xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นร้อง ป.ป.ช.เอาผิด “บอร์ด อสมท” เร่งต่อสัญญาช่อง 3 มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“ปานเทพ” พร้อมทนายประชาชน “นิติธร ล้ำเหลือ” ยื่นร้อง ป.ป.ช.สอบ กรรมการ “อสมท” พยายามต่อสัญญา “ช่อง 3” โดยมิชอบ พฤติกรรมส่อเอื้อเอกชนจ่ายผลตอบแทนต่ำกว่าความเป็นจริง ระบุต่อสัญญา 10 ปีโดยอัตโนมัติขัด กม. แถมพบ “บีอีซี” หัวหมอทำผิดสัญญาเดิมอื้อ



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเพ พัวพงษ์พันธ์
 
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (9 มี.ค.) นายปานเพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาคณะกรรมการ บมจ.อสมท กรณีพยายามต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 โดยมิชอบ โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่อง ร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับพวก กรณี การรับข้อเสนอในการต่อสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด

เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ข้าพเจ้าผู้ยื่นคำร้องที่ 1 ชื่อนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และข้าพเจ้าผู้ยื่นคำร้องที่ 2 ชื่อนายนิติธร ล้ำเหลือ

ข้าพเจ้าขอร้องเรียนกล่าวหา คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับพวก ในการมีมติในการประชุมครั้งที่ 19/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ให้รับหลักการในข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งมติดังกล่าวไปยัง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามหนังสือเลขที่ นร 6153/3485 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552

พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และกฎหมายอื่นๆ ดังนี้

1.ความเป็นมาที่สำคัญของสัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3


ปรากฏตามสัญญาร่วมดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ระหว่างบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และการแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้งดังนี้

4 มีนาคม 2511 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีกับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (จัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี) เป็นเวลา 10 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ. 2523) โดยในสัญญาระบุว่า บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะจ่ายค่าตอบแทนคงที่รายปีให้กับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ซึ่งเรียกชื่อสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ในทางสาธารณะว่า “ไทยทีวีสีช่อง 3”

25 มีนาคม 2520 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ภายหลังการยุบเลิก บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520

9 เมษายน 2520 อ.ส.ม.ท. ได้รับโอนกิจการจากบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และสิทธิการร่วมดำเนินกิจการตามพระราชกฤษฎีกาให้แก่ อ.ส.ม.ท. ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจาก บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในสัญญาร่วมดำเนินการ “ไทยทีวีสีช่อง 3” ด้วย

หลังจากนั้นได้มีการทำสัญญาระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด อีก 4 ฉบับด้วยกันคือ

สัญญาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 28 เมษายน 2521 ประเด็นสำคัญคือการให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เข้าร่วมดำเนินกิจการออกอากาศโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นเวลา 10 ปี นับแต่สิ้นสุดสัญญาเดิม (26 มีนาคม 2523 – 26 มีนาคม 2533) โดยกำหนดค่าตอบแทนให้แก่ อ.ส.ม.ท. จำนวนร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายแต่ยอดรวมทั้งสิ้นต้องไม่น้อยกว่า 78,000,000 บาท

สัญญาฉบับที่ 2 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) ลงวันที่ 13 กันยายน 2525 กำหนดค่าตอบแทนตามอัตราเดิมร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย แต่ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 148,234,779.82 ล้านบาท

สัญญาฉบับที่ 3 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ประเด็นสำคัญคือ
1. ขยายระยะเวลาร่วมดำเนินการกิจการออกไปอีก 20 ปี นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2553 โดยมีกำหนดเงื่อนไขให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3

2. กำหนดค่าตอบแทนตามอัตราเดิมคือ ร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย แต่ขั้นต่ำรวมกันตลอดอายุของสัญญา 20 ปี ต้องไม่น้อยกว่า 1,205,150,000 บาท

3. หาก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ดำเนินการตามสัญญาเป็นไปโดยเรียบร้อยและหากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว และหาก อ.ส.ม.ท. มีนโยบายที่ต้องการให้เอกชนร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ต่อไป อ.ส.ม.ท.จะพิจารณาให้สิทธิแก่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นรายแรกในการร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและภูมิภาคต่อไปอีกมีกำหนด 10 ปี โดยกำหนดวิธีจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท.เหมือนเดิม

สัญญาฉบับที่ 4 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3) ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เป็นสัญญาที่ทำให้ อ.ส.ม.ท.สูญเสียผลประโยชน์นานัปการโดยมีสาระสำคัญของสัญญาฉบับนี้ที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนคือ

1. กำหนดให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ทำการก่อสร้างสถานีเครื่องส่งสัญญาณโทรทัศน์สำหรับถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง ของ อ.ส.ม.ท. (ไทยทีวีสีช่อง 9 และช่อง 3) ในวงเงินไม่น้อยกว่า 81 ล้านบาท รวมทั้งจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เพิ่มเติม

2. ตัดค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายออกไป เหลือแบ่งจ่ายเป็นรายปีรวมกันตลอดอายุของสัญญาจำนวนไม่น้อยกว่า 1,205.15 ล้านบาท (ซึ่งเดิมเป็นค่าตอบแทนขั้นต่ำให้กับ อ.ส.ม.ท.) แต่เพียงอย่างเดียว

3. แก้ไขสัญญาว่า หาก บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ปฏิบัติตามเงื่อนไขและ “ไม่มีการกระทำผิดสัญญา” อ.ส.ม.ท.ตกลงให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2563) และกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้ อ.ส.ม.ท.เป็นแบบตายตัวคือไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท

การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 ดังกล่าวนอกจากจะทำให้ อ.ส.ม.ท. ได้รายได้น้อยลงไปอย่างมหาศาลแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญจากการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 คือ จากเดิมในการต่อสัญญาอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2563) อ.ส.ม.ท.มีทางเลือกระหว่างจะดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยตัวเอง หรือร่วมดำเนินการกับเอกชนโดยจะพิจาณาให้สิทธิกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นรายแรก กลายมาเป็นการตกลงผูกมัดให้ อ.ส.ม.ท. ต่อสัญญากับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2563) โดยมีเงื่อนไขว่าการต่อสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด มีการปฏิบัติตามเงื่อนไข และไม่มีการกระทำผิดสัญญา อีกทั้งกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท. ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท (หรือเฉลี่ยเพียงประมาณปีละ 200 ล้านบาทเศษเท่านั้น)

ผลตอบแทนที่จ่ายให้กับ อ.ส.ม.ท. นั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมากนับ
หมื่นล้านบาท ดังปรากฏตามสำเนารายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ถึงรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.(นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) ซึ่ง บมจ.อสมท. แต่งตั้งขึ้น โดยมีมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการ ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 และรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ปัญหาของสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีในประเด็นการต่ออายุของสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

นอกจากนี้สัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด นั้นได้มีเงื่อนไขสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับข้อสงสัยในการกระทำผิดสัญญาของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด 2 ประการคือ

1. บรรดาสิ่งก่อสร้างทุกอย่างที่ได้ก่อสร้างขึ้นบนที่ดินอีกทั้งทรัพย์สินทุกอย่าง ยกเว้นเงินทุนที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้กระทำขึ้นหรือได้จัดหามาไว้สำหรับใช้สอยในการดำเนินการตามสัญญานี้ทุกๆอย่าง ไม่ว่าได้มาตามสัญญา หรือได้กระทำขึ้น หรือได้จัดหามาในระหว่างการดำเนินการตามสัญญานี้ก็ดี ให้ตกเป็นทรัพย์สินของ อ.ส.ม.ท. ทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้กระทำขึ้นหรือจัดหา

สัญญาร่วมดำเนินการดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็น BTO (Build Transfer Operate) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทรัพย์สินซึ่งจัดหามาโดย บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดนั้น ต้องโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อ.ส.ม.ท.นับแต่วันที่จัดหามาได้โดยทันที แล้วจึงให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัดนำไปใช้สอยในการบริหารจัดการได้ต่อไป

2. ในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีช่อง 3 นั้น บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ต้องดำเนินการเอง จะให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อ.ส.ม.ท.ก่อน

สัญญาฉบับที่ 4 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3) จะครบอายุสัญญา 20 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นี้หากการต่อสัญญาออกไป 10 ปีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่มีการกระทำที่ผิดสัญญา

2. การต่อสัญญาระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไปอีก 10 ปี โดยอัตโนมัติไม่สามารถดำเนินการได้


จาการตรวจสอบพบว่าหาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการที่พยายามที่ต่อสัญญาภายใต้ สัญญาฉบับที่ 4 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3) นั้นอาจไม่สามารถที่จะกระทำได้ และอาจเข้าข่ายการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายหลายประการดังต่อไปนี้

2.1 สัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มต้น
กรณีสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ระหว่างบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2511 มีวัตถุประสงค์เพื่อการร่วมส่งโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 แต่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทว่าบริษัทมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมถึงการส่งโทรทัศน์แต่ประการใด ดังจะเห็นได้จากหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด

แม้ต่อมาบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะได้ขอจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ให้ครอบคลุมถึงการส่งโทรทัศน์ แต่คำขอดังกล่าวก็ได้รับการอนุญาตจากทางราชการและจดทะเบียนให้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2511 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดได้เข้าทำสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 กับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2511

ดังนั้น ในวันที่ลงนามในสัญญาดังกล่าว บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จึงไม่มีวัตถุประสงค์ในประกอบกิจการการส่งโทรทัศน์ การลงนามในสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด กระทำการภายนอกขอบเขตวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ที่จดทะเบียนไว้กับทางราชการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่เข้าทำสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 กับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยชอบด้วยกฎหมาย สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลมาตั้งแต่เริ่มแรก

แม้ต่อมาภายหลังจากวันที่ลงนามในสัญญาแล้ว บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะได้รับการจดทะเบียนให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทได้ แต่วัตถุประสงค์ของสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 กับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ดังกล่าวก็ยังเป็นวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และมาตรา 5 และขัดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2497 มาตรา 4 และมาตรา 6 เช่นกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาเช่นว่านี้บางส่วนปรากฏเป็นหลักฐานตามเอกสารของ อ.ส.ม.ท. ที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสงานฉลองการเปิดสถานีโทรทัศน์เครือข่ายในส่วนภูมิภาค 22 สถานี หน้า 13 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยที่ 6) ซึ่งได้ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า

“บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท จำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2510 ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2510 ขอร่วมทุนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีกับบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เหตุผลที่ต้องขอเข้าร่วมลงทุนก็เนื่องจากพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” สำหรับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ได้รับใบอนุญาตให้ทำการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2498 ซึ่งออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้น บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด จึงได้ขอเข้าร่วมลงทุน โดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายที่บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด มีอยู่”

กรณีจึงเป็นการที่สัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ระหว่างบริษัท ไทยโทรทัศน์จำกัด และบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ดำเนินการส่งวิทยุโทรทัศน์และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมได้โดยไม่ได้ใบอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมาย ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การทำสัญญาดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อสัญญาดังกล่าวข้างต้นต้องตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลมาตั้งแต่เริ่มแรกเสียแล้ว การที่อ.ส.ม.ท.จะอาศัยสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 รับโอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าว จึงไม่อาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลตามกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มแรกอีกส่วนหนึ่งด้วย และย่อมส่งผลให้การที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รับโอนสิทธิตามสัญญาที่ต่อเนื่องมาจากสัญญาดังกล่าวจากอ.ส.ม.ท. โดยอ้างอาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ไม่สามารถกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

หากแม้จะฟังว่าสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ระหว่างบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ชอบด้วยกฎหมาย และการรับโอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวโดยอ.ส.ม.ท.ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ชอบด้วยกฎหมาย แต่การทำนิติกรรมเพื่อร่วมกิจการหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่น ซึ่งอ.ส.ม.ท.มีอำนาจจะกระทำเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่เพื่อประโยชน์แก่กิจการของอ.ส.ม.ท. ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีแล้ว ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มาตรา 7(5) ประกอบมาตรา 3 และมาตรา 39 เท่านั้น และปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ไม่ได้กระทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของอ.ส.ม.ท.แต่อย่างใดเลย หากแต่ได้กระทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ตามหนังสือของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 อันเป็นหนังสือที่เป็นหลักฐานแสดงว่าบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ได้ทำนิติกรรมโดยใจสมัคร มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการพ้นวิสัย ส่งผลให้สัญญาแก้ไขเพื่อเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ต้องตกเป็นโมฆะ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาได้ ทั้งที่ อ.ส.ม.ท. เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มาตรา 7(5) อีกส่วนหนึ่งด้วย

สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ที่ทำให้อ.ส.ม.ท.เสียประโยชน์นานัปการ และสูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับไปกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ดังปรากฏตามสำเนารายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ถึงรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.(นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) ซึ่ง บมจ.อสมท. แต่งตั้งขึ้น โดยมีมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการ ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 และยังปรากฏอยู่ในรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ปัญหาของสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีในประเด็นการต่ออายุของสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

อีกทั้งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นไม่ตรงตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้วตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มาตรา 7(5) แต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการที่อ.ส.ม.ท.โดยนายราชันย์ ฮูเซ็น ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ซึ่งได้ลงนามในสัญญาไปก่อนที่ อ.ส.ม.ท.จะได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรีจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับใช้ และเป็นนิติกรรมที่กระทำโดยไม่มีอำนาจไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น โดยไม่สุจริต และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ดังนั้นสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ดังกล่าวจึงต้องตกเป็นโมฆะและไม่มีผลตามกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มแรก ในอีกทางหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน

2.2 การต่อสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2563) โดยอัตโนมัติอาจขัดต่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535


เนื่องจากการทำสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทเอกชนอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2563) นั้นมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 นั้นจะต้องมีการแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการต่างๆตามมาตรา 13 เพื่อให้ความเห็นชอบตามร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมดำเนินการ ร่างขอบเขตและเงื่อนไขของโครงการ กำหนดหลักประกันซองและหลักประกันตามสัญญา พิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และตามมาตรา 15 ได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องใช้วิธีการประมูล

อีกทั้งในมาตรา 3 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ยังได้บัญญัติด้วยว่าบรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน ดังนั้นหาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์ที่จะให้เอกชนเข้าร่วมงานที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท แล้วจะต้องใช้วิธีการประมูลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ได้ปรากฏเป็นหลักฐานว่า คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้เคยแสดงพฤติการณ์รับทราบว่า โครงการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามสำเนาหนังสือที่ นร 6153/1528 (2)-(6) จากนายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถึง ปลัดกระทรวงการคลัง/เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา/อัยการสูงสุด/เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ซึ่งมีข้อความบางตอนจากหนังสือฉบับดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า

“สัญญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มีนาคม 2553 และบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้มีหนังสือถึง บมจ. อสมท ขอต่ออายุสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ออกไปอีกมีกำหนด 10 ปี โดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,002,610,000 บาท ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นั้น

คณะกรรมการ บมจ. อสมท ในการประชุม ครั้งที่ 8/2552 วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 พิจารณาแล้วเห็นว่า การต่ออายุสัญญาดังกล่าว เป็นโครงการที่เป็นการลงทุนในกิจการของรัฐ และการลงทุนนั้นมีวงเงินเกินหนึ่งพันล้านบาท จึงเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535”


ภายหลังจากหน่วยงานราชการต่างๆได้ส่งตัวแทนและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ตามมาตรา 13 ซึ่งมาจากตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆนั้นได้ประชุมไปแล้ว 1 ครั้งในการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนวิธีเป็นการเจรจาต่อรองกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในภายหลังแทน ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ นร 6153/3485 เรื่องรับข้อเสนอของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 โดยไม่เปิดให้มีการประมูล อันอาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป

2.3 พบกรณีที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตาม
สัญญา จึงไม่สามารถต่อสัญญาได้


เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งในสัญญาของ สัญญาฉบับที่ 4 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3) ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 คือการต่อสัญญาออกไป 10 ปี (2553 – 2563) ได้นั้นจะต้องมีการกระทำที่ “ไม่ผิดสัญญา” แต่จากหลักฐานและการตรวจสอบพบว่าอาจมีการกระทำความผิดต่อสัญญา อันเป็นเหตุที่ไม่สามารถต่อสัญญาใน 2 ประเด็นดังต่อไปนี้คือ

2.3.1 กรณีที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งได้ระบุเงื่อนไขให้โอนส่งมอบทรัพย์สินทุกอย่าง (ยกเว้นเงินทุน)ซึ่งได้กระทำหรือได้จัดหามาไว้ใช้สอยในการดำเนินการตามสัญญานี้ให้กับ อ.ส.ม.ท และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ได้กระทำหรือจัดหามา

การไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้มาให้กับ อ.ส.ม.ท. และบริษัท อสมท จำกัด
(มหาชน) ในวันที่จัดหาทรัพย์สินนั้นมา อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามรูปแบบตามสัญญาร่วมดำเนินการในกรณีนี้ซึ่งมีลักษณะเป็น BTO (Build Transfer Operate) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทรัพย์สินซึ่งจัดหามาโดย บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดนั้น ต้องโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อ.ส.ม.ท นับแต่วันที่จัดหามาได้โดยทันที แล้วจึงให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดนำไปใช้สอยในการบริหารจัดการได้ในภายหลัง

การกระทำที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดในสัญญาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นหลาย
กรณี เช่น การย้ายสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆไปยังที่ทำ
การของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดแห่งใหม่นั้น มิได้มีการส่งมอบ แจ้งการโอนสิทธิ์หรือจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หรือแจ้งให้ อสมท ซึ่งจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรือจัดหามา ดังปรากฏอยู่ในรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ปัญหาของสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีในประเด็นการต่ออายุของสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

กรณีการกระทำผิดสัญญาในการไม่ได้มอบทรัพย์สินให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวข้างต้นนั้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ก็ได้รับทราบการกระทำผิดสัญญาดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังปรากฏอยู่ในหนังสือของนายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ส่งไปให้กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เพื่อแจ้งให้ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีถึง 2 ครั้ง คือ หนังสือที่ นร 6153/2103 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 และ หนังสือที่ นร 6153/2427 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2552

ในขณะที่หนังสือชี้แจงของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ที่
02/736 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และที่ 02/379 ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 ต่อการกระทำผิดดังกล่าวนั้นก็เป็นลักษณะทำนองการหลีกเลี่ยงความผิด แต่ก็อ้างว่าพร้อมจะปฏิบัติตามเพื่อความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

นอกจากนี้ยังได้พบพฤติการณ์ในลักษณะที่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยง
ในการโอนทรัพย์สินที่ได้มาให้กับ อ.ส.ม.ท. ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นผู้เช่าทรัพย์สินและอุปกรณ์จากบริษัทอื่นๆ หรือ จากบริษัทในเครือของผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น :

กรณีการที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ใช้เสาส่งโทรทัศน์
และระบบสายอากาศส่งโทรทัศน์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ของไอทีวีทำให้ไม่สามารส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินของ อ.ส.ม.ท.

และกรณีการสร้างสถานีวิทยุโทรทัศน์ของ อ.ส.ม.ท. บนที่ดินซึ่งเช่ามาจาก
บริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด (โดยมีเจ้าของเป็นนางรัตนา และนายประชา มาลีนนท์ เป็นกรรมการ) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ทำให้ไม่สามารรถส่งมอบทรัพย์สินให้กับ อ.ส.ม.ท.ได้

สองกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นนั้น ปรากฏอยู่ในรายงานข้อเท็จจริง
เบื้องต้น (ฉบับเต็ม)เกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3) ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ถึงรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.(นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) ซึ่ง บมจ.อสมท. แต่งตั้งขึ้น โดยมีมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการ ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งได้แจ้งให้คณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)ได้รับทราบการกระทำความผิดดังกล่าวแล้วเช่นกัน

จากเอกสารและรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้น่าเชื่อได้ว่า คณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ย่อมรับทราบการกระทำผิดสัญญาของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในเรื่องการไม่โอนทรัพย์สินและการหลีกเลี่ยงการโอนทรัพย์สินให้กับ อ.ส.ม.ท. อยู่แล้ว

2.3.2 กรณีที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตาม
สัญญา มีลักษณะที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีผู้ประกอบการรายอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน


ตามสัญญาร่วมดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีช่อง 3 นั้น บริษัท บางกอก
เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ต้องดำเนินการเอง จะให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อ.ส.ม.ท.ก่อน

นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้เคยมีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ที่ นร 6153/2103 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 เรื่องการปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สี ความตอนหนึ่งว่า:

“อสมท พบว่า บริษัท บีอีซี เวิร์ล จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งในรายงานประจำปีที่แจ้งผู้ถือหุ้นและตลาดหลักทรัพย์ทราบว่า ตนเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด มิได้โต้แย้งหรือขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก อสมท ในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด อันถือเป็นการขัดต่อบทบัญญัติข้อ 8.5 ในสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ที่ระบุว่าบริษัทจะต้องดำเนินการเองและจะให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ อันเป็นประเด็นที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในสัญญาดังกล่าว”

ทั้งนี้แม้ว่า บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด อยู่ถึงประมาณร้อยละ 99.99 แต่ก็มิได้หมายความว่า บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ประกอบการไทยทีวีสีช่อง 3ได้ เพราะสัญญาร่วมดำเนินการนั้นเกิดขึ้นระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เท่านั้น

หลังจากที่ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ได้ตอบหนังสือดังกล่าวกลับมา ที่ 02/736 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2552 นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นครั้งที่ 2 ที่ นร 6153/2427 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 เรื่องแจ้งเตือนให้ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี เป็นครั้งที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า:

“ในเรื่องการให้บุคคลอื่นใดเช่าหรือรับกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ไปดำเนินการแทน อันเป็นการละเมิดบทบัญญัติข้อ 8.5 ของสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ใคร่ขอให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด แก้ไขการกระทำที่ผิดพลาดที่ปรากฏต่อสาธารณะทั้งในปกรายงานประจำปีของ บริษัท บีอีซีเวิร์ล จำกัด (มหาชน) ที่ระบุตราสัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ไว้ในปกหน้าของรายงานที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในทำนองทีว่า บริษัท บีอีซีเวิร์ล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และยังแสดงออกต่อสาธารณะในการแถลงข่าว การชี้แจงและการตอบคำถามต่อสื่อมวลชนตามหลักฐานที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้รวบรวมไว้เป็นจำนวนมากว่าตนเป็นผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เอง”

ต่อมา บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำหนังสือ ตอบกลับมาอีก 2 ครั้ง ที่ 02/379 ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 และครั้งที่ 3 นร 02/737 ลงวันที่ 14 กันยายน 2552 ปรากฏว่านายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้เกษียนท้ายหนังสือของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในครั้งหลังถึง ผอ.อสมท ความตอนหนึ่งว่า:

“ให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเนื่องจาก บ.เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ฝ่าฝืนข้อสัญญาโดยให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เสนอให้คณะกก.อสมท. พิจารณาเห็นชอบในการประชุมคราวต่อไป”

จากการตรวจสอบพบว่าหนังสือแจ้งการกระทำผิดต่อสัญญาดังกล่าวข้างต้นนั้น นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำร่างหนังสือดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมให้ความเห็นชอบในคราวประชุมคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 10/2552 วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ซึ่งการที่คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นชอบกับร่างหนังสือดังกล่าว ก็ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทราบการกระทำความผิดของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในการให้บริษัทอื่นเป็นผู้ประกอบการแทนแล้ว

นอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานตามหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ของบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ระบุข้อความอย่างชัดเจนว่าบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจในการจัดหาภาพยนตร์ ผลิตรายการ และขายโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อีกด้วย

3. พฤติการณ์ส่อเจตนาไม่สุจริตเพื่อเอื้อกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ในการต่อสัญญา ด้วยผลตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


จากข้อเท็จจริงตามปรากฏเป็นเอกสารข้างต้นแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ บริษัท
อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทราบดีว่ากรณีเมื่อหมดระเวลาครบ 20 ปีของสัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 จากการทำหนังสือเชิญหน่วยงานราชการต่างๆเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการฯตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทราบดีว่าบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด มีการกระทำที่ผิดสัญญาอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถต่อสัญญาได้ ทั้งจากรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ถึงรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.(นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) ซึ่ง บมจ.อสมท. แต่งตั้งขึ้น โดยมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการ ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ยังได้รับทราบจากรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ปัญหาของสัญญา
ร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีในประเด็นการต่ออายุของสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

อีกทั้งคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยังได้เคยตัดสินใจในการให้ออกหนังสือการแจ้งการกระทำผิดสัญญาให้กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้รับทราบถึง 2 ครั้ง รวมถึงการเกษียนหนังสือของนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่าให้เลิกสัญญา กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เพราะมีการกระทำที่ผิดสัญญา

ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าไม่สามารถที่จะต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี แบบอัตโนมัติได้ เพราะได้มีการกระทำความผิดตามสัญญาสำเร็จไปแล้ว

ต่อมาภายหลังจากนั้นได้มีข้อพิรุธที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า คณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยมีความพยายามมิให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี ดังนี้

1. ตามที่คณะกรรมการดำเนินโครงการฯตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ได้มีมติให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เร่งมีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการต่อสัญญาร่วมดำเนินการให้กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไปอีก 10 ปีนั้น อาจมีปัญหาขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเสนอแนะให้พิจารณาจ้างที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือตีความข้อกฎหมายสัญญารวมทั้งพิจารณาค่าตอบแทนตามสัญญาที่เหมาะสม อีกทั้งให้ทำหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องแนวทางและขั้นตอนการต่อสัญญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ในคราวเดียวกัน

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการ บริษท อสมท จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 10/2522 วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ได้มีการบรรจุวาระการพิจารณาในกรณีดังกล่าว ผลปรากฏว่า นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความเห็นว่าคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 2-3 ท่าน ซึ่งอาจร่วมกันพิจารณาได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

2. นายธนะชัย วงศ์ทองศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเลขานุการบริษัท ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ นร 6153/3485 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ด้วยข้อความว่า:

“ด้วยคณะกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการประชุมครั้งที่ 19/2552 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสำนักงาน บมจ. อสมท 63/1 ถ.พระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มีมติรับหลักการในข้อเสนอของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ในการจ่ายผลประโยชน์ 405 ล้านบาท ให้กับ บมจ. อสมท ในคราวเดียวกัน และจะได้พิจารณาในเรื่องแนวทางปฏิบัติตลอดทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดในสัญญาสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว และจะได้แจ้งให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เพื่อดำเนินการให้เป็นผลต่อไป”

ทั้งนี้หาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) รับหลักการข้อเสนอของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยการจ่ายผลประโยชน์ 405 ล้านบาท เพื่อให้ต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี โดยจ่ายค่าตอบแทนตลอด 10 ปีเพียงประมาณ 2,002.16 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับแล้วก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 240 ล้านบาทเศษเท่านั้น ซึ่ง
ต่ำกว่าผลตอบแทนของสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของทรูวิชั่นซึ่งมีผู้ชมและ
รายได้น้อยกว่าไทยทีวีสีช่อง 3 มาก ยังต้องจ่ายให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เฉลี่ยปีละประมาณ 650 ล้านบาท ซึ่งมีความแตกต่างกันถึงเกือบ 3 เท่าตัว

ในขณะที่ผลรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการสำเนารายงานผลการพิจารณา
ศึกษาเรื่อง “ปัญหาของสัญญาร่วมดำเนินการส่งโทรทัศน์สีในประเด็นการต่ออายุของสัญญาระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด” ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553 ได้ระบุว่าผลตอบแทนของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในการร่วมดำเนินการกับบริษัทเอกชนในการดำเนินงานไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ควรจะได้ในช่วงเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2553 – 2563 อย่างน้อยควรอยู่ที่ประมาณ 6,348 ล้านบาท

พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีการกระทำที่มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันอาจเป็นการกระทำความผิดตามพระพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และกฎหมายอื่นๆ

จึงเรียนมาเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้โปรดดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)
ผู้ยื่นคำร้องที่ 1

(นายนิติธร ล้ำเหลือ)
ผู้ยื่นคำร้องที่ 2








กำลังโหลดความคิดเห็น