“ปานเทพ” งัดหลักฐานโชว์ ช่อง 3 ผิดเงื่อนไขหลายข้อ แต่ อสมท ยืนยันจะต่อสัญญาอีก 10 ปี ชี้ องค์กรรัฐรู้ทั้งรู้เจรจาเสียผลประโยชน์ กลับเห็นแก่เงินชดเชย 405 ล้านที่เพิ่มขึ้น แลกกับมูลค่าความเสียหายรายได้รัฐสูญหลายพันล้าน แถมประเมินรายได้ในอนาคตต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ปธ.อสมท อ้างขัดมติ ครม.ปี 32 ไม่ได้ จึงจำใจผูกขาดผลประโยชน์ให้ช่อง 3 จ่ายสัมปทาน อสมท ตายตัว โอดทำเต็มที่แล้ว ไม่ตอบกรณีส่อผิดกฎหมายหลายประเด็น
รายการคนในข่าว 11 มีนาคม 2553 ช่วงที่ 2
รายการคนในข่าว 11 มีนาคม 2553 ช่วงที่ 3
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
วานนี้ (11 มี.ค.) รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-22.00 น.มี นายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้มีการเชิญ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระผู้ติดตามกรณีการต่อสัญญาช่อง 3 และผู้ร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว กับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อสมท มาร่วมพูดคุยถึงความจริงกรณี อสมท เอื้อประโยชน์ในการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่ช่อง 3 จริงหรือไม่
นายเติมศักดิ์ เปิดประเด็นสนทนาว่า วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุรพล ได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยยืนยันว่า การต่อสัญญาให้ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ที่กำลังจะหมดในวันที่ 25 มี.ค.53 นี้ ไปอีก 10 ปี (พ.ศ.2553-2563) นั้น ได้ไตร่ตรองอย่างโปร่งใส ละเอียดและรอบคอบ
รับแก้สัญญาสมัย “เป็ดเหลิม” ไม่เป็นธรรม
ศ.ดร.สุรพล กล่าวถึงเหตุโดยเท้าความตั้งแต่ในอดีตว่า ตนต้องเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้ใช้คำว่าต่อสัญญา เพราะมันจะทำให้คนเข้าใจเมื่อสัญญามันหมดก็จำเป็นต้องต่อ ซึ่งมันก็จะเกี่ยวข้องกับเจ้าของสัญญาจะต่อหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการต่อสัญญา โดยก่อนหน้านี้ ย้อนไปสัญญาตั้งแต่ฉบับแรกปี 2520-2521 ช่อง 3 หรือ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (บีอีซี) ได้ตกลงกับ อสมท เพื่อร่วมทุนกันสร้างสถานีถ่ายทอดสัญญาณให้แก่ อสมท เนื่องจากตอนนั้นเครือข่ายสัญญาณอาจต่ำมาก ไม่ได้ไปไกลในต่างจังหวัด ช่อง 3 ก็ตกลงว่าจะทำให้ ด้วยรูปแบบเขาลงทุนแล้วยกให้ อสมท แต่ขอสิทธิ์ให้ช่อง 3 ใช้คลื่น อสมท ก็ทำเช่นนั้นจนครบสัญญา 10 ปี
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า จากนั้น ได้มีการทำสัญญาฉบับที่ 2 ในปี 2530 แต่คราวนี้ระยะเวลาสัญญาเปลี่ยนเป็น 20 ปี (2533-2553) โดยตกลงกันว่า บ.บีอีซี จะทำสถานีเพิ่มให้อีก 22 แห่ง แล้วก็จะยกให้ อสมทตามสัญญาในลักษณะ BTO (Build-Transfer-Operate)
“เรื่องก็ไม่ได้มีอะไรมาก และก็ตกลงกันว่าเขาจะจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นไม่สูงมาก เพราะว่าเศรษฐกิจในปี 2520 คงต่างกับปัจจุบันนี้ ซึ่งสรุปคือ เวลา 20 ปี อสมท จะได้ 1,205 ล้านบาท ก็หารเอาตกปีละ 50 ล้านบาท โดยช่อง 3 บอกว่านี่เป็นตัวเลขขั้นต่ำ แต่ว่าถ้าไม่ได้ตามสูตรที่ 1 (ร้อยละ 6.5 ของรายได้รายปี) ให้จ่าย 1,205 ล้านบาท ...”
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า ปัญหาอยู่ที่การแก้ไขสัญญาฉบับที่ 3 ในปี 2532 ซึ่งตอนนั้นตนไม่ได้เป็นประธานบอร์ด อสมท ในเวลานั้น แต่คนที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด อสมท ขณะนั้นคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และเป็นประธานบอร์ด อสมท ด้วย
“ในเวลานั้นได้มีการแก้ไขข้อตกลงว่า ถ้าหากดำเนินการออกอากาศครบ 20 ปีไปแล้ว และ บีอีซี ไม่ผิดสัญญา อสมท ตกลงให้บีอีซี ออกอากาศไปอีก 10 ปี เป็นสัญญา อสมท เวลานั้น ที่ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) อนุมัติให้ดำเนินการตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งยังมีการระบุว่า บ.บีอีซี ต้องให้ค่าตอบแทนแก่ อสมท ไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท และต้องปรับปรุงอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
รู้ไม่เป็นธรรม แต่อ้าง มติ ครม.ปี 32 ดันต่อสัญญา
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า ถ้าพูดในความหมายทางกฏหมาย อสมท ตกลงให้สัญญานี้ขยายไปอีก 10 ปีแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 แต่คำถามตอนนี้มีคนสงสัยกันมาก คือ อสมท ต่อสัญญาให้แก่ช่อง 3 หรือยัง หรือไม่ก็ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งตนอยากชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างมันถูกกำหนดไว้หมดแล้วจากมติ ครม.เมื่อปี 2532
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังไปแก้สัญญาอีกข้อ จากเดิมช่อง 3 ต้องจ่าย 6.5% ของรายรับ หรือต้องไม่น้อยกว่า 1,205 ล้านบาท โดยการแก้สัญญาใหม่ ให้ยึด 1,205 ล้านบาทเป็นหลัก เนื่องจากรายได้ บีอีซีฯ ตอนนั้นน้อยมาก หากคิดว่าต้องจ่าย 6.5% แล้ว อย่างไรก็น้อยกว่าที่จ่ายในอัตราขั้นต่ำ ดังนั้น จึงเป็นอีกมติครม. อีกรอบ คือ ไม่ต้องยึด 6.5% แต่ให้เอาอัตราขั้นต่ำ 1,205 ล้านบาทเป็นหลัก
“ผมเรียนว่า จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จะเห็นด้วยหรือไม่ แต่นี่เป็นสัญญาที่ ครม.ลงมติ ในฐานะที่ อสมท เป็นหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องถือปฏิบัติตามสัญญาอันนี้” ศ.ดร.สุรพล พยายามอธิบาย
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า อีกข้อหนึ่งที่อยากจะชี้แจง คือ เรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างหุ้น เรื่องการขายหุ้น ที่ก็มีการเปลี่ยนข้อบังคับ สัญญาเดิมที่ถูกแก้ไขครั้งที่ 2 ในปี 2530 ระบุ ว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของ บีอีซี จะเพิ่มทุนหรือลดทุน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก อสมท ก่อน แต่การแก้ไขเมื่อปี 2532 กลับระบุว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบีอีซี ตามสาระสำคัญในสัญญา บีอีซี ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ดำเนินการแล้ว แต่ต่อมามติครม.ได้เปลี่ยนใหม่ให้ ช่อง 3 ไม่ต้องแจ้งให้ อสมท ทราบ
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นปัญหามาตลอด 20 ปี ซึ่งต่อมาก็มีคำถามว่า อีก 10 ปีจะทำอย่างไร จะต่อสัญญาหรือไม่ แล้วได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ตนก็คุยกันในบอร์ด อสมท และบุคคลภายนอก ก็เห็นพ้องตรงกันว่า ครม.มีมติว่าเมื่อครบ 20 ปีแล้ว ไม่ผิดสัญญา อสมท ตกลงให้ บีอีซีฯ ออกอากาศไปอีก 10 ปี มันคือสิ่งที่ตกลงกันไปแล้ว
สงสัยช่อง 3 ละเมิดสัญญาชัด 2 ประเด็น
ต่อมา นายเติมศักดิ์ ได้กล่าวกรณีที่ ศ.ดร.สุรพล ได้เกษียนหนังสือมีความเห็นว่า บ.บีอีซี ได้ละเมิดสัญญาข้อ 8.5 เห็นควรให้บอกเลิกสัญญา เหตุใดในเวลาต่อมาจึงกลับลำต่อสัญญา
ศ.ดร.สุรพล กล่าวชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อตนเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว กรรมการ อสมท ชุดใหม่ก็ได้คุยกัน แล้วก็มีความเห็นตรงกันว่า เมื่อดูรายได้ของ บีอีซี พบว่าถ้าหาก อสมท ใช้สัญญาแบบเดิม คือ หักรายได้จาก บีอีซี 6.5% อสมท น่าจะได้มากกว่านี้เยอะ เพราะรายได้ของ บีอีซี ปีสุดท้ายที่ได้ คือ ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท ดังนั้น 6.5% ของ 4,000 ล้านบาท คิดอย่างไรมันก็มากกว่าปีละ 100 กว่าล้านบาทที่ได้อยู่ โดยทางบอร์ด อสมท ได้ย้อนกลับไปดูสัญญา ก็พบว่าต้องดูที่เงื่อนไข 2 ข้อ คือ 1.ไม่ผิดสัญญา และ 2.คือเห็นชอบเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ วงเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า ประเด็นค่าอุปกรณ์เป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่มีปัญหา ปัจจุบันได้มีการปรับเป็น 70 ล้านบาท ดังนั้น ต้องดูที่เงื่อนไขทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ อสมท รู้สึกว่าไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมจากการแก้สัญญาตามมติครม.เมื่อปี 2532 คราวนี้เมื่อครบ 20 ปี ก็ต้องถามต่อว่าจะยืดอีก 10 ปีหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณา อสมท จึงย้อนกลับไปดูข้อมูลเห็นว่ามี 2 ข้อ 1.อสมท สงสัยว่าบีอีซีฯ ไม่ได้ดำเนินกิจการเอง เอาไปให้เช่าช่วง ซึ่งขัดต่อสัญญาหรือไม่ 2.อุปกรณ์ทุกอย่างที่ บีอีซี จัดซื้อมาในสัญญาระบุว่าให้โอนเป็นของ อสมท ก่อนนำไปดำเนินการ
“ประเด็นผิดสัญญาไหม ... ก็มีอยู่ 2 ข้อ ซึ่งกรรมการสงสัยว่าจะผิดสัญญา ซึ่ง อ.ปานเทพ พูดไม่ผิดหรอกครับว่าผมเป็นคนเขียนจดหมายฉบับนี้เอง ข้อหนึ่งคือ เราสงสัยว่า บีอีซีไม่ได้ดำเนินกิจการเอง เอาไปให้เช่าช่วงซึ่งเป็นข้อห้ามตามสัญญาหรือไม่ ก็แจ้งไปเลยว่าเราสงสัย เพราะรายงานประจำปีที่ บีอีซี เวิลด์ ส่งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง บีอีซี เวิลด์เป็น บ.แม่ของบีอีซีอีกที และมีบริษัทลูกอีก 20 บริษัท เราสงสัยว่ารายงานประจำปีก็มีโลโก้ของช่อง 3 เราก็สงสัยว่า บีอีซี เวิลด์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท จะมาอ้างว่าเป็นคนมาทำช่อง 3” ปธ.บอร์ด อสมท กล่าว และอธิบายว่า ในมติ ครม. ปี 2532 สมัย นายเฉลิม ได้อนุมัติการขายหุ้นของ บ.บีอีซี ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท ให้ขายหุ้นมากกว่าร้อยละ 90 ให้กับ บ.บีอีซี เวิลด์ จนทำให้ บ.บีอีซี กลายสภาพจากบริษัทแม่มาเป็นบริษัทลูกถึงทุกวันนี้
หัวหมอ! ตีความ บีอีซี ขายเวลาแค่บางส่วนยังไม่ผิดสัญญา
ในกรณีการโอนทรัพย์สิน เช่น ห้องส่ง กล้องวิดีโอ ฯลฯ ซึ่งสัญญาบังคับให้ บ.บีอีซี ต้องโอนให้ อสมท ศ.ดร.สุรพล ระบุว่า บอร์ด อสมท ได้เคยตั้งข้อสังเกตในกรณีดังกล่าว ว่า ยังไม่มีการโอน โดยในเดือน ก.ค.52 ก็เคยทำหนังสือฉบับแรกไปถามต่อ บ.บีอีซี และ บ.บีอีซี ก็ได้ตอบกลับมา โดยอ้างว่า บ.บีอีซี เวิลด์ เป็นผู้ดำเนินรายการภายใต้สัญญาของ บ.บีอีซี และ บ.บีอีซี เวิลด์ เป็นผู้ซื้อรายการจาก บ.บีอีซี โดยผู้ซื้อรายการนอกจาก บ.บีอีซี เวิลด์ แล้วก็ยังมี บ.ไร่ส้ม และบริษัทอื่นๆ อีกด้วย
“... มีคนซื้อมาเยอะ ทำรายการ ทำละคร แต่เจ้าของรายการ (บ.บีอีซี คู่สัญญา อสมท) เขายังไม่ได้ขายทั้งหมด เขาก็ดำเนินการโดยขายเวลาบางช่วง รายการอื่นเขาก็ดำเนินการเอง ซึ่งก็จริง เพราะถ้าไปดูงบดุลของเขาจะพบว่า บีอีซี มีระดับผลประกอบการ มีรายได้ในปี 51 ประมาณ 4,000 ล้าน แต่รายได้จะต่ำกว่าบีอีซี เวิลด์ทั้งกลุ่ม” ศ.ดร.สุรพล กล่าว และว่า เพราะฉะนั้นตนและบอร์ด อสมท จึงไม่กล้าปฏิเสธ
“นอกจากนี้ เขายืนยันว่า ทำอยู่เอง ตลาดหลักทรัพย์เขาก็แจ้ง ข้อที่บอกว่า ไม่ได้ส่งอุปกรณ์ เขาตอบเรามาว่า ทรัพย์สินทุกอย่างมีการตรวจนับกันทุกปี โดยผู้แทนจาก อสมท ไปตรวจนับกับเขา แล้วก็มีบันทึก มีลายเซ็นของบุคลากร อสมท แต่งตั้งไปตรวจนับ ล่าสุด เพิ่งตรวจนับเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา พอได้ไปตรวจสอบข้อมูล ก็พบว่าจริง” ศ.ดร.สุรพล กล่าว อย่างไรก็ตาม บอร์ด อสมท ก็ยังเห็นว่าสินทรัพย์ยังส่งมอบไม่ครบ ซึ่งตนก็ได้ทำจดหมายครั้งที่ 2 แจ้งเตือนไปอีก
รับจับเข่าคุยกับ “บิ๊กช่อง 3” จริง
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อ กรณีที่มีการกล่าวพาดพิงว่า ตนในฐานะประธานบอร์ด อสมท มีการไปจับเข่าคุยกับช่อง 3 นั้น ศ.ดร.สุรพล ระบุว่าคำกล่าวดังกล่าวความจริงก็ถูกครึ่งและผิดครึ่งหนึ่ง คือ มีจับเข่าคุยกันจริง เพราะ นายประวิทย์ มาลีนนท์ ขอมาพบ ตนก็อธิบายให้ฟังว่า อสมท รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องรายได้ คือ 6.5% เป็นรายได้ตายตัว ตนก็ยื่นเงื่อนไขว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจ่ายเท่าเดิม คือ 6.5% ของรายได้ โดย นายประวิทย์ ขอกลับไปคิด แล้วก็แจ้งมาตอนหลังว่าให้ไม่ได้ โดยอ้างว่าสัญญาที่ถูกแก้ไขในปี 2532 ถูกต้องทุกอย่าง ครม.เห็นชอบแล้ว ดังนั้น ตนจึงให้ฝ่ายกฏหมายเตรียมยกร่างหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 52 เนื่องจากบอร์ด อสมท เห็นว่าสัญญาไม่เป็นธรรม เพราะว่าถูกทำขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุรพล ชี้แจงว่า เมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด อสมท เนื่องจาก บอร์ด อสมท เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็มีมติให้เชิญกรรมการบริษัทบีอีซีมาพบกับกรรมการ อสมท ทั้งคณะ
“ผมเห็นว่า บีอีซี ควรจะคืนความเป็นธรรมให้แก่ อสมท เนื่องจากการทำสัญญาคราวนั้นมันไปเปลี่ยนในสิ่งที่ อสมท ควรจะได้ แล้วผมก็ใช้วิธีในการเจรจา ในเมื่อบีอีซี ปฏิเสธไม่จ่าย มันก็เหลือทางไม่มากนักที่ อสมท จะดำเนินการได้ ถึงแม้ว่า บีอีซี จะมีข้ออ้างทางกฏหมายที่มีน้ำหนัก แต่บอร์ด อสมท ก็ได้เรียกร้องไปแล้วสำหรับส่วนที่ อสมท ควรจะได้” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ดันไปตกลง กรณี “บีอีซี” แถไม่ผิดสัญญา แต่ขอจ่ายเพิ่ม
“ส่วนบีอีซี ขอว่า ถ้าจะพูดเรื่องค่าตอบแทน ก็พูดเรื่องค่าตอบแทนที่บีอีซีจะต้องจ่ายให้ อสมท ไม่ต้องพูดเรื่องสัญญาได้ไหม เพราะไม่มีอะไรต้องพูดเพราะสัญญาตกลงไว้แล้วว่า อสมท ตกลงให้ บีอีซีออกอากาศไปอีก 10 ปีอยู่แล้ว ถ้าไม่ผิดสัญญา (ผู้ดำเนินรายการ - เขาถือว่าเขาไม่ผิดสัญญา) เขาถือว่าเขาไม่ผิดสัญญา ไม่มีอะไรผิดสัญญา แล้วก็สัญญานี้ก็ต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดเรื่องค่าตอบแทนกัน พูดต่างหากจากสัญญาได้ไหม อสมทซึ่งเห็นอยู่แล้วสัญญามันเขียนอยู่แล้ว ก็บอกว่าได้” ปธ.บอร์ด อสมท กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า หลังจากตกลงกันไม่ได้ ก็มีการหารือกันของทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง โดยประเด็นเรื่องผิดสัญญาหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ดังนั้น อสมท ไม่ใช่ฝ่ายที่จะบอกว่าช่อง 3 ผิดหรือไม่ผิด เพียงแต่เราแค่สงสัยเท่านั้นว่าการกระทำผิดเงื่อนไข
“อสมท ตกลง ตั้งคณะกรรมการ 3 คนและฝ่ายจัดการอีก 1 คนไปคุยกับบีอีซี ถามว่าตั้งไปคุยจะตกลงกันบนเงื่อนไขอะไร ผมเรียนว่าสัญญาครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ขอใช้กติกานี้ได้หรือไม่ มันตกลงไว้ว่าค่าตอบแทนจะเป็น 6.5% ของรายได้รวม ไม่ใช่ค่าตอบแทนตายตัวที่กำหนดเป็นรายปี”
แจงที่มาของตัวเลข 405 ล้าน
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า การเจรจาตรงจุดนี้ เป็นที่มาของเงิน 405 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น โดยตอนแรก อสมท คำนวณแล้วเสนอช่อง 3 ไป 428.6 ล้านบาท แต่เมื่อตกลงกันแล้ว ช่อง 3 ยอมจ่ายค่าตอบแทนแต่ระบุว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญา แต่เป็นเงินที่ช่อง 3 ยอมจ่ายในฐานะที่ อสมท เรียกร้องความเป็นธรรม จึงไปจบอยู่ที่ 405 ล้านบาท
“เราก็ทำการบ้านว่า ค่าตอบแทนของบีอีซีในแต่ละปี ที่ได้รับมาจากการทำธุรกิจมันเท่าไหร่ แล้ว 6.5% ของเงินจำนวนนั้นมันจะเป็นเท่าไหร่ ฐานตรงนี้อาจจะต่างกันนะครับเพราะ เรากำลังคิดถึงอีก 10 ปีข้างหน้า การจะประเมินว่าจากปีนี้ไปอีก 10 ปีบีอีซีจะเติบโตเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางสื่อ ... อสมท ประเมินว่า ในปีแรก ปี 53 บีอีซีน่าจะโตได้ประมาณ 5% ปีที่ 2 ปีที่ 3 จะโตได้อีก 3% ปีที่ 4 ปีที่ 5 จะโต 2% ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไปอัตราการเติบโตจะคงที่ นี่คือวิธีคิดของ อสมท …” ศ.ดร.สุรพล ชี้แจง และอธิบายต่อว่า ส่วนตัวเลขในปีฐานที่บอร์ด อสมท นำมาใช้คำนวณ คือ ตัวเลขรายได้ 5 ปีหลังสุด มิใช่ตัวเลขปีล่าสุด หรือ ปี 52 ซึ่งตัวเลขเพิ่งมาดีขึ้นอย่างมาก
“ทั้งนี้ เมื่อใช้ฐานดังกล่าวในการคำนวณแล้ว อสมท ได้ตัวเลขที่เพิ่มเติมจาก 2,002 ล้านบาทต่อ 10 ปี คือ ประมาณ 500 กว่าล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดแล้วว่าถ้าเราจะไม่รอ 10 ปี ถ้าต้องการให้ช่อง 3 จ่าย ณ เวลานี้เลย ซึ่งก็มีสูตรที่นักบัญชีเขาคิดกัน ตัวเลขก็จะอยู่ที่ 428.6 ล้าน นี่คือตัวเลขที่เราคิดว่าน่าจะได้เพิ่มจาก 2,002 ล้าน ... สุดท้ายก็ไปจบกันที่ตัวเลข 405 ล้าน ที่ไม่ยอมถอยกันอีกต่อไป ก็กลับมาถามว่าจาก 428 ล้านที่คิดว่าควรจะได้ กับ 405 ล้านบาท ต่างกันอยู่ 10 กว่าล้านบาทรับได้ไหม กรรมการเราก็บอกว่า คิดว่ารับได้ เพราะกรรมการเจรจาอย่างเต็มที่แล้ว”
จากนั้น ปธ.บอร์ด กล่าวต่อว่า เมื่อตกลงกันได้แล้ว บอร์ด อสมท จึงให้ ช่อง 3 เขียนจดหมายยืนยันว่าจะจ่ายเงินเพิ่ม 405 ล้านบาท โดยไม่เกี่ยวกับสัญญา ซึ่งก็มีการนำเรื่องเข้าบอร์ด อสมท และมีมติ จากนั้นจึงแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันรุ่งขึ้น โดยระบุว่าจะนำเรื่องไปดำเนินการต่อ
“ปานเทพ” ชี้ถ้าต่อสัญญา จะสูญอีก 4 พันล.
ด้าน นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ตนได้ฟัง ศ.ดร.สุรพล แล้วก็รู้สึกสบายใจที่บอร์ด อสมท เห็นถึงปัญหาว่าสัญญาในสมัย ร.ต.อ.เฉลิม นั้น ทำให้ อสมท ไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง โดยนายปานเทพชี้ให้เห็นว่ามีการคำนวณจาก คณะกรรมการนำโดย นายจรัญ ภักดีธนากุล ระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมา อสมท สูญเสียรายได้ไป 5,200 ล้านบาท จากสัญญาไม่เป็นธรรมดังกล่าว ตนจึงคิดว่าเราไม่น่าจะต่อสัญญาเช่นนี้อีก ซึ่งหาก อสมท ต่อสัญญาอีก 10 ปี รายได้ที่พึงได้ก็จะหายไปอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท
“สัญญามีปัญหามาก และมีการกระทำความผิดต่อสัญญาด้วย ผมเห็นใจคณะกรรมการฯชุดใหม่ที่ต้องทำตามสัญญา แต่ในฐานะที่เห็นตรงกันว่า องค์กรรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็ต้องมองว่าจะเยียวยากันอย่างไร” นายปานเทพ กล่าว
แฉมติ ครม. ปี 32 ขัด พ.ร.ฎ.อสมท
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ตนอยากชี้แจงสัญญาของช่อง 3 มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการระบุหลายจุดที่ไม่มีสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก แต่ปรากฏว่าสุดท้ายมีปรากฏในมติ ครม.เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มีทางออกอยู่ ในเมื่อสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งหากยกเรื่องนี้ขึ้นมาต่อสู้ อาจเป็นเครื่องต่อรองเพื่อเรียกผลประโยชน์รัฐกลับคืนมาสู่ อสมท ก็ได้
“อ้างอิงจากพระราชกฤษฎีกาในการจัดตั้ง อสมท ซึ่งใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว มาตรา 6(5) เขียนไว้ชัดเจนว่าการแก้ไขหรือการทำสัญญา อสมท มีหน้าที่ทำให้เกิดประโยชน์กับ อสมท เพราะฉะนั้นมติ ครม. (ปี 2532 สมัยนายเฉลิม) มีอำนาจหน้าที่ ทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นมติ ครม.ก็ดี หรือ การกระทำของ อสมท ก็ดี ถ้าทำให้ อสมท ไม่ได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากเดิม เช่น 6.5% ไปตัดเขาทิ้งมันก็ทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นก็เท่ากับว่า ขัดต่อกฎหมาย (ผู้ดำเนินรายการ - แต่เขาก็โต้แย้งว่าสัญญาต้องเป็นสัญญาสิ) แต่สัญญาก็ขัดต่อกฎหมายไม่ได้ครับ” นายปานเทพชี้ให้เห็นความผิดปกติ
เงื่อนงำแก้ไขสัญญามิชอบ
จากนั้น นายปานเทพ ได้ยกเอกสารเปรียบเทียบรายละเอียดของการแก้ไขสัญญา ช่อง 3 แต่ละครั้งขึ้นมาประกอบโดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบรายละเอียดในข้อ 7 ของสัญญาเดิมและสัญญาที่มีการแก้ไขในแต่ละครั้งแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีความผิดปกติกล่าวคือ ใน สัญญาร่วมดำเนินการกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ข้อ 7 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การพิจารณาให้สิทธิแก่ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” เป็นรายแรก โดย “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” จะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมด้วยข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง อ.ส.ม.ท.ก่อนครบกำหนดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2 ปี”
ซึ่งเมื่อตนไปดูย้อนหลังแล้วพบว่า ใน สัญญาฯ การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 กลับมีการตัดข้อความดังกล่าวออกไป ทั้งๆ ที่ข้อเสนอแก้ไขของบีอีซี รวมไปถึงร่างสัญญา อ.ส.ม.ท.ที่ยื่นต่อ ครม.ในปี 2532 ก็มีข้อความดังกล่าวอยู่ และ ครม.ก็เห็นชอบ เพราะฉะนั้น การที่ สัญญาแก้ไขครั้งที่ 3 ไม่เป็นไปตามมติ ครม.ต้องถามว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“บีอีซียื่นมา คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ก็เห็นชอบ เมื่อเห็นชอบก็ยื่น ครม. ครม.ก็เห็นชอบ แต่พอลงนามในสัญญากลับตัดตรงจุดนี้ทิ้ง คำถามก็คือว่าถ้าสัญญาตัดข้อความทิ้งได้ทั้งๆ ที่ผ่านมติ ครม. แล้ว ตกลงสัญญานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขัดมติ ครม.หรือไม่ และปฏิบัติต่อได้หรือเปล่า” นักวิชาการอิสระตั้งข้อสงสัย พร้อมชี้แจงต่ออีกว่า นอกจากนี้ในสัญญาฯ แก้ไขครั้งที่ 3 ไม่เพียงตัดข้อความบางส่วนที่ผ่าน มติ ครม.แล้ว แต่ยังมีการเพิ่มเติมข้อความบางส่วนที่ไม่ผ่านมติ ครม. และไม่มีใครเสนอขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งสำหรับตนแล้วถือเป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง ไม่นับรวมถึงความผิดปกติในวันลงนามสัญญา ฯลฯ
(กรุณาคลิกภาพประกอบ : การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 ของ อสมท กับ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์)
อสมท งุบงิบต่อสัญญา ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ในกรณีการต่อสัญญาช่อง 3 ปีนี้นั้น ตนเห็นว่า น่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ซึ่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการต่อสัญญา มิใช่เป็นเรื่องที่บอร์ด อสมท หรือ ศ.ดร.สุรพล จะไปเจรจาหรือตัดสินใจโดยพลการได้
นอกจากนี้ นายปานเทพ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าในเมื่อเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ บอร์ด อสมท ก็จะต้องนำปมประเด็นปัญหายื่นหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อความรอบคอบในหลายๆ ประเด็นเช่น การต่อสัญญาดังกล่าวขัดกับ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หรือไม่? การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีขั้นตอนอย่างไร? รวมไปถึง ควรจะตั้งคณะที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อประเมินผลตอบแทนที่ อสมท ควรจะได้รับด้วยหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว ศ.ดร.สุรพล กล่าวแย้งว่าในฐานะที่ตนก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกา ตนทราบดีว่า กฤษฎีกาก็จะมีคำตอบว่า ไม่ต้องหารือแต่ให้ไปดำเนินการได้เลย
ชี้ถ้าผิดสัญญา บอร์ดก็ไม่ควรเจรจาต่อ
นายปานเทพ กล่าวต่อในประเด็นช่อง 3 ทำผิดสัญญาว่า จากการเกษียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรของ ศ.ดร.สุรพล นั้นบ่งชี้อยู่แล้วว่าช่อง 3 ผิดสัญญาหรือไม่ ก็ในเมื่อสัญญาจริงๆ ระบุอยู่แล้วว่าต้องไม่ผิดสัญญาถึงจะต่อได้ และที่สำคัญต้องตอบคำถามที่ว่า มีบริษัทอื่นมาดำเนินการแทนหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับการขายเวลา โดยเมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่า มีการขายโฆษณาจริง ซึ่งชัดเจนว่าผิดสัญญาที่ระบุว่าในการดำเนินการ บ.บีอีซี ต้องดำเนินการด้วยตนเอง ให้คนอื่นเช่าแทนไม่ได้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาในความพยายามที่จะผ่องถ่ายรายได้
แผนภาพแสดงความสัมพันธ์โครงสร้าง ช่อง 3
จากนั้น นายปานเทพ ได้ยกแผนภาพแสดงความสัมพันธ์โครงสร้าง ช่อง 3 ขึ้นมา โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า เดิมที อสมท เป็นคู่สัญญากับ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (บีอีซี) แต่ในเวลาต่อมาได้มีความพยายามเล่นแร่แปรธาตุ ตั้ง บ.บีอีซี เวิลด์ ขึ้นมาถือหุ้นใหญ่ในบีอีซี ซึ่งทำไปทำมา บ.บีอีซี เวิลด์ ซึ่งหากินอยู่กับช่อง 3 กลับมีรายได้มากกว่าตัวบีอีซี ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท เสียอีก จึงน่าสงสัยว่าแล้วรายได้ที่ บ.บีอีซี ได้รับจะกลับคืนมาสู่ อสมทได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้อย่างไร
“บ.บีอีซี เวิลด์ (ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท) เป็นผู้ที่ทั้งขายโฆษณา เป็นผู้จัดผังรายการไพรม์ไทม์ ผลิตรายการ อีกด้านหนึ่งให้บริษัทลูก (ของ บีอีซี เวิลด์) อีกหลายแห่งผลิตรายการและรับโฆษณา นอกจากนี้ยังมี 28 รายการที่ หาโฆษณาเอง แต่สัญญาในข้อ 8.5 เขาไม่ให้ทำนะครับ ไม่ให้ขายเวลา ไม่ให้เช่าเวลาออกไป สาเหตุที่สัญญาต้องเขียนอย่างนั้น ก็เพราะถ้าไม่เขียนอย่างนั้นรายได้ของ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ก็จะหายไปอยู่กับบริษัทอื่นๆ เวลาคำนวณในอนาคต บ.บางกอกฯ ก็จะมีรายได้นิดเดียว” นายปานเทพ ระบุ
มากกว่านั้น นายปานเทพ กล่าวต่อถึงประเด็นการส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาในลักษณะ BTO (สร้าง-โอน-ดำเนินการ) ว่า บ.บางกอกฯ ซิกแซกด้วยการใช้วิธีเช่าทรัพย์สินจากบริษัทอื่น ทั้งๆ ที่เป็นทรัพย์สินหลักที่ต้อง โอนให้กับ อสมท ก่อนแล้วค่อยไปดำเนินการ ซึ่งวิธีเลี่ยงสัญญาดังกล่าวทำให้ในที่สุดแล้วทรัพย์สินก็ไม่กลายเป็นของ อสมท แต่ตกอยู่ในมือของผู้บริหารช่อง 3 คือ ตระกูลมาลีนนท์ ต่อไป
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ความผิดปกติและความพยายามของผู้บริหาร ช่อง 3 ในการเลี่ยงสัญญา บอร์ด อสมท น่าจะทราบหรือไม่ ซึ่งนายปานเทพได้ตอบว่า
“ถามว่าผิดสัญญาไหม ผมว่าท่านอาจารย์ (ศ.ดร.สุรพล) เมื่อเดือนกันยายน 2552 เขียนด้วยลายมือตัวเองไปแล้วว่า เขาผิดสัญญา ว่ามีผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เพราะฉะนั้นถ้ามีการผิดสัญญาแล้ว สัญญาเขาเขียนว่าถ้าจะต่อสัญญาไปอีก 10 ปีได้ต้องไม่ทำผิดสัญญา ...”
หลักฐานมัด หนังสือชี้ชวน “บีอีซี เวิลด์” อ้างบริหารช่อง 3
ต่อมา นายปานเทพ ได้หยิบหนังสือชี้ชวนนักลงทุนของ บ.บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาของ อสมท ขึ้นมาเป็นหลักฐานโดยชี้ให้เห็นถึงข้อความตอนหนึ่งในหนังสือชี้ชวนดังกล่าวซึ่งระบุว่า “บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักในการจัดสรรภาพยนตร์ ผลิตรายการ และขายโฆษณาทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3”
โดย นายปานเทพ ได้ชี้ให้เห็นว่า บ.บีอีซี เวิลด์ นอกจากจะกระทำการต่างๆ แทน บ.บางกอกฯ (บีอีซี) แล้ว ยังดำเนินการขายเวลาของช่อง 3 ให้กับผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อความในสัญญาข้อ 8.5 แล้ว ตนคิดว่าผิดสัญญาอย่างแน่นอน
“แต่ อาจารย์สุรพล อาจมองว่า การดำเนินการแทนนั้นต้องทำทั้งสถานี หรือ ทั้งหมด แต่ผมมองว่ามันไม่ใช่ เพราะเจตนาของสัญญานั้นไม่ต้องการให้รายได้ถูกผ่องถ่ายไปยังบริษัทอื่นๆ” นายปานเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบ พบว่า บ.บีอีซี เวิลด์ ได้สร้างเสาโทรทัศน์ขนาดใหญ่ เพื่อให้ บ.บีอีซี ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท เช่า อันจะเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามจะหลีกเลี่ยงสัญญา การถ่ายโอนทรัพย์สิน ดังนั้น อสมท จึงไม่สามารถได้ทรัพย์สินที่ควรได้ อย่างเช่น เสาโทรทัศน์ที่เป็นอุปกรณ์ในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์
พบปมประเมินรายได้ช่อง 3 ต่ำเกินจริง
ต่อกรณีที่ ศ.ดร.สุรพล ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า บอร์ด อสมท พยายามใช้เกณฑ์ในการคำนวณรายได้ในช่วง 10 ปีข้างหน้าเพื่อความเป็นธรรมกับช่อง 3 โดยใช้ข้อมูลรายได้ 5 ปีหลังสุดมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณฐานรายได้ในปี 2553-2563 และสรุปหลังการเจรจาได้เงินเพิ่มนอกเหนือสัญญาจำนวน 405 ล้านบาท นายปานเทพ ได้แย้งว่า จากประสบการณ์ของตน ตนไม่เคยเห็นนักบัญชีผู้ใดใช้วิธีการประเมินเช่นนี้มาก่อน เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
วิธีคำนวณฐานรายได้ บ.บางกอกฯ ของ อสมท เพื่อต่อสัญญา 10 ปี (กราฟแท่งสีส้มคือ รายได้ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี 2547-2552 ส่วนกราฟแท่งสีฟ้าคือรายได้ที่ อสมท ประเมินเพื่อต่อสัญญาระหว่าง 2553-2563) ซึ่ง นายปานเทพ ชี้ให้เห็นว่า มีความผิดปกติเพราะต่ำกว่าความเป็นจริง
โดย นายปานเทพ ได้ชี้ให้เห็นว่า จากข้อมูลงบดุลที่ บ.บางกอกฯ ยื่นกับรัฐ ในช่วง 5 ปีหลังสุด จะเห็นได้ชัดว่า รายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีตกไปบ้างก็เพียงนิดหน่อยในปี 2548 แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีล่าสุดคือ 2552 บ.บางกอกฯ มีรายได้ สูงถึง 4,453 ล้านบาท แต่เมื่อมาพิจารณาการคาดการณ์รายได้ในอนาคตของ บ.บางกอกฯ ที่ทำโดย อสมท จะพบว่า อสมท กลับประเมินรายได้ในปี 2553 ต่ำกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจริง 2552 มากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก ซึ่งเป็นผลทำให้การคำนวณส่วนแบ่งรายได้ที่ อสมท ควรจะได้ลดต่ำเหลือเพียง 400 กว่าล้านบาทด้วย
อย่างไรก็ตาม ปธ.บอร์ด อสมท ได้ยืนกรานว่า สาเหตุที่คาดการณ์รายได้ของ บ.บางกอกฯ ในปี 2553 ที่ บอร์ด อสมท เห็นชอบนั้นต่ำกว่าปี 2552 ก็เพราะมีการคำนวณโดยใช้ฐาน 5 ปีหลัง โดยบอร์ดมิได้มีเจตนาในการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด
ตอนต่อมา ศ.ดร.สุรพล กล่าวแย้งว่า บางทีสิ่งที่ นายปานเทพกล่าวมา อาจจะเป็นการนำหลายเหตุการณ์มาผูกติดกัน ซึ่งตนในฐานะประธานบอร์ด อสมท ยืนยันว่าทุกสิ่งเป็นมติของบอร์ด อสมท โดยในเรื่องของการผ่องถ่ายรายได้ออก ให้ดูเหมือนว่ามีรายได้น้อย ประเด็นนี้ถ้ากลับไปคิดจากหลักว่าตั้งแต่ปี 2532 ไม่ว่าบีอีซี จะมีรายได้เท่าไร ก็ต้องจ่ายให้แก่ อสมท ตายตัวอยู่ดี
ในตอนท้าย นายปานเทพ กล่าวว่า ตนขอสรุปว่าการกระทำดังกล่าวแม้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัย ศ.ดร.สุรพล แต่ที่ตนกำลังชี้แจงและเรียกร้องอยู่มันเป็นเรื่องปัจจุบัน ว่า สัญญาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 มันดูเหมือนไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยอ้างเหตุผลให้ต่อสัญญาในรายได้ที่ อสมท ไม่สมควรได้ ซึ่ง อสมท และภาครัฐต้องหาทางเยียวยาเรื่องนี้
“รู้ทั้งรู้สัญญาไม่เป็นธรรม ขัดต่อกฎหมายหรืออาจจะไม่ชอบด้วยกฏหมาย เราต้องหาทางยกเลิกมัน โดยอาจจะต้องขอยกเลิกมติ ครม.ด้วยซ้ำไป ซึ่งในรายงาน อ.จรัญ ภักดีธนากุล ยังระบุว่า ให้ยกเลิกมติดังกล่าว ถึงขนาดบอกว่า ระหว่างนี้ อสมท ควรรายงานให้ ครม.ว่าอะไรเกิดขึ้น ในเมื่อเราต้องการปกป้องผลประโยชน์ของ อสมท หรือเราจะหาช่องทางให้ช่อง 3 ได้ต่อสัญญาในรายได้ที่ อสมท ได้เท่านี้” นายปานเทพ กล่าว