xs
xsm
sm
md
lg

ลักไก่เซ็นอนุมัติก่อนประชุมบอร์ดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดโปงประเด็นใหม่ คณะอนุกรรมการฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติในประเด็นข้อกฎหมายของสัญญาการดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีช่อง 3 ของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และเห็นว่าควรส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น


ประเด็นที่ 5. หากหนังสือตามข้อสังเกตประเด็นที่ 1. เป็นหนังสือของนิติบุคคลบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมถึงการให้บริการส่งโทรทัศน์แล้ว โดยนัยของหนังสือฉบับดังกล่าวที่แสดงเจตนาต่อนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 และต่อมา อสมท ทราบว่า บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เข้าทำสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 โดยตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องทำสัญญาดังกล่าว จึงไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินการตามสัญญาฯต่อไป

บริษัทฯจะต้องประสบกับการขาดทุนโดยตลอดไม่มีวันสิ้นสุดนั้น ตามกฎหมายต้องถือว่าบริษัทฯได้เข้าทำสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 กับ อสมท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยใจสมัคร และไม่มีความสามารถในการปฎิบัติตามสัญญาดังกล่าว อันเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ และส่งผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มแรกหรือไม่ หากสัญญาดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะ และหนังสือตามข้อ 1 เป็นเพียงการที่บริษัทฯบอกล้างโมฆะกรรมบางข้อต่อคู่กรณี อันทำให้ต้องถือว่าส่วนที่ยกล้างแล้วเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรกนั้น จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโมฆะกรรมในส่วนนี้ได้หรือไม่

เนื่องจากว่าโมฆะกรรมดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของสัญญาฯ เมื่อถูกบอกล้างและต้องตกเป็นโมฆะกรรมตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว จะส่งผลให้สัญญาทั้งฉบับย่อมต้องตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นหรือไม่

ประเด็นที่ 6. การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามหนังสือลงวันที่ 5 เมษายน 2532 จะถือเป็นการปฎิบัติโดยชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2531 หรือไม่

ประเด็นที่ 7. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 มีมติว่า “ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโดยยึดหลักการความเป็นธรรมที่คู่สัญญาจะพึงได้รับ จึงมีมติเห็นชอบด้วยในหลักการปรับปรุงแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ระหว่าง อสมท กับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด รวม 7 ประเด็น โดยแก้ไขเฉพาะตามข้อสัญญา ที่อ้างถึงในบันทึก ลงวันที่ 4 เมษายน 2532 ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น (ร้อยตำรวจเอกแฉลิม อยู่บำรุง) เสนอและอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปได้

สำหรับการกำหนดค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามข้อ (1) ให้ระบุว่า ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท แต่สัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้ปรับปรุงแก้ไขสัญญาเกินกว่า 7 ประเด็น ตามบันทึกลงวันที่ 4 เมษายน 2532 ดังนั้น จะต้องถือว่าสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวและไม่มีผลตามกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่กำกับดูแล อสมท ได้ทำหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีมายัง อสมท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2532 และ อสมท ได้เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรมการ อสมท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2532 ปรากฏตามเอกสารที่ 5 ว่า อสมท โดยผู้อำนวยการ (ในขณะนั้น) ได้ลงนามในสัญญาฯแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 กับบริษัทบางกอกฯไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2532

อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น