ผ่าประเด็นร้อน
นาทีนี้เชื่อว่านอกเหนือจาก ทักษิณ ชินวัตร แล้ว สังคมกำลังจดจ่ออยู่กับคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาตัดสินกันในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องชวนให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของตัวบุคคล จำนวนเงินที่มากมายมหาศาล ข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตกลโกงที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็น
เอาเป็นว่าทุกอย่างกำลังนับถอยหลังด้วยใจจดจ่อของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ทำให้บรรยากาศในบ้านเมืองในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็มแบบนี้มันก็ย่อมถือว่าตึงเครียดพอสมควร
ปฏิเสธไม่ว่าส่วนสำคัญที่กำลังสร้างความตึงเครียดก็คือ ฝ่าย ทักษิณ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วว่า ไม่ต้องการให้ “ยึด” เป็นอันขาด ก็ย่อมทำทุกทางเพื่อขัดขวาง
ที่ผ่านมารับรู้กันไปแล้วว่า เขาได้ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เช่นการเคลื่อนไหวผ่านทางเครื่อข่ายสารพัด ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหลากหลายกลุ่ม มีการเคลื่อนไหวกดดันเป็นระยะ ขณะที่ตัวเองก็มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อทั้งในและต่างประเทศ โฟนอิน หรือทวิตเตอร์เข้ามาปลุกระดมว่าตัวเองถูกกลั่นแกล้ง ถูกรังแก โดยไม่ยอมชี้แจงแก้ต่างข้อกล่าวหา
ขณะเดียวกันยังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้ายป้ายสีกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า “ถูกแทรกแซง” หรือ “สั่งได้” จนไม่มีความยุติธรรม หรือบางครั้งถึงกับใช้คำว่ากระบวนการ “ยุติความเป็นธรรม” และอ้างอยู่เสมอว่าเงินจำนวน 76,000 ล้านบาทเป็นเงินที่หามาได้โดยสุจริต และระบุผ่านทางสื่อเสื้อแดงว่าหากถูกยึดก็เหมือนกับการถูก “ปล้น” นั่นเอง ซึ่งมีเจตนาบิดเบือนอย่างชัดเจน
สำหรับกระบวนการยุติธรรมหากแยะพิจารณาก็อาจต้องยอมรับกันบ้างถึงความ “ไม่สบายใจ” หรือมีเรื่องฉาวโฉ่ให้เห็นบ่อยครั้ง อย่าง เช่นในวงการตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็น “ต้นน้ำ” หรือแม้แต่อัยการที่บางครั้งเกิดความคลางแคลงใจ
แต่องค์กรศาลถือว่าได้รับความเชื่อถือมากที่สุด ถึงกับมีการกล่าวกันว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย” ของประชาชน ดังนั้นหากศาลถูกทำให้เบี่ยงเบนความหมายดังกล่าวออกไปแล้วถือว่าบ้านเมืองจะอยู่ภาวะอันตรายอย่างที่สุด เปรียบเหมือนไร้ขื่อแป มีแต่ความวุ่นวายไม่สิ้นสุด
แม้ว่าที่ผ่านมา ทักษิณ จะเริ่มต้นหยิบยกเอาเรื่องประเด็นที่มาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่ามีที่มามิชอบธรรม นั่นคือได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มาจากการยึดอำนาจ ซึ่งอาจจะฟังขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ ตามขั้นตอน คตส.ก็ต้องผ่านอัยการสูงสุด หรือแม้กระทั่งมีอำนาจในการยื่นฟ้องเองก็ตาม แต่ในขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องผ่านการพิจารณาคดี ผ่านการชี้ขาดของศาล
คตส.ไม่ได้มีอำนาจไปตัดสินยึดทรัพย์ของใครได้ตามใจชอบ ทำหน้าที่คล้ายกับพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน นอกจากนี้หากสังเกตให้ดีข้อกล่าวหาที่ คตส.ได้ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดอยู่ในเวลานี้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่มีมานานตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ทักษิณ ยังมีอำนาจ แต่ถูกปกปิด หรือมีการใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จขัดขวางไม่ดำเนินคดีฟ้องร้องขึ้นสู่การพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมต่างหากเล่า
เมื่อแยกพิจารณาศาลยุติธรรมออกมาโดดๆ โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะนัดชี้ชะตาคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทของทักษิณ ในวันที่ 26 ก.พ.ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลต่ออนาคตของเขาในวันหน้าอย่างใหญ่หลวงนั้น ในความเป็นจริงแล้วศาลดังกล่าวมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั่นแหละ ไม่ใช่เพิ่งมาปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างที่พยายามสร้างเรื่องเพื่อตั้งข้อรังเกียจแต่อย่างใดไม่
อีกทั้งเมื่อศาลฎีกาฯรับคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้วก็จะมีการเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยลงคะแนนลับ เพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ เมื่อคดีสิ้นสุด องค์คณะดังกล่าวก็มีอันต้องพ้นไปด้วย ไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งดำรงตำแหน่งอย่างถาวรหรือพิจารณาทุกคดีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คดียึดทรัพย์ดังกล่าวมีองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 ท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้พิพากษาอาวุโส และคดีนี้ถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ และได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย เชื่อว่าการเขียนคำพิพากษาจะต้องมีการอธิบายที่มาที่ไป ชี้แจงเหตุและผลได้อย่างหมดจด รวมทั้งอธิบายให้สังคมเข้าใจได้หมดข้อกังขา
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คือ ทักษิณ ที่มักกล่าวหากระบวนการยุติธรรมในทำนองว่าไม่เป็นกลางและไม่ยุติธรรมนั้น ตัวเองเสียอีกที่มักมีแต่เรื่องพฤติกรรมอื้อฉาว พยายามติดสินบนดังจะเห็นได้จากกรณี “ถุงขนม” 2 ล้านบาทจนกระทั่งถูกศาลสั่งจำคุกทนายความเป็นเวลา 6 เดือนมาแล้ว รวมไปถึงการเปิดโปงการวิ่งเต้นในคดี “ซุกหุ้นภาค 1” ซึ่งความสามานย์ดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายทักษิณทั้งสิ้น!!
อย่างไรก็ดี ก็เป็นที่น่ายินดีว่ากระแสสังคม ณ เวลานี้เริ่มตั้งสติได้มั่นแล้วว่าแทบทุกฝ่ายล้วนรอฟังคำพิพากษาว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร รวมไปถึงรอฟังเหตุผลของคำตัดสินว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องยอมรับ แม้ว่าอาจจะมีบางคนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะหากไม่เคารพศาล หรือหากศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายไม่ได้ หรือว่าศาลถูกบิดเบือนให้บิดเบี้ยว บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนไม่สิ้นสุด
เชื่อว่า นาทีนี้หลายคนเริ่มตระหนักแล้วว่าคดีของ ทักษิณ ชินวัตร ก็เหมือนกับคดีอื่นทั่วไป เมื่อคดีสิ้นสุดก็ต้องจบกัน เพราะนี่คือศาลยุติธรรม ไม่ใช่ “ศาลเตี้ย” !!