xs
xsm
sm
md
lg

“อสมท” มีสิทธิรับโอน หลังแปลงสภาพหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดโปงประเด็นใหม่ คณะอนุกรรมการฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในประเด็นข้อกฎหมายของสัญญาการดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และเห็นว่าควรส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ซึ่งวันนี้จะขอนำเสนอต่อเนื่อง...

ประเด็นที่ 8. สัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ทำให้ อสมท เสียเปรียบและไม่เป็นประโยชน์ต่อ อสมท ตามความเห็นของคณะกรรมการที่มี นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน และตามความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสัญญาฯดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้วตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ตามมาตรา 7 วรรค 1 (5) หรือไม่  อย่างน้อย ใน 3 กรณี คือ

8.1 สัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นการร่วมกิจการหรือการร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อสมท หรือไม่

8.2 ก่อนลงนามสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วหรือไม่

8.3 ผู้อำนวยการ อสมท ในขณะนั้น มีอำนาจตามมาตรา 7  มาตรา 23 และ มาตรา 24 ที่จะลงนามในสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อมาตามรายงานของ คณะกรรมการฯชุดที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน (ตามเอกสารที่ 6 ) สรุปได้ว่า สัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้ลดสิทธิประโยชน์ของ อสมท และมีผลกระทบอย่างมาก กรณีจึงเป็นการที่แก้ไขสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ไม่ได้เป็นการร่วมกิจการหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของ อสมท ตามที่ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดไว้ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเรื่องนี้แล้ว อสมท ได้เสนอร่างสัญญาฯให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา

กรณีนึ้จึงมีปัญหาต่อเนื่องว่า ผู้อำนวยการ อสมท มีอำนาจหน้าที่ตามพระ
ราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (5) ที่จะเป็นตัวแทน อสมท ลงนามในสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 อันเป็นการร่วมกิจการหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อ อสมท โดยนายกรัฐมนตรียังไม่ได้อนุมัติหรือไม่ ส่งผลให้สัญญาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและมีผลตามกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่ 9. หากสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ต้องตกเป็นโมฆะ การที่
บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แปลงสภาพมาจาก องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 จะมีสิทธิรับโอนสัญญาดังกล่าวจาก อสมท โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่ 10. หากสัญญาฯ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ชอบด้วยกฎหมาย และการรับโอนสิทธิ์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ชอบด้วยกฎหมาย ตามสัญญาฯ ข้อ7 เมื่อครบกำหนดเวลาการตกลงร่วมดำเนินการออกอากาศเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 25 มีนาคม 2553 จะต้องถือว่าสัญญาจะมีอายุต่อไปอีก 10 ปีโดยอัตโนมัติหรือไม่

ประเด็นที่ 11. หากสัญญาฯ ดังกล่าวไม่ได้มีอายุต่อไปอีก 10 ปี โดยอัตโนมัติ และการต่อสัญญาจะต้องปฎิบัติให้ชอบด้วยเงื่อนเวลาและเงื่อนไขตามที่กำหนดในสัญญาแล้ว การต่อสัญญาจะกระทำได้และจะต้องปฎิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่เพียงใด (เนื่องจากมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท) และการต่อสัญญาดังกล่าวจะกระทำได้โดยชอบตามมาตรา 47 และมาตรา 305 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงแลกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 หรือไม่ เพียงใด ในกรณีนี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึง หัวหน้าส่วนราชการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 แล้ว

***อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น