยกลางถนนต่างกับคนที่คอยที่บ้าน ก็ต่างกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ไม่ขัดข้องที่จะพัก แล้วค่อยประสานกัน แต่ยืนยันว่าไม่มีตั้งแง่ว่า ยุบหรือไม่ยุบก่อน เพราะรัฐบาลก็ฟัง และมองว่าการยุบสภาเป็นทางออกหนึ่ แต่ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้การยุบเป็นของคนทั้งประเทศ และต้องการให้ยุบสภาแล้วทุกคนหลอมรวมกันในสังคมไทย ดังนั้นน่าจะกลับไปพักต่างคนต่างคิดและฟังเสียงรอบข้างก่อน

จากนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตนขอเสนอเงื่อนไขให้ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์หรือ 15วัน ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในช่วงนี้ ก็สุดแล้วแต่ และพรุ่งนี้ค่อยให้คำตอบ ซึ่งการยุบหรือไม่ยุบก็ได้ เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล แต่ถ้าไม่ยุบ ก็เผชิญหน้ากันต่อไป เพราะการเจรจาต้องรีบเร่ง เพราะอยู่ในสภาพไม่เป็นปกติทั้งสองฝ่าย แม้ว่าฝ่ายเราจะเรียกร้องให้ยุบสภาทันที แต่ก็ให้มีจุดกึ่งกลาง ก็ถือว่าแฟร์ๆ และนายจตุพร ได้สอบถามนายกฯว่า กลับจากการเยือนบรูไนวันไหน และก็ได้นัดนายกฯ และคณะประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ สถานที่เดิม ซึ่งจังหวะนี้นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวแทรกว่า จริงรัฐบาลเหลืออายุ 2 ปี แต่ให้เวลาเหลือแค่สองสัปดาห์ วันนี้ก็คงคุยได้แค่นี้

จากนั้นนายวีระได้กล่าวขอบคุณและทั้งสองฝ่ายก็ได้ยกมือสวัสดี อำลากันถือว่าจบการเจรจาในรอบนี้ ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

**ไอ้ตู่อยากเจรจาอีกรอบก่อนสลายตัว

นายจตุพร กล่าวภายหลังเจรจาว่าในวันนี้ (29 มี.ค.) เวลา 18.00 น. จะมีการเจรจากันอีกครั้ง เพราะมีข้อเสนอว่า ให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน จึงให้ไปพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไร โดยการเจรจาในครั้งนี้ เห็นว่าการพูดคุยเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งกรณีที่ขณะนี้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ปลุกระดมผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ให้เตรียมความพร้อมนั้น เห็นว่าข้อเรียกร้อง มีข้อเดียวคือ การยุบสภาทันที แต่เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีเวลา 2 สัปดาห์ ก็ยื่นเงื่อนไขกับนายกรัฐมนตรีแล้ว และวันนี้จะรับเงื่อนไขหรือไม่ก็อยู่ที่ดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี และระหว่างการเจรจา กลุ่มคนเสื้อแดงจะยังไม่มีการเคลื่อนไหว แต่หากภายใน 15 วัน รัฐบาลยังไม่ยุบสภา ก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวต่อไป แต่จะเคลื่อนไหวต่อเนื่องตลอดหรือไม่นั้น ต้องหารือกันก่อน

ด้านนายวีระ กล่าวว่า ได้คุยกันเป็นเรื่องดี และอย่าเพิ่งวิจารณ์ว่า การเจรจาจะหาข้อสรุปได้ ขณะที่ นพ.เหวง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ผู้ชุมนุมจะต้องสลายตัวก่อนหรือไม่ ซึ่งต้องหารือกันก่อน

**"แดง"เซ็งเจรจายืดยาดแกนนำถูกต้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำนปช.นั้น ได้มีการเปิดเสียงการเจรจาผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมได้ติดตามฟังกันตลอด โดยผู้ชุมนุมตะโกนเชียร์นายวีระ ดังสนั่นแทบทุกประโยค ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ถูกโห่ฮาด้วยความไม่พอใจโดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ตั้งคำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวพันกับการแก้นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่

อย่างไรก็ตามเมื่อการเจรจาผ่านไปร่วมชั่วโมง ผู้ชุมนุมต่างนั่งนิ่งด้วยความเบื่อหน่าย ไม่คึกคักเหมือนในตอนต้น โดยเลือกจะตะโกนเชียร์แกนนำของตัวเอง เฉพาะในบางประเด็นเท่านั้น

ขณะที่บรรดาแกนนำ และส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้รวมตัวติดตามชมการเจรจาอยู่ด้านหลังเวที แต่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย แต่รับฟังเพียงลำพังอยู่ในรถบัสติดแอร์ซึ่งแกนนำใช้เป็นที่พัก และที่ประชุม

นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำกลุ่มคนรักอุดร กล่าวว่า หากรูปแบบยังเป็นการโต้วาทีแบบนี้ คงยากที่ปัญหาจะยุติ มีตำรวจสันติบาลโทรศัพท์มาบอกตนว่า นายกฯ เตรียมเงื่อนไขว่าจะยุบสภาภายใน 3 เดือน ซึ่งคนเสื้อแดงไม่มีทางยอมได้ เพราะเราต้องการให้ยุบสภาทันที.
กำลังโหลดความคิดเห็น