xs
xsm
sm
md
lg

เรื่อง(ไม่)เล่าเช้านี้ของ สรยุทธ!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“เรื่องเล่าเช้านี้” นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้เล่าข่าวมา 6 ปี 8 เดือนเศษแล้ว ผลิตโดยบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งได้สร้างความร่ำรวยกับนักเล่าข่าวคนนี้อย่างมหาศาล

“เรื่องเล่าเช้านี้” มีอัตราค่าโฆษณานาทีละ 175,000 บาท หักส่วนลด 15% ตามธรรมเนียมการขายให้กับเอเจนซีแล้วเท่ากับนาทีละ 148,000 บาท เมื่อรายการมีความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ขายโฆษณาได้ 25 นาทีเท่ากับวันละ 3.7 ล้านบาท ยังไม่นับรายได้จากรายการอื่นๆ ของไทยทีวีสีช่อง 3 เช่น เรื่องเด่นเย็นนี้ได้ค่าโฆษณาวันละ 3.7 ล้านบาท และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์อีกวันละ 1.95 ล้านบาท

ปี 2551 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีรายได้ (ตามที่แจ้งในงบดุล)ถึง 242.7 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 118 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 109.7 4 ล้านบาท รวม 4 ปีที่ผ่านมาบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีกำไรสุทธิรวมกันไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท!!!

ลองคิดดูกันว่าเพียงแค่บริษัทเดียวที่ทำมาหากินกับไทยทีวีสีช่อง 3 ยังมีรายได้อย่างมหาศาลขนาดนี้ แล้วทั้งสถานีกลุ่มธุรกิจตระกูล “มาลีนนท์” ซึ่งคุมและจัดผังรายการทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะมีรายได้มากขนาดไหน?

บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ของครอบครัว “มาลีนนท์” เป็นคู่สัญญากับ อ.ส.ม.ท. ร่วมดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยปัจจุบัน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวมาลีนนท์เช่นกัน ถือหุ้นอยู่ใน บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด อยู่ร้อยละ 99.99

ปี 2552 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “มาลีนนท์” มีรายได้ 9,058 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิปีที่แล้วปีเดียวสูงถึง 2,635 ล้านบาท!!

ด้วยผลประโยชน์อันมหาศาล จึงมีคนบางกลุ่มพยายามใช้วิชา “นิ่งเสียตำลึงทอง” เพื่อให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ได้ต่อสัญญากับ อ.ส.ม.ท.ไปอีก 10 ปี โดยมีเงื่อนไขให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จ่ายค่าตอบแทนตลอด 10 ปี รวม 2,407 ล้านบาท หรือตกเฉลี่ยเพียงแค่ปีละประมาณ 240 ล้านบาทเท่านั้น!!!

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำมาหากินอยู่กับไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นหลัก ในปี 2551 มีรายได้ถึง 9,058 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเพียงปีเดียวถึง 2,635 ล้านบาท ดังนั้นแผนการต่อสัญญาออกไป 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท.รวมกันเพียงแค่ 2,407 ล้านบาท จึงเป็นจำนวนเงินที่ “กระจอกมาก” สำหรับคู่สัญญากับ อ.ส.ม.ท.อย่าง บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์

เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าดูจากอัตราการเจริญเติบโตของ บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ซึ่งทำมาหากินอยู่กับกิจการของไทยทีวีสีช่อง 3 ในหลายรูปแบบนั้น จะมีรายได้ 10 ปีข้างหน้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท!!!

อายุสัญญาอัปลักษณ์ระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ กำลังจะหมดลงครบ 20 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นี้

เงื่อนไขในสัญญาที่แก้ไขในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล อ.ส.ม.ท. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ระบุว่า:

หาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ปฏิบัติตามเงื่อนไขและไม่มีการกระทำผิดสัญญา อ.ส.ม.ท. ตกลงให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553-2563) และกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้ อ.ส.ม.ท. “ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท”

แม้ว่าสัญญาในข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นการผูกมัดให้ อ.ส.ม.ท.ตกลงต่อสัญญา แต่บังเอิญว่ายังโชคดีที่การต่อสัญญาไปอีก 10 ปี ที่พยายามทำกันอยู่นี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ไม่ทำผิดสัญญา” ประการหนึ่ง และค่าตอบแทน “ไม่น้อยกว่า” จำนวนตัวเลขที่ระบุเอาไว้เป็นอีกประการหนึ่ง

แปลว่า อ.ส.ม.ท.มีสิทธิที่จะไม่ต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้หากมีการกระทำผิดสัญญา และหากจะเลือกต่อสัญญาก็สามารถเรียกค่าตอบแทนได้ให้เท่ากับสิ่งที่ อ.ส.ม.ท.พึงจะต้องได้ตามราคาตลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมดำเนินการครั้งนี้ไม่ต้องลงทุนในการสร้างอุปกรณ์และเครือข่ายใดๆ เพิ่มเติมแล้ว ก็ควรจะต้องมีผลตอบแทนที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้พบประเด็นสำคัญดังนี้

1. เมื่อหมดสัญญาแล้วจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2535 เป็นต้นมาระบุเอาไว้ว่า โครงการที่เป็นการลงทุนในกิจการของรัฐและการลงทุนนั้นมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐเพื่อเข้าร่วม “ประมูล” และการมีกฎ มติคณะรัฐมนตรี หรือกฎหมายอื่นใดที่ขัดแย้งกับกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ให้ใช้กฎหมายฉบับนี้แทน

2. มีความเคลือบแคลงสงสัยในหลายประเด็นว่าสัญญาอาจเป็นโมฆะตั้งแต่ตอนต้นหรือไม่? เพราะบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการส่งและรับวิทยุโทรทัศน์ในวันลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2510 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และ พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ในวันลงนามสัญญา อีกทั้งยังมีการแก้ไขสัญญาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ที่เอื้อประโยชน์ให้กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ และทำให้ อ.ส.ม.ท.เสียประโยชน์เกินกว่าขอบเขตของมติคณะรัฐมนตรีเป็นโมฆะหรือไม่?

3. มีความเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีการกระทำผิดสัญญาอันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ อ.ส.ม.ท.ไม่จำเป็นต้องต่อสัญญาและเปิดประมูลใหม่ได้ ซึ่งได้แก่การพบว่า:

- ตามสัญญา BTO (Build Transfer Operate) นั้นหมายความว่า บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์จะต้องส่งมอบทรัพย์สินในทันทีที่จัดหามาได้ให้กับ อ.ส.ม.ท. แล้วจึงขอใช้ทรัพย์สินเหล่าในการดำเนินธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ส่งมอบหรือจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้กับ อ.ส.ม.ท.โดยทันที แล้วยังใช้วิธีการเช่าทรัพย์สินของบริษัทในเครือแทนการซื้อทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับ อ.ส.ม.ท.อีกด้วย

- ตามสัญญาระบุว่า บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะต้องดำเนินการในสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยตัวเองจะให้ผู้ใดดำเนินการไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่นั้นกลับรายงานประจำปีว่า “เป็นผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” อีกทั้งยังให้บริษัทอื่นๆ จำนวนมากเข้ามาจัดรายการในผังรายการของไทยทีวีสีช่อง 3

26 ธันวาคม 2549 นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อ.ส.ม.ท. ในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมายโดยมี นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานกรรมการ และได้ปรากฏผลการพิจารณาศึกษากรณีของไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 สรุปสาระสำคัญคือ

“เสนอแนะให้ อ.ส.ม.ท. เจรจาหาข้อยุติกับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์โดยเร็วเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท. เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรม หรือเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วน กับทั้งตรวจสอบการปฏิบัติตามสัญญาหากมีการกระทำผิดเงื่อนไขก็ให้เลิกสัญญาได้ทันที ตลอดจนใช้สิทธิในการเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ของผู้อำนวยการบริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) เข้าควบคุมกิจการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนโดยมิได้มุ่งหวังแต่เพียงกำไรทางธุรกิจแต่อย่างเดียว”

โดยผลการศึกษาพบว่าอัตราค่าตอบแทนรายได้ที่ อ.ส.ม.ท.ควรได้รับคือร้อยละ 15.20 ถึง 25.73 ของรายได้ทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่าย!

ถึงได้น่าประหลาดใจก็ตรงที่สองสัปดาห์ที่แล้ว ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท.ได้รายงานต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า “ได้จับเข่าคุยกันส่วนตัวกับผู้บริหารของบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์แล้วว่าหากขยายสัญญาตามเดิมไปอีก 10 ปี ทางบริษัทจะจ่ายเงินล่วงหน้าเพิ่มให้ อ.ส.ม.ท.อีก 430 ล้านบาท ซึ่งยากจะหาใครมาลงทุนจ่ายเงินได้มากขนาดนี้”

จ่ายเพิ่มอีก 430 ล้านบาท เพื่อให้คู่สัญญาสร้างรายได้ “นับแสนล้านบาทตลอด 10 ปี” โดยไม่ต้องประมูล กับค่าตอบแทนให้กับ อ.ส.ม.ท.ตลอด 10 ปีรวมแค่ 2,002 ล้านบาท เฉลี่ยจ่ายค่าตอบแทนปีละ 243 ล้านบาทเท่านั้นหรือ!?

เป็นผลการเจรจาที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง!


ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่นอกจากจะเป็นประธานกรรมการ อ.ส.ม.ท.แล้ว ยังเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย จะไม่รู้เชียวหรือว่าเงินที่ให้กับ อ.ส.ม.ท.ที่ถูกเสนอมานั้นมันมากหรือน้อย!!!?

เพราะลำพังการเจรจา “ส่วนตัว” ในเรื่องผลประโยชน์มหาศาลขนาดนี้ก็ไม่สง่างามอยู่แล้ว หากผลการเจรจายังได้ค่าตอบแทนที่ให้กับ อ.ส.ม.ท.ต่ำกว่าที่ควรจะได้อีก ก็ยิ่งทำให้ประชาชนย่อมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นไปอีก จริงหรือไม่?

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ต่อไปนี้จะไล่เรียงเหตุการณ์ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีใครเคยรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ตอนนี้เงียบเป็นเป่าสากเข้าตำรา “นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือไม่?

28 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2552 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 (หมายถึงตั้งคณะกรรมการเพื่อเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมดำเนินการด้วยการประมูล)

4 มิถุนายน 2552 นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อ.ส.ม.ท. ทำหนังสือถึงหลายหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งตัวเแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการในการให้เอกชนเข้าร่วมงานด้วยการประมูลตามมติคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.

9 กรกฎาคม 2552 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ส่วนค่าตอบแทนที่ทางช่อง 3 เสนอให้ อ.ส.ม.ท. ไว้ที่ 2,002 ล้านบาท สำหรับการต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปีครั้งนี้ มองว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ควรที่จะจ่ายต่ำกว่าทรูวิชั่นส์ จ่ายค่าตอบแทนให้ทาง อ.ส.ม.ท.ต่อปีที่ 650 ล้านบาท เพราะเฉลี่ยแล้วต่อปี ช่อง 3 จ่ายเพียงปีละประมาณ 200 ล้านบาทนั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทรูวิชั่นส์

21 กรกฎาคม 2552 คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. ได้พิจารณาประเด็นสำคัญว่า สัญญานี้เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ จึงต้องพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย ซึ่งการต่อสัญญาอาจขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงขอให้ อ.ส.ม.ท.เร่งมีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งหารือแนวทางและขั้นตอนการต่อสัญญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานฯ ไปในคราวเดียวกัน

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าคณะกรรมการ บมจ.อ.ส.ม.ท.ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 2-3 ท่าน ซึ่งอาจร่วมกันพิจารณาได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นจำต้องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุมได้มีมติออกหนังสือให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญา 2 ประเด็น คือการไม่ส่งมอบโอนทรัพย์สินให้กับ อ.ส.ม.ท.ตามสัญญาประการหนึ่ง และการให้ผู้อื่นเป็นผู้ดำเนินการแทนเป็นประการที่สอง

สิงหาคม-กันยายน 2552
อ.ส.ม.ท. ทำหนังสือให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ปฏิบัติตามสัญญาถึง 2 ครั้ง และได้มีหนังสือตอบโต้กลับมา 2 ครั้งเช่นกัน ครั้งหลังนี้ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้เกษียนหนังสือด้วยลายมือครั้งหลังสุดว่า:

“ให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจาก บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ฝ่าฝืนข้อสัญญาโดยให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เสนอให้คณะ กก.อ.ส.ม.ท.พิจารณาในการประชุมคราวต่อไป”

ทำเข้มมาตั้งนานนึกว่าของจริง!! โถ...ที่แท้ทำไปก็เพื่อเคาะเรียกให้มาจับเข่าคุยกันเป็นการส่วนตัวนี่เอง!
กำลังโหลดความคิดเห็น