xs
xsm
sm
md
lg

แฉหลักฐาน “ช่อง 3” ไซฟ่อนเงิน ชี้ “บอร์ด อสมท” ยอมสูญแสน ล.แลก 2 พัน ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – เปิดหลักฐาน ช่อง 3 โยกเงินออกจากบริษัทคู่สัญญา อสมท ไปโปะ บีอีซี เวิลด์ ชี้ผิดสัญญาชัดเจน แต่บอร์ด อสมท ยังหมกเม็ดต่อสัญญาที่จะหมดเดือนมีนาคมให้อีก 10 ปี ถึงปี 2563 โดยให้จ่ายแค่ปีละ 240 ล้าน ขณะที่กำไรช่อง 3 ต่อปีทะลุ 2,600 ล้านบาท แถมจ่ายน้อยกว่าเคเบิลทีวีอย่างทรูฯ ถึง 3 เท่า ระบุเพื่อรักษาผลประโยชน์รัฐ ควรดึงกลับมาบริหารเอง หรือเปิดประมูลใหม่ เพราะอาจทำรายได้ในช่วง 10 ปีข้างหน้ามากถึงแสนล้านบาท

จากกรณีที่ในวันที่ 25 มี.ค.2553 นี้ สัญญาระหว่างบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด กับ บมจ.อสมท ในการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะครบกำหนดการดำเนินกิจการในส่วนแรก 20 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า หาก บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ไม่ได้กระทำผิดสัญญาและจ่ายค่าตอบแทนในช่วง 10 ปี ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท (หรือเพียง 200 ล้านบาทต่อปี) ก็มีสิทธิ์ที่จะต่อสัญญาอีก 10 ปี โดยอัตโนมัติ ซึ่งทีมข่าว ASTVผู้จัดการ ได้เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และชี้ให้เห็นว่า การต่อสัญญาดังกล่าวนั้นมีการกระทำที่น่าสงสัยว่าจะผิดกฎหมายในหลายประเด็น และทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ด้วยการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

วันนี้ (4 มี.ค.) หนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำเสนอ “ข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ อสมท ได้นำเรื่องต่อสัญญาช่อง 3 ส่งถึงกระทรวงการคลังแล้ว โดยอ้างแหล่งข่าวจาก บมจ.อสมท ระบุว่า ที่ผ่านมา บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ได้ดำเนินการบริหาร ช่อง 3 ครบตามกำหนดโดยไม่ผิดสัญญาแต่อย่างใด ทางบอร์ด อสมท จึงให้สิทธิ์แก่บริษัทในการทำต่ออีก 10 ปี โดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท ตามสัญญา โดยล่าสุดคณะกรรมการประสานงานของบอร์ด อสมท ได้ส่งหนังสือรายงานต่อสัญญาไปยัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้ว และว่า การต่อสัญญาช่อง 3 จะเสร็จเรียบร้อยภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ ก่อนที่สัญญาส่วนแรกจะสิ้นสุดในวันที่ 25 มี.ค.

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอ้างถึงความเห็นของบอร์ด อสมท ด้วยว่า หากก่อนวันที่ 25 มี.ค.อสมท ไม่ต่อสัญญาหรือแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม สัญญาที่ อสมท ทำกับช่อง 3 ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 เกี่ยวกับคู่สัญญาสัมปทานตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 และทำให้ อสมท ต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานช่อง 3 จำนวน 2 พันล้านบาท ในช่วง 10 ปีข้างหน้าทันที

ต่อกรณีดังกล่าว นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระผู้ติดตามกรณีสัญญาช่อง 3 มาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยรายละเอียดกับ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ โดยระบุว่า ข่าวดังกล่าวไม่น่าจะตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะตนพบว่า บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ได้กระทำผิดสัญญากับ อสมท มาอย่างต่อเนื่องและเดิมทีบอร์ด อสมท ก็รับทราบเรื่องการละเมิดสัญญาแล้ว แต่ยังกลับให้มีการต่อสัญญาต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งจะทำให้ บมจ.อสมท และรัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก

ชี้ช่อง 3 จ่ายน้อยกว่าทรูฯ 3 เท่า

นายปานเทพ ชี้แจงว่า เรื่องแรกที่จะต้องพูดถึง คือ หากมีการต่อสัญญาไปอีก 10 ปีแล้ว ผลประโยชน์ในการเจรจาครั้งนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะการเจรจาครั้งนี้ได้เจรจาด้วยเงินเพิ่มอีกแค่ 405 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจากสัญญาเดิม 2,002 ล้านบาทต่อ 10 ปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2553-2563) ช่อง 3 จะสามารถหาผลประโยชน์จากโทรทัศน์ช่องนี้ต่อไปได้โดยจ่ายเงินแค่ 2,407 ล้านบาท หรือ จ่ายตกเพียงปีละ 240 ล้านบาทเศษเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานรายอื่นจาก บมจ.อสมท อย่าง ทรู วิชั่นส์ ซึ่งเป็นเพียงเคเบิลทีวีก็ต้องจ่ายผลตอบแทนให้ อสมท ถึงปีละกว่า 650 ล้านบาท ไม่นับรวมกับผลตอบแทนจากการหาโฆษณา ซึ่งทรู วิชั่นส์เพิ่งได้รับอนุญาตให้ขายโฆษณาได้

“ขนาดทรู วิชั่นส์ หรือ ยูบีซีเดิม ซึ่งเป็นทีวีแบบบอกรับสมาชิก และมีข้อจำกัดเรื่องโฆษณา ยังแบ่งผลตอบแทนให้กับ อสมท 650 ล้านบาทต่อปี ต่อปีนะครับ ไม่ใช่ต่อสัมปทาน ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดว่าสัญญาที่ช่อง 3 จะจ่ายให้ อสมท ในช่วง 10 ปีข้างหน้านั้นน้อยกว่าทรู วิชั่นส์ ถึง 3 เท่าตัว … สัญญาระบุอย่างชัดเจนว่า เงื่อนไขในการต่อสัญญา คือ ต้องไม่ผิดสัญญาและผลตอบแทนที่ให้กับ อสมท ต้องไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท แสดงว่า อสมท มีโอกาสจะไปเจรจาให้ทัดเทียมกับราคาตลาดได้ ถ้ามีความโปร่งใสและชอบธรรมจริง” นายปานเทพ กล่าว

นอกจากนี้ นายปานเทพ ได้กล่าวเปรียบเทียบต่อไปด้วยว่า เมื่อเทียบกับกรณีของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย) แล้วจะยิ่งเห็นชัดว่า การจะทำสถานีโทรทัศน์ 1 ช่อง รัฐบาลยอมจ่ายงบประมาณถึงปีละ 1,800 ล้านบาทเพื่อไม่ให้มีโฆษณา เพราะฉะนั้น แต่พอต้องการรับสัมปทานบริหารช่อง 3 เหตุใด บอร์ด อสมท จึงยอมให้ช่อง 3 จ่ายค่าตอบแทนให้เพียงปีละ 240 ล้านบาทเท่านั้น

เผยหลักฐานการผ่องเงินจาก “บางกอกฯ”

กรณีต่อมาที่ นายปานเทพ ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติ คือ การบริหารงานของช่อง 3 ซึ่งมีความพยายามไซฟ่อนเงินออกจาก บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ อสมท เพื่อให้ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ มีกำไรเหลือน้อยที่สุด และจะได้มีข้ออ้างในการแบ่งผลตอบแทนให้ อสมท น้อยลง

“ปัจจุบันบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ไปตั้งบริษัทลูกมากมายเป็นผู้รับผลิตและไปร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆ มากมาย และมีการปันผลจากผลกำไรเหล่านั้น ทำให้กำไรถึงมือ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาของ อสมท นิดเดียว ...

“ซึ่งในข้อเท็จจริง บีอีซี เวิลด์ มิได้เป็นคู่สัญญากับ อสมท เลย แต่ในหนังสือรายงานประจำปีของบริษัท บีอีซี เวิลด์ ประกาศอย่างชัดเจนว่าตัวเองเป็นผู้จัดผังรายการและเป็นผู้บริหารจัดการช่อง 3 โดยในทุกรายการตอนท้ายก็จะขึ้นว่ารายการนี้ผลิตโดย บีอีซี เวิลด์ มิใช่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งกรณีนี้ผมสงสัยว่าน่าจะเป็นการกระทำผิดสัญญา เหมือนกับใช้นอมินี เพราะสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามคนอื่นทำแทน ต้องทำด้วยตัวเอง” นักวิชาการอิสระกล่าว

พร้อมกันนั้น นายปานเทพ ได้เปิดเผยเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผู้ประสงค์ดีส่งมาให้ เป็นเอกสาร “ใบแจ้งหนี้” จาก บริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) มายังบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เพื่อเรียกเก็บเงินเป็นค่าใช้สิทธิ์ประจำเดือนมกราคม 2553 ในรายการต่างๆ ประกอบไปด้วย รายการเรื่องเล่าเช้านี้, รายการข่าววันใหม่, รายการโลกยามเช้า, รายการก๊วนข่าวเช้าวันหยุด, รายการโลกยามเช้าสุดสัปดาห์, รายการการแข่งขันเทนนิส Hua Hin และรายการสมรภูมิไอเดีย คิดเป็นเงินสูงถึง 54,826,800 ล้านบาท!

“นี่เป็นตัวอย่างเพียงเดือนเดียวที่เห็นได้ว่า เงินที่เข้ามาใน บ.บางกอกฯ นั้นอาจจะไม่เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้พื้นฐานในการคำนวณรายได้ที่พึงจ่ายให้กับ อสมท ต่ำกว่าปกติ โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.99% ของ บ.บางกอกฯ คือ บ.บีอีซี เวิลด์ ซึ่งมีบริษัทลูกอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นเช่น บ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลิตรายการและไปร่วมกับ บ.ไร่ส้ม ทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา สุดท้ายก็ผ่องเงินออกจาก บ.บางกอกฯ โดยซิกแซกว่าเป็นค่าใช้สิทธิ์ใช่หรือไม่” นายปานเทพ อธิบาย และชี้ให้เห็นว่า จดหมายฉบับนี้เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่ารายการของช่อง 3 นั้น อาจไม่ได้ทำโดย บ.บางกอกฯ แต่ทำโดย บีอีซี เวิลด์ ร่วมกับบริษัทอื่น ซึ่งผิดสัญญาอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับหนังสือของ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด บมจ.อสมท เมื่อเดือนกันยายน 2552 ว่า บางกอกฯไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเองและให้ฝ่ายกฎหมายทำหนังสือยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพราะกระทำผิดสัญญา

อนึ่ง จากเอกสารรายงานประจำปี 2552 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทบีอีซี เวิลด์ มีรายได้ในปี 2552 มากถึง 9,058 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสูงถึง 2,635 ล้านบาท

งง! ทิ้งรายได้แสนล้าน ไปเอา 2 พันล้าน

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดสัญญาเหล่านี้ รวมไปถึงการไม่ส่งมอบทรัพย์สินให้กับ อสมท อันเป็นการผิดสัญญา BTO (Build Transfer Operate) ซึ่งบอร์ด อสมท รับทราบอยู่แล้ว เพราะมีรายงานผลการศึกษาจากหลายฝ่าย อย่างเช่นรายงานของ นายจรัญ ภักดีธนากุล นอกจากนี้ ยังมีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ของนายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ทำหนังสือถึงหลายหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งตัวเแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการในการให้เอกชนเข้าร่วมงานด้วยการประมูลตามมติคณะกรรมการ อสมท ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บอร์ด อสมท ไม่น่าจะต่อสัญญาได้ โดยต้องเอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะมูลค่าสัญญาเกิน 1,000 ล้านบาท จากนั้นก็ต้องเปิดประมูลใหม่

ส่วนกรณีที่ แหล่งข่าวในบอร์ด อสมท อ้างว่า หาก อสมท ไม่ทำการต่อสัญญากับช่อง 3 นั้นจะทำให้ อสมท ต้องสูญเสียเงินรายได้กว่า 2 พันล้านบาทนั้น นายปานเทพ ชี้ให้เห็นว่า การต่อสัญญาโดยยังไม่หมดสัญญา ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเวลาที่เหลือบริษัท บางกอกฯ จะทำผิดสัญญาอีกหรือไม่ และหากวันที่ 25 มี.ค.นี้ การต่อสัญญาไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังก็จะทำให้ช่อง 3 กลับมาเป็นของ อสมท อีกครั้ง โดยระหว่างการเปิดประมูลใหม่ อสมท สามารถเข้าบริหารงานแทนได้เลย เพราะ อสมท มีศักยภาพอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา อสมท สามารถเปิดช่องทีวีอาเซียนได้ นอกจากนี้ ยังไปลงทุนในช่องโทรทัศน์ดาวเทียม เช่น MCOT 1 MCOT 2 ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

“ถ้ามันหมดสัญญาแล้ว ช่อง 3 มีการทำผิดสัญญา ทำไม อสมท ทิ้งประโยชน์ 10 ปีข้างหน้าแสนล้านบาท ส่วนกำไรถ้าทำดีๆ ก็อาจจะถึง 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ไปเอาผลประโยชน์จากค่าสัมปทานเพียงแค่ 2 พันล้านบาท” นายปานเทพ กล่าว และว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่เลื่อนลอย เพราะจากรายงานประจำปี 2552 ของ บ.บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ก็ชี้ให้เห็นว่า บริษัทมีรายได้สูงถึง 9 พันล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 2,600 ล้านบาท

ส่วนข้ออ้างที่ว่า หาก อสมท ไม่ต่อสัญญากับ ช่อง 3 ต่อไป ก็ต้องคืนคลื่นความถี่ของช่อง 3 ให้กับ กทช.ดูแล ขณะที่การจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ (กสทช.) มาดำเนินการนั้น นักวิชาการคนเดิมชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันถือว่าคลื่นความถี่ของช่อง 3 นั้นเป็นของ อสมท อยู่แล้ว เพราะ กสทช.ยังไม่เกิด และหาก กสทช.เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกช่องก็ต้องไปขออนุญาตใหม่ทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น นายปานเทพ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การที่ อสมท ไม่ต่อสัญญาช่อง 3 และดึงคลื่นความถี่ดังกล่าวกลับมาบริหารเองน่าจะเป็นประโยชน์กับ อสมท ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อใด กสทช. ดำเนินการจัดสรรความถี่ อสมท ก็สามารถอ้างได้ทันทีว่าเดิมทีตนเองเป็นผู้บริหารช่อง 9 และ ช่อง 3 อยู่แล้ว ตรงกันข้ามในกรณีที่ อสมท ต่อสัญญาช่อง 3 ให้ บ.บางกอกฯ เมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ อสมท ก็มีเหตุผลน้อยลงในการอ้างสิทธิ์ในการเข้าบริหารคลื่นความถี่ปัจจุบันของช่อง 3 เพราะในช่วง 20 กว่าปีมานี้ บ.บางกอกฯ และ บ.บีอีซี เป็นผู้บริหารคลื่นดังกล่าวมาตลอด

กำลังโหลดความคิดเห็น