xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-29 มี.ค.2553

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “เสื้อแดง” ลั่น “อภิสิทธิ์” ต้องยุบสภาใน 2 สัปดาห์ ด้าน “พันธมิตรฯ”แถลงค้านยุบสภาฟอกผิดให้ “ทักษิณ” !
บรรยากาศก่อนเริ่มเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช.(28 มี.ค.)
ความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการเคลื่อนพลทั่วกรุงเมื่อวันที่ 20 มี.ค.และประกาศเคลื่อนพลอีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค. ส่งผลให้ที่ประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) และที่ประชุม ครม.มีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ออกไปอีก 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 23-30 มี.ค.นี้ แต่ลดพื้นที่การบังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ลง จากเดิม 8 จังหวัด เหลือเพียง 3 จังหวัด คือ กทม., บางส่วนของ จ.นนทบุรี และบางส่วนของ จ.สมุทรปราการ

ส่วนกรณีที่หลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ส.ว.บางส่วนเสนอให้รัฐบาลเปิดการเจรจากับแกนนำ นปช. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า พร้อมเจรจา แต่ต้องไม่อยู่ภายใต้การข่มขู่กดดันใดใดนั้น ปรากฏว่า ทางแกนนำ นปช. ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งเงื่อนไขว่า จะเจรจากับนายอภิสิทธิ์คนเดียวเท่านั้น ก็ได้ออกมายื่นเงื่อนไขอีกว่า ให้รัฐบาลประกาศยุบสภาก่อน แล้วจะยุติการชุมนุม โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. บอกว่า เมื่อยุบสภาแล้ว ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต้องสลายตัวทันที และให้ทุกฝ่ายยืนยันเป็นสัญญาประชาคมว่า จะเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองสามารถหาเสียงได้ในทุกพื้นที่ โดยไม่ขัดขวาง และไม่ว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องยอมรับและสงบเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

ขณะที่นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมาอาสาพร้อมเป็นคนกลางประสานให้รัฐบาลเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อความสงบของบ้านเมือง พร้อมส่งสัญญาณว่า การเจรจาต้องนำไปสู่การแก้ รธน.หรือยุบสภา “พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ได้ยืนยันว่าพร้อมคุย ไม่ว่าจะเป็นการคุยตัวต่อตัวหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขประชาธิปไตยและความสงบสุขของบ้านเมือง ผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นการแก้ รธน.หรือยุบสภา ก็เป็นอีกเรื่องแต่ควรมีการเจรจา ควรใช้หลักดังกล่าวเป็นที่ตั้ง” นายพายัพ ยังบอกด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมมาเจรจาในประเทศไทย แต่ต้องไม่จับ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าคุก “ในการเจรจาในส่วนที่ให้ตั้งโต๊ะที่ประเทศไทย รัฐบาลต้องรับรองความปลอดภัยและรับปากว่าจะไม่ดำเนินคดี ไม่จับกุม และหากจะออกนอกประเทศก็ต้องสามารถทำได้” อย่างไรก็ตาม ภายหลัง นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมาปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีแผนเจรจากับรัฐบาล โดยบอกว่า เรื่องการเจรจาเป็นเรื่องของแกนนำ นปช.

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องการเจรจายังไม่มีกรอบที่ชัดเจนและยังมีการตั้งแง่ว่ารัฐบาลต้องยุบสภาก่อน ปรากฏว่า ทาง ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรค ก็ได้เปิดแถลงจุดยืนของพรรค โดยจี้ให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เคารพการตัดสินใจของประชาชน พร้อมเตรียมเดินสายเจรจาให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากรัฐบาล โดยอ้างว่ารัฐบาลไม่อยู่ในภาวะที่จะบริหารประเทศได้อีกต่อไปแล้วจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม พล.อ.ชวลิต ได้ออกมาปฏิเสธภายหลังว่า ไม่ได้ต้องการล็อบบี้ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว แต่ต้องการเจรจาหาทางออกให้บ้านเมืองเท่านั้น และถึงแม้ว่าการเดินสายหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิตจะยังไม่เกิดขึ้น แต่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าจะไม่ถอนตัวจากรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย โดยนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่า การเดินสายแลกเปลี่ยนทุกพรรคอาจจะได้ข้อสรุป อาจจะเห็นช่องทางที่มากกว่าหนึ่งทางได้ แต่หากจะมาขอให้พรรคชาติไทยพัฒนาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล คงเป็นไปไม่ได้

ด้านที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์(23 มี.ค.) ได้มีมติตั้งวอร์รูมพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลได้ปรึกษาหารือและให้คำแนะนำรัฐบาลในการเดินเกมการเมืองและทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นต่างๆ เพราะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.เปิดหน้าไพ่ออกมาเต็มที่แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนถึงวันเคลื่อนพลของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 27 มี.ค. นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะวิดีโอลิงก์(25 มี.ค.) ปลุกให้คนเสื้อแดงแสดงพลังกันอีกครั้งแล้ว ทางแกนนำ นปช.ยังไม่ยอมประกาศให้สาธารณชนหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าว่าจะเคลื่อนไปยังจุดใดบ้าง โดยบอกเพียงว่า จะกำหนดมาตรการปลดแอกรัฐไทยออกจากอำนาจทหารในเวลา 10.00น. พร้อมเชื่อว่า การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในวันดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย

ซึ่งเมื่อถึงกำหนด(27 มี.ค.) ปรากฏว่า แกนนำเสื้อแดงได้กระจายกำลังกันไปกดดันทหารที่ประจำการอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้ง 8 จุดรอบพื้นที่ชุมนุมให้ถอยทัพกลับเข้ากรมกอง โดยทั้ง 8 จุดประกอบด้วย 1.วัดบวรนิเวศวิหาร 2.วัดตรีทศเทพ 3.วัดมกุฏกษัตริยาราม 4.วัดสุนทรธรรมทาน(แคนางเลิ้ง) 5.วัดโสมนัสวิหาร 6.สนามม้านางเลิ้ง 7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 8.เขาดินวนา รวมทั้งบริเวณโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ด้านเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการ ณ จุดต่างๆ ซึ่งไม่มีอาวุธ มีเพียงโล่ป้องกันตัว ได้ใช้ความอดทนอดกลั้น เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะหรือเกิดเหตุรุนแรงตามนโยบายรัฐบาลและผู้บังคับบัญชา จึงยอมถอยออกจากจุดต่างๆ สร้างความพอใจให้กลุ่มเสื้อแดงจึงได้เคลื่อนพลกลับไปยังสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พร้อมประกาศชัยชนะในการผลักดันทหารออกจากที่ตั้งทั้ง 8 จุดได้ ไม่เท่านั้นม็อบเสื้อแดงยังเกิดความฮึกเหิม จึงรุกต่อด้วยการเคลื่อนพลไปกดดันทหารให้ถอนกำลังออกจากทำเนียบรัฐบาลด้วย แต่ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียด แกนนำเสื้อแดงได้สั่งผู้ชุมนุมให้ถอนตัวกลับที่ตั้งที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ พร้อมประกาศว่า วันรุ่งขึ้น(28 มี.ค.) จะเดินทางไปพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) พร้อมดักคอนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า ถ้า ไม่ยอมพบ ก็ลาออกไป อย่าได้เป็นนายกฯ ประเทศนี้ และว่า หวังว่าการไปพบครั้งนี้จะเป็นจุดจบทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์

ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้เปิดแถลงข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่องช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. โดยยืนยันว่า จะไม่ร่วมเจรจากับแกนนำเสื้อแดงใน ร.11 รอ. เพราะแกนนำเสื้อแดงเคลื่อนไหวเชิงข่มขู่คุกคาม ถือว่าไม่สร้างบรรยากาศในการเจรจา ด้านแกนนำเสื้อแดง เมื่อได้ฟังนายอภิสิทธิ์แถลง จึงได้หารือกัน ก่อนแถลงว่า พร้อมเจรจากับนายอภิสิทธิ์โดยใช้สถานที่ใดก็ได้ และให้เวลานายกฯ ตัดสินใจ 1 ชั่วโมง โดยยืนยันจะไม่นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปกดดันแต่อย่างใด กระนั้นก็ได้มีคนเสื้อแดงบางส่วนนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา เคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้า ร.11 รอ.โดยปราศรัยเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาสถานเดียว

ต่อมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า นายกฯ รับข้อเสนอในการเจรจากับแกนนำ นปช. หลังจากนั้นได้มีการประสานกันว่า การเจรจาจะมีขึ้นที่สถาบันพระปกเกล้าในเวลา 16.00น. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดการเจรจากัน โดยฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ ,นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ ส่วนฝ่าย นปช.ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดเสียงและภาพผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ก็พร้อมใจกันถ่ายทอดการเจรจาครั้งนี้เช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะใช้เวลาเจรจานานกว่า 3 ชั่วโมง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากแกนนำ นปช.ยืนยันจะให้ยุบสภา แล้วค่อยแก้ไข รธน. ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า ก่อนยุบสภาควรมีการกำหนดกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาหลังการเลือกตั้งอีก ดังนั้นการแก้ รธน.ควรเกิดขึ้นก่อนการยุบสภา ด้านนายวีระ มุสิกพงศ์ บอกว่า การเลือกตั้งถือว่าเป็นการทำประชามติไปในตัวว่า ประชาชนต้องการให้แก้ รธน.หรือไม่ โดยนำเรื่องแก้-ไม่แก้ รธน.มาใช้ในการหาเสียง แต่นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า การที่ประชาชนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง อาจไม่ได้มาจากเรื่องแก้หรือไม่แก้ รธน.แต่เป็นเพราะสนใจนโยบายของพรรคนั้นๆ ซึ่งจะทำให้หลังเลือกตั้ง ปัญหาก็ไม่จบ อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ได้ตัดบทด้วยการขีดเส้นให้นายอภิสิทธิ์บอกมาเลยว่า จะยุบสภาหรือไม่ ถ้าไม่ พวกตนและคนเสื้อแดงจะได้สู้ต่อ ซึ่งสุดท้ายยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งสองฝ่ายจึงได้นัดหมายเจรจากันอีกครั้งในวันนี้ 29 มี.ค.เวลา 18.00น. ทั้งนี้ นายจตุพร ยังขีดเส้นด้วยว่า นายกฯ ต้องยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไขใดใด โดยต้องให้คำตอบเรื่องยุบสภาในการเจรจาวันนี้ และต้องประกาศยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์

หลังการเจรจาเมื่อวานนี้(28 มี.ค.) เสร็จสิ้น แกนนำ นปช.ยังกลับไปประกาศบนเวทีเสื้อแดงด้วยว่า นปช.กับรัฐบาลจะไม่มีการเจรจาครั้งที่ 3 หรือ 4 อีกต่อไป และว่า คำตอบในวันที่ 29 มี.ค.จะเป็นความชอบธรรมให้กลุ่มเสื้อแดงกลับมากำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวให้บรรลุตามข้อเรียกร้องต่อไป กลุ่มเสื้อแดงจะไม่ชุมนุมเพื่อรอการเจรจากับรัฐบาลอีก และจะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนักวิชาการประมาณ 150 คน ส่วนใหญ่ถูกมองว่าอยู่สายเสื้อแดง เช่น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ,นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ,นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ,นายเกษียร เตชะพีระ ,นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร ฯลฯ ได้ลงชื่อใน จม.เปิดผนึก เรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภาภายใน 3 เดือน เพื่อปลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และว่า นายกฯ ต้องยอมรับความจริงว่า มีผู้มีอำนาจที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังการตั้งรัฐบาลไม่ยินยอมให้ยุบสภาหรือลาออก ทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่อ้างระบอบประชาธิปไตยมาบังหน้าอย่างน่ากลัวที่สุด

สำหรับท่าทีของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่อการยุบสภานั้น ต่างเห็นว่า การจะตัดสินใจยุบสภา นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ควรหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย และว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกในวันนี้(29 มี.ค.) ว่า การยุบสภาในช่วงนี้ถือว่ายังเร็วเกินไป ควรแก้ไข รธน.ให้แล้วเสร็จก่อน โดยรัฐบาลต้องพูดให้ชัดว่าจะแก้ รธน.เสร็จเมื่อใด และจะยุบสภาเมื่อใด ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าถ้ายุบสภาช่วงสิ้นปี 2553 ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังดีอยู่ ถ้ายุบสภาก็จะเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังนั้นเสื้อแดงต้องโอนอ่อนผ่อนปรนด้วย นายบรรหาร ยังยอมรับด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ล็อบบี้ให้พรรคชาติไทยพัฒนาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์มาพูดคุยเมื่อเดือน ก.พ. โดยขอให้ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งตนตอบไปว่าตอนนี้ตนทำอะไรมากไม่ได้

ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งรุ่น 1 และ 2 ได้ประชุมหารือในวันนี้(29 มี.ค.) พร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 เรื่อง “ปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย...ทางออกจากวิกฤต” โดยประกาศจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อการยุบสภาและการเจรจาระหว่างรัฐบาลและแกนนำ นปช.ว่า พันธมิตรฯ เห็นด้วยกับการเจรจาเพื่อหาทางออก แต่เห็นว่าแกนนำ นปช.ไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ เป็นเพียงหุ่นเชิดของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่หนีคดีอาญา ดังนั้นนายกฯ ต้องไม่ยอมรับการเจรจาที่จะกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณ พร้อมกันนี้ พันธมิตรฯ เห็นว่า การยุบสภาของกลุ่มเสื้อแดงเป็นข้อเสนอที่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อปูทางไปสู่การฟอกความผิดให้กับ นช.ทักษิณ ประกอบกับการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยุบสภา มาพร้อมกับการชุมนุมที่ไม่ปกติ เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงและก่อวินาศกรรมคู่ขนานไปด้วยกัน โดยเอาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องสังเวยเพื่อต่อรองกับรัฐบาล นอกจากนี้ พันธมิตรฯ ยังยืนยันคัดค้านการรื้อ รธน.เพื่อฟอกความผิดให้นักการเมืองบางกลุ่ม ไม่ว่าการแก้ รธน.จะเกิดขึ้นโดยมีการยุบสภาหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ พันธมิตรฯ เห็นว่า ทางออกของวิกฤตใหญ่ของประเทศในขณะนี้ จำเป็นต้องรื้อถอนและวางรากฐานโครงสร้างสังคมและปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่อย่างรอบด้าน ตามแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ก่อนหน้านี้ที่ว่า รัฐบาลประชาภิวัฒน์เท่านั้นที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้

2. คนร้ายบึ้มกรุงรายวัน ทั้งหน่วยราชการ-บ้านพักบุคคลสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ “สื่อมวลชน”!
จุดเกิดเหตุ หลังคนร้ายขว้างระเบิดเข้าใส่หน้าบ้านนายบรรหาร  ศิลปอาชา ปธ.ที่ปรึกษา หน.พรรคชาติไทยพัฒนา(28 มี.ค.)
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงเกิดเหตุระเบิดตามสถานที่ราชการหลายแห่งใน กทม. รวมทั้งบ้านพักบุคคลสำคัญ โดยล่าสุด เมื่อคืนนี้(28 มี.ค.) เวลา 4 ทุ่มเศษ คนร้ายได้ขว้างระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่หน้าบ้านพักนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ย่านบางพลัด แรงระเบิดส่งผลให้เกิดหลุมบนทางเท้าหน้าบ้าน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน คือ นางวรรณา หาญกระสินธุ์ อายุ 38 ปี โดยโดนสะเก็ตระเบิดบริเวณโคนขาขวาขณะเดินผ่านบริเวณดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุระเบิดหน้าบ้านพักนายบรรหารครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนายบรรหารออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยุบสภาว่า นายกฯ ควรมีการปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาลก่อน

นอกจากเหตุระเบิดที่หน้าบ้านนายบรรหารแล้ว ช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน(28 มี.ค.) คนร้ายยังได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จำนวน 2 ลูก ลูกแรกตกบริเวณสนามหญ้า ห่างจากประตู 3 ซึ่งมีรถยีเอ็มซีพร้อมทหารจำนวนหนึ่ง แรงระเบิดทำให้หลังคารถยีเอ็มซีทะลุ และทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย

ขณะที่เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนพลกดดันทหารออกจากจุดประจำการทั้ง 8 จุด ปรากฏว่า ช่วงค่ำ คนร้ายได้ปาระเบิดเอ็ม 67 เข้าใส่สถานีโทรทัศน์ 2 แห่ง คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดยในส่วนของช่อง 5 นั้น จุดเกิดเหตุอยู่ริมฟุตปาธติดทางเข้าสถานี ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย สาหัส 3 ราย เป็นทหารที่รักษาการณ์อยู่ภายในรั้วช่อง 5 จำนวน 2 นาย และประชาชนที่ขับรถผ่านบริเวณดังกล่าวขณะเกิดเหตุอีก 3 ราย ส่วนเหตุระเบิดที่ช่อง 11 จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณสวนหย่อมหน้าสถานี ส่งผลให้ทหารที่เข้าเวรรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และเจ้าหน้าที่ รปภ.ของช่อง 11 อีก 1 ราย

ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อ(สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย-สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย-สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดช่อง 5 และช่อง 11 โดยชี้ว่าเป็นการคุกคามสังคมและสื่อมวลชนด้วยอาวุธสงคราม พร้อมขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพหนักแน่นในการทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และขอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

วันเดียวกัน(27 มี.ค.) ยังได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีกที่กรมศุลกากร ย่านคลองเตย โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณชั้น 1 หน้าอาคารสำนักงาน 120 ปีกรมศุลกากร แรงระเบิดทำให้เกิดหลุมบริเวณสวนหย่อม ขณะที่กระจกอาคารแตกเป็นรูพรุน นอกจากนี้ยังมีรถตู้ของกรมฯ ได้รับความเสียหายเล็กน้อยอีก 1 คัน จากการตรวจสอบพบว่า เป็นระเบิดลูกเกลี้ยงชนิดขว้าง k-75 ซึ่งมีอานุภาพการทำลายพอๆ กับระเบิดเอ็ม 67

ขณะที่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา(23 มี.ค.) คนร้ายได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ.นนทบุรี ที่รัฐบาลใช้เป็นสถานที่ประชุม ครม. โชคดีที่เหตุระเบิดเกิดขึ้นหลังประชุม ครม.เสร็จสิ้นแล้ว และรัฐมนตรีเดินทางออกจากกระทรวงไปก่อนแล้วประมาณ 20 นาที โดยระเบิดลูกแรกตกบริเวณลานจอดรถของเจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แรงระเบิดทำให้หลังคาโรงจอดรถเป็นรูโหว่ และเกิดหลุมที่พื้นเป็นบริเวณกว้าง ส่วนระเบิดอีกลูกตกห่างจากจุดแรกประมาณ 30 เมตร แรงระเบิดทำให้รถยนต์ที่จอดอยู่เสียหาย 4 คัน จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และพยานที่เห็นเหตุการณ์ ทราบว่า คนร้ายยิงระเบิดมาจากบนทางด่วนงามวงศ์วาน

ด้านที่ประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการยิงระเบิดจากบนทางด่วน ด้วยการเพิ่มจุดตรวจบนทางด่วน 68 จุด โดยเฉพาะพื้นที่ล่อแหลมเส้นทางขึ้นและลง

วันต่อมา(24 มี.ค.) ได้เกิดระเบิดใกล้ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี จุดเกิดเหตุเป็นอาคารเก็บของของอุทยานมกุฏรมยสราญ ในศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี แรงระเบิดทำให้ฝ้าเพดานแตกเสียหาย คืนเดียวกันยังได้เกิดระเบิดที่หน้ากรมบังคับคดีบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม. แรงระเบิดทำให้พื้นปูนซีเมนต์หน้ารั้วแตกกระจายเป็นหลุมกว้าง

อีก 2 วันต่อมา(26 มี.ค.) เจ้าหน้า รปภ.ได้ตรวจพบระเบิดเอ็ม 67 จำนวน 1 ลูก อยู่บนสนามหญ้าใกล้ลานจอดรถในรั้วสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบว่า สลักระเบิดถูกดึงไปแล้ว 1 ล็อค และมีเทปกาวพันอยู่ 3-4 รอบ เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บกู้ไปตรวจสอบต่อไป ด้าน พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า มีรายงานข่าวว่าลูกระเบิดชนิดนี้ทะลักเข้ามาในพื้นที่ กทม.จำนวนมาก พร้อมคาดว่า ระเบิดที่พบที่สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นฝีมือของพวกป่วนเมือง “ไม่ใช่คนสีเขียวหรือสีกากี แต่เป็นพวกสีดำมากกว่า เป็นพวกจิตไม่ปกติ หากสืบสวนพบว่าเป็นตำรวจ ก็จะจับกุมใส่กุญแจมือด้วยตนเอง อยากถามพวกนั้นด้วยว่าหมดลังแล้วหรือยัง หากยังไม่หมดเดี๋ยวจะกวาดล้าง จับกุมให้หมด”

3. “ทักษิณ-ครอบครัว” ยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านแล้ว อ้าง มี 5 หลักฐานใหม่!

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และลูกๆ
ความคืบหน้าคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กว่า 4.6 หมื่นล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จากการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจชินคอร์ป ซึ่งจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหากมีหลักฐานใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลพิพากษานั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ พร้อมด้วยนายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความของนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่สั่งให้ยึดทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ

สำหรับเนื้อหาในคำอุทธรณ์ที่อ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่ ประกอบด้วย 1.หนังสือของการไปรษณีย์และการสื่อสารของประเทศพม่า ซึ่งยืนยันว่า นโยบายการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่มีการเอื้อประโยชน์ตามที่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัย 2.หนังสือของบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งยืนยันว่า ตามสัญญาสัมปทานให้สิทธิกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ใช้สัญญาณความถี่ซีแบนด์ทั้งหมดเพียง 1 ช่องทางจากดาวเทียมทุกดวง ไม่ใช่ดวงละ 1 ช่องทางตามที่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัย ดังนั้น แม้ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่มีซีแบนด์ ก็ไม่กระทบกระเทือนสัญญาสัมปทาน จึงไม่ใช่ดาวเทียมสำรอง 3.กฏบัตรสหประชาชาติ ปฏิญญาสากล กติการะหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า การที่ศาลฎีกาฯ ยอมรับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) มาใช้บังคับและให้มีผลเหนือกว่า รธน.และ พ.ร.บ. ที่ออกโดยกระบวนการนิติบัญญัติ เป็นการผิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยประเด็นการออก พ.ร.ก.สรรพสามิตแสดงให้เห็นว่า ศาลฎีกาฯ ต้องผูกพัน จะพิพากษาขัดแย้งไม่ได้ และ 5.คำอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ได้อ้างบทความและบทวิเคราะห์ทางวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เช่น บทวิเคราะห์ของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นว่า มาตรการ 5 ข้อที่รัฐบาลทักษิณดำเนินการ ไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างในคำอุทธรณ์ว่า หลักฐานใหม่ทั้ง 5 อย่างดังกล่าว เป็นสิ่งที่ตนประสงค์จะให้ศาลได้ไต่สวน แต่ศาลฎีกาฯ ไม่อนุญาต จึงถือว่าเป็นพยานที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยจากศาลฎีกาฯ มาก่อน จึงเข้าเงื่อนไขเป็นพยานหลักฐานใหม่ตาม รธน.มาตรา 278

ด้านนายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ มั่นใจว่า หากศาลฎีกาฯ อนุญาตให้นำนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เข้าไต่สวน รวมทั้งพิจารณาหลักฐานใหม่ที่ยื่นไป จะทำให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งยกคำร้องของอัยการสูงสุดที่ขอให้ศาลฎีกาฯ ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะที่นายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา บอกว่า มีหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานไม่ได้ถือหุ้นชินคอร์ปกว่า 1.4 ล้านหุ้นแล้ว และว่า เจ้าของหุ้นตัวจริงคือ นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา โดยพร้อมจะนำพยานบุคคลมาพิสูจน์ต่อศาล ประกอบด้วย นายเจอเรมี่ แกรนท์ ,นายซีเอร่า ชานมูกัม ,นางซินตี้ เตียว เจ้าหน้าที่ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ และ น.ส.เอเลี่ยนน่า ตัน ไอชิง กรรมการ ผจก.การเงินของ เทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัด และ น.ส.เจีย หยู จู กรรมการบริษัท แอสแพน โฮลดิ้ง และบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด

นอกจากนี้ ทนายความของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ยังอ้างว่า มีพยานเอกสารอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อบุคคลที่สั่งการทำธุรกรรมต่างๆ ในบัญชีของบริษัท แอมเพิลริช ที่เปิดไว้กับธนาคารยูบีเอส เอจีฯ ตั้งแต่ปี 2542-2548 ซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และอยู่นอกอำนาจศาลไทย ซึ่งนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทาไม่สามารถนำพยานเอกสารและพยานบุคคลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นพิสูจน์ทรัพย์ของ คตส.และชั้นไต่สวนของศาลได้ จึงถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่จะขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ พิจารณารับอุทธรณ์

ทั้งนี้ คำอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ได้ขอให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งหรือพิพากษาให้ยกคำร้องของอัยการสูงสุด ผู้ร้องในคดีนี้ และมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่พิพากษาให้เงินจากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลกว่า 4.6 หมื่นล้านผลตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวทั้งหมดทุกบัญชี พร้อมขอทุเลาการบังคับคดีไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งเงินในบัญชีเงินฝากที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ว่า ไม่เห็นมีอะไรใหม่ และว่า ถ้ามีข้อมูลใหม่ ควรจะมีตั้งแต่ปีที่แล้ว

4. จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว - “ในหลวง”พระราชทานดินฝังศพ!
นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชราที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริรวมอายุ 94 ปี ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับนายสวาสดิ์เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสมัย เจริญช่าง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลาม พร้อมด้วยคณะกรรมการกลางอิสลามจำนวนหนึ่ง ได้เข้าคารวะศพนายสวาสดิ์ที่โรงพยาบาล ก่อนที่ครอบครัวจะเคลื่อนศพกลับไปยังบ้านพักซอยมิตรไมตรี เขตหนองจอก เพื่อทำพิธี โอกาสนี้ นายสมัย ได้ประกาศให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีศพจุฬาราชมนตรีที่กรุงเทพฯ ได้ ขอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น กรรมการมัสยิดได้ร่วมกันละหมาดฆออิบขอพรให้จุฬาราชมนตรี ณ มัสยิดในชุมชนมุสลิมต่างๆ

ขณะที่นายดำรงค์ สุมาลยศักดิ์ เลขาธิการสำนักจุฬาราชมนตรี และรองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะบุตรชายนายสวาสดิ์ จุฬาราชมนตรี ได้เผยกำหนดการจัดพิธีละหมาดญาณาซะห์ในวันที่ 25 มี.ค.ที่มัสยิดอัลฮุสนา บริเวณถนนมิตรไมตรี และว่า เหตุที่นำศพบิดาไปฝังยังมัสยิดดังกล่าว เนื่องจากเป็นสถานที่เกิด นายดำรงค์ ยังบอกด้วยว่า “คุณพ่อได้ศึกษาและอุทิศตนเพื่อศาสนาอิสลามมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงอายุ 94 ปี ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบให้แก่ศาสนิกชนอิสลามมาตลอดชีวิตของท่าน โดยก่อนเสียชีวิต ท่านไม่ได้มอบหมายอะไรไว้เป็นพิเศษ แต่ท่านได้มอบต้นแบบผู้นำทางศาสนาที่ดีให้เหล่าศาสนิกชนได้ซึมซับไปปฏิบัติ” ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดินในพิธีฝังศพนายสวาสดิ์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น