ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ว.ปราจีนบุรี “สุรเดช จิรัติเจริญ” มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. ตามมาตรา 156(6) เป็นเหตุให้ สมาชิกภาพความ ไม่สิ้นลงตามมาตรา 119 (4) ของรัฐธรรมนูญ หลัง กกต.ร้องพ้นจากการเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์ไม่เกิน 5 ปี เจ้าตัวดีใจ ไม่ฟ้องกลับ หวังเป็นบรรทัดฐานให้กกต.ทำงานให้รอบคอบ
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(4) ประกอบมาตรา 115 (6) หรือไม่ เนื่องจากนายสุรเดช พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถือ 5 ปีจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.
นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะตุลาการ ได้อ่านคำวินิจฉัยระบุว่า มีประเด็นที่ต้องวินิฉัยว่านายสุรเดช ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค.45 ตามที่มีการกล่าวอ้าง จนเป็นผลให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ถึง 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และหากมีผลให้สมาชิกภาพความเป็นส.ว.สิ้นสุดลงจะเริ่มสิ้นสุดลงเมื่อใด เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องมีเพียงเอกสารแบบแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2545) หรือแบบ ท.พ.6 ที่ปรากฎชื่อนายสุรเดชเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2545 เท่านั้น ซึ่ง เอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดทำและส่งให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหลายแห่ง อาทิเอกสารฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่ กกต.ไม่สามารถนำลงในระบบได้เนื่องจากพบความไม่สมบูรณ์ของรายชื่อเกินกว่ากึ่ง หนึ่ง หรือการพบชื่อของนายสุรเดช และบุคคลอื่นมีหมายเลขประจำตัวสมาชิกเลขเดียวกัน และเมื่อพิจารณาถึงกระบวนการรับสมัครสมาชิกพรรคของพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่าเมื่อรับบุคคลสมัครเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีการประกาศชื่อบุคคลนั้นไว้ในที่เปิดเผย 15 วัน
ดังนั้น การที่บอกว่านายสุรเดชลาออกในวันที่ 13 พ.ค.45 และอีก 8 วันสมัครกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งน่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่านายสุรเดช ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 21 พ.ค.45 ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด และเมื่อนายสุรเดชไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในวันดังกล่าว ระยะเวลาที่นายสุรเดช ลาออกจากเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 13 พ.ค.45 จนถึงวันที่นายสุรเดช สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ในวันที่ 21 ม.ค.41 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง จึงวินิจฉัยว่านายสุรเดช มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. ตามมาตรา 156(6) และสมาชิกภาพความเป็นส.ว.ของนายสุรเดช ไม่สิ้นลงตามมาตรา 119 (4) ของรัฐธรรมนูญ
นายสุรเดชให้สัมภาษณ์ว่า คงไม่ฟ้องกลับ กกต. แต่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์ที่ กกต.จะต้องวินิจฉัยให้รอบคอบ ไม่ใช่อ้างแต่ว่าเอกสารไม่ชัด และต้องกล้าตัดสิน ไม่ใช่มาบอกว่า กกต.ตัดสินไปเรื่องก็ไม่จบ จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะได้มีแนวทางในอนาคต เพราะถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะเป็นการรบกวนศาลโดยไม่ถูกต้อง กกต.จึงควรเอาเรื่องนี้ไปเป็นหลักในการทบทวนการทำงานของตนเองให้มากกว่านี้
“เรื่องนี้ถ้าใครไม่โดนก็ไม่รู้ เพราะตลอดเวลา1 ปีที่ผ่านมาก็มีคนมาถามผมว่า สิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.หรือยัง และในพื้นที่ก็มีการหาเสียงของคู่แข่งตลอด ขณะเดียวเดียวกัน กกต.ก็ประกาศว่าพร้อมจัดการเลือกตั้ง”