xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายชื่อบอร์ด อ.ส.ม.ท. จะต่อสัญญาอัปลักษณ์ ช่อง 3!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อายุสัญญาอัปลักษณ์ระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ (ก่อตั้งโดยครอบครัว “มาลีนนท์”) ในการร่วมดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กำลังจะหมดลงครบ 20 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นี้

เงื่อนไขในสัญญาที่แก้ไขในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล อ.ส.ม.ท. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ระบุว่า:

“หากบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ปฏิบัติตามเงื่อนไขและไม่มีการกระทำผิดสัญญา อ.ส.ม.ท. ตกลงให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2563) และกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้ อ.ส.ม.ท. “ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท” (หรีอเฉลี่ยปีละ 200 กว่าล้านบาทเท่านั้น)

แม้ว่าสัญญาในข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นการผูกมัดให้ อ.ส.ม.ท.ตกลงต่อสัญญา แต่บังเอิญว่ายังโชคดีที่การต่อสัญญาไปอีก 10 ปี ที่พยายามทำกันอยู่นี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อ“ไม่ทำผิดสัญญา”ประการหนึ่ง และค่าตอบแทน “ไม่น้อยกว่า” จำนวนตัวเลขที่ระบุเอาไว้เป็นอีกประการหนึ่ง

แปลว่า อ.ส.ม.ท.มีสิทธิ์ที่จะไม่ต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้หากมีการกระทำผิดสัญญา และหากจะเลือกต่อสัญญาก็สามารถเรียกค่าตอบแทนได้ให้เท่ากับสิ่งที่ อ.ส.ม.ท.พึงจะต้องได้ตามราคาตลาด

บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำมาหากินอยู่ที่ไทยทีวีสีช่อง 3 ถือหุ้นอยู่ในบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด อยู่ร้อยละ 99.99 ปี 2551 รายได้ต่อปีสูงถึง 9,058 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเพียงปีเดียวถึง 2,635 ล้านบาท

แปลว่าถ้าต่อสัญญาในอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) จะมีรายได้กว่าแสนล้านบาท และอาจมีกำไรสุทธิอีก 10 ปีรวมกันไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท ในขณะที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท.ตลอด 10 ปีเพียงแค่ 2,002 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางคุ้มค่ากับ อ.ส.ม.ท. อย่างแน่นอน (ส่วนจะคุ้มค่าเป็นการส่วนตัวหรือไม่ยังน่าเคลือบแคงสงสัยอยู่ไม่น้อย)

ข้อสำคัญยังมีประเด็นข้อสงสัยว่าจะต่อสัญญาได้หรือไม่ เพราะนอกจากจะมีรายงานการศึกษาหลายชุดได้สรุปว่าการดำเนินงานมีปัญหาอยู่หลายประการ เช่น มีการกระทำที่ผิดสัญญา, ค่าตอบแทนของ อ.ส.ม.ท.ที่ได้จากสัญญาดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง, สัญญาที่ทำกันมาอาจไม่ชอบธรรมและอาจเป็นโมฆะ, และการต่อสัญญาโดยทันทีอาจทำไม่ได้ตามกฎหมายหลายฉบับในปัจจุบัน ฯลฯ

กลุ่มคนที่รู้ถึงปัญหาเหล่านี้มีหลายกลุ่มได้แก่:

- อนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ของคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร สรุปผลการศึกษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 พบความผิดปกติหลายประเด็นและเห็นสมควรว่าไม่ควรต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี และเห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวินิจฉัยข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อนในหลายประเด็น

- รายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการไทยทีวีสีช่อง 3 ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการฯ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2550 ซึ่งแต่งตั้งโดยนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อดีตรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อ.ส.ม.ท. พบความผิดปกติมากมายรวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกสัญญาในกรณีที่พบว่าได้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ กระทำผิดต่อสัญญา และแจ้งต่อคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ให้ทราบแล้ว

- รายงานของคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 ที่ให้ อ.ส.ม.ท.แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลโดยเสรี รวมถึงการออกหนังสือของ อ.ส.ม.ท.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 เชิญตัวแทนหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าควรจะต้องเปิดประมูลกรณีของไทยทีวีสีช่อง 3

- รายงานการประชุมคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. ครั้งที่ 10/2552 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ที่ประชุมเห็นชอบให้ทำหนังสือแจ้ง บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมท์ ว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ใน 2 ประเด็น คือ การไม่ส่งมอบทรัพย์สินในทันทีที่จัดหามาตามสัญญา และการให้ผู้อื่นเข้าดำเนินการและประกอบการแทนโดยที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ไม่ได้ดำเนินการเองตามที่ได้ระบุในสัญญา หลังจากนั้น อ.ส.ม.ท.จึงได้ทำหนังสือแจ้งบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ตามมติคณะกรรมการ 2 ครั้งคือวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ย่อมแสดงว่าคณะกรรมการทราบดีว่ามีการกระผิดสัญญาแล้วอย่างแน่นอน

- การเษียนหนังสือด้วยลายมือเมื่อเดือนกันยายน 2552 ของ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ บมจ. อสมท ได้ทำหนังสือถึง ผอ.อสมท. ว่า “ให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจาก บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ฝ่าฝืนข้อสัญญาโดยให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เสนอให้คณะก.ก.อสมท. พิจารณาเห็นชอบในการประชุมคราวต่อไป”

- คำสัมภาษณ์นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งกับกับดูแล อ.ส.ม.ท. หลายครั้งว่ามองว่าถ้ามีการต่อสัญญา อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรที่จะจ่ายต่ำกว่าทรูวิชชั่นส์ จ่ายค่าตอบแทนให้ทาง อ.ส.ม.ท.ต่อปีที่ 650 ล้านบาท เพราะเฉลี่ยแล้วต่อปี ช่อง 3 จ่ายเพียงปีละประมาณ 200 ล้านบาทนั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทรูวิชั่นส์ แสดงว่าทุกฝ่ายในส่วนของภาครัฐ และ บมจ.อสมท. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รับทราบและตระหนักดีว่าอะไรคือความคุ้มค่ากับ อ.ส.ม.ท. และควรจะทำอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่ามา

เพราะคนที่เกี่ยวข้องเมื่อรู้ว่าอะไรควรและไม่ควรกันขนาดนี้ จึงไม่น่าที่จะทำอะไรซึ่งผิดปกติไปจากแนวทางที่ดำเนินการผ่านมา โดยเฉพาะถ้ากลับลำเมื่อใดอาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำที่ผ่านมานั้นทำไปเพื่อ “เคาะกะลา” ใช่หรือไม่?

13 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. ประชุมครั้งที่ 19/2552 มีมติรับหลักการในข้อเสนอของ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในการจ่ายผลประโยชน์ 405 ล้านบาทให้กับ บมจ.อสมท ในคราวเดียว และจะได้พิจารณาในเรื่องแนวทางปฏิบัติตลอดทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดในสัญญาสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว และจะได้แจ้งให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการให้เป็นผลต่อไป

เป็นผลประโยชน์ให้กับ อ.ส.ม.ท.เพียงเล็กน้อยมากกับการต่อสัญญา 10 ปีที่สร้างรายได้รวมนับแสนล้านบาทด้วยการจ่ายตอบแทนให้ อ.ส.ม.ท.รวมเพียงแค่ 2,405 ล้านบาทเท่านั้น

จึงขอเปิดรายชื่อคณะกรรมการ บมจ. อ.ส.ม.ท.ชุดนี้เอาไว้บันทึกเป็นผลงาน ดังนี้นายสุรพล นิติไกรพจน์ เป็นประธานคณะกรรมการ, นายนัที เปรมรัศมี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1, นางมัทนา วัทนฤทธิ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 และกรรมการที่เหลือประกอบด้วย นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท, นางตนุชา ยินดีพิธ, นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ, นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ, นายวิทยาธร ท่อแก้ว, นายพงษ์ชัย อมตานนท์, นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์, นายอนุสรณ์ ธรรมใจ, นางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์




กำลังโหลดความคิดเห็น